พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,884 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3208/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต่อจำเลยโดยตรง แม้ทนายไม่ได้รับแจ้งนัด ไม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิ
ป.วิ.อ. มาตรา 182 วรรคสองและวรรคสาม กำหนดให้ศาลอ่านคำพิพากษาในศาลต่อหน้าคู่ความโดยเปิดเผย เมื่ออ่านแล้วให้คู่ความลงลายมือชื่อไว้ และมาตรา 2 (15) ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า "คู่ความ" ไว้ว่า หมายความถึงโจทก์ฝ่ายหนึ่งและจำเลยอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งมาตรา 2 (3) "จำเลย" หมายความถึงบุคคลซึ่งถูกฟ้องยังศาลแล้วโดยข้อหาว่าได้กระทำความผิด ดังนั้น ทนายจำเลยจึงมิได้เป็นจำเลยหรือเป็นคู่ความตาม ป.วิ.อ. เมื่อศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้จำเลยซึ่งเป็นคู่ความในคดีฟังและให้จำเลยลงลายมือชื่อไว้แล้ว โดยจำเลยเคยยื่นคำร้องขอคัดสำเนาเอกสารในสำนวนเพื่อยื่นอุทธรณ์และขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ด้วยตนเอง และจำเลยพูดและฟังภาษาไทยได้บ้าง แสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยเข้าใจผลแห่งคำพิพากษาโดยไม่ต้องมีล่าม จึงเป็นการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการอ่านคำพิพากษาโดยชอบแล้ว ส่วนการที่ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งวันนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้ทนายจำเลยทราบ จะเป็นการจำกัดสิทธิของจำเลยที่จะได้รับการปรึกษากับทนายจำเลยในการยื่นฎีกาหรือไม่อย่างไร ก็ไม่เป็นเหตุให้การอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ที่ชอบด้วยกฎหมายกลับกลายเป็นไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2931/2549
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การวินิจฉัยความผิดของจำเลยโดยศาลอุทธรณ์ แม้จำเลยมิได้อุทธรณ์ประเด็นความผิด
ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิต แม้จำเลยที่ 2 อุทธรณ์เพียงขอให้ลงโทษสถานเบาโดยมิได้อุทธรณ์ในปัญหาว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ก็ต้องวินิจฉัยปัญหานี้อีกครั้งหนึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังมิได้วินิจฉัยปัญหาข้อนี้ จึงถือได้ว่าศาลอุทธรณ์ภาค 7 มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 245 วรรคสอง ศาลฎีกาย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยปัญหานี้ก่อน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2923/2549
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
รับของโจร: จำเลยไม่ต้องพิสูจน์ตนเอง โจทก์ต้องพิสูจน์ว่าจำเลยรู้ว่าเป็นของโจร
ในคดีความผิดฐานรับของโจรนั้น โจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบให้เห็นว่าจำเลยรับจำนำรถจักรยานยนต์ของกลางไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ไม่ใช่ว่าเมื่อจำเลยเป็นผู้ครอบครองรถจักรยานยนต์ของกลางแล้ว จำเลยต้องนำสืบแก้ตัวว่าตนไม่รู้ไม่เป็นของที่ได้มาจากการกระทำความผิด เมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยรับจำนำรถจักรยานยนต์ของกลางโดยรู้ว่าเป็นรถจักรยานยนต์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ พยานโจทก์จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดฐานรับของโจทก์ ลำพังคำรับสารภาพชั้นจับกุม แต่จำเลยให้การปฎิเสธในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาคดี จะนำมาฟังลงโทษจำเลยว่าการกระทำความผิดฐานรับของโจรหาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 134/2549
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฎีกาไม่รับวินิจฉัยประเด็นผู้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา เหตุจำเลยมิได้ยกข้อต่อสู้ในศาลล่าง
จำเลยฎีกาว่าผู้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาของโจทก์มิใช่ผู้มีอำนาจกระทำแทนจำเลย ถือว่าจำเลยไม่เคยทราบถึงการบอกเลิกสัญญา ปัญหานี้จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 871/2548
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
หน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายของจำเลยในการชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลแรงงาน
หนี้ค่าจ้างค้างจ่าย เงินสะสม สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยที่จำเลยจะต้องชำระแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ล้วนแต่เป็นเงินที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยชำระอันเนื่องมาจากการที่จำเลยกับโจทก์มีนิติสัมพันธ์กันในฐานะนายจ้างกับลูกจ้าง ถือว่าเป็นเงินที่โจทก์ได้เนื่องจากการจ้างแรงงานตามที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฎากรฯ มาตรา 40 (1) ซึ่งกำหนดให้เป็นเงินได้พึงประเมิน จำเลยผู้จ่ายเงินดังกล่าวให้โจทก์ตามคำพิพากษาย่อมมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 50 ประกอบด้วยมาตรา 3 จตุทศ ซึ่งเป็นหน้าที่ที่จำเลยจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย แม้จำเลยจะมิได้อ้างเรื่องการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ในชั้นพิจารณา แต่เมื่อจำเลยจะต้องชำระหนี้ตามคำพิพากษาจำเลยก็สามารถหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 767/2548
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
พยานเอกสารต้องพิสูจน์ความแท้จริง แม้ศาลจะได้รับเอกสารมาแล้ว จำเลยต้องพิสูจน์รายงานแพทย์ที่อ้างถึง
พยานเอกสารที่ส่งมาตามคำสั่งเรียกของศาลนั้น คงรับฟังได้แต่เพียงว่าผู้จัดส่งเป็นผู้ครอบครองเอกสารนั้นไว้ แต่การที่จะรับฟังได้ว่า เอกสารนั้นเป็นเอกสารที่แท้จริงและถูกต้องนั้น ผู้อ้างเอกสารจะต้องนำสืบพิสูจน์ต่อศาลอีกชั้นหนึ่ง เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าไม่ต้องพิสูจน์ รายงานแพทย์ที่โรงพยาบาลที่จำเลยขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียกมาจากโรงพยาบาลนั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติยกเว้นไม่ต้องพิสูจน์ความแท้จริงและความถูกต้อง เมื่อโจทก์ฟ้องและนำสืบว่าโจทก์มีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงดีในขณะทำสัญญาประกันชีวิตและไม่เคยแจ้งแพทย์ว่าเป็นโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง จำเลยมีภาระในการพิสูจน์ว่า รายงานแพทย์ดังกล่าวที่ระบุว่า โจทก์มีประวัติเป็นโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง นั้นแท้จริงและถูกต้อง เมื่อจำเลยอ้างส่งรายงานแพทย์ลอยๆ โดยมิได้นำแพทย์ที่ซักประวัติโจทก์หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดมาเบิกความยืนยันให้เห็นว่าเป็นรายงานแพทย์ที่แท้จริงและถูกต้อง ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่า โจทก์ได้ให้รายละเอียดกับแพทย์ผู้ตรวจรักษาตามรายงานแพทย์เอกสารหมาย ป.ล.3 ไว้จริง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 728/2548
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ขาดนัดพิจารณาคดี: ศาลจำหน่ายคดีจากสารบบความได้ หากจำเลยไม่แจ้งให้พิจารณาต่อไป แม้คัดค้านการถอนฟ้อง
ในกรณีที่โจทก์ขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 202 หากจำเลยมิได้แจ้งต่อศาลในวันสืบพยานขอให้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป ศาลจะต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสียจากสารบบความ การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องไว้ก่อนวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลให้รอสั่งในวันนัดและจำเลยที่ 1 แถลงคัดค้านการขอถอนฟ้องของโจทก์เป็นคนละกรณีกับการที่จะให้ศาลดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้แจ้งต่อศาลในวันสืบพยานขอให้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไปตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว แต่การที่ศาลชั้นต้นอ้างเหตุในคำสั่งจำหน่ายคดีว่าโจทก์ทิ้งฟ้องนั้นเป็นการไม่ถูกต้องเพราะกรณีมิใช่เป็นเรื่องทิ้งฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 685/2548
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เหตุสุดวิสัยต้องเป็นเหตุที่จำเลยไม่สามารถป้องกันได้ การเดินทางไปทำธุระแล้วรถเสียไม่ใช่เหตุสุดวิสัย
เหตุสุดวิสัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 หมายความว่ามีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้น ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่สามารถป้องกันได้และทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ แต่เมื่อทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทราบดีอยู่แล้วมีหน้าที่ต้องยื่นอุทธรณ์ภายในวันที่ 18 มีนาคม 2547 ตามที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลา หากทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำอุทธรณ์เสร็จแล้วก็น่าจะดำเนินการยื่นอุทธรณ์หรือมอบหมายให้บุคคลอื่นไปดำเนินการแทนให้เรียบร้อยเสียก่อนที่จะเดินทางไปทำกิจธุระที่ต่างจังหวัด การที่ทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ดำเนินการดังกล่าว แต่กลับเดินทางไปปฏิบัติภารกิจอื่นที่ต่างจังหวัดในวันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์และกลับมายื่นอุทธรณ์ไม่ทันเนื่องจากรถยนต์ที่ใช้เดินทางเสีย จึงเป็นความผิดหรือความบกพร่องของทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 เอง กรณีถือไม่ได้ว่ามีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6661-6664/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีที่ผิดระเบียบเฉพาะจำเลย และการรับฟังพยานหลักฐานหลังย้อนสำนวน
ในวันที่ศาลชั้นต้นเริ่มทำการสืบพยาน จำเลยที่ 1 เท่านั้นที่ขาดนัดพิจารณา ส่วนจำเลยที่ 2 มาศาล ที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานไปโดยมิได้มีคำสั่งแสดงว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณาให้ชี้ขาดตัดสินคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ไปฝ่ายเดียว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบเฉพาะระหว่างโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยที่ 1 ส่วนการดำเนินกระบวนพิจารณาระหว่างโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยที่ 2 เป็นไปโดยชอบ จึงต้องสืบพยานใหม่เฉพาะระหว่างโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยที่ 1 เท่านั้น คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสี่เบิกความไว้ก่อนที่ศาลฎีกาพิพากษาย้อนสำนวนจึงใช้เป็นพยานหลักฐานระหว่างโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยที่ 2 ได้ ไม่มีข้อได้เปรียบในเชิงคดีระหว่างโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยที่ 2
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6327/2548
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิจำเลยในการได้รับการแต่งตั้งทนายความ – กระบวนการสอบถามก่อนพิจารณา – ความไม่ชอบของกระบวนพิจารณา
คดีนี้เป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุก จึงเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะต้องสอบถามจำเลยก่อนเริ่มพิจารณาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายความ ก็ให้ศาลชั้นต้นตั้งทนายความให้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคสอง ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดฯ มาตรา 3 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ให้ความคุ้มครองแก่จำเลยในการพิจารณาคดีของศาล เมื่อไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้ดำเนินการสอบถามจำเลยในเรื่องดังกล่าวในวันสอบคำให้การของจำเลย แม้จำเลยจะแต่งตั้งทนายความเข้ามาในคดีในวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาก็ตาม แต่ก็เป็นการแต่งตั้งทนายความหลังจากศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยแล้ว จึงเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาอันเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ โดยให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2), มาตรา 225 ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดฯ มาตรา 3