คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ครอบครองปรปักษ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,380 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2376/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์: การครอบครองแทนผู้อื่นไม่ทำให้ได้กรรมสิทธิ์
คดีนี้ผู้ร้องร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยการครอบครองปรปักษ์ ผู้คัดค้านที่ 1 คัดค้านว่าที่ดินพิพาทมีบางส่วนเป็นของผู้คัดค้านที่ 1 โดยการครอบครองปรปักษ์ ประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่าที่ดินที่ผู้ร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์นั้นเป็นของผู้คัดค้านที่ 1 โดยการครอบครองปรปักษ์บางส่วนหรือไม่ ซึ่งศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยแล้วว่า ผู้คัดค้านที่ 1 อยู่ในที่ดินในฐานะผู้อาศัยเท่านั้น จึงพิพากษายกคำร้องของผู้คัดค้านที่ 1 และศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ดังนั้น การที่ผู้คัดค้านที่ 1 อุทธรณ์ว่าผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่น ผู้ร้องจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์นั้นเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ เป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยในเรื่องนี้จึงชอบแล้ว
ผู้ร้องอนุญาตให้ผู้คัดค้านที่ 1 ปลูกบ้านอยู่ในที่ดินพิพาทเพราะเห็นว่าผู้คัดค้านที่ 1 ไม่มีที่ดินอยู่อาศัย และในขณะอาศัยอยู่ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้แสดงออกหรือมีการบอกกล่าวเปลี่ยนแปลงลักษณะแห่งการยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทต่อผู้ร้องว่าจะยึดถือเพื่อตนเองแต่อย่างใด การครอบครองที่ดินพิพาทของผู้คัดค้านที่ 1 จึงเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทแทนผู้ร้องเท่านั้น แม้ผู้คัดค้านที่ 1 จะครอบครองนานเท่าใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1766/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์ต้องได้มาโดยสงบเปิดเผยและเจตนาที่จะเป็นเจ้าของ การอาศัยอยู่ไม่ก่อให้เกิดสิทธิ
ถ. มารดาโจทก์อนุญาตให้จำเลยเข้ามาปลูกบ้านอาศัยในที่ดินของตนในฐานะผู้อาศัยโดยมิได้ยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้ ลักษณะการอาศัยปลูกบ้านอยู่ในที่ดินพิพาทของจำเลยย่อมไม่ก่อให้เกิดสิทธิปรปักษ์กับเจ้าของที่ดิน ดังนั้น แม้จำเลยจะครอบครองที่ดินดังกล่าวเป็นเวลานานเท่าใด ก็ไม่อาจได้สิทธิในที่ดินโดยการครอบคอรงปรปักษ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1665/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาล: คดีครอบครองปรปักษ์ราคาทรัพย์สินไม่เกิน 2 แสน ศาลชั้นต้นชอบที่จะโอนคดีให้ศาลแขวงพิจารณา
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอต่อศาลจังหวัดสุพรรณบุรีขอให้มีคำสั่งว่าที่ดินเนื้อที่เฉพาะส่วนประมาณ 4 ไร่ เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องขอ ในวันนัดพร้อมคู่ความแถลงร่วมกันว่าที่ดินพิพาทมีราคาไม่เกิน 200,000 บาท ศาลจังหวัดสุพรรณบุรีเห็นว่าคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง จึงให้โอนคดีไปพิจารณาที่ศาลแขวงสุพรรณบุรี แต่ศาลแขวงสุพรรณบุรีเห็นว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงจึงไม่รับโอนคดีและคืนสำนวนไปยังศาลจังหวัดสุพรรณบุรี ศาลจังหวัดสุพรรณบุรีมีคำสั่งนัดพร้อมและแจ้งวันนัดให้คู่ความทราบ กรณีเป็นเรื่องศาลจังหวัดสุพรรณบุรีและศาลแขวงสุพรรณบุรีต่างไม่รับพิจารณาคดีของผู้ร้อง แม้เนื้อหาอุทธรณ์ของผู้ร้องจะเป็นทำนองโต้แย้งคำสั่งของศาลแขวงสุพรรณบุรีที่ไม่ยอมรับโอนคดี แต่เมื่อศาลจังหวัดสุพรรณบุรีรับสำนวนคืนจากศาลแขวงสุพรรณบุรีแล้ว ทั้งคดีมีปัญหาวินิจฉัยว่าระหว่างศาลดังกล่าว ศาลใดจะต้องพิจารณาคดีต่อไป ผู้ร้องชอบที่จะอุทธรณ์คดีนี้โดยยื่นที่ศาลจังสุพรรณบุรีได้
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลแสดงกรรมสิทธิ์อันเป็นการยื่นคำร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (2) ต่อศาลจังหวัดสุพรรณบุรีอย่างคดีไม่มีข้อพิพาทตามมาตรา 188 (1) แต่เมื่อผู้คัดค้านได้ยื่นคำคัดค้านเข้ามา คดีจึงเปลี่ยนเป็นคดีมีข้อพิพาทโดยมีทุนทรัพย์สินที่พิพาทไม่เกิน 200,000 บาท คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลแขวงสุพรรณบุรีที่จะพิจารณาพิพากษาตาม พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) ศาลจังหวัดสุพรรณบุรีชอบที่จะโอนคดีไปให้ศาลแขวงสุพรรณบุรีพิจารณาต่อไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4833/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์และการไม่รับฟ้องแย้งที่มีเงื่อนไข ศาลพิจารณาประเด็นการรุกล้ำที่ดินก่อน
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินของโจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสี่ให้การว่า จำเลยที่ 3 อาศัยอยู่ในบ้านที่ อ. ปลูกในที่ดินว่างเปล่าและยกให้จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า 10 ปีแล้ว ส่วนจำเลยที่ 1 ปลูกบ้านอยู่ในที่ว่างบริเวณใกล้เคียงกับบ้านที่จำเลยที่ 3 อาศัยอยู่แล้ว จำเลยที่ 1 ครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมา หากมีส่วนหนึ่งส่วนใดของที่ดินที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ครอบครองลุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ที่ดินนั้นก็ตกเป็นของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 โดยการครอบครองปรปักษ์ คดีนี้จึงมีประเด็นในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ปลูกบ้านทั้งสองหลังรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสองตามฟ้องหรือไม่ หากฟังไม่ได้ว่าบ้านทั้งสองหลังดังกล่าวรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองไปโดยไม่ต้องพิจารณาคำฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 3 การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฟ้องแย้งว่า หากมีส่วนหนึ่งส่วนใดของที่ดินของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ครอบครองรุกล้ำหรือเห็นส่วนหนึ่งส่วนใดของที่ดินของโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 และที่ 3 ก็ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปกปักษ์ จึงเป็นฟ้องแย้งโดยมีเงื่อนไข ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดเข้าด้วยกันได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 179 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4185/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดประเด็นข้อพิพาทที่ไม่ถูกต้อง ศาลมีอำนาจกำหนดประเด็นใหม่ได้ การครอบครองปรปักษ์ต้องวินิจฉัยก่อน
คู่ความแถลงรับกันว่า ที่ดินที่จำเลยปลูกบ้านอยู่บางส่วนอยู่ในที่ดินพิพาท ซึ่งจำเลยได้ครอบครองมาโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า 10 ปี ก่อนที่โจทก์จะซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ศาลชั้นต้นจึงกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้เพียงข้อเดียวว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยสุจริตหรือไม่ เท่ากับศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทด้วยการครอบครอง ปรปักษ์แล้ว ซึ่งเป็นการไม่ถูกต้อง เพราะแม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ตามที่คู่ความแถลงรับกันดังกล่าวก็มิใช่ว่าจำเลยจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์เสมอไป ศาลชั้นต้นต้องวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวเสียก่อนที่จะไปสู่ประเด็นว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตหรือไม่
การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไม่ถูกต้อง แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคัดค้าน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 และศาลฎีกาก็ไม่จำต้องถือตาม ทั้งมีอำนาจกำหนดประเด็นใหม่ให้ถูกต้องและวินิจฉัยไปตามนั้นได้ และเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยแล้วว่าจำเลยไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ จำเลยมิได้ฎีกาโต้เถียงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า จำเลยไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตหรือไม่อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3614/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์และการเพิกถอนพินัยกรรมที่ยกทรัพย์สินที่มิใช่ของตน
ช. และ ป. ยกที่ดินพิพาทให้ ภ. มารดาโจทก์ แม้การให้จะไม่สมบูรณ์เพราะมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 525 แต่ไม่ปรากฏว่ามีการโต้แย้งการครอบครองที่ดินพิพาทของ ภ. จากบุคคลอื่น ภ. ครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของตั้งแต่ได้รับการยกให้ตลอดมาจนถึงแก่ความตาย โจทก์ซึ่งเป็นบุตรได้ครอบครองต่อมาโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อมาเป็นเวลากว่า 10 ปี โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ดังนั้น การที่ ป. ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทซึ่งไม่ใช่ทรัพย์ของตนเองให้แก่จำเลยจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3016/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์ต้องสุจริตเปิดเผย และแจ้งให้เจ้าของทราบ หากครอบครองโดยเข้าใจผิดหรือยอมรับกรรมสิทธิ์ผู้อื่น ย่อมไม่เกิดกรรมสิทธิ์
การที่จำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยเข้าใจว่าเป็นที่ดินของกรมชลประทานและรับว่าหากกรมชลประทานจะเอาคืน จำเลยก็จะคืนให้เช่นนี้ การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยจึงมีลักษณะเป็นการครอบครองชั่วคราวเท่านั้น มิได้ครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ อีกทั้งที่ดินที่บุคคลจะได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ต้องเป็นที่ดินซึ่งบุคคลอื่นมีกรรมสิทธิ์อยู่ เมื่อที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 7107 ซึ่งทางราชการเพิ่งออกโฉนดที่ดินให้แก่บริษัท ท. ระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทจึงต้องเริ่มนับเมื่อทางราชการออกโฉนดที่ดินให้แก่เจ้าของที่ดิน แต่จำเลยมิได้บอกกล่าวไปยังบริษัท ท. ว่าตนเองเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยสุจริตอย่างเป็นเจ้าของ ต่อมาบริษัท ท. โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ค. จำเลยกลับมีหนังสือขอซื้อที่ดินไปยังบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ค. พฤติการณ์ของจำเลยจึงเท่ากับเป็นการยอมรับว่าบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ค. เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ดังนั้น การอยู่ในที่ดินพิพาทของจำเลย จึงมีลักษณะเป็นการอยู่โดยอาศัยสิทธิของผู้อื่น ซึ่งตราบใดที่จำเลยมิได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังเจ้าของที่ดินว่าไม่มีเจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 จำเลยย่อมไม่มีสิทธิครอบครอง แม้จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทมาเกินกว่า 10 ปี จำเลยก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 278/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์, การประวิงคดี, และการฟ้องซ้ำ: สิทธิในที่ดินจากการเช่าและการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง
ศาลชั้นต้นให้โอกาสจำเลยที่ 5 ในการนำพยานมาสืบเกือบ 1 ปี แต่ก็ไม่สามารถนำพยานมาสืบได้โดยอ้างเหตุเดิมๆ คือ พยานติดธุระบ้าง ย้ายไปรับราชการที่อื่นบ้าง ส่งหมายเรียกให้ไม่ได้บ้างตลอดมา พฤติการณ์ของจำเลยที่ 5 ดังกล่าวเห็นได้ว่าเป็นการประวิงคดีให้ชักช้าตาม ป.วิ.พ. มาตรา 86 วรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลยที่ 5 จึงชอบแล้ว
คดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเนื่องจากโจทก์ขาดนัดพิจารณา จึงไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่เป็นคดีนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 201 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
จำเลยที่ 5 อยู่ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิการเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 9 การอยู่ในที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 5 จึงไม่ใช่การครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ จำเลยที่ 5 จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทด้วยการครอบครองปรปักษ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2722/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การได้มาซึ่งที่ดินโดยครอบครองปรปักษ์หลังการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์แล้ว มิอาจอ้างเป็นข้อต่อสู้ได้
จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 1338 โดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ตามคำสั่งศาล แล้วนำคำสั่งศาลไปจดทะเบียนการได้มาเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2535 แต่ปรากฏว่าเป็นที่ดินที่ออกทับซ้อนกับที่ดินบางส่วนของโฉนดเลขที่ 5087 ที่ได้ออกโฉนดมาตั้งแต่ปี 2496 และมีการโอนกรรมสิทธิ์ต่อเนื่องกันมาโดยไม่ขาดสายจนถึงโจทก์ โดยโจทก์ซื้อมาเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2532 โดยเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต การได้มาของจำเลยเป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม และในขณะที่จำเลยได้มาโจทก์จดทะเบียนรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 5087 จากเจ้าของที่ดินเดิมแล้ว แต่จำเลยยังมิได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยจึงไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสองได้ แม้จำเลยจะครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 1338 ต่อมาก็ต้องเริ่มนับระยะเวลาครอบครองใหม่นับแต่วันที่โจทก์จดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาท เมื่อยังไม่ครบ 10 ปี จำเลยจึงไม่อาจอ้างว่าได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 250/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์ในที่ดินมรดก เจ้าของรวมสิทธิใช้ร่วมกัน การแบ่งแยกทรัพย์สินและอายุความ
ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามโฉนดที่ดิน มีจำเลยที่ 1 พ. และ ก. ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1358 ให้สันนิษฐานว่าเจ้าของรวมมีสิทธิจัดการทรัพย์สินรวมกัน และเจ้าของรวมคนอื่นๆ มีสิทธิใช้ทรัพย์สินได้ แต่การใช้นั้นต้องไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่นๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1360 ตราบใดที่ยังไม่มีการแบ่งแยกที่ดินกันเป็นส่วนสัด การที่ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์คนหนึ่งคนใดเข้าครอบครองส่วนหนึ่งส่วนใดของที่ดินก็ต้องถือว่าครอบครองที่ดินส่วนนั้นๆ ในฐานะเจ้าของรวมคนหนึ่งเท่านั้น หาก่อให้เริ่มเกิดสิทธิที่จะอ้างว่าตนครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเสียแต่คนเดียวไม่ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ผู้สืบสิทธิจาก พ. ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท หาทำให้จำเลยทั้งห้าได้กรรมสิทธิ์ทางปรปักษ์ไม่ เว้นเสียแต่จะได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือโดยบอกกล่าวไปยัง ก. เจ้าของรวมว่า ไม่มีเจตนาจะยึดถือทรัพย์แทน ก. อีกต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 เมื่อจำเลยทั้งห้ามมิได้บอกกล่าว จึงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงฐานะยึดถือแทน ก. ผู้มีสิทธิครอบครองได้และไม่อาจถือได้ว่ามีการแย่งการครอบครอง
อุทธรณ์โจทก์ทั้งสองมิได้ขอให้จำเลยทั้งห้าใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์ในศาลชั้นต้น แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้จำเลยทั้งห้าใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความในศาลชั้นต้นด้วย เป็นเรื่องที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ใช้ดุลพินิจกำหนดให้คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแก่ฝ่ายที่ชนะคดี ไม่ว่าคู่ความฝ่ายนั้นจะมีคำขอหรือไม่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161 และมาตรา 167 จึงไม่เกินคำขอ
of 138