พบผลลัพธ์ทั้งหมด 58 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 100/2538
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การฟ้องคดีเช่าที่ดิน ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.เช่าที่ดินฯ ก่อน หากไม่ปฏิบัติตามเป็นการฟ้องคดีไม่ชอบ
การที่ผู้เช่านาจะฟ้องคดีขอให้ผู้รับโอนโอนนาที่เช่าให้แก่ผู้เช่าตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ.2524โดยผู้เช่าอ้างว่าผู้ให้เช่าขายนาที่เช่าไปโดยไม่แจ้งให้ผู้เช่าทราบนั้นผู้เช่าจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมายเสียก่อนกล่าวคือต้องมีการร้องขอต่อคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลเพื่อวินิจฉัยเสียก่อนซึ่งเป็นขั้นตอนที่ผู้เช่าจะต้องปฏิบัติตามมาตรา54ของพระราชบัญญัติดังกล่าวหากผู้เช่าไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลก็ต้องอุทธรณ์ต่อไปยังคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัดเพื่อวินิจฉัยซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญอีกขั้นตอนหนึ่งที่ผู้เช่าจะต้องปฏิบัติตามมาตรา56ของพระราชบัญญัติดังกล่าวเมื่อคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัดวินิจฉัยแล้วยังไม่เป็นที่พอใจอยู่อีกผู้เช่าจึงจะมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลหรือฟ้องศาลได้ตามมาตรา57ของพระราชบัญญัติดังกล่าวแต่โจทก์ฟ้องคดีนี้อ้างสิทธิตามพระราชบัญญัติดังกล่าวโดยมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังได้กล่าวข้างต้นจึงเป็นการฟ้องคดีโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ฎีกาโต้แย้งเฉพาะประเด็นเรื่องโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ.2524หรือไม่เท่านั้นแต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลสำหรับประเด็นเรื่องค่าเสียหายซึ่งโจทก์มิได้ฎีกามาด้วยจึงเป็นการเสียค่าขึ้นศาลเกินมาไม่ถูกต้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7443/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การจัดรูปที่ดิน: การไม่คัดค้านตามขั้นตอนกฎหมาย ทำให้สิทธิครอบครองเดิมสิ้นสุดลง
ตามพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2517มาตรา 33 และ 34 ผู้มีส่วนได้เสียต้องคัดค้านเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินต่อคณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัด ถ้าไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดก็มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางคือ กรณีของโจทก์ปรากฎว่านางสมบูรณ์ภรรยาโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ไปคัดค้าน เมื่อหัวหน้าหน่วยรังวัดจัดรูปที่ดินแก้ไขจัดรูปที่ดินให้ใหม่ โจทก์ก็มิได้ดำเนินการอย่างใดต่อไปอีก การคัดค้านดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการคัดค้านต่อคณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดหรือถ้าจะถือว่าเป็นการคัดค้านต่อคณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดแต่เมื่อมีการแก้ไขให้โจทก์ได้รับที่ดินเพิ่มขึ้นโจทก์ก็มิได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางแต่อย่างใดคงปล่อยให้มีการออกโฉนดที่ดินใหม่ในที่ดินที่อยู่ในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน โดยโจทก์ได้รับที่ดินเนื้อที่ 17 ไร่เศษจำเลยที่ 2 ได้รับ 10 ไร่เศษ หลังจากได้รับโฉนดที่ดินมาแล้วโจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้อง จึงได้คัดค้านขอให้แก้ไขโฉนดที่ดินให้ถูกต้อง กรณีเช่นนี้มิใช่เป็นการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดต่อคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางแต่อย่างใด เมื่อโจทก์มิได้คัดค้านการจัดรูปที่ดินให้ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย กลับปล่อยให้มีการดำเนินการจนกระทั่งออกโฉนดที่ดิน และเนื่องจากการจัดรูปที่ดินมีผลทำให้สิทธิครอบครองของโจทก์ในที่ดินเดิมเปลี่ยนไปเพราะมาตรา 30 และ 38ให้อำนาจคณะกรรมการจัดรูปที่ดินจัดที่ดินใหม่โดยให้เจ้าของที่ดินเดิมได้รับที่ดินแปลงเดิมหรือที่ดินแปลงเดิมบางส่วนหรือได้รับที่ดินแปลงใหม่ก็ได้ ดังนั้นเมื่อทางราชการจัดที่ดินให้โจทก์ใหม่เนื้อที่ 17 ไร่ 3.8 ตารางวา การครอบครองของโจทก์ย่อมเปลี่ยนไปตามที่ทางการจัดรูปที่ดินให้ใหม่ที่พิพาทเนื้อที่ 2 ไร่เศษอยู่ในโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 2ตามที่ทางราชการจัดให้ใหม่ ย่อมทำให้โจทก์หมดสิทธิครอบครองที่พิพาท โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5848/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การฟ้องขอโอนนาต้องปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมายเช่าที่ดินฯ คือต้องผ่าน คชก.ก่อน จึงจะมีสิทธิฟ้องต่อศาล
การฟ้องขอให้ผู้รับโอนโอนนาให้แก่ผู้เช่านาโดยอ้างว่าผู้ให้เช่าขายนาไปโดยมิได้แจ้งให้ผู้เช่านาทราบนั้น ผู้เช่าจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายเสียก่อน กล่าวคือผู้เช่าจะต้องร้องขอต่อคชก.ตำบล เพื่อวินิจฉัยก่อน ตามมาตรา 54 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 เมื่อ คชก.ตำบล วินิจฉัยเป็นประการใด ผู้ไม่พอใจมีสิทธิอุทธรณ์ต่อ คชก.จังหวัด ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบคำวินิจฉัย แต่ต้องไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่ คชก.ตำบล มีคำวินิจฉัยมิฉะนั้นให้ถือว่าคำวินิจฉัยนั้นเป็นที่สุด และหากมีการอุทธรณ์ต่อไปยัง คชก.จังหวัด และยังไม่พอใจคำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัด ผู้ไม่พอใจจึงจะมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำวินิจฉัย แต่จะต้องไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่ คชก.จังหวัด มีคำวินิจฉัย ตามมาตรา 56 และ 57 คำว่า อาจอุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลต่อ คชก.จังหวัดตาม มาตรา 56 ของพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2524 หมายความว่า "มีสิทธิ" คู่กรณีจะใช้สิทธิก็ได้ ไม่ใช้สิทธิก็ได้ กล่าวคือเมื่อ คชก.ตำบล มีคำวินิจฉัยแล้ว ไม่ว่าฝ่ายใดจะพอใจหรือไม่พอใจก็ตามมีสิทธิที่จะเลือกอุทธรณ์ต่อ คชก.จังหวัดหรือไม่ก็ได้ แต่ถ้าเลือกที่จะไม่อุทธรณ์ต่อ คชก.จังหวัด คำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลก็ถึงที่สุด ตามมาตรา 56 วรรคสอง เมื่อถึงที่สุดแล้วคู่กรณีจะต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของ คชก.ตำบล ไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์หรือฟ้องต่อศาล เมื่อโจทก์ใช้สิทธิขอซื้อนาพิพาทภายในกำหนดเวลาสองหรือสามปีต่อ คชก.ตำบล หรือ คชก.จังหวัด แล้ว แม้ คชก.ตำบล หรือ คชก.จังหวัดจะได้มีคำวินิจฉัยเลยกำหนดสองปีหรือสามปีตามมาตรา 54 วรรคแรกก็ถือได้ว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิภายในกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วโจทก์ยังมีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัด ต่อศาลภายในกำหนดเวลาตาม มาตรา 57 วรรคแรก ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5840/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาจะซื้อขายที่ดินในเขตจัดรูปที่ดินไม่เป็นโมฆะ หากมีการยื่นขออนุญาตตามขั้นตอนกฎหมาย
ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตโครงการจัดรูปที่ดินตามพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2517 ซึ่งภายในระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันมีประกาศของรัฐมนตรีห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่ายหรือก่อให้เกิดภาระติดพันซึ่งที่ดินในเขตดังกล่าว เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากคณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดเสียก่อนจึงจะจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมได้ การที่โจทก์จำเลยตกลงกันทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทและในวันเดียวกันนั้นจำเลยก็ยื่นคำขออนุญาตทำนิติกรรมขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ เช่นนี้มิใช่โจทก์จำเลยกระทำการฝ่าฝืนข้อห้ามของกฎหมายเพราะขณะนั้นยังไม่มีผลที่จะก่อให้เกิดการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาทไว้ แต่เป็นการกระทำตามขั้นตอนของกฎหมาย สัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทจึงไม่เป็นโมฆะ มีผลบังคับได้ ต่อมาเมื่อคณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัด มีมติอนุญาตให้จำเลยจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ได้ แม้ขณะมีมติอนุญาตจะเกินกำหนดระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ในสัญญาจะซื้อขายก็มิใช่ความผิดของโจทก์ จำเลยจึงต้องขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ จำเลยจะอ้างว่าเกินกำหนดระยะเวลา 2 เดือนตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาจะซื้อขายแล้วหาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2777/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเบิกความเท็จในคดีแพ่งเกี่ยวกับสิทธิซื้อที่ดินเช่า การพิสูจน์ข้อสำคัญในคดีและการปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมาย
ตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524ผู้ให้เช่านาจะขายนาที่ให้เช่าได้ต่อเมื่อได้แจ้งความจำนงจะขายนาให้ผู้เช่านาทราบเป็นหนังสือ โดยระบุราคาที่จะขายและวิธีการชำระเงินยื่นต่อประธานคณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบล เพื่อแจ้งให้ผู้เช่านาทราบภายใน 15 วัน ถ้าผู้เช่านาไม่แสดงความจำนงจะซื้อนาภายในกำหนด 30 วัน หรือปฏิเสธเป็นหนังสือ หรือแสดงความจำนงจะซื้อนาแต่ไม่ชำระเงินในกำหนดเวลาที่ตกลงกันหรือเวลาที่คณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลกำหนด จึงจะถือว่าผู้เช่านาหมดสิทธิที่จะซื้อนา เมื่อข้อเท็จจริงในคดีฟังเป็นยุติว่า ช. ผู้ให้เช่านาบอกขายนาให้แก่จำเลยโดยเป็นการบอกขายระหว่างกันเอง มิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนตามที่ พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2524 กำหนดไว้ การที่ ช. ขายนาที่จำเลยเช่าให้แก่โจทก์จึงไม่ทำให้จำเลยซึ่งเป็นผู้เช่านาหมดสิทธิที่จะซื้อนาแปลงดังกล่าวดังนั้นข้อความที่จำเลยเบิกความต่อศาลในคดีแพ่งที่จำเลยฟ้องโจทก์ขอให้บังคับโจทก์ขายนาแก่จำเลย ในทำนองว่า ช. ไม่เคยบอกขายที่นาให้แก่จำเลย แม้จะเป็นความเท็จ แต่ข้อความดังกล่าวมิใช่ข้อสำคัญในคดีก่อนเพราะไม่อาจทำให้คู่ความแพ้ชนะกันในประเด็นแห่งคดีได้ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานเบิกความเท็จ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1927/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การปฏิบัติตามขั้นตอนอุทธรณ์ และการใช้ดุลพินิจศาลในการเลื่อนคดีเนื่องจากเหตุป่วย
บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ว่าด้วยอุทธรณ์มาตรา 198,200 และ 201 มีความหมายชัดเจนบังคับไว้ว่า เมื่อศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์แล้วเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่ต้องส่งสำเนาอุทธรณ์ให้อีกฝ่ายหนึ่งและกำหนดเวลาให้แก้อุทธรณ์ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาอุทธรณ์ การที่ศาลชั้นต้นสั่งอุทธรณ์ของโจทก์ว่า "รับเป็นอุทธรณ์โจทก์ สำเนาให้อีกฝ่าย"และออกหมายนัดส่งให้แก่จำเลยที่ 1 โดยมีข้อความในหมายนัดว่า"ด้วยคดีเรื่องนี้ศาลได้รับอุทธรณ์ของโจทก์ดังสำเนาอุทธรณ์แนบมาพร้อมหมายนี้ เพราะฉะนั้นจึงแจ้งมาให้ทราบ" เป็นการส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ให้จำเลยที่ 1 ทราบเท่านั้น มิได้กำหนดให้จำเลยที่ 1แก้อุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ว่าด้วยการอุทธรณ์ คู่ความจะร้องขอเลื่อนคดีติดต่อกันได้ต้องเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 40 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และการอนุญาตให้เลื่อนคดีหรือไม่เป็นดุลพินิจของศาล ในการขอเลื่อนคดีครั้งที่ 2โจทก์มีใบรับรองแพทย์ของโรงพยาบาลมาแสดง ระบุว่าโจทก์มีอาการอ่อนแรงแขนขาด้านซ้าย เนื่องจากโรคเส้นเลือดสมองตีบ และความดันโลหิตสูงได้เข้ารักษาในโรงพยาบาลและยังไม่มีกำหนดกลับบ้านการขอเลื่อนการสืบพยานโจทก์จึงเป็นการอ้างเหตุขอเลื่อนคดีเพราะตัวความป่วยเจ็บไม่สามารถมาศาลได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 41 วรรคแรก ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 หากศาลชั้นต้นมีความสงสัยว่าโจทก์ป่วยจริงหรือไม่ก็มีอำนาจไต่สวนคำร้องขอเลื่อนคดีเสียก่อนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21(4)ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 หรือจะตั้งเจ้าพนักงานศาลไปตรวจดูว่า โจทก์ป่วยเจ็บจริงหรือไม่ก็ได้หากข้ออ้างดังกล่าวเป็นความจริงก็ถือได้ว่ากรณีมีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้และมีเหตุสมควรที่ศาลชั้นต้นจะใช้ดุลพินิจให้โจทก์เลื่อนคดีอีกครั้งหนึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 40 ประกอบ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ดังกล่าว ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้โจทก์เลื่อนคดีแล้วมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์พร้อมทั้งพิพากษายกฟ้องในวันเดียวกัน โจทก์อุทธรณ์ว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานโจทก์ไม่ชอบ เป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงที่มิได้เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 356/2535 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องรื้อถอนอาคารต่อเติม กรณีไม่เป็นไปตามข้อบัญญัติและขั้นตอนกฎหมาย
โจทก์ได้ส่งคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่ต่อเติมให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน และจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว จำเลยมิได้ให้การปฏิเสธในข้อนี้เพียงแต่ปฏิเสธว่ามิได้รับคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างซึ่งเป็นคนละกรณีกัน ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่าจำเลยได้รับคำสั่งให้รื้อถอนโดยชอบแล้ว เมื่ออาคารที่จำเลยต่อเติมเป็นอาคารคอนกรีตติดกับอาคารเดิมใช้ประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมทำเครื่องปั้นดินเผาซึ่งมีเตาไฟและเครื่องจักรโดยมิได้เว้นที่ว่างอันปราศจากหลังคาหรือสิ่งใดปกคลุมโดยรอบอาคารนั้นไม่น้อยกว่า 10 เมตรทุกด้าน ซึ่งไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครได้ และเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ดำเนินการตามขั้นตอนแห่ง พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร มาตรา 42ครบถ้วนแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่ต่อเติมได้.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1707/2535
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การฎีกาข้อเท็จจริงใหม่ที่ไม่เคยยกขึ้นว่ากันในศาลล่าง เป็นเหตุไม่รับพิจารณาฎีกา
ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ยกคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ โดยไม่ได้กล่าวในคำร้องว่าผู้ร้องทั้งสองได้ยื่นหนังสือปฏิเสธหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีหนังสือยืนยันให้ผู้ร้องชำระหนี้ การที่ผู้ร้องทั้งสองฎีกาว่า ก่อนที่ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นผู้ร้องทั้งสองได้ยื่นหนังสือปฏิเสธหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีหนังสือยืนยันให้ผู้ร้องทั้งสองชำระหนี้อันเป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ล้มละลายฯมาตรา 119 แล้วนั้นเป็นฎีกากล่าวอ้างข้อเท็จจริงนอกเหนือจากคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง ถือได้ว่าข้อเท็จจริงตามที่ผู้ร้องทั้งสองฎีกากล่าวอ้างดังกล่าว เป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ฎีกาของผู้ร้องทั้งสองจึงไม่ชอบที่จะรับไว้พิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 ประกอบด้วย พ.ร.บ. ล้มละลายฯมาตรา 153.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1488/2535 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การคัดค้านราคาขายทอดตลาดที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย ทำให้จำเลยเสียสิทธิอุทธรณ์ฎีกา
การที่จำเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลสั่งขายทอดตลาดใหม่โดยอ้างว่าราคาที่ขายต่ำไปนั้น เป็นการกล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีโดยมิชอบอันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งกรณีต้องบังคับตาม ป.วิ.พ. มาตรา27 และ 296 วรรคสอง จำเลยต้องยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลชั้นต้นก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลงแต่ต้องไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่ทราบการฝ่าฝืนนั้น เมื่อจำเลยเพียงแต่คัดค้านการขายทอดตลาดต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยมิได้ยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลชั้นต้นตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนี้จำเลยจะใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาหาได้ไม่.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3996/2534
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คำสั่งศาลที่ไม่รับฎีกาและการอุทธรณ์คำสั่งนั้น ต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ไม่ใช่การขยายเวลายื่นฎีกา
การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 2ขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาและค่าทนายความที่จะใช้แทนโจทก์ออกไปอีก และต่อมามีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 2 นั้น เป็นคำสั่งศาลที่เกี่ยวเนื่องกับการรับหรือ ไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 2 ไม่ใช่เป็นเรื่องการขอขยายระยะเวลายื่นฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 อย่างเดียว เมื่อศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงต้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกามายังศาลฎีกา ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 252