คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ความเสียหายสินค้า

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 25 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 943/2510 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้รับขนส่งต่อความเสียหายสินค้าจากคลื่นกระทบเรือจากการบรรทุกเกินและขาดการระมัดระวัง
เหตุที่เกิดความเสียหายเนื่องจากคลื่นของเรืออื่นในลำแม่น้ำมาปะทะเรือฉลอมของจำเลยที่บรรทุกสินค้าและจอดอยู่ที่ท่าเรือ เรือฉลอมกระแทกกับท่า ทำให้สินค้าที่บรรทุกบางส่วนเคลื่อนตกลงไปในแม่น้ำนั้น เป็นผลพิบัติที่อาจป้องกันได้ ถ้าได้จัดการระมัดระวังตามสมควร ไม่ใช่เป็นเหตุที่ไม่มีใครจะอาจป้องกันได้ ฉะนั้น จึงไม่ใช่ความเสียหายที่เกิดจากเหตุสุดวิสัย
จำเลยบรรทุกสินค้าเกินกว่าเก๋งท้ายเรือหรือหลังคาเรืออันเป็นการผิดระเบียบของกรมเจ้าท่า ถือได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยแล้ว และเนื่องจากจำเลยมีอาชีพรับขนส่ง ย่อมหน้าที่ใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษกว่าปกติสามัญชน แต่กลับละเลยการปฏิบัติหน้าที่ในอาชีพอันควรต้องพึงปฏิบัติเสีย กล่าวคือ เมื่อบรรทุกสินค้าลงเรือเสร็จแล้ว ส.ผู้ควบคุมเรือของจำเลยกับลูกเรืออีก 3 คนขึ้นไปบนท่าหมด ไม่มีคนอยู่ในเรือที่จะคอยระมัดระวังป้องกันภัยอันตรายอันอาจจะเกิดความเสียหายขึ้นได้ ซึ่งโดยปกติต้องมีคนงานคอยระวังอยู่ เพราะอาจมีคลื่นแรงมา ซึ่งแล้วก็มีคลื่นแรงมาจริง ๆ และปะทะเรือฉลอมทำให้เรือฉลอมกระแทกกับท่าเป็นเหตุให้สินค้าที่บรรทุกอยู่ในเรือฉลอมที่บรรทุกอยู่สูงตกลงไปในแม่น้ำเสียหาย ส.กับลูกเรือไม่สามารถจะเข้าไปช่วยประคองเรือเพื่อป้องกันความเสียหายไว้ได้ เพราะเกรงว่ากระสอบสินค้าที่เคลื่อนหล่นลงมาจะทับเอาตามพฤติการณ์ถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลย จำเลยต้องรับผิด
เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยการขนส่งสินค้าไว้กับห้างหุ้นส่วนจำกัดเจริญโภคภัณฑ์ได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดเจริญโภคภัณฑ์ไปแล้วโจทก์ย่อมเข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิเรียกร้องให้จำเลยในฐานะผู้รับขนชำระเงินจำนวนที่ได้จ่ายไปแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15019/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้รับขนส่งต่อความเสียหายสินค้าจากฝนตกและการหักความชื้น สินค้าขาดจำนวน
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง และมาตรา 104 ซึ่งมาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีเพราะจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย และมาตรา 104 บัญญัติให้ศาลมีอำนาจเต็มในอันที่จะวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำมาสืบจะเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เป็นยุติได้หรือไม่แล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น ซึ่งในการสืบพยานตามข้ออ้างของโจทก์ นั้น แม้โจทก์จะไม่มีเอกสารเป็นพยานหลักฐาน แต่โจทก์ก็มีพนักงานพิจารณาสินไหมบริษัทโจทก์ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาเหตุที่เกิดแก่สินค้าดังกล่าวมาเป็นพยานตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยาน โดยจำเลยที่ 4 มิได้นำพยานหลักฐานมานำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น เมื่อการขนส่งดังกล่าวมีลักษณะเป็นการขนส่งสินค้าทางทะเลในประเทศ ซึ่งต้องบังคับตาม ป.พ.พ. ว่าด้วยการรับขนของ ซึ่งมิได้บัญญัติว่า สัญญาเช่นนี้ต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร หรือต้องมีหลักฐานเป็นเอกสารมาแสดงจึงจะบังคับกันได้ ดังนั้น ที่โจทก์นำสืบและพยานดังกล่าวเบิกความยืนยันจึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้
ส่วนความรับผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับขนสินค้านั้นทางทะเลจากท่าเรือ ซึ่งแม้จะปรากฏว่าเป็นการรับขนตามสัญญาเช่าเรือ (Charterparty) แต่ก็มีการออกใบตราส่ง ดังนั้น การรับขนสินค้าทางทะเลในกรณีนี้ในส่วนของหน้าที่และสิทธิของผู้ขนส่งและผู้รับตราส่งซึ่งมิใช่ผู้จ้างเหมาจึงต้องบังคับตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 5 ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นผู้ขนส่งสินค้าทางทะเลในประเทศ จึงไม่ต้องด้วย พ.ร.บ.การรับขนของทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 4 วรรคสอง โดยหน้าที่และสิทธิของจำเลยที่ 4 ให้บังคับตาม ป.พ.พ. ว่าด้วยการรับขนของดังกล่าวแล้ว เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับสินค้าที่ขนส่งไว้ในความดูแลเพื่อขนส่งและออกใบตราส่ง ซึ่งมีข้อความว่าสินค้าที่ขนส่งมีน้ำหนัก 1,964,583 เมตริกตัน และมีข้อความระบุว่า "Shipped, in apparent good order and condition" และข้อความว่า "Clean on board" แสดงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับสินค้าที่ขนส่งไว้เพื่อการขนส่งสินค้ามีจำนวนตรงตามที่ระบุในใบตราส่ง และสินค้าอยู่ในสภาพดี และผู้รับตราส่งรับมอบสินค้าที่ขนส่งกับได้ส่งมอบสินค้าดังกล่าวให้แก่เรือ ที่ผู้รับตราส่งจัดหามา จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้ขนส่งทางทะเลได้ส่งมอบสินค้านั้นแก่ผู้รับตราส่งแล้ว เมื่อเรือมาถึงเกาะสีชังผู้สำรวจและประเมินความเสียหายของสินค้าที่โจทก์เป็นผู้ว่าจ้างยังได้ออกรายงาน ยืนยันน้ำหนักสินค้าที่ขนส่งว่าเท่ากับที่รับไว้เพื่อการขนส่งจากต้นทาง จึงให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ขนส่งได้มอบของซึ่งมีสภาพ จำนวน น้ำหนัก และรายละเอียดอื่น ๆ ตรงตามที่ระบุไว้ในใบตราส่ง หรือถ้าไม่ได้ออกใบตราส่งให้ไว้แก่กัน ให้สันนิษฐานว่าได้ส่งมอบของซึ่งมีสภาพดี แล้วแต่กรณี และโจทก์มีภาระการพิสูจน์ว่าสินค้าที่ส่งมอบไม่ครบตามจำนวนที่ระบุในใบตราส่ง ถือไม่ได้ว่าการที่สินค้าขาดจำนวนไป มาจากเหตุที่เกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าที่ขนส่งอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อการที่สินค้าที่ขนส่งขาดจำนวนหรือสูญหายไปดังกล่าว สำหรับจำเลยที่ 4 นั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ส่งมอบสินค้าที่ขนส่งแก่จำเลยที่ 4 ขาดจำนวนไปจากที่ได้รับไว้เพื่อการขนส่ง และโจทก์เองก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยที่ 4 ได้รับมอบสินค้าที่ขนส่งไว้เพื่อขนส่งเป็นจำนวนเท่าใด ประกอบกับตามใบกำกับสินค้าก็ได้กำหนดคุณสมบัติเกี่ยวกับความชื้นของสินค้าดังกล่าวไว้ด้วย ทั้งการขนส่งก็เป็นแบบเทกอง จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดในการที่สินค้าข้าวสาลีที่ขนส่งขาดจำนวนไปดังกล่าวเช่นกัน ส่วนปัญหาเรื่องฝนตกอย่างฉับพลันคนเรือดึงผ้าใบปิดระวางเรือไม่ทัน เป็นเหตุให้สินค้าที่เหลืออยู่ในระวางเรือเปียกฝน เช่นนี้ถือว่าสินค้าที่ขนส่งได้รับความเสียหายในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 4 ทั้งไม่ใช่เหตุสุดวิสัยเพราะสามารถรู้ล่วงหน้าและป้องกันได้ในฐานะผู้ประกอบอาชีพรับขนส่งสินค้า จำเลยที่ 4 จึงต้องรับผิดในการที่สินค้าข้าวสาลีที่ขนส่งได้รับความเสียหายจำนวนนี้ด้วย
ส่วนค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องเสียไปในการค้นหาสาเหตุของการที่สินค้าที่ขนส่งได้รับความเสียหายดังกล่าวนั้นถือได้ว่าเป็นค่าเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดจากการที่จำเลยที่ 4 ไม่ชำระหนี้ด้วยการขนส่งสินค้าที่ได้รับไว้ในความดูแลให้ปลอดจากความเสียหาย เพราะเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นย่อมเป็นธรรมดาที่จะต้องมีการสำรวจตรวจสอบเพื่อให้ทราบปริมาณความเสียหายและจำนวนค่าเสียหายของสินค้า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อค่าใช้จ่ายดังกล่าวเกิดจาก 2 สาเหตุ เมื่อจำเลยที่ 4 ต้องรับผิดจากเหตุสินค้าเปียกน้ำเท่านั้น จึงเห็นควรลดค่าเสียหายส่วนนี้ลงตามส่วน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9450/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความเสียหายสินค้าจากตู้คอนเทนเนอร์ไม่มั่นคง ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิด ผู้รับประกันภัยยกเว้นความเสียหายจากการหีบห่อไม่เหมาะสม
คดีเป็นเรื่องการขนส่งสินค้าทางทะเลระบบตู้คอนเทนเนอร์แบบ FCL/FCL หรือ CY/CY (SOC) โดยผู้ส่งจะเป็นผู้บรรจุสินค้าพิพาทเข้าตู้คอนเทนเนอร์ของตนที่สถานที่ของผู้ส่ง ปิดตู้ผนึกดวงตราแล้วนำตู้คอนเทนเนอร์ไปส่งมอบให้แก่ผู้ขนส่งที่ท่าเรือต้นทาง ผู้ส่งจึงมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการเลือกตู้คอนเทนเนอร์ให้เหมาะสมกับลักษณะและสภาพของสินค้า ทั้งยังต้องจัดบรรจุสินค้าพิพาทเข้าตู้คอนเทนเนอร์อย่างเหมาะสมแก่การขนส่งทางทะเล โดยเฉพาะกรณีเป็นการขนส่งสินค้าจากท่าเรือผ่านมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นระยะทางกว่า 6,000 ไมล์ ซึ่งอาจต้องเผชิญกับพายุและคลื่นลมรุนแรงในทะเลอันเป็นภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดาแก่เรือเดินทะเล
สินค้าพิพาทเป็นลูกกลิ้งทำด้วยเหล็กเป็นส่วนประกอบหลัก มีน้ำหนักมาก โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าเชือกไนล่อนรับแรงดึงสูงที่ใช้ผูกรัดสินค้าสามารถรับน้ำหนักได้เท่ากับน้ำหนักของลูกกลิ้งหรือไม่ แต่เชื่อว่าไม่สามารถรับน้ำหนักหรือรับแรงดึงสูงเทียบเท่ากับลวดสลิงหรือโซ่ได้ เมื่อพิจารณาถึงเชือกไนล่อนที่นำมาใช้รัดยึดโยงลูกกลิ้งตามรูปถ่ายแล้ว เชื่อว่าไม่สามารถรัดตรึงลูกกลิ้งดังกล่าวมิให้เคลื่อนไหวได้ เมื่อพบกับสภาพแห่งท้องทะเลที่มีพายุและคลื่นลมที่รุนแรง ส่วนการที่ตู้คอนแทนเนอร์อีกหลายตู้ในเรือไม่ได้รับความเสียหายทั้งที่บรรจุสินค้าลูกกลิ้งลักษณะเดียวกับที่เกิดความเสียหาย ก็ไม่ใช่ข้อบ่งชี้ว่าการจัดบรรจุสินค้าพิพาทในตู้คอนเทนเนอร์ทั้งหมดเหมาะสมแก่สภาพและลักษณะของสินค้าแล้ว นอกจากนี้ ตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้บรรจุสินค้าพิพาทเป็นตู้ใช้แล้วที่มีการซื้อมาเพื่อใช้ในการขนส่งสินค้าพิพาทโดยเฉพาะ และเป็นตู้แบบใช้งานทั่วไป ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้กับสินค้าซึ่งมีลักษณะพิเศษเช่นสินค้าพิพาท เมื่อพิจารณาถึงลักษณะความเสียหายของตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าพิพาทที่ได้รับความเสียหายพบว่า ตู้ส่วนใหญ่ผนังฉีกขาดทะลุเป็นรู บางตู้พื้นยุบเป็นช่องเนื่องจากถูกลูกกลิ้งที่บรรจุอยู่ภายในหลุดจากตำแหน่งกระแทกและลูกกลิ้งบางลูกทะลุหลุดออกจากตู้คอนเทนเนอร์ ตู้คอนเทนเนอร์ที่เสียหายทั้งหมดมีลักษณะเป็นสนิมอยู่ทั่วไป ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตู้คอนเทนเนอร์ฉีดขาดและทะลุเป็นรูได้ง่าย การที่ฝ่ายผู้ส่งของจัดหาตู้คอนเทนเนอร์มาใช้บรรจุสินค้าพิพาทถึง 159 ตู้ โดยการซื้อตู้คอนเทนเนอร์ใช้แล้วมาใช้เพื่อการขนส่งสินค้าพิพาทโดยเฉพาะซึ่งต้องซื้อจากผู้ประกอบกิจการขนส่งระบบตู้คอนเทนเนอร์หลายราย และการที่ผู้ประกอบกิจการขนส่งจะขายตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งตนจำเป็นต้องใช้ในการขนส่งสินค้าประจำในราคาถูกนั้น ย่อมหมายความว่าตู้คอนเทนเนอร์นั้นใช้งานมานานจนใกล้หมดอายุการใช้งานหรือหมดอายุการใช้งานไปแล้ว จึงมีเหตุผลที่เป็นไปได้ว่า ตู้คอนเทนเนอร์ที่เสียหายมีสภาพเก่า ไม่มั่นคงแข็งแรงพอที่จะบรรจุสินค้าพิพาท ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าความเสียหายของสินค้าพิพาทเกิดขึ้นเพราะความผิดของผู้ส่งของที่นำตู้คอนเทนเนอร์ที่ไม่มั่นคงแข็งแรง และไม่เหมาะสมแก่สภาพของสินค้าพิพาทมาใช้บรรจุสินค้าพิพาท และการบรรจุผูกรัดสินค้าพิพาทภายในตู้คอนเทนเนอร์ไม่มั่นคงแข็งแรงไม่เหมาะสมกับลักษณะและสภาพของสินค้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8724/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งทางทะเลต่อความเสียหายของสินค้า และการชดใช้ค่าเสียหายตามกรมธรรม์ประกันภัย
ปัญหาว่า โจทก์เป็นผู้รับช่วงสิทธิจากบริษัท น. ผู้รับตราส่ง มาฟ้องจำเลยทั้งสี่โดยชอบและมีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ เมื่อพิจารณาตามกรมธรรม์ประกันภัยการขนส่งสินค้าทางทะเล ซึ่งเป็นหลักฐานแห่งสัญญาประกันภัยทางทะเลระหว่างโจทก์ผู้รับประกันภัยกับบริษัท ย. ผู้เอาประกันแล้ว แม้กรมธรรม์ไม่ได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้โดยตรงหรือมีการสลักหลังโอนสิทธิตามกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้ใด แต่ในการตีความสัญญาประกันภัยนี้ไม่อาจพิจารณาเฉพาะเพียงข้อความหรือลายลักษณ์อักษรที่ปรากฏอยู่ในสัญญาเท่านั้น ต้องตีความให้เป็นไปตามความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย ตามหลักการตีความสัญญาใน ป.พ.พ. มาตรา 368 กรณีนี้จึงต้องพิจารณาจากเอกสารหลักฐานอื่นๆ สำหรับกรมธรรม์นี้ในส่วนตารางด้านหน้าของเอกสารเกี่ยวกับเนื้อหาของการประกันภัยระบุอ้างถึงใบกำกับสินค้าซึ่งตรงกับใบกำกับสินค้าที่ระบุรายละเอียดของสินค้าที่เอาประกันภัย ชื่อผู้ส่งสินค้าหรือผู้ส่งของว่า คือ บริษัท ย. ผู้เอาประกันภัย และผู้รับตราส่ง คือ บริษัท น. กับระบุว่ามีการขนส่งสินค้าจากท่าเรือศรีราชาไปยังปลายทางที่ประเทศอิตาลี เมื่อพิจารณาข้อความตามตารางในด้านหน้าของกรมธรรม์ก็ปรากฏว่ามีการระบุถึงการใช้สิทธิเรียกร้อง (หากมี) หรือการชำระค่าสินไหมทดแทนว่าให้ทำที่ประเทศอิตาลี และยังระบุอีกว่าในการใช้สิทธิเรียกร้องให้ผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยนี้ในกรณีที่เกิดการสูญหายหรือเสียหายแก่สินค้าที่ขนส่งซึ่งเป็นวัตถุที่เอาประกันภัยจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการแจ้งเหตุในทันทีเพื่อให้มีการสำรวจความเสียหายที่เกิดแก่สินค้าดังกล่าวและมีรายงานการสำรวจความเสียหายจากหรือที่ได้รับการอนุมัติจาก ก. ซึ่งอยู่ที่ประเทศอิตาลี และเมื่อพิจารณากรมธรรม์ประกอบกับใบตราส่งแล้วปรากฏว่าใบตราส่งได้ระบุรายละเอียดของสินค้าที่ขนส่งและระบุชื่อบริษัท ย. เป็นผู้ส่งของกับบริษัท น. เป็นผู้รับตราส่ง ตรงกับที่ระบุในใบกำกับสินค้า จากข้อเท็จจริงดังกล่าวมีเหตุผลให้เชื่อว่า โจทก์ผู้รับประกันภัยมีเจตนาตกลงให้การใช้สิทธิเรียกร้องให้ผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและการชำระค่าสินไหมทดแทนทำกันที่ประเทศอิตาลีซึ่งเป็นปลายทางในการขนส่งสินค้าที่เป็นวัตถุที่เอาประกันภัยเนื่องจากผู้ที่จะใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากผู้ขนส่งตามสัญญารับขนของทางทะเลจากการที่สินค้าที่ขนส่งสูญหายหรือเสียหายเช่นผู้รับตราส่งมักจะพบการสูญหายหรือเสียหายของสินค้าที่ขนส่งเมื่อมีการเรียกและรับสินค้านั้นที่ปลายทางแล้ว ทั้งเมื่อพิจารณาทุนประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยแล้วจะเห็นได้ว่ามีจำนวนร้อยละ 110 ของราคาสินค้าตามใบกำกับสินค้าที่ระบุเป็นราคาเทียบข้างเรือที่ท่าเรือต้นทาง (FAS) ซึ่งเป็นจำนวนทุนประกันภัยตามปกติของการประกันภัยสินค้าในการขนส่ง จึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าจำนวนทุนประกันภัยดังกล่าวได้รวมค่าระวางการขนส่งสินค้าและหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ไว้ด้วย ซึ่งอาจไม่ใช่เป็นค่าใช้จ่ายที่เป็นภาระของผู้เอาประกันภัย ด้วยหลักฐานเอกสารที่มีความเชื่อมโยงกันดังกล่าว ประกอบกับได้ความตามที่พยานโจทก์เบิกความตอบคำถามติงใจความว่า การประกันภัยการขนส่งสินค้าทางทะเลมีระเบียบวิธีปฏิบัติในการชำระค่าสินไหมทดแทนว่าจะชำระแก่ผู้ได้รับความเสียหาย โดยความเสียหายตามลักษณะในคดีนี้จะชำระให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียตามสัญญาซื้อขายคือผู้รับตราส่ง ซึ่งได้แก่ บริษัท น. ผู้ซื้อสินค้าในประเทศอิตาลี จำเลยที่ 1 ไม่ได้นำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างความถูกต้องแท้จริงของพยานเอกสารของโจทก์ดังกล่าวและไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าการประกันภัยกับการชำระค่าสินไหมทดแทนเพื่อการสูญหายหรือเสียหายของสินค้าที่ขนส่งมีวิธีปฏิบัติอย่างอื่นมิได้เป็นไปตามที่โจทก์นำสืบมาแต่อย่างใด จำเลยโต้แย้งในคำให้การเพียงว่าไม่มีการสลักหลังโอนสิทธิตามกรมธรรม์ประกันภัยเท่านั้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าในการทำสัญญาประกันภัยดังกล่าวได้เป็นที่ทราบและมีการตกลงระหว่างบริษัท ย. ผู้เอาประกันภัยและโจทก์ผู้รับประกันภัยโดยปริยายแล้วว่าให้บริษัท น. ผู้ซื้อสินค้าซึ่งเป็นผู้รับตราส่งในประเทศอิตาลีเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยนั้น บริษัท น. จึงเป็นผู้มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเนื่องจากวินาศภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยโดยไม่จำต้องมีการสลักหลังโอนสิทธิตามกรมธรรม์ประกันภัย ทั้งกรณียังถือได้ว่า บริษัท น. เป็นผู้มีส่วนได้เสียในสินค้าที่ขนส่งซึ่งเป็นวัตถุที่เอาประกันภัยในขณะเกิดวินาศภัย อันเป็นเงื่อนไขในการใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 11.1 ที่กำหนดว่า ในการใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยฉบับนี้ ผู้เอาประกันภัยต้องมีส่วนได้เสียในวัตถุที่เอาประกันภัยในขณะเกิดวินาศภัย (In order to recover under this insurance the Assured must have an insurable interest in the subject - matter insured at the time of loss) ซึ่งผู้เอาประกันภัย (the Assured) ในความหมายของการใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยทางทะเลฉบับนี้ย่อมหมายความรวมถึงผู้รับประโยชน์ตามสัญญาที่ไม่ได้เป็นผู้เอาประกันภัยด้วยตามเจตนาของโจทก์ผู้รับประกันภัยและบริษัท ย. ผู้เอาประกันภัยที่ได้ตกลงกันโดยปริยายดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าบริษัท ย. ในกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นผู้ขายสินค้าดังกล่าวและเป็นผู้ส่งสินค้าที่ขายให้แก่บริษัท น. ในประเทศอิตาลีกับเป็นผู้เอาประกันภัยสำหรับความเสียหายและสูญหายของสินค้านั้นระหว่างการขนส่งไว้แก่โจทก์ตามกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าทางทะเล โดยผู้ขายว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งสินค้า 14 หีบห่อ จำเลยที่ 1 ตกลงรับขนส่งสินค้าดังกล่าวโดยใช้เรือเดินทะเลของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการและควบคุมดูแลการเดินเรือและใช้เรือเดินทะเลของจำเลยที่ 4 เป็นยานพาหนะ จำเลยที่ 1 ได้รับชำระค่าระวางการขนส่งแล้วออกใบตราส่งในนามของจำเลยที่ 1 และในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้แก่ผู้ส่งไว้เป็นหลักฐานโดยระบุให้บริษัท น. ผู้ซื้อเป็นผู้รับตราส่งตามใบตราส่ง และใบตราส่งนี้ได้โอนไปยังบริษัท น. ผู้รับตราส่งแล้ว เมื่อสินค้าถึงปลายทาง ผู้รับตราส่งพบว่าสินค้าได้รับความเสียหาย 3 หีบห่อ บริษัท น. ผู้รับโอนใบตราส่งจึงเป็นผู้ทรงใบตราส่งและเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสินค้าที่ขนส่งซึ่งได้รับความเสียหายในระหว่างการขนส่งอันถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสินค้าที่ขนส่งซึ่งได้เอาประกันภัยไว้ในขณะเกิดวินาศภัยโดยไม่จำต้องให้บริษัท ย. ผู้เอาประกันภัยสลักหลังโอนสิทธิตามกรมธรรม์ดังกล่าวก่อน การที่โจทก์ผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวให้บริษัท น. จึงเป็นการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปโดยชอบด้วยข้อ 11.1 ในกรมธรรม์ประกันภัยแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะเข้ารับช่วงสิทธิจากบริษัท น. ผู้รับตราส่งได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8973/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งทางทะเลต่อความเสียหายสินค้า: การจำกัดความรับผิดและหน่วยการขนส่ง
จำเลยที่ 3 ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งสินค้าพิพาททางทะเลจากท่าเรือที่ประเทศสิงคโปร์มาท่าเรือแหลมฉบัง และดำเนินการขนถ่ายตู้สินค้ามาที่ลานพักสินค้าลาดกระบังเพื่อรอส่งมอบให้ผู้รับตราส่ง จำเลยที่ 3 จึงมีฐานะเป็นผู้ขนส่งอื่นตามนิยามในมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534
ตู้ที่ใช้บรรจุสินค้าพิพาทมีรูรั่วและมิได้ถูกจัดเก็บในสถานที่หรือสภาพที่จะปลอดภัยต่อสินค้าที่บรรจุอยู่ภายใน จึงเป็นเหตุให้มีน้ำซึมไหลผ่านรูรั่วด้านบนลงไปในตู้สินค้า ทำให้สินค้าพิพาทเปียกน้ำเสียหายก่อนที่ผู้รับตราส่งจะได้รับมอบสินค้า ดังนั้น เมื่อเหตุแห่งความเสียหายของสินค้าเกิดขึ้นในระหว่างสินค้าพิพาทอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่ง
เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าผู้ส่งของได้แจ้งราคาสินค้าที่ขนส่งให้ผู้ขนส่งทราบและผู้ขนส่งยอมรับโดยแสดงราคาสินค้านั้นไว้ในใบตราส่ง ความรับผิดของผู้ขนส่งในความเสียหายของสินค้าพิพาทต้องถูกจำกัดไว้เพียง 10,000 บาท ต่อหนึ่งหน่วยการขนส่ง หรือกิโลกรัมละ 30 บาทต่อน้ำหนักสุทธิแห่งสินค้าพิพาท แล้วแต่ว่าเงินจำนวนใดจะมากกว่ากันตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 58 สินค้าที่เสียหายเป็นแผ่นฉนวนทองแดงบรรจุอยู่ในหีบห่อ 12 หีบห่อ หีบห่อละ 50 ชิ้น วางซ้อนกันและห่อหุ้มด้วยกระดาษสีน้ำตาลและพลาสติกใสรัดด้วยสายรัดพลาสติกวางอยู่บนพัลเล็ตโดยห่อหุ้มรวมกันเป็นห่อเดียว ไม่สามารถเห็นสินค้าแต่ละชิ้นจากภายนอกได้ การขนส่งห่อดังกล่าวสามารถขนส่งไปได้โดยลำพัง ประกอบกับตามใบตราส่งก็ไม่ได้ระบุจำนวนและลักษณะของหน่วยการขนส่งที่รวมกันนั้นไว้ให้เข้าใจได้ชัดเจน กรณีย่อมถือว่าสินค้าพิพาทดังกล่าว 1 หีบห่อ เป็นหนึ่งหน่วยการขนส่ง ไม่ใช่ 1 พัลเล็ต เป็นหนึ่งหน่วยการขนส่งหรือแต่ละชิ้นที่อยู่ในหีบห่อเป็น 1 หน่วยการขนส่ง ความรับผิดของผู้ขนส่งย่อมจำกัดไว้เพียง 10,000 บาท ต่อ 1 กล่อง
เนื่องจากความรับผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในความเสียหายของสินค้าพิพาทถือเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงสมควรให้คำพิพากษามีผลไปถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้อุทธรณ์ด้วย
of 3