พบผลลัพธ์ทั้งหมด 23 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6977/2551
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การยินยอมในการซื้อขายที่ดินแม้มีข้อห้ามโอน และผลกระทบต่อการเพิกถอนนิติกรรม
โจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีภริยากัน ทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้แก่สามีจำเลยที่ 2 โดยโจทก์ลงชื่อเป็นพยานในสัญญา โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้รับเงินค่าที่ดินและส่งมอบโฉนดที่ดินและสามีจำเลยที่ 2 เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแล้ว เพียงแต่ยังมิได้มีการจดทะเบียนโอนแก่กัน เนื่องจากที่ดินพิพาทมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี นับแต่วันออกโฉนด แม้โจทก์จะอ้างว่าสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาททำขึ้นภายในกำหนดเวลาห้ามโอน จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็เป็นคนละส่วนกับการที่โจทก์ลงชื่อเป็นพยานในสัญญาซึ่งถือได้ว่า โจทก์รู้เห็นยินยอมและให้สัตยาบันการทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท เป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 เข้าใจโดยสุจริตว่าโจทก์ยินยอมในการขายที่ดินตั้งแต่แรกแล้ว โจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง และไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ โดยไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตหรือไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6399/2551
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาซื้อขายที่ดินมีข้อห้ามโอน ผู้ซื้อทราบแต่ยังทำสัญญา สัญญาเป็นโมฆะ และผู้ซื้อไม่สามารถเรียกเงินมัดจำคืนได้
โจทก์ทราบดีมาแต่แรกว่าขณะทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทนั้น มีข้อกำหนดห้ามโอน 10 ปี แต่โจทก์ก็ยอมตนเข้าผูกพันทำสัญญาดังกล่าว ซึ่งมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 การที่โจทก์ชำระเงินมัดจำไป 400,000 บาท จึงเป็นการชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย ตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. ลักษณะ 4 ว่าด้วยลาภมิควรได้ มาตรา 411 บัญญัติว่า บุคคลใดได้กระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี ท่านว่าบุคคลนั้นหาอาจจะเรียกร้องคืนทรัพย์ได้ไม่ โจทก์จึงไม่อาจเรียกเงินมัดจำ 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยคืนจากจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4741/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาซื้อขายมีข้อห้ามโอน & การครอบครองแทนเจ้าของ: สิทธิเรียกร้อง & กรรมสิทธิ์
แม้ที่ดินพิพาทมีข้อกำหนดห้ามโอนภายในสิบปี ตามมาตรา 58 ทวิ แห่ง ป.ที่ดิน นับแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2553 และโจทก์จำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2556 ภายในเวลาสิบปีตามข้อกำหนดห้ามโอนก็ตาม แต่โจทก์จำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาต่างรู้ว่าที่ดินพิพาทมีข้อกำหนดห้ามโอนและตกลงกันว่าจะโอนให้แก่กัน ณ สำนักงานที่ดินมะขาม ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2563 อันเป็นเวลาภายหลังพ้นข้อกำหนดห้ามโอนในวันที่ 30 สิงหาคม 2563 แล้วเช่นนี้ สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทย่อมเป็นเพียงสัญญาจะซื้อขาย มิใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด การที่จำเลยครอบครองดูแลทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2551 ก่อนที่โจทก์จะขายให้แก่จำเลย ถือได้ว่าจำเลยยึดถือที่ดินพิพาทนั้นไว้ในฐานะเป็นผู้แทนโจทก์ซึ่งเป็นผู้ครอบครอง มิใช่เป็นการครอบครองเพื่อตนเอง ตราบใดที่จำเลยมิได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังโจทก์ซึ่งเป็นผู้ครอบครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 การครอบครองที่ดินของจำเลยจึงเป็นการยึดถือแทนโจทก์เท่านั้น มิใช่เป็นการถือสิทธิครอบครองเด็ดขาดเป็นของตนในฐานะเจ้าของไม่ จึงฟังไม่ได้ว่า โจทก์จำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเสร็จเด็ดขาดในระหว่างที่มีข้อกำหนดห้ามโอนตามกฎหมายอันเป็นการฝ่าฝืน ป.ที่ดิน มาตรา 58 ทวิ และมีผลให้สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ไม่ สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจึงมีผลสมบูรณ์และบังคับกันได้ในลักษณะเป็นสัญญาจะซื้อขายอันเป็นบุคคลสิทธิ และเป็นเรื่องที่จำเลยชอบที่จะว่ากล่าวเอาความแก่โจทก์ต่อไปตามบทบัญญัติว่าด้วยผลแห่งหนี้และสัญญา และเมื่อการครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยเป็นการครอบครองแทนโจทก์เช่นนี้ จำเลยย่อมไม่อาจอ้างอายุความการได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ขึ้นยันแก่โจทก์ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาท