คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ฎีกาต้องห้าม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 496 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4160/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม: การยกเหตุใหม่ในชั้นฎีกาที่ไม่เคยว่ากันในศาลล่าง และประเด็นความสมบูรณ์ของฟ้อง
โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด คือ ปลอมแผ่นป้ายวงกลมเสียภาษีรถยนต์ประจำปี 2541 อันเป็นเอกสารราชการ กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ที่แท้จริง และใช้แผ่นป้ายวงกลมเสียภาษีรถยนต์ประจำปี 2541 ที่จำเลยทำปลอมขึ้นไปติดไว้ที่กระจกหน้ารถยนต์ และรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น รวมทั้งบรรยายถึงพฤติการณ์การกระทำของจำเลยด้วยว่า กระทำปลอมโดยวิธีใดและใช้โดยวิธีใด คำฟ้องของโจทก์จึงครบถ้วนสมบูรณ์ เป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดฐานใช้เอกสารปลอม จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ ไม่ได้อุทธรณ์ว่าไม่มีความผิดฐานใช้เอกสารปลอม ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษาเพียงว่า ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจเหมาะสมหรือไม่เท่านั้น ดังนั้น การที่จำเลยฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยใช้เอกสารราชการปลอม จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3732/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้ามเนื่องจากจำเลยไม่โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เรื่องการรอการลงโทษ และการแก้ไขโทษบวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษ จำเลยมิได้อุทธรณ์ คงมีโจทก์ฝ่ายเดียวอุทธรณ์ ขอให้ลงโทษจำเลยตามฟ้อง ถือว่าจำเลยพอใจในผลของคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ไม่รอการลงโทษจำคุกให้ แก่จำเลยแล้ว ปัญหาว่าควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่จึงไม่เคยเข้าสู่การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 8 จำเลยจะฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกมิได้ ถือว่ามิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 8 ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติซึ่งจำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านปรากฏว่า ก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้จำคุก 1 เดือน และปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ภายในเวลาที่รอการลงโทษไว้ในคดีดังกล่าว จำเลยกระทำความผิดในคดีนี้อีก แม้โจทก์จะมิได้บรรยายฟ้องและ ขอให้บวกโทษในคดีก่อนเข้ากับโทษคดีนี้ก็ตาม แต่เมื่อความปรากฏแก่ศาลเอง ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจนำโทษจำคุก ที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนดังกล่าว มาบวกเข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้ได้ ตาม ป.อ. มาตรา 58 วรรคแรก ที่ศาลล่างทั้งสองมิได้พิพากษาให้บวกโทษจำคุกจำเลยด้วยนั้น เป็นการมิชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3051/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม: ศาลไม่รับฎีกาเนื่องจากโจทก์ไม่โต้แย้งค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นพิพากษา และการขอให้รอฟังผลคดีอื่นเป็นดุลยพินิจของศาล
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท โจทก์ไม่อุทธรณ์ย่อมถือได้ว่าในขณะที่ยื่นคำฟ้องนั้นที่ดินและบ้านพิพาทอาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท คดีจึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคสอง ที่จำเลยฎีกาขอให้ศาลชั้นต้นงดการอ่านคำพิพากษาจนกว่าคดีที่จำเลยร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินและบ้านพิพาทถึงที่สุดนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลชั้นต้นเกี่ยวกับการสั่งไม่รอฟังผลคดีอื่นเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2903/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ บทสันนิษฐานการมีไว้เพื่อจำหน่ายยาเสพติด & การยกข้อไม่รู้กฎหมายในชั้นฎีกาเป็นฎีกาต้องห้าม
ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 15 วรรคสาม (2) ที่บัญญัติว่าการมีแอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีน มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป... ให้ถือว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย อันเป็นบทสันนิษฐานเด็ดขาดของกฎหมายนั้น จำเลยไม่อาจนำสืบหักล้างเป็นอย่างอื่นได้ ทั้งตาม ป.อ. มาตรา 64 บัญญัติว่า "บุคคลจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้พ้นจากความรับผิดในทางอาญาไม่ได้ แต่ถ้าศาลเห็นว่าตามสภาพและพฤติการณ์ผู้กระทำความผิดอาจจะไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด ศาลอาจอนุญาตให้แสดงพยานหลักฐานต่อศาล และถ้าศาลเชื่อว่า ผู้กระทำไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติไว้เช่นนั้น ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้" เมื่อจำเลยมิได้ขออนุญาตแสดงพยานหลักฐานต่อศาลให้เชื่อว่าจำเลยไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติไว้ตั้งแต่ศาลชั้นต้น ย่อมเป็นปัญหาที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง จึงเป็นฎีกาต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2672/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากไม่วางค่าธรรมเนียมศาล ทำให้ฎีกาต้องห้ามตามกฎหมาย
จำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การเพื่อต่อสู้คดี และขอให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นจำเลยร่วมศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง จำเลยจึงยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น ขอให้ศาลอุทธรณ์เพิกถอนและให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของจำเลยแล้วสืบพยานต่อไป อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวเท่ากับเป็นการขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่บังคับให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์และให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาคดีใหม่ ต่อไปนั่นเอง จำเลยจึงต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 ด้วย แต่จำเลยมิได้นำเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ อุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยมานั้นจึงไม่ชอบ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 เมื่อศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยโดยไม่ชอบ จึงถือไม่ได้ว่าฎีกาของจำเลยเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1774/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคสอง กรณีโต้แย้งข้อเท็จจริงในประเด็นค่าเช่าและสัญญาซื้อขาย
ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสองต้องใช้แก่โจทก์เดือนละ 6,000 บาท ซึ่งเป็นการกำหนดค่าเสียหายจากจำนวนค่าเช่าที่จะได้จากการให้เช่าตึกแถวและที่ดินพิพาท โจทก์ไม่อุทธรณ์ จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายสูงเกินไป ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน แม้จำเลยที่ 2 จะฎีกาปัญหานี้ต่อไป แต่ก็เป็นที่เห็นได้แน่นอนแล้วว่าตึกแถวและที่ดินพิพาทอาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละ 6,000 บาท ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องขับไล่บุคคลออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 10,000 บาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคสอง ซึ่งห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 มิได้มีเจตนาประวิงคดีในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นก็ดี โดยสภาพและทำเลที่ตั้งของตึกแถวและที่ดินพิพาทอาจให้เช่าได้เพียงไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท ก็ดี ล้วนเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 7 อันเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7838/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง: โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีต่อกระทง
คดีที่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ต้องแยกพิจารณาโทษแต่ละกระทงเป็นเกณฑ์ คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 5 ปี ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำคุก 5 ปี รวมจำคุก 10 ปี แม้จะนำโทษจำคุก 6 เดือนที่รอการลงโทษไว้ในคดีอื่นมาบวกเข้ากับโทษในคดีนี้ เป็นจำคุก 10 ปี 6 เดือน ก็เป็นกรณีที่คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกกระทงละไม่เกิน 5 ปี แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยแก้ไขให้ใช้บังคับตามบทกำหนดโทษตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่และแก้โทษจำคุกจากกระทงละ 5 ปี เป็นกระทงละ 4 ปี การแก้ไขบทลงโทษเป็นการปรับบทลงโทษบทเดิมที่แก้ไขใหม่ จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 ลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า พยานโจทก์มีพิรุธไม่เพียงพอฟังเพื่อลงโทษจำเลยนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 7 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7680/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม: จำเลยอุทธรณ์เฉพาะโทษ ไม่โต้แย้งข้อเท็จจริงเดิม ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยประเด็นความผิด
แม้จำเลยที่ 2 จะให้การปฏิเสธว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน แต่เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดทั้งสองดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 2 อุทธรณ์เพียงขอให้ลดมาตราส่วนโทษและลงโทษสถานเบาเท่านั้น จำเลยที่ 2 หาได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวด้วยไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ในความผิดดังกล่าว จึงเป็นการโต้เถียงปัญหาข้อเท็จจริงที่ยุติไปแล้ว และเป็นปัญหาที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7352/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม: โจทก์ฎีกาแก้ข้อเท็จจริงในคดีเยาวชน เกินกว่าที่กฎหมายอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง , 66 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน แต่ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยที่ 2 ไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จังหวัดระยอง มีกำหนด 1 ปี ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 104 (2) ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม) , 67 (ที่แก้ไขใหม่) และ 102 ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 ลงโทษจำคุก 1 ปี 3 เดือน และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี โดยกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลยที่ 2 ไว้ด้วย ซึ่งเป็นการแก้ทั้งบทลงโทษและกำหนดโทษอันเป็นการแก้มาก แต่เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 40,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 การที่โจทก์ฎีกาว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบรับฟังได้ว่า จำเลยมีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว อันเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 684/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้ามในปัญหาข้อเท็จจริง: การโต้แย้งวันแจ้งข้อกล่าวหาเพื่อพิสูจน์อำนาจฟ้อง
คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 3 เดือน ปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
จำเลยฎีกาว่า จำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน และพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาจำเลยเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2541 แต่พนักงานสอบสวนยื่นคำขอผัดฟ้องเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2541 เกินกำหนดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง แต่ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาจำเลยเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2541 ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี พนักงานสอบสวนขอผัดฟ้องภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ดังนี้ ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาที่โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยได้รับการแจ้งข้อกล่าวหาในวันใด เป็นการโต้เถียงในปัญหาข้อเท็จจริงที่จะนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง หาใช่ข้อกฎหมายตามที่จำเลยฎีกาไม่
of 50