คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
กำหนดเวลา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 990 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 605/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทิ้งฟ้องอุทธรณ์เนื่องจากไม่แถลงผลการส่งหมายนัดภายในกำหนด และผลของการประทับข้อความ 'ให้มาทราบคำสั่ง'
จำเลยยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2545 พร้อมกับยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าขึ้นศาลและค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต ต่อมาวันที่ 13 กันยายน 2545 จำเลยยื่นคำแถลงขอวางเงินค่าธรรมเนียมพร้อมกับขอให้ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์แก่โจทก์โดยวิธีปิดหมาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2545 ว่า "รับอุทธรณ์ สำเนาให้โจทก์แก้ให้จำเลยนำส่งภายใน 15 วัน นับแต่วันนี้ ส่งไม่ได้ให้แถลงภายใน 7 วัน" เมื่อคำแถลงของจำเลยฉบับดังกล่าวมีข้อความประทับไว้ว่า "ให้มาทราบคำสั่งในวันที่ 20 กันยายน 2545 ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว" และนายจำเลยได้ลงลายมือชื่อไว้ข้างล่างข้อความดังกล่าวต้องถือว่าจำเลยได้ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้วตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2545 ทั้งจำเลยมีหน้าที่ต้องติดตามผลการส่งหมายโดยศาลไม่จำเป็นต้องแจ้งผลการส่งหมายให้จำเลยทราบอีก แม้จำเลยจะขอให้ส่งโดยวิธีปิดหมายแต่ศาลชั้นต้นก็มีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดวิธีการส่งหมายตามมาตรา 79 ได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งโดยวิธีธรรมดาก่อนนั้นเท่ากับศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ส่งโดยวิธีปิดหมายอยู่ในตัว ดังนั้น เมื่อเจ้าพนักงานศาลรายงานว่าได้นำหมายไปส่งให้แก่โจทก์ในวันที่ 20 ตุลาคม 2545 แต่ส่งให้ไม่ได้ การที่จำเลยมิได้แถลงต่อศาลชั้นต้นเพื่อดำเนินการต่อไปภายในเวลา 7 วัน ตามคำสั่งศาลชั้นต้นจึงเป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบมาตรา 246

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5591/2548 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำสั่งเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมศาลสำหรับผู้ยากไร้ ต้องยื่นภายในกำหนดเวลา หากพ้นกำหนด ศาลอุทธรณ์ยกคำร้องชอบแล้ว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลให้เฉพาะแต่บางส่วน หากจำเลยไม่เห็นพ้องด้วยก็ต้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภายในกำหนด 7 วันนับแต่วันมีคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156 วรรคท้าย จำเลยอุทธรณ์ขอให้จำเลยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมหรือได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมทั้งหมด อุทธรณ์ของจำเลยจึงต้องด้วยบทกฎหมายดังกล่าว จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งเกินกำหนดระยะเวลา 7 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง เป็นการยื่นอุทธรณ์ฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายดังกล่าว
การดำเนินกระบวนพิจารณานับตั้งแต่จำเลยยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์จนถึงชั้นฎีกานั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับการที่จำเลยอ้างว่าเป็นคนยากจนไม่มีทรัพย์สินพอที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาลได้ จึงไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคท้าย เมื่อจำเลยเสียค่าคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาและค่าคำร้องฎีกาคำสั่งมา จึงต้องคืนให้แก่จำเลยทั้งหมด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5591/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาเกินกำหนดระยะเวลา ทำให้คำอุทธรณ์นั้นไม่เป็นไปตามกฎหมาย
ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 แล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาโดยให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล 1 ใน 2 ส่วน หากจำเลยที่ 3 ไม่เห็นพ้องด้วยก็ต้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลอุทธรณ์ภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันมีคำสั่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 156 วรรคท้าย ที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 3 มีฐานะยากจน ไม่สามารถหาเงินมาชำระค่าธรรมเนียมศาล 1 ใน 2 ส่วนได้ ขอให้ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยที่ 3 ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์นั้น เป็นการอุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 3 ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมหรือได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมทั้งหมด อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 จึงต้องด้วยบทกฎหมายดังกล่าว
การดำเนินกระบวนพิจารณานับตั้งแต่จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์จนถึงชั้นฎีกานั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับการที่จำเลยที่ 3 อ้างว่าเป็นคนยากจนไม่มีทรัพย์สินพอที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาลได้ จึงไม่ต้องเสีย่ค่าธรรมเนียมศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 149 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4903/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นฎีกาเกินกำหนดเวลา แม้ศาลชั้นต้นรับคำร้อง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2546 ครบกำหนดยื่นฎีกาวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2546 จำเลยยื่นคำร้องลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2546 ขอขยายเวลายื่นฎีกาอีก 30 วัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันดังกล่าวว่า อนุญาตให้ถึงวันที่ 3 มีนาคม 2546 ซึ่งวันที่ 3 มีนาคม 2546 ไม่ใช่วันหยุดประจำสัปดาห์หรือวันหยุดราชการ จำเลยจึงต้องยื่นฎีกาไม่เกินวันที่ 3 มีนาคม 2546 จำเลยยื่นฎีกาวันที่ 4 มีนาคม 2546 ฎีกาของจำเลยจึงยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามที่ศาลชั้นต้นอนุญาตแล้ว แม้ว่าศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับฎีกา ฎีกาของจำเลยก็ไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ศาลฎีกาจะรับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 408/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบอกเลิกสัญญาซื้อขายบ้านหลังผู้ขายไม่สร้างบ้านตามสัญญา แม้ไม่มีกำหนดเวลาชัดเจน
สัญญาจะซื้อจะขายไม่ได้มีข้อตกลงว่าจำเลยจะสร้างบ้านให้แล้วเสร็จเมื่อใดทั้งโจทก์และนางสาว ส. ซึ่งลงชื่อเป็นพยานในสัญญาจะซื้อจะขายและเป็นผู้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกับจำเลยในโครงการเดียวกันกับโจทก์เบิกความเพียงว่า โครงการจะสร้างเสร็จภายในปลายปี 2540 จึงยังไม่พอถือได้ว่าสัญญาจะซื้อจะขายมีกำหนดเวลาสร้างบ้านให้แล้วเสร็จ ที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาจากสัญญาจะซื้อจะขายที่ระบุว่าผู้จะขายจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้จะซื้อเมื่อผู้จะซื้อได้ชำระเงินดาวน์ให้ผู้จะขายครบถ้วน สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาไว้โดยปริยายนั้น ยังไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายเป็นสัญญาต่างตอบแทน และโจทก์ได้ชำระเงินค่างวดให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยย่อมมีหน้าที่สร้างบ้านและส่งมอบให้โจทก์ตามสัญญา และถึงแม้สัญญาดังกล่าวจะไม่ได้กำหนดระยะเวลาการปลูกสร้างบ้านให้แล้วเสร็จไว้โดยชัดเจนก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่ว่าจำเลยจะสร้างบ้านให้แล้วเสร็จเมื่อใดก็ได้แล้วแต่ความพอใจของจำเลย เมื่อโจทก์ชำระเงินตามงวดให้จำเลยไปแล้ว 220,300 บาท ทั้งได้มีหนังสือบอกกล่าวถึงจำเลยให้ปฏิบัติตามสัญญาและชำระหนี้จนถึงวันที่โจทก์มีหนังสือขอให้บฏิบัติตามสัญญาและชำระหนี้ไปยังจำเลยครั้งสุดท้ายนับเป็นเวลา 5 ปีเศษ จำเลยยังไม่สามารถก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จเช่นนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ซึ่งการบอกกล่าวให้จำเลยดำเนินการภายในกำหนด 15 วัน มิเช่นนั้นให้คืนเงินที่ชำระไปแล้ว พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์นับจากเวลาดังกล่าว ในกรณีนี้ต้องนับว่าเป็นระยะเวลาอันสมควรแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3622/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอรับประโยชน์ทดแทนจากประกันสังคม เกินกำหนด 1 ปี มิใช่เหตุสมควร ศาลฎีกาตัดสิน
พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 56 วรรคหนึ่ง ไม่ได้บัญญัติตัดสิทธิผู้ยื่นคำขอไว้โดยเด็ดขาด การที่ผู้ยื่นคำขอยื่นคำขอเกินกำหนดระยะเวลา 1 ปี อันจะทำให้เสียสิทธินั้นต้องเป็นกรณีที่ผู้ยื่นคำขอไม่มีเหตุอันสมควรหรือความจำเป็นที่ต้องใช้สิทธิล่าช้า หากผู้ยื่นคำขอมีเหตุอันสมควรหรือความจำเป็นที่ต้องใช้สิทธิล่าช้าก็จะนำระยะเวลาดังกล่าวมาตัดสิทธิผู้ยื่นคำขอเสียทีเดียวหาได้ไม่
ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าโจทก์ไม่ทราบว่าจะต้องยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายใน 1 ปี นับแต่โจทก์สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างมิใช่เหตุอันสมควรหรือความจำเป็นที่จะต้องใช้สิทธิล่าช้าอันจะถือเป็นข้อยกเว้นที่โจทก์ไม่จำต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 56 ทั้งมิได้มีบทบัญญัติใดที่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคมจำเลยจะต้องแจ้งถึงสิทธิและกำหนดเวลาในการขอรับประโยชน์ทดแทนต่างๆ ให้แก่ผู้ประกันตนที่มีสิทธิทราบ ฉะนั้นการที่โจทก์มิได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนโจทก์ย่อมเสียสิทธิดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3620/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดิน: การแจ้งผลการประเมินราคา และการฟ้องคดีภายในกำหนดเวลา
โจทก์แจ้งย้ายที่อยู่ตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2536 จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำส่งหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบให้ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินไปส่งให้แก่โจทก์ในวันที่ 2 มิถุนายน 2538 จึงเป็นวันที่โจทก์ย้ายออกจากที่อยู่เดิมแล้วจึงเชื่อว่าโจทก์มิได้รับหนังสือดังกล่าว โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งเรื่องการย้ายที่อยู่ให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทราบ เป็นหน้าที่ของฝ่ายจำเลยที่จะต้องตรวจหาที่อยู่ของโจทก์เอง เมื่อยังถือไม่ได้ว่าเจ้าหน้าที่เวนคืนมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินตามกฎหมาย จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์มิได้ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 3 ภายใน 60 วันนับแต่วันได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่
เมื่อจำเลยที่ 3 มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลภายใน 1 ปี นับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 3 หรือนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาที่จำเลยที่ 3 ต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวคือ ภายในวันที่ 22 พฤษภาคม 2542 แต่เนื่องจากวันดังกล่าวเป็นวันเสาร์อันเป็นวันหยุดราชการ โจทก์จึงสามารถนำคดีมาฟ้องต่อศาลวันที่ 24 พฤษภาคม 2542 ซึ่งเป็นวันเปิดทำการวันแรกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/8

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 28/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งหมายเรียกทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถือว่าชอบแล้ว หากผู้รับมีคุณสมบัติตามกฎหมาย และการยื่นคำให้การเกินกำหนดทำให้ไม่รับคำให้การ
การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยทั้งสามโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับมีผลเสมือนว่าเจ้าพนักงานศาลเป็นผู้ส่งตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 73 ทวิ ดังนั้น เมื่อภรรยาของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีอายุเกิน 20 ปี และอยู่บ้านเดียวกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 และจำเลยที่ 3 ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องด้วยตนเอง ย่อมถือได้ว่ามีการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยทั้งสามโดยชอบแล้วตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 29 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 76 วรรคหนึ่ง จำเลยทั้งสามมีสิทธิยื่นคำให้การได้ภายใน 15 วัน นับแต่วันดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2687/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีภายใน 60 วัน: ศาลวินิจฉัยได้แม้ฟ้องเกินกำหนด หากโจทก์ยังมีอำนาจฟ้อง
คำสั่งศาลชั้นต้นที่กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์ฟ้องคดีภายใน 60 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินหรือไม่ เป็นการกำหนดประเด็นในเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ให้การปฏิเสธว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะฟ้องคดีเกินกำหนดเวลา เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่า แม้จะฟ้องคดีเกินกำหนดเวลา 60 วัน โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องโดยไม่มีผลให้ฟ้องโจทก์เสียไป ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยซึ่งข้อกฎหมายดังกล่าวเพื่อปรับแก่ข้อเท็จจริงในคดีได้ หาได้เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2677/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งแทนการชำระค่าธรรมเนียมศาล และการกำหนดเวลาชำระค่าธรรมเนียมหลังคำสั่งศาลอุทธรณ์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาของจำเลยโดยกำหนดเวลาให้จำเลยนำค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์มาชำระภายในเวลาที่กำหนด แต่จำเลยได้เลือกใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นในระหว่างเวลาที่จำเลยยังสามารถนำเงินค่าธรรมเนียมศาลมาชำระตามคำสั่งของศาลชั้นต้นได้ แม้การยื่นอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยจะพ้นกำหนดเวลาเจ็ดวันนับแต่วันมีคำสั่งตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 156 วรรคห้าก็ตาม กรณีเช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์แทนการนำเงินค่าธรรมเนียมมาชำระตามคำสั่งของศาลชั้นต้น การที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยและปรากฏว่ากำหนดระยะเวลาตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยนำเงินค่าธรรมเนียมมาชำระได้ล่วงพ้นไปแล้วในระหว่างนั้น เมื่อคำสั่งของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวมิได้กำหนดเวลาให้จำเลยนำเงินค่าธรรมเนียมมาชำระต่อศาล กรณีเช่นนี้ นับได้ว่ามีเหตุอันสมควรที่จำเลยจะยื่นคำร้องขอให้กำหนดเวลาเพื่อให้จำเลยนำค่าธรรมเนียมศาลมาชำระภายหลังเมื่อศาลชั้นต้นได้อ่านคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้จำเลยฟังแล้วได้
of 99