คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 312 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2092/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินค่าป่วยการของข้าราชการการเมืองมิใช่เงินเดือนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286(2) จึงบังคับคดีได้
เจตนารมณ์ของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 286(2) มุ่งหมายที่จะให้ความคุ้มครองข้าราชการแห่งรัฐที่เลี้ยงชีพด้วยเงินเดือนอันเป็นรายได้ประจำเพียงอย่างเดียวที่แน่นอนตายตัว แต่เงินที่โจทก์ขออายัดเป็นเงินค่าป่วยการรายเดือน และเงินค่าป่วยการประจำตำแหน่งซึ่งเหมาจ่ายเป็นรายเดือนโดยคำนวณจากรายได้จริงตามประมาณทั่วไปที่เทศบาลจัดเก็บเองจากภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีป้าย อากรฆ่าสัตว์ ค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต ค่าปรับและรายได้จากทรัพย์สินของเทศบาลของปีงบประมาณที่ผ่านมา จึงมีลักษณะไม่คงที่ อาจเปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้ตามรายได้ของเทศบาล ซึ่งต่างจากเงินเดือนและค่าจ้างของข้าราชการประจำที่มีลักษณะคงที่แน่นอนไม่ผันแปรโดยง่าย ดังนั้นเงินค่าป่วยการรายเดือนและเงินค่าป่วยการประจำตำแหน่งจึงมิได้อยู่ในความหมายของคำว่า "เงินเดือน" ของข้าราชการหรือลูกจ้างของรัฐบาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286(2) โจทก์ย่อมขอบังคับคดีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1587/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาล: ต้องมีเหตุพิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
โจทก์ขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลในการอุทธรณ์โดยอ้างแต่เพียงว่าค่าธรรมเนียมศาลที่จะต้องนำมาวางศาลมีจำนวนสูงถึง 363,300 บาท และการไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาเป็นการปิดโอกาสในการต่อสู้คดี ยังถือไม่ได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษที่จะอนุญาตให้ขยายระยะเวลาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 23

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1174/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีและการห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248
คดีเดิมเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยให้รื้อถอนบ้านพิพาทออกจากที่ดินของโจทก์ ซึ่งให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท และจำเลยมิได้ต่อสู้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินดังกล่าวอันจะทำให้เป็นคดีมีทุนทรัพย์ คู่ความในคดีเดิมจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสองคดีนี้เป็นเรื่องในชั้นบังคับคดีซึ่งผู้ร้องอ้างว่าเป็นเจ้าของบ้านที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการรื้อถอน จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการบังคับบริวารของจำเลยให้ออกจากไปจากที่ดินของโจทก์ เมื่อคู่ความในคดีเดิมต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามมาตรา 248 วรรคสองและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงด้วยตามมาตรา 248 วรรคสาม ผู้ร้องฎีกาว่า บ้านที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไปรื้อถอนเป็นบ้านของผู้ร้อง มิใช่ของจำเลย เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9846/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ระยะเวลาการยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์หลังศาลออกหมายบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาโดยสั่งอายัดเงิน 450,000 บาท ที่จำเลยมีสิทธิได้รับจากเทศบาลเมือง ส. และเทศบาลเมือง ส. ได้ส่งเงินจำนวนดังกล่าวต่อศาลชั้นต้นตามคำสั่งอายัด ต่อมา ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยชำระเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความแก่โจทก์ โดยในคำพิพากษามิได้กล่าวถึงวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาที่ศาลได้สั่งไว้ในระหว่างการพิจารณาคำสั่งอายัดเงินชั่วคราวก่อนพิพากษาจึงยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปเท่าที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 260(2) เมื่อโจทก์ยื่นคำขอให้ออกหมายบังคับคดีแล้วเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2541 ซึ่งศาลชั้นต้นได้ออกหมายบังคับคดีเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2541 อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาเท่าที่จำเป็นเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลได้ จึงมีผลเท่ากับเจ้าพนักงานบังคับคดีได้อายัดทรัพย์สินของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้แทนโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรคหนึ่ง และได้มีการชำระเงินหรือส่งมอบทรัพย์สินตามที่อายัดไว้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี นับตั้งแต่วันที่ศาลออกหมายบังคับคดีแล้ว ผู้ร้องจึงต้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ดังกล่าวก่อนสิ้นระยะเวลา14 วันนับแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่ศาลออกหมายบังคับคดีอันถือได้ว่าเป็นวันที่มีการชำระเงินหรือส่งมอบทรัพย์สินตามที่อายัดไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรคห้า หาใช่นับแต่วันที่ 14 มกราคม 2542 ซึ่งเป็นวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือขอให้ศาลชั้นต้นส่งเงินอันเป็นทรัพย์สินตามที่อายัดไว้ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่ผู้ร้องอ้างไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9230/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฎีกาคดีผสมระหว่างคดีไม่มีทุนทรัพย์กับคดีมีทุนทรัพย์ และข้อจำกัดในการฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยพร้อมกับเรียกค่าเสียหายจากจำเลยจึงถือไม่ได้ว่าเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ส่วนหนึ่งกับคดีมีทุนทรัพย์อีกส่วนหนึ่งปนกันมา ดังนี้ จะฎีกาข้อเท็จจริงได้หรือไม่ต้องแยกจากกัน กล่าวคือถ้าหากฎีกาประเด็นเรื่องขับไล่ก็ต้องพิจารณาว่าค่าเช่าเกินเดือนละ10,000 บาทหรือไม่ เมื่อโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยมีอัตราค่าเช่าเดือนละ10,500 บาท ฎีกาของจำเลยในส่วนเรื่องขับไล่จึงไม่ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคสอง ส่วนในเรื่องค่าเสียหายปรากฏว่าทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกามีจำนวนเพียง 132,000 บาท จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามมาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายหรือหากโจทก์ได้รับความเสียหายก็ไม่เกินเดือนละ 10,500 บาทนั้น เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9100/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลสั่งงดบังคับคดีนอกเหนือจากเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 293 ได้ หากสมควรและไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย
อำนาจของศาลในการมีคำสั่งงดการบังคับคดีมิใช่มีได้เฉพาะเมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องขอโดยอาศัยเหตุและเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 293 เท่านั้นหากมีกรณีอื่นใดที่เป็นการสมควรและไม่ก่อให้เกิดผลได้เสียแก่เจ้าหนี้และลูกหนี้ยิ่งหย่อนกว่ากัน ศาลก็มีอำนาจสั่งให้งดการบังคับคดีได้ทั้งนี้โดยอาศัยอำนาจตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 292(2)
โจทก์ถูกจำเลยฟ้องเป็นคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดนนทบุรีเรียกเงินยืมจำนวน 460,062 บาท คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา โจทก์นำเงินไปวางต่อสำนักงานวางทรัพย์เพื่อชำระหนี้แก่จำเลยตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นรายเดือน เดือนละ 7,000 บาท รวมเป็นเงิน 168,000 บาทแต่จำเลยยังไม่ได้รับเงินไปเพราะถือว่าโจทก์ผิดนัดและประสงค์จะรับชำระหนี้ทั้งหมด คดีนี้ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 182,000 บาท จำเลยมีหนังสือแจ้งขอหักกลบลบหนี้กับโจทก์ แม้คดีที่จำเลยฟ้องโจทก์ต่อศาลจังหวัดนนทบุรียังไม่ถึงที่สุดแต่โจทก์ก็ยอมรับว่ายืมเงินจำเลยไปตามฟ้อง เพียงแต่ต่อสู้ว่าโจทก์มีสิทธิผ่อนชำระ และแม้โจทก์ยังไม่ต้องชำระหนี้ทั้งหมดแก่จำเลยแต่อย่างน้อยโจทก์ก็ต้องรับผิดตามจำนวนเงินที่ต้องผ่อนชำระแก่จำเลยเป็นรายเดือน และยอดเงินที่โจทก์ต้องรับผิดแก่จำเลยมีจำนวนมากกว่าที่จำเลยต้องชำระหนี้แก่โจทก์ในคดีนี้ ดังนั้น การที่ศาลแรงงานกลางใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 292(2)โดยมีคำสั่งงดการบังคับคดีนี้ไว้จนกว่าคดีแพ่งของศาลจังหวัดนนทบุรีจะถึงที่สุด หรือมีเหตุเปลี่ยนแปลงประการอื่นให้คู่ความแถลงเพื่อพิจารณาสั่งต่อไปนั้นชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8128/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำฟ้องเมื่อจำเลยถึงแก่กรรม โจทก์ต้องฟ้องทายาทใหม่ ไม่ใช่แก้ไขฟ้องเดิม
ในขณะที่โจทก์ฟ้อง อ. อ. ได้ถึงแก่กรรม ไม่มีสภาพเป็นบุคคลตามกฎหมายแล้ว โจทก์จึงไม่อาจฟ้อง อ. เป็นจำเลยที่ 5 ได้ การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทของจำเลยที่ 5มารับผิดแทนจำเลยที่ 5 ซึ่งโจทก์ไม่สามารถจะฟ้องร้องได้อยู่แล้วจึงไม่อาจกระทำได้เพราะมิใช่เป็นการแก้ไขคำฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179 โจทก์ชอบที่จะไปฟ้องจำเลยที่ 3 ในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมของจำเลยที่ 5ได้ใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7442/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การมรณะของคู่ความระหว่างพิจารณาคดี ศาลต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม.42 ก่อนมีคำพิพากษา
จำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรมระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์และปรากฏตามรายงานเจ้าหน้าที่ว่าส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แก่จำเลยที่ 2 ไม่ได้เนื่องจากจำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรมแสดงว่าศาลชั้นต้นทราบว่าจำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรมตั้งแต่ก่อนอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ที่จะต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับการมรณะของคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 ดังนั้น ศาลชั้นต้นจึงต้องเลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วส่งสำนวนพร้อมคำพิพากษาคืนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อสั่งเกี่ยวกับความมรณะของจำเลยที่ 2 แล้วมีคำพิพากษาใหม่ต่อไป การที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 1 เข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 2รวมทั้งมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาฎีกาแก่จำเลยที่ 2 และมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 ล้วนเป็นคำสั่งและการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5971/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทุนทรัพย์พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท ทำให้คู่ความฎีกาต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้บังคับจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกแบ่งที่ดินทรัพย์มรดกแก่โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทคนละ 1 ส่วน รวม 4 ส่วน ใน 9 ส่วนคิดเป็นเงินรวม 279,632 บาท จำเลยให้การว่าที่ดินดังกล่าวมิใช่ทรัพย์มรดก แม้โจทก์ทั้งสี่ฟ้องรวมกันมา การอุทธรณ์ฎีกาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกันเพราะเป็นเรื่องโจทก์แต่ละคนใช้สิทธิเฉพาะของตน เมื่อที่ดินแต่ละส่วนที่โจทก์แต่ละคนฟ้องขอแบ่งมีราคาไม่เกิน 200,000 บาท จึงต้องห้ามคู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสี่ฟังไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นมรดกเป็นฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2528/2544 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทุนทรัพย์พิพาทในชั้นฎีกาเกิน 200,000 บาท ทำให้ฎีกาต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้บังคับจำเลยแบ่งที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกแก่โจทก์ทั้งสามคนละส่วน รวม 3 ส่วน ใน 6 ส่วน ดังนี้ แม้โจทก์ทั้งสามจะฟ้องรวมกันมา การอุทธรณ์ฎีกาของจำเลยก็ต้องถือทุนทรัพย์ตามทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกันเพราะเป็นเรื่องที่โจทก์แต่ละคนใช้สิทธิเฉพาะตน เมื่อที่ดินพิพาทที่โจทก์ทั้งสามตีราคาเป็นทุนทรัพย์รวมกันมานั้นมีราคา 1,200,000 บาท ที่ดินพิพาทแต่ละส่วนที่โจทก์แต่ละคนฟ้องขอแบ่งจึงมีราคาไม่เกิน 200,000 บาท ดังนั้น ราคาทรัพย์สินหรือทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาสำหรับจำเลยต่อโจทก์แต่ละคนจึงไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
of 32