คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
การกระทำผิด

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 354 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5805/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตและฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น การพิพากษาโทษปรับรายวันและการใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่
ตามที่ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 21 บัญญัติว่า ผู้ใดจะก่อสร้างอาคารต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นและดำเนินการตามมาตรา 39 ทวิ การที่จำเลยให้ นายช่างเทศบาลเขียนแบบแปลนให้ไม่ใช่การดำเนินการตามมาตรา 39 ทวิ จำเลยมีอาชีพรับเหมาก่อสร้าง ย่อมต้องรู้ว่าการก่อสร้างอาคารต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตจากทางราชการหรือดำเนินการตามมาตรา 39 ทวิ ก่อน แต่จำเลยกลับทำการก่อสร้างไปโดยไม่ได้รับใบอนุญาตหรือใบรับแจ้งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น การก่อสร้างของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการกระทำผิดโดยเจตนา แม้ต่อมาภายหลังจำเลยจะไปยื่นคำขอรับใบอนุญาตก่อสร้างก็ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยก่อนหน้านั้นไม่เป็นความผิด
จำเลยได้รับหนังสือจากนายกเทศมนตรีให้ระงับการก่อสร้างอาคารพิพาทเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2539 โดย ลูกจ้างของจำเลยเป็นผู้รับแทน และเมื่อพนักงานสอบสวนไปตรวจที่เกิดเหตุในวันที่ 2 ตุลาคม 2539 ก็พบคนงานกำลังก่อสร้างอาคารพิพาทอยู่ ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2539 ถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2539 รวมเป็นเวลา 121 วัน แต่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยฝ่าฝืนคำสั่ง 120 วัน นับว่าเป็นคุณแก่จำเลยอยู่แล้ว และเมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดฐาน ฝ่าฝืนคำสั่งพนักงานท้องถิ่นเพียง 120 วัน ทั้งฟ้องว่าระหว่างวันที่ 27 พฤษภาคม 2539 ถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2539 (รวมเวลา 129 วัน) จำเลยก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น การที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษปรับจำเลยรายวันตลอดมาจนถึงวันฟ้องและหลังจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะปฏิบัติให้ถูกต้องจึงไม่ชอบ เพราะเมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดดังกล่าวเพียงถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2539 แสดงว่าหลังจากวันนั้นจำเลยอาจมิได้ฝ่าฝืนคำสั่งหรือได้ปฏิบัติให้ถูกต้องแล้ว การลงโทษปรับจำเลยหลังจากวันนั้นจึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอและเกินไปกว่าที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ไม่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นควรพิพากษาแก้โทษจำเลยให้ถูกต้องตรงกับคำฟ้อง
การที่จำเลยทำการก่อสร้างอาคารพิพาทโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 21 อันเป็นการกระทำผิดสำเร็จแล้ว และมาตรา 40 บัญญัติว่า ในกรณีที่มีการก่อสร้างโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจ สั่งให้ระงับการก่อสร้างและพิจารณาสั่งตามมาตรา 41 หรือมาตรา 42 แล้วแต่กรณี การสั่งตามมาตรา 41 หรือมาตรา 42 หมายถึงการสั่งให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องและหากเจ้าของอาคารมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งหรือไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้รื้อถอนได้ แต่โจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยรื้อถอนจึงไม่ต้องพิจารณาว่ากรณีของจำเลยเป็นเรื่องที่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้หรือไม่ เมื่อจำเลยก่อสร้างโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเจ้าพนักงาน ท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้าง แต่จำเลยทราบคำสั่งแล้วจำเลยยังคงก่อสร้างต่อไปจำเลยย่อมมีความผิดตามมาตรา 40 (1) และกรณีนี้มิใช่กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังว่า การกระทำดังกล่าวของจำเลยไม่เป็นความผิด จึง ไม่มีอาจนำบทบัญญัติมาตรา 2 วรรคสอง แห่ง ป.อ. มาบังคับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5678/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดหลายกรรมตามกฎหมายต่างพระราชบัญญัติ จำเลยมีเจตนาประสงค์ต่อผลแตกต่างกัน
จำเลยกระทำผิดฐานขายยาบรรจุเสร็จหลายขนาน โดยจัดเป็นชุดในคราวเดียวกัน ฐานประกอบกิจการและดำเนินกิจการสถานพยาบาล และฐานประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม การกระทำความผิดแต่ละข้อหาของจำเลย เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายต่างพระราชบัญญัติกันโดยมีเจตนาประสงค์ต่อผลแตกต่างกัน สามารถแยกการกระทำแต่ละความผิดได้ จึงเป็นการกระทำความผิดหลายกรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2370/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องรับของโจรต้องเกิดหลังการลักทรัพย์ หากฟ้องก่อนเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบ
คำฟ้องข้อ 1.6 เกี่ยวกับความผิดฐานลักทรัพย์ โจทก์บรรยายว่าเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2542 เวลากลางวัน คนร้ายได้บังอาจลักทรัพย์ของผู้เสียหายไป แต่ในคำฟ้องข้อ 2.3 เกี่ยวกับความผิดฐานรับของโจรกลับบรรยายว่า เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2542 จำเลยทั้งสองได้บังอาจร่วมกันรับของโจรทรัพย์ตามข้อ 1.6 ที่มีคนร้ายลักไป แต่ความผิดฐานรับของโจรเป็นความผิดที่ต้องเกิดขึ้นหลังจากมีการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์เกิดขึ้นแล้ว เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า การกระทำความผิดฐานรับของโจรก่อนย่อมเป็นคำฟ้องที่ขัดต่อสภาพและลักษณะของการกระทำความผิด จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานรับของโจรได้ และเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ที่มิได้ฎีกาด้วยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225 ประกอบด้วยมาตรา 213

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1126/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจสอบสวนคดีอาญาต่อเนื่อง: พนักงานสอบสวนท้องที่พบกระทำผิดก่อนมีอำนาจ แม้จับกุมในท้องที่อื่น
ผู้รับมอบอำนาจจากกรมการจัดหางานผู้เสียหายไปร้องทุกข์ต่อร้อยตำรวจโท บ. พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อต่อมาจำเลยถูกจับกุมในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบึงกุ่มเมื่อร้อยตำรวจโท บ. ได้รับคำร้องทุกข์แล้ว จึงเป็นพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่พบกระทำผิดก่อน ย่อมมีอำนาจทำการสอบสวนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 วรรคสาม (ข)และร้อยตำรวจโท บ. ได้ทำการสอบสวนตลอดมาในขณะที่ยังจับตัวจำเลยไม่ได้ จึงเป็นการสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมาย หาจำต้องสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่จับได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4585/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรุมทำร้ายร่างกายจนเป็นอันตรายสาหัส: ศาลยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์
การที่จำเลยกับพวกรวมเจ็ดคนใช้ไม้หน้า 3 ยาวประมาณ 1 เมตรเป็นอาวุธทำร้ายร่างกายผู้เสียหายหลายครั้งจนได้รับอันตรายสาหัส ลักษณะการกระทำดังกล่าวเป็นการรุมทำร้ายผู้เสียหายโดยไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมายพฤติการณ์การกระทำเป็นภัยร้ายแรงต่อสังคม ที่จำเลยอ้างว่าหลังเกิดเหตุได้พยายามช่วยออกค่ารักษาพยาบาลบางส่วนและยินดีชดใช้ค่าเสียหายแต่ผู้เสียหายเรียกร้องสูงเกินไปนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานใด ๆ ในสำนวนว่าจำเลยได้ช่วยค่ารักษาพยาบาล ชดใช้หรือเสนอที่จะชดใช้ค่าเสียหายอันเป็นการบรรเทาผลร้ายหรือความเสียหายให้แก่ผู้เสียหายแต่ประการใด แม้ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นนักศึกษาและขณะนี้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ก็ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษให้แก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3779/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองอาวุธปืนของผู้อื่นเพื่อใช้ป้องกันตัว ไม่ถือเป็นการครอบครองโดยมิชอบ
ผู้เสียหายใช้ไม้เป็นอาวุธเข้าไปในบ้านที่จำเลยพักอาศัย เมื่ออยู่ห่างจำเลย 2 เมตร ได้เงื้อไม้จะตีจำเลย จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่หัวไหล่ 1 นัด แม้อาวุธปืนดังกล่าวจะมิใช่ของจำเลย แต่การที่จำเลย ใช้อาวุธปืนในลักษณะป้องกันตัวและใช้ในช่วงระยะเวลาอันสั้นโดย ไม่ปรากฏเจตนาจะยึดถืออาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนรายนี้ไว้เพื่อ ความครอบครองของตน ทั้งในขณะเกิดเหตุผู้เป็นเจ้าของปืนก็อยู่ใน บ้านที่เกิดเหตุด้วย ดังนี้ ถือไม่ได้ว่าจำเลยครอบครองอาวุธปืนและ เครื่องกระสุนปืนดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานมีอาวุธปืนและ เครื่องกระสุนปืนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยมิได้รับใบอนุญาต และ ความผิดข้อหานี้แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ สืบพยานหลักฐานในข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่นแล้วปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยไม่ได้กระทำผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนตามฟ้อง ศาล ย่อมพิพากษายกฟ้องข้อหานี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 185

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3558/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรวมโทษจำคุกหลายคดี ต้องพิจารณาความเกี่ยวพันของการกระทำผิด หากแต่ละคดีมีวันเวลา สถานที่ และพยานหลักฐานต่างกัน ไม่สามารถรวมโทษได้
การรวมโทษของจำเลยทุกคดีแล้วโทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกิน20 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(2) นั้น จะต้องปรากฏว่าการกระทำผิดของจำเลยทุกคดีมีลักษณะเกี่ยวพันกันจนอาจจะฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 160 วรรคหนึ่ง หรือรวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันได้ เมื่อปรากฏว่าคดีทั้งสามคดีที่จำเลยขอให้รวมโทษดังกล่าวเป็นคดีที่มีวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุต่างกันอยู่ในเขตอำนาจศาลต่างกัน และพยานหลักฐานก็เป็นคนละชุดกัน การกระทำผิดของจำเลยทั้งสามคดีจึงไม่ได้เกี่ยวพันกันจนอาจจะฟ้องเป็นคดีเดียวกันหรือรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันได้ แต่เป็นคดีที่มีคำฟ้องและคำพิพากษาต่างสำนวนต่างหากออกไป กรณีไม่ตกอยู่ในบังคับของมาตรา 91(2) แห่งประมวลกฎหมายอาญาจึงไม่อาจรวมโทษของจำเลยทั้งสามคดีดังกล่าวเข้าด้วยกันแล้วคงลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสิ้นไม่เกิน 20 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3284/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำผิดพ.ร.บ.ป่าไม้ การรับฟังพยานหลักฐาน และการรอการลงโทษ
ในคดีอาญา กฎหมายห้ามมิให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยานเท่านั้น ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้รับฟังคำซัดทอดของผู้ต้องหาหรือผู้ร่วมกระทำผิดด้วยกันแต่อย่างใดเพียงแต่ต้องรับฟังด้วยความระมัดระวังว่าคำซัดทอดนั้นมิได้เกิดจากเจตนาเพื่อให้ตนเองพ้นผิดหรือได้ประโยชน์จากการซัดทอดนั้น ด้วย ในชั้นสอบสวน ไม่มีการกล่าวหาหรือแจ้งข้อกล่าวหาแก่ อ. ข้อเท็จจริงที่จำเลยอ้างว่า อ. ทราบดีว่าที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติถือได้ว่า อ. เป็นผู้ร่วมกระทำความผิดด้วย เกิดจากความเข้าใจของจำเลยมิได้เกิดจากการสอบสวน อ. จึงมิใช่ผู้ต้องหาหรือผู้ร่วมกระทำผิดในคดีนี้ คำเบิกความของ อ. ไม่ถือเป็นคำซัดทอดของผู้ต้องหาหรือผู้ร่วมกระทำผิด
ขณะเกิดเหตุ ที่ดินที่เกิดเหตุเป็นที่ดินที่ไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของหรือได้สิทธิใด ๆ ตามกฎหมาย จึงมีสภาพเป็นป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา 4(1) การที่จำเลยได้ว่าจ้าง ส. นำรถแทรกเตอร์เข้าไปไถดันดินในที่ดินที่เกิดเหตุ ย่อมฟังได้ว่าจำเลยกับ ส. ร่วมกันก่นสร้างแผ้วถาง อันเป็นการทำลายป่าและยึดถือครอบครองป่าและยึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเองและผู้อื่น จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง โดยไม่จำต้องวินิจฉัยว่า ได้มีการเพิกถอนเขตป่าสงวนแห่งชาติในที่ดินที่เกิดเหตุแล้วหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ความรับผิดของจำเลยเปลี่ยนแปลงไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2070/2543 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เขตอำนาจสอบสวนคดีเช็ค: การกระทำความผิดต่อเนื่องในหลายท้องที่
การกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 การออกเช็คในท้องที่ใดย่อมถือได้ว่า การกระทำความผิดอาญาได้กระทำลงในท้องที่นั้นต่อเนื่องกับการกระทำความผิดในท้องที่ที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน
จำเลยได้ออกเช็คตามฟ้องในท้องที่อำเภอบางบาลซึ่งอยู่ในเขตอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางบาล และธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงินในเขตท้องที่อำเภอพระนครศรีอยุธยาซึ่งอยู่ในเขตอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอพระนครศรีอยุธยาถือได้ว่าการกระทำความผิดคดีนี้ได้กระทำลงในอำเภอบางบาลต่อเนื่องกับการกระทำความผิดในอำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางบาลและสถานีตำรวจภูธรอำเภอพระนครศรีอยุธยาย่อมมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ได้ เมื่อผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางบาล และพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางบาลทำการสอบสวนแล้ว คดีนี้จึงมีการสอบสวนโดยชอบ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1821/2543 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำผิดต่อผู้ข่มเหงต่อเนื่อง: การป้องกันสิทธิในฐานะผู้ถูกทำร้าย
ผู้ตายเมาสุรามากกลับมาบ้าน ผู้ตายเอะอะหาเรื่องจำเลยหลายเรื่อง และกล่าวหาว่าจำเลยเอามีดของผู้ตายไปซ่อน ผู้ตายบอกให้จำเลยออกจากบ้านมิเช่นนั้นจะสับให้เป็นชิ้น แล้วใช้มีดดังกล่าวไล่ฟันจำเลยก่อน จำเลยวิ่งไปบ้านน้องผู้ตายซึ่งอยู่ใกล้กัน มีผู้ตายถือมีดวิ่งติดตามไป จำเลยต้องหลบหนีออกไปซ่อนตัวข้างต้นมะขามในทุ่งนา ผู้ตายหาจำเลยไม่พบจึงกลับบ้าน ปิดบ้านล็อกกุญแจนอน ต่อมาจำเลยกลับบ้าน แอบมองทางรอยแตกเห็นผู้ตายหลับอยู่ จึงใช้ลูกกุญแจไขเปิดประตูหน้าบ้านเข้าไป แล้วจำเลยใช้มีดฟันผู้ตายด้วยความโมโหที่ถูกผู้ตายวิ่งไล่ทำร้ายอยู่เป็นประจำ การที่ผู้ตายใช้มีดไล่ฟันจำเลย นับว่าเป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม แม้จำเลยจะเป็นภริยาผู้ตาย ผู้ตายก็หามีสิทธิที่จะกระทำแก่จำเลยเช่นนั้นไม่ ดังนี้ เมื่อจำเลยเกิดความโกรธ คือบันดาลโทสะ และจำเลยกระทำแก่ผู้ตายในทันทีเมื่อกลับมาถึงบ้านและพบผู้ตาย อันเป็นระยะเวลาห่างจากถูกข่มเหงเพียง 2 ชั่วโมงหรือ 2 ชั่งโมงเศษ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จำเลยต้องหลบหนีจากการที่ถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงจนถึงกับต้องไปแอบซ่อนตัวอยู่ในป่าละเมาะ พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าการข่มเหงยังอยู่ในช่วงเวลาที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงกันอยู่ จึงตกอยู่ในหลักเกณฑ์ที่ว่าจำเลยกระทำผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น การกระทำของจำเลยต้องด้วยบทบัญญัติ ป.อ.มาตรา 72
of 36