คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ผู้ผลิต

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 24 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6034/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระการพิสูจน์องค์ประกอบสินค้าในสัญญาซื้อขาย ผู้ผลิตต้องพิสูจน์ตามที่ระบุ หากพิสูจน์ไม่ได้ ถือผิดสัญญา
โจทก์เป็นผู้ผลิตและระบุองค์ประกอบรวมทั้งแสดงข้อบ่งใช้ไว้ในฉลากย่อมต้องมีภาระที่จะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่ายาฆ่าเชื้ออัล-ไบโอไซด์ 25 มีส่วนประกอบตามที่ระบุไว้จริง ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยมีภาระการพิสูจน์จึงไม่ถูกต้อง และเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขและวินิจฉัยไปตามภาระการพิสูจน์ที่ถูกต้องได้
เมื่อโจทก์มีภาระการพิสูจน์ แต่ไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า ย่าฆ่าเชื้ออัล-ไบโอไซด์ 25 มีสารกลูตารัลดีไฮด์เป็นองค์ประกอบอยู่ 12.5 เปอร์เซนต์ ตามที่ระบุไว้ในฉลากจึงต้องถือว่าโจทก์ส่งมอบสินค้าที่ซื้อไม่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของสัญญา โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา และเมื่อสัญญาซื้อขายเป็นสัญญาต่างตอบแทน จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะไม่ชำระราคาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 369

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7571/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยผิดสัญญาซื้อขายเนื่องจากผู้ผลิตไม่ได้รับอนุญาตส่งออกสินค้า เหตุสุดวิสัยไม่สำเร็จ
โจทก์ทำสัญญาซื้อเครื่องส่งวิทยุแฝงในแบตเตอรี่โทรศัพท์เคลื่อนที่จากจำเลย จำเลยย่อมมีหน้าที่จัดหาสินค้าดังกล่าวตามสัญญาส่งมอบให้แก่โจทก์ การที่บริษัท ด. ผู้ผลิตสินค้าไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ของประเทศสหรัฐอเมริกาให้ส่งออกสินค้า จึงเป็นความผิดของจำเลย หาใช่เหตุสุดวิสัยไม่ ทั้งมิใช่การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้ และซึ่งจำเลยไม่ต้องรับผิดชอบ และทำให้จำเลยเป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้นั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 219 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4567/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดร่วมกันของผู้ผลิตและผู้จำหน่ายต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้าภายใต้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค
แม้โจทก์จะเป็นเพียงลูกค้าที่ติดต่อซื้อรถยนต์จากจำเลยที่ 1 ด้วยวิธีการเช่าซื้อ และโจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์คันพิพาทขณะฟ้องคดีเพราะเป็นผู้เช่าซื้อจากธนาคาร ท. แต่พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ก่อนโจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อกับผู้ให้เช่าซื้อพร้อมกับส่งมอบสมุดคู่มือการรับบริการให้แก่โจทก์ระบุการรับประกันรถยนต์พิพาทตามเงื่อนไขและระยะเวลา โดยระบุชื่อโจทก์เป็นลูกค้าผู้ซื้อซึ่งมีสิทธิเข้ารับบริการเกี่ยวกับรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1 ข้อตกลงเช่นนี้ย่อมถือเป็นสัญญาให้บริการ แม้ไม่ได้ทำสัญญาให้บริการขึ้นก็มีผลผูกพันและใช้บังคับแก่จำเลยที่ 1 ได้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และผู้ให้เช่าซื้อตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 สำหรับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจผลิต ประกอบ และจำหน่ายรถยนต์พิพาท แม้เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยที่ 1 และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับลูกค้าผู้ซื้อรถก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ควบคุมและกำกับดูแลมาตรฐานการซ่อมของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายโดยใกล้ชิด พฤติการณ์การประกอบธุรกิจของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว ย่อมชี้ชัดว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการให้สัญญารับประกันการซ่อมบำรุงรักษารถยนต์อันเป็นบริการที่ให้แก่โจทก์ด้วย จำเลยทั้งสองจึงอยู่ในฐานะเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้ให้บริการซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ส่วนโจทก์เป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้รับบริการย่อมเป็นผู้บริโภคตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 3 และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 3 เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่ารถยนต์พิพาทชำรุดบกพร่องจากเหตุเครื่องยนต์ทำงานผิดปกติและอยู่ภายใต้เงื่อนไขและระยะเวลารับประกัน อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาให้บริการซึ่งเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ซ่อมแซมข้อชำรุดบกพร่องของรถยนต์พิพาทเรียบร้อยแล้วหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการให้บริการที่อยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ภาระการพิสูจน์จึงตกอยู่แก่จำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 29 เมื่อจำเลยทั้งสองมีภาระการพิสูจน์แต่ไม่อาจนำสืบพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้างได้ คดีจึงรับฟังไม่ได้ว่าข้อชำรุดบกพร่องของเครื่องยนต์ได้รับการแก้ไขแล้ว จำเลยทั้งสองจึงยังคงต้องร่วมกันรับผิดในความชำรุดบกพร่องของรถยนต์พิพาท
ศาลในคดีผู้บริโภคย่อมมีอำนาจบังคับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายเป็นเงินแก่โจทก์ได้ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 39 และ 41 ในกรณีที่จำเลยทั้งสองไม่อาจแก้ไขเหตุชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ผู้บริโภคได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2100/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญารับประกันการซ่อมบำรุงรถยนต์ ผู้ผลิต/จำหน่ายต้องรับผิดชอบความชำรุดบกพร่อง
อ. ผู้เอาประกันภัยซื้อรถยนต์คันเกิดเหตุมาจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาซื้อรถยนต์ซึ่งระบุเงื่อนไขการรับประกันในข้อ 5.1 ว่า รถยนต์ดังกล่าวปราศจากความชำรุดบกพร่องที่เกิดจากวัสดุและฝีมือแรงงานที่ใช้ประกอบรถยนต์ สำหรับระยะเวลา 24 เดือน นับแต่วันส่งมอบ โดยระบุในข้อ 5.7 ด้วยว่า การรับประกันนี้จะไม่ครอบคลุมไปถึงกรณีตามข้อ (ก) การใช้รถอย่างไม่ถูกวิธี ความประมาทเลินเล่อ อุบัติเหตุ หรือนำรถไปใช้ในการแข่งขัน (ข) รถยนต์ดังกล่าวได้รับการซ่อมแซมโดยบุคคลอื่น ซึ่งมิใช่ผู้จำหน่ายที่ได้รับอนุญาต (ค) การเสื่อมสภาพหรือชำรุดที่เกิดจากการใช้งานตามปกติหรือที่เกิดจากการดูแลรักษาที่ไม่เหมาะสม ความประมาทเลินเล่อ สภาพแวดล้อม สิ่งแวดล้อม หรืออุบัติเหตุ แสดงให้เห็นว่า หากเกิดความชำรุดบกพร่องที่เกิดจากวัสดุหรือฝีมือแรงงานที่ใช้ประกอบรถยนต์ ภายในเวลา 24 เดือน นับแต่วันส่งมอบ จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิด หากไม่เข้าข้อยกเว้นตามข้อ 5.7 ดังกล่าว โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่สืบพิสูจน์ให้เห็นว่าได้เกิดความเสียหายชำรุดบกพร่องและไม่เข้าข้อยกเว้นตามข้อ 5.7 โจทก์ได้นำสืบแล้วว่า มีการใช้รถยนต์ตามปกติ ทั้งนำรถยนต์เข้าตรวจเช็คสภาพยังศูนย์บริการของจำเลยทั้งสองไม่เกินระยะมาตรฐาน ไม่มีการดัดแปลงสภาพรถยนต์ เหตุเพลิงไหม้มิได้เกิดจากอุบัติเหตุ เหตุเพลิงไหม้รถยนต์เกิดเมื่อรับมอบรถยนต์มาเพียง 1 ปี 1 เดือน ยังไม่ครบกำหนดตามเงื่อนไขการรับประกัน จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ผลิตรถยนต์และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายรถยนต์โดยได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 ย่อมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการผลิตและประกอบรถยนต์ของตนแต่เพียงฝ่ายเดียว หาได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเหตุเพลิงไหม้เกิดจากปัจจัยภายนอกซึ่งมิได้เป็นความผิดของจำเลยทั้งสอง พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าเหตุเพลิงไหม้เกิดจากความชำรุดบกพร่องที่เกิดจากวัสดุและฝีมือแรงงานที่จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดชอบตามเงื่อนไขการรับประกันที่ให้ไว้ เมื่อโจทก์ผู้รับประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้ซื้อรถแล้ว โจทก์มีสิทธิรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาฟ้องจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันรับผิดได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคแรก
of 3