คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
นิติกรรม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 305 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1005/2542 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลผูกพันคำสั่งศาลฎีกา & สิทธิการขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์: การทำนิติกรรมขัดคำสั่ง
คดีก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาให้ บ.โจทก์ในคดีนั้นมีสิทธิ์ซื้อที่ดินคืนจากจำเลย หากจำเลยไม่ยอมขายให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีการะหว่างฎีกาจำเลยขอทุเลาการบังคับ ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยทุเลาการบังคับคดีไว้ แต่ห้ามจำเลยทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินพิพาทในระหว่างฎีกา เมื่อปรากฏว่าคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์กับคำสั่งให้ทุเลาการบังคับคดีของศาลฎีกาที่อนุญาตให้จำเลยทุเลาการบังคับคดีโดยมีเงื่อนไขห้ามจำเลยทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินพิพาทในระหว่างฎีกานั้น มีผลบังคับอยู่ก่อนที่โจทก์จะฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ เมื่อยังไม่มีการยกเลิก คำสั่งดังกล่าวย่อมผูกพันจำเลย การที่จำเลยไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ในคดีนี้ดังกล่าวจึงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของศาลฎีกา อีกทั้งโจทก์ในคดีนี้ก็มิได้เป็นคู่ความในคดีก่อนโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำแถลงขอให้ศาลชั้นต้นคดีหลังนี้ให้มีหนังสือแจ้งไปยังเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรีให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมในคดีนี้ได้ เพราะเป็นการขอให้ศาลชั้นต้นในคดีนี้ยกเลิกคำสั่งของศาลฎีกาในคดีแพ่งเรื่องก่อน ซึ่งเป็นคนละคดีกันและถึงที่สุดไปแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7221/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรม ทำให้สัญญาซื้อขายเป็นโมฆะ และส่งผลถึงสัญญาขายฝากที่ทำภายหลัง
จำเลยที่ 1 กับพวกวางแผนทำทีติดต่อขอซื้อที่ดินจากโจทก์ แล้วขอยืมโฉนดที่ดินพิพาทจากโจทก์เพื่อเอาไปถ่ายเอกสารแล้วทำโฉนดที่ดินพิพาทปลอมขึ้นมาอีกฉบับหนึ่ง พร้อมทั้งหลอกโจทก์ให้พิมพ์ลายนิ้วมือในหนังสือสัญญาขายที่ดินและเอกสารต่าง ๆ นำไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ต่อจากนั้นจำเลยที่ 1 จึงทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทไว้กับจำเลยที่ 2 พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้มีเจตนามาแต่ต้นว่าจะซื้อที่ดินของโจทก์ การที่โจทก์ไปทำสัญญาขายที่ดินกับจำเลยที่ 1 จึงเป็นเรื่องที่โจทก์แสดงเจตนาไปด้วยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 119 เดิม จึงต้องถือเสมือนว่ามิได้มีการซื้อขายกันเกิดขึ้นกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทยังคงเป็นของโจทก์อยู่ตามเดิม และเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแล้วจำเลยที่ 1 ก็ไม่มีสิทธิจะเอาที่ดินพิพาทไปทำสัญญาขายฝากกับจำเลยที่ 2 ได้ ฉะนั้น การที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนรับซื้อฝากที่ดินพิพาทไว้จากจำเลยที่ 1 ผู้ไม่มีสิทธิจึงไม่เกิดผลให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิตามสัญญาขายฝากนั้น โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมขายฝากระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6350/2541 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทำนิติกรรมของคนไร้ความสามารถ: สัญญาจะซื้อขายโมฆียะ การให้สัตยาบัน และอำนาจผู้อนุบาล
แม้ขณะที่ ส.ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินทั้ง 8 แปลง ในขณะที่ ส.เป็นปกติอยู่ก็ตาม แต่ในช่วงระยะเวลาที่ ส.จะต้องไปโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินขายให้แก่ผู้จะซื้อตามสัญญาจะซื้อขายนั้นก็เป็นระยะเวลาภายหลังที่ ส.ได้ถูกศาลมีคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความอนุบาลของผู้ร้องแล้ว ดังนั้น เมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นผู้อนุบาลประสงค์ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายโดยดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 8 แปลง ขายให้ผู้จะซื้อ ผู้ร้องจึงต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน ตาม ป.พ.พ.มาตรา 28 วรรคสอง และ 1574 (1) ประกอบมาตรา 1598/18 วรรคสอง
แม้สัญญาจะซื้อขายที่ ส.ทำขึ้นเป็นโมฆียะกรรมก็ตาม แต่ผู้ร้องในฐานะผู้อนุบาลซึ่งมีสิทธิบอกล้างนิติกรรมอันเป็นโมฆียะมิได้บอกล้างต่อผู้จะซื้อ ทั้งผู้ร้องยังได้แสดงเจตนาขอทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินดังกล่าวแทน ส.ซึ่งถูกศาลมีคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ และให้อยู่ในความอนุบาลของผู้ร้อง โดยผู้ร้องไปติดต่อเจ้าหน้าที่ที่ดินและยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อขอทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินขายแทน ส.พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าผู้ร้องได้ให้สัตยาบันแก่สัญญาจะซื้อขายซึ่งเป็นโมฆียะกรรมโดยการแสดงเจตนาแก่ ส.ผู้จะซื้อ ซึ่งเป็นคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งแล้วตาม ป.พ.พ.มาตรา178 สัญญาจะซื้อขายจึงเป็นอันสมบูรณ์มาแต่เริ่มแรก ตามมาตรา 177 ซึ่งมีผลผูกพันที่ผู้ร้องจะต้องปฏิบัติตามสัญญา โดยผู้ร้องจะต้องดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของ ส.ขายให้แก่ผู้จะซื้อ เป็นเหตุให้ผู้ร้องจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในสัญญาจะซื้อขาย อีกทั้งบุตรของ ส.อีก 2 คน ที่แถลงต่อศาลชั้นต้นว่าทราบรายละเอียดในคดีนี้แล้วไม่ค้านตลอดจนศาลได้คำนึงถึงราคาซื้อขายที่ดินดังกล่าวแล้ว เห็นได้ว่าราคาซื้อขายที่ดินดังกล่าวอยู่ในเกณฑ์เหมาะสม และเมื่อพิจารณาถึงการจะไม่อนุญาตให้ผู้ร้องขายที่ดินของ ส. ซึ่งอาจจะเป็นผลเสียหายต่อ ส. เนื่องจากไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายได้ ดังนั้น การขายที่ดินของ ส.ให้แก่ผู้จะซื้อตามสัญญาจะซื้อขายถือได้ว่ามีเหตุจำเป็นและสมควร อีกทั้งเป็นประโยชน์ต่อ ส. จึงชอบที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องในฐานะผู้อนุบาลของ ส.คนไร้ความสามารถขายที่ดินของ ส.ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6250/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของผู้ถือหุ้น: การเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินและการจำนอง
โจทก์เป็นเพียงผู้ถือหุ้น ไม่มีอำนาจกระทำการใด ๆแทนบริษัทจำเลยที่ 1 คงมีสิทธิเพียงควบคุมการดำเนินงานของจำเลยที่ 1 บางประการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้นหากอาจก้าวล่วงเข้าไปจัดการงานของจำเลยที่ 1เสียเองได้ไม่ และแม้โจทก์เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1ด้วยคนหนึ่งก็ตาม แต่ตามหนังสือรับรองของสำนักทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ลำพังโจทก์เพียงคนเดียวไม่มีอำนาจกระทำการใด ๆ แทนจำเลยที่ 1 ได้โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และการจำนองที่ดินระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ส่วนปัญหาที่ว่า หากไม่ถือว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายก็จะไม่มีใครเป็นผู้เสียหายได้เลยนั้น ในกรณีเช่นนี้ โจทก์และผู้ถือหุ้นคนอื่นสามารถกระทำได้โดยใช้มติที่ประชุมใหญ่ถอดถอนกรรมการชุดเดิมและแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ แล้วให้กรรมการชุดใหม่ดำเนินการแทนจำเลยที่ 1 หรือหากโจทก์และผู้ถือหุ้นคนอื่นเสียหายก็สามารถดำเนินการฟ้องเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากกรรมการผู้ก่อให้เกิดความเสียหายได้โดยหากบริษัทไม่ฟ้องกรรมการผู้นั้น โจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นจะดำเนินการฟ้องเองได้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6033/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายที่ดิน สินสมรส และการฟ้องเพิกถอนนิติกรรมโดยผู้จัดการสินสมรส
โจทก์ที่ 1 ได้ตกลงขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1และได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาท แทน จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์โดยชอบการที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 4จำนองที่ดินพิพาทไว้แก่จำเลยที่ 5 ก็เป็นการกระทำโดยชอบเช่นกัน โจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการขายและการจำนอง โจทก์ที่ 1 กับโจทก์ที่ 2 จดทะเบียนสมรสกันเมื่อปี 2491 โจทก์ที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทมาเมื่อปี 2504ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินสมรส อันเป็นสินบริคณห์ตามมาตรา 1462แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่โจทก์ได้ที่ดินพิพาทมาเมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ได้ทำสัญญาก่อนสมรสให้โจทก์ที่ 2 เป็นผู้จัดการสินบริคณห์ หรือให้จัดการร่วมกับโจทก์ที่ 1 ดังนั้น โจทก์ที่ 1 จึงยังคงเป็นผู้จัดการสินบริคณห์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิมมาตรา 1468 ที่ดินพิพาทมิใช่สินเดิมของโจทก์ที่ 2 หรือ สินสมรสที่โจทก์ที่ 2 ได้มาโดยการยกให้หรือทางพินัยกรรม และการจำหน่ายที่ดินพิพาทมิใช่เป็นการยกให้โดยเสน่หาโจทก์ที่ 1 จึงไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ที่ 2 ก่อนดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1473 เดิม นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาท ระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นไปโดยชอบด้วย กฎหมาย โจทก์ที่ 2 ไม่อาจที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนได้ โจทก์ที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 โดยชอบ เมื่อจำเลยที่ 4บอกกล่าวให้โจทก์ที่ 1 ออกจากที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์ที่ 1จึงไม่มีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาทอีกต่อไป การที่โจทก์ที่ 1ยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทต่อมาจึงเป็นการอยู่โดยละเมิด ทำให้ จำเลยที่ 4 เสียหาย จำเลยที่ 4 จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ที่ 1 ได้ คดีรวมการพิพากษาเข้าด้วยกัน การที่ศาลชั้นต้นและ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ ร่วมใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและ ค่าทนายความกับจำเลยทั้งสองสำนวนโดยไม่แยกเป็นรายสำนวน ไม่ถูกต้อง เพราะสำนวนที่สองโจทก์มิได้เป็น คู่ความด้วย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5621/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ โมฆะ นิติกรรมจำนอง เจ้าของทรัพย์สินไม่ยินยอม
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยา โดยจำเลยที่ 1 ยอมยกทรัพย์สินทั้งหมดที่เป็นของตนให้แก่โจทก์และบุตรบุญธรรม 4 คน ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้นำที่ดินพิพาทซึ่งมิใช่ของตนไปจำนองให้แก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจอันชอบด้วยกฎหมายที่จะกระทำได้ นิติกรรมจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงตกเป็นโมฆะเพราะจำเลยที่ 1 มิใช่เจ้าของที่แท้จริง เป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของแท้จริงต้องได้รับความเสียหาย ขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับรวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นตาม ป.วิ.พ.มาตรา 172 วรรคสองแล้ว ส่วนจะเป็นจริงตามที่โจทก์ฟ้องหรือจำเลยทั้งสองต่อสู้และกรณีจะเพิกถอนนิติกรรมจำนองได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ศาลจะต้องวินิจฉัยต่อไป ดังนั้น การที่โจทก์มิได้บรรยายในฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ไม่สุจริตอย่างไรในการรับจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1และการจำนองที่ดินทำให้โจทก์เสียเปรียบอย่างไร ไม่ทำให้ฟ้องของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 เป็นฟ้องเคลือบคลุม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4867/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโต้แย้งสิทธิในพินัยกรรมและนิติกรรม การกระทำที่ไม่สุจริต และการประพฤติเนรคุณ
คำบรรยายฟ้องของจำเลยตามสำเนาคำฟ้องมีใจความว่าโจทก์ กับ ค.ร่วมกันฉ้อฉลและล่อลวงให้ พ.ไปทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองขณะที่ พ.ป่วยไม่สามารถแสดงเจตนาทำพินัยกรรมดังกล่าวได้ โดยเฉพาะ พ.ไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ ข้อความในพินัยกรรมจึงน่าจะเกิดจากอุบายของโจทก์กับ ค.เป็นผู้เขียนขึ้นแล้วส่งให้เจ้าหน้าที่อำเภอเป็นผู้พิมพ์ แล้วจับมือ พ.ลงลายพิมพ์นิ้วมือในพินัยกรรมดังกล่าว ทั้งโจทก์ยังหลอกลวง พ.ไปที่สำนักงานที่ดินให้ทำนิติกรรมจดทะเบียนยกที่ดินให้โจทก์ อันเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต โดยเฉพาะก่อนที่ พ.จะถึงแก่กรรม 18 วัน โจทก์หลอกลวง พ.ไปที่สำนักงานที่ดิน แล้วพูดจาข่มขู่เจ้าพนักงานที่ดินเพื่อให้ทำนิติกรรมจดทะเบียนยกที่ดินของ พ.ให้แก่โจทก์ ตามที่จำเลยเชื่อว่าเป็นความจริง และไม่เชื่อว่า พ.ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองและนิติกรรมจดทะเบียนยกที่ดินให้โจทก์ เพราะขณะที่ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง และทำนิติกรรมจดทะเบียนยกที่ดินให้โจทก์ก็ดี พ.ป่วยไม่สามารถแสดงเจตนาทำพินัยกรรมและนิติกรรมดังกล่าวได้ เมื่อกรณีไม่ใช่จำเลยรู้เห็นมาเองว่าข้อเท็จจริงเป็นดังคำบรรยายฟ้อง แม้โจทก์จะไม่ได้ใช้อุบายหลอกลวง พ.ไปทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองและจับมือ พ.ลงลายพิมพ์นิ้วมือในพินัยกรรมดังกล่าว และโจทก์ไม่ได้หลอกลวง พ.ไปทำนิติกรรมจดทะเบียนยกที่ดินให้โจทก์ก็ตาม แต่คำบรรยายฟ้องของจำเลยเป็นการแสดงเพื่อให้เห็นสิทธิของจำเลยและการประพฤติปฏิบัติของโจทก์ที่จำเลยเชื่อว่าเป็นเช่นนั้น อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของจำเลยตามกฎหมาย คำบรรยายฟ้องของจำเลยดังกล่าวหาทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงหรือเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงแต่อย่างใดไม่ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยประพฤติเนรคุณ ที่โจทก์เรียกถอนคืนการให้จากจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4793/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นิติกรรมการเล่นแชร์ไม่ตกเป็นโมฆะ แม้ฝ่าฝืน พ.ร.บ.เล่นแชร์ ผู้สั่งจ่ายเช็คต้องรับผิดตามเช็ค
แม้เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 ไม่ประสงค์ให้นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ใช้สิทธิเรียกร้องในทางแพ่งเอากับสมาชิกวงแชร์ที่กระทำการฝ่าฝืน มาตรา 6 ก็ตาม แต่ในมาตรา 7 ก็บัญญัติให้สิทธิแก่สมาชิกวงแชร์ที่จะฟ้องคดี หรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ได้ ย่อมแสดงว่ากฎหมายมิได้กำหนดว่าการเล่นแชร์ดังกล่าวตกเป็นโมฆะเสียทั้งหมด การที่โจทก์จำเลยกับพวกซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมล่นแชร์มีการประมูลแชร์ระหว่างกันมาตลอด และจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกวงแชร์ด้วยกันการที่โจทก์จำเลยซึ่งเป็นลูกวงแชร์มีเจตนาที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างกัน และย่อมไม่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 6 ดังกล่าว ฉะนั้น นิติกรรมการเล่นแชร์ของโจทก์จำเลยจึงไม่ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 173 เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิสธการจ่ายเงินตามเช็คที่จำเลยสั่งจ่าย จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงินตามเช็คดังกล่าวให้โจทก์
โจทก์ฟ้องโดยยกข้ออ้างซึ่งอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ จำเลยให้การรับว่าออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์จริง แต่โจทก์ไม่ชำระหนี้ตอบแทน จำเลยจึงไม่ต้องชำระหนี้ตามเช็คให้โจทก์ จำเลยเป็นฝ่ายยกข้ออ้างดังกล่าวขึ้นมาใหม่เพื่อต่อสู้กับโจทก์ ฉะนั้น ที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยจะต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คให้โจทก์พียงใดหรือไม่และให้จำเลยมีหน้าที่นำสืบก่อน จึงหมายความรวมถึงกำหนดให้จำเลยนำสืบว่า จำเลยมีสิทธิที่จะไม่ชำระหนี้ตอบแทนโจทก์เพราะโจทก์ไม่ได้ชำระหนี้ให้จำเลยด้วย จำเลยอุทธรณ์ว่าเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำสืบตามที่โจทก์อ้าง จึงเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งกำหนดหน้าที่นำสืบของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เมื่อจำเลยไม่ได้โต้แย้งไว้ จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 226 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4530/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิทางศาลในคดีไม่มีข้อพิพาทต้องมีกฎหมายรองรับเฉพาะเจาะจง แม้มีเหตุโมฆะก็ไม่อาจใช้สิทธิได้
การที่บุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล เป็นคดีไม่มีข้อพิพาทโดยทำเป็นคำร้องขอยื่นต่อศาลตาม ป.วิ.พ.มาตรา 55 และมาตรา 188 (1) ต้องพิจารณาจากกฎหมายสารบัญญัติ กล่าวคือ จะต้องมีกฎหมายบัญญัติรับรองให้ใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องขอในกรณีนั้น ๆ ได้
เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติรับรองว่าหากผู้ร้องทำนิติกรรมยกที่ดินให้ผู้ใดไปแล้ว ให้ผู้ร้องใช้สิทธิทางศาลยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งว่านิติกรรมยกให้ดังกล่าวเป็นโมฆะได้ แม้ ป.พ.พ.มาตรา 156 ที่ให้ผู้ร้องใช้สิทธิทางศาลยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งว่านิติกรรมเป็นโมฆะได้ ก็เป็นเพียงหลักเกณท์ของกฎหมายที่จะทำให้นิติกรรมเป็นโมฆะเท่านั้น หาได้รับรองให้ผู้ร้องใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งว่านิติกรรมนั้นเป็นโมฆะแต่อย่างใด ผู้ร้องจึงไม่สามารถใช้สิทธิทางศาลเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2568/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้ร่วมสามีภริยา: ความยินยอมทำนิติกรรมถือเป็นการให้สัตยาบันหนี้
หนี้ตามสัญญากู้ตามฟ้องเป็นหนี้ที่จำเลยที่ 1สามีจำเลยที่ 2 ก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรส แม้หนี้ตามสัญญากู้เงินและสัญญาจำนองที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1และสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองจะเป็นหนี้ที่จำเลยที่ 1ก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว แต่หนังสือให้ความยินยอมของจำเลยที่ 2 เป็นหนังสือที่ให้ความยินยอมในการที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมทุกอย่างกับโจทก์ กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมรับรู้ถึงหนี้เงินกู้ที่จำเลยที่ 1ได้ก่อให้เกิดขึ้นตามสัญญากู้เงินและจำเลยที่ 2 ได้ให้สัตยาบันในหนี้ดังกล่าวแล้ว หนี้ตามสัญญากู้เงินตามฟ้องที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1490(4) จำเลยที่ 2 ในฐานะภริยาย่อมต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ผู้เป็นสามีรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์
of 31