พบผลลัพธ์ทั้งหมด 24 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2861/2552
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิผู้รับผลประโยชน์กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ: กำหนดผู้รับผลประโยชน์ได้อิสระ ไม่จำกัดเฉพาะบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย
ว.ลูกจ้าง ซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนจำเลยได้กำหนดตัวบุคคลผู้จะพึงได้รับเงินกองทุนจำเลยไว้ตามหนังสือแต่งตั้งผู้รับผลประโยชน์ และผู้จะพึงได้รับผลประโยชน์ยังมีชีวิตอยู่ การจ่ายเงินกองทุนจำเลยจึงต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของสมาชิก โดยไม่มีข้อจำกัดว่าผู้ที่ลูกจ้างกำหนดเป็นผู้จะพึงได้รับเงินจากกองทุนจะต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นแม้ ร. กับ จ. จะมิใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของ ว. ก็ย่อมเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนตามที่ ว. กำหนดไว้ในหนังสือแต่งตั้งผู้รับผลประโยชน์โดยหาได้ต้องห้ามหรือจะต้องให้แบ่งจ่ายเงินกองทุนดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ มาตรา 23 ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6012/2550
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ประกันภัยค้ำจุน: ผู้รับประกันภัยต้องรับผิดชอบต่อผู้รับผลประโยชน์โดยตรง แม้ไม่มีระบุชื่อในสัญญา
จำเลยที่ 3 รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไว้จากจำเลยที่ 1 โดยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อบุคคลภายนอกแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งจะต้องรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอก จึงเป็นการประกันภัยค้ำจุนตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่ง บริษัท ซ. ได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ทำการขนส่งสินค้าของบริษัท ซ. ซึ่งเอาประกันภัยไว้กับโจทก์โดยรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าว แม้โจทก์จะไม่ได้เป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ 3 และตามกรมธรรม์ไม่ได้ระบุให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยย่อมต้องรับผิดในนามของจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยเพื่อวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บริษัท ซ. ซึ่งจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับช่วงสิทธิจากบริษัท ซ. ชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 3 โดยตรงตามมาตรา 887
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4244/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิในเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหลังถูกไล่ออก: เงินตกเป็นของผู้รับผลประโยชน์อื่นตามข้อบังคับกองทุน
เงิน OV ซึ่งเป็นของโจทก์ได้สูญหายไปในระหว่างจำเลยดำรงตำแหน่งรักษาการกรรมการผู้จัดการ จำเลยมีหน้าที่ควบคุมดูแลเงินของโจทก์ และตามพฤติการณ์เชื่อว่าเงิน OV สูญหายไปเกิดจากจำเลยจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง โจทก์จึงมีคำสั่งที่ ธ. 177/2559 ลงโทษไล่จำเลยออกจากการเป็นพนักงาน จำเลยจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจำนวน 487,965.51 บาท ตามข้อบังคับกองทุน หมวดที่ 8 ข้อ 3 แต่อย่างไรก็ตาม แม้จำเลยไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบดังกล่าว เมื่อในระหว่างที่จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อสะสมและสมทบเงินแก่ลูกจ้างโดยใช้ชื่อว่า "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพธนาคาร อ. ซึ่งจดทะเบียนแล้ว" และเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2555 จำเลยสมัครเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าว ตามข้อบังคับกองทุนนั้น ในข้อ 4 กำหนดไว้ว่า "ในกรณีที่มีเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบที่สมาชิกซึ่งสิ้นสมาชิกภาพไม่มีสิทธิได้รับจากกองทุน ให้กระจายเงินดังกล่าวแก่สมาชิกทุกรายในกองทุนตามส่วนได้เสียของสมาชิกแต่ละราย...ฯลฯ..." เมื่อได้ความดังกล่าวข้างต้นแล้วว่า ก่อนโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างฟ้องคดีได้มีการจัดตั้ง "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพธนาคาร อ. ซึ่งจดทะเบียนแล้ว" แล้ว กองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวจึงเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากกับโจทก์ตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 7 ประกอบกับตามข้อบังคับกองทุนได้กำหนดในกรณีที่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจากกองทุนไว้ในข้อ 4 ที่กำหนดไว้ว่า "ในกรณีที่มีเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบที่สมาชิกซึ่งสิ้นสมาชิกภาพไม่มีสิทธิได้รับจากกองทุน ให้กระจายเงินดังกล่าวแก่สมาชิกทุกรายในกองทุนตามส่วนได้เสียของสมาชิกแต่ละราย...ฯลฯ" นอกจากนี้ พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 ยังได้กำหนดให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีคณะกรรมการกองทุน มีหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของกองทุนและให้มีอำนาจแต่งตั้งผู้จัดการกองทุน และเป็นผู้แทนของกองทุนในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกตามมาตรา 11 ได้กำหนดให้การจัดการกองทุนจะต้องดำเนินการโดยบุคคลซึ่งมิใช่นายจ้างตามมาตรา 13 ได้กำหนดให้ผู้จัดการกองทุนมีหน้าที่ในการจัดการกองทุนตามมาตรา 14 และได้กำหนดให้ผู้จัดการกองทุนมีหน้าที่จ่ายเงินจากกองทุนให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกกองทุน หากมีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนตามมาตรา 23 เช่นนี้ โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างจึงไม่มีอำนาจหรือหน้าที่เกี่ยวข้องในการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแต่อย่างใด จำเลยจึงต้องคืนเงินดังกล่าวที่ได้รับไว้โดยไม่มีสิทธิแก่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพธนาคาร อ. ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ดังนั้น สิทธิในการเรียกร้องให้จำเลยคืนเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบที่จำเลยได้รับไว้โดยไม่มีสิทธิ จึงเป็นของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพธนาคาร อ. ซึ่งจดทะเบียนแล้ว มิใช่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเพื่อให้คืนเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบตามคำฟ้องให้แก่โจทก์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3534/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
พินัยกรรมยกทรัพย์สิน: ผู้ทำพินัยกรรมแสดงเจตนาชัดเจน ทรัพย์สินในพินัยกรรมตกแก่ผู้รับผลประโยชน์ตามเจตนา
แม้ผู้คัดค้านเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายและไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมาย มิให้เป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1718 แต่ผู้ตายทำพินัยกรรมมีข้อความส่วนที่เป็นสาระสำคัญว่า "ข้าพเจ้าขอยกทรัพย์สมบัติ อาคารบ้านเรือน ที่ดิน ที่มีชื่อข้าพเจ้าเป็นเจ้าของให้แก่ พ. และ น. ต่อเมื่อข้าพเจ้าได้สิ้นชีวิตไปแล้ว" ซึ่งคำว่า "ทรัพย์สมบัติ" นั้น ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้หมายความไว้ว่า หมายถึง ทรัพย์สินที่อยู่ในครอบครองอันอาจใช้สอยแจกจ่ายได้ คำว่า "ทรัพย์สิน" ตาม ป.พ.พ. มาตรา 138 หมายความรวมทั้งทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้ตายเป็นเจ้าของโรงเรียนอนุบาลและโรงเรียนระดับชั้นประถม เป็นครูสอนภาษาไทยและภาษาอังกฤษในโรงเรียนที่ตนเองเป็นเจ้าของ ผู้ตายทำพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ คำว่า "ทรัพย์สมบัติ" เป็นคำธรรมดาที่ปุถุชนทั่วไปพอจะเข้าใจความหมายได้ว่าหมายถึงทรัพย์สิน การทำพินัยกรรม เห็นได้ว่าเป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายยกทรัพย์สินทั้งหมดของผู้ตาย ซึ่งรวมตลอดถึงอาคาร บ้านเรือน ที่ดิน ที่มีชื่อของผู้ตายเป็นเจ้าของให้แก่ผู้ร้องและ น. หากผู้ตายประสงค์จะยกทรัพย์สินให้ผู้คัดค้านหรือทายาทโดยธรรมอื่น ก็คงเขียนการยกทรัพย์สินอื่นนั้นไว้ในพินัยกรรมให้ชัดแจ้งแล้ว เพราะแม้แต่ ส. และ ว. ผู้ตายยังเขียนไว้ในพินัยกรรม ให้ผู้ร้องและ น. อุปการะ ส. และ ว. ตลอดชีวิตด้วย แต่เนื่องจาก ว. ถึงแก่ความตายไปแล้ว ผู้ตายจึงขีดฆ่าชื่อของ ว. ออก ทั้งการทำพินัยกรรมเป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สิน พินัยกรรมจะมีผลต่อเมื่อผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตายทรัพย์สินที่ว่าจึงหมายถึงทรัพย์สินที่ผู้ตายมีอยู่ในขณะถึงแก่ความตาย ไม่ใช่ทรัพย์สินที่มีอยู่ในวันทำพินัยกรรม เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าแม้อาจจะมีทรัพย์มรดกอื่นของผู้ตายที่ยังไม่พบ แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดในพินัยกรรมคือ หากมีชื่อผู้ตายเป็นเจ้าของทางเอกสารให้ตกแก่ผู้ร้องและ น. แต่จากคำเบิกความของผู้ร้องและผู้คัดค้านและข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามสำนวนยังไม่มีปรากฏทรัพย์สินอื่นของผู้ตาย ผู้คัดค้านไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่ามีทรัพย์สินเช่นว่านั้นอีก ทรัพย์มรดกที่ปรากฏจึงตกเป็นของผู้ร้องและ น. เท่านั้น การตั้งผู้คัดค้านให้เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง ย่อมเกิดข้อขัดข้องในการจัดการทรัพย์มรดก จึงไม่สมควรตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง