คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ฟ้องคดี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 831 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1936/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีภาษี: ต้องชำระภาษีที่ถึงกำหนดก่อนฟ้องคดี มิเช่นนั้นขาดอำนาจฟ้อง
ที่ พ.ร.บ. ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 39 บัญญัติว่า "?ห้ามให้ศาลประทับเป็นฟ้องตามกฎหมาย เว้นแต่จะเป็นที่พอใจศาลว่าผู้รับประเมินได้ชำระค่าภาษีทั้งสิ้นซึ่งกำหนดต้องชำระ?หรือจะถึงกำหนดชำระระหว่างที่คดียังอยู่ในศาล?" นั้น กฎหมายมุ่งประสงค์ให้ผู้รับประเมินได้ชำระหนี้ค่าภาษีจนหนี้ค่าภาษีที่พนักงานเก็บภาษีได้แจ้งการประเมินระงับสิ้นไปเสียก่อน หากเมื่อศาลตัดสินให้ลดค่าภาษี ผู้รับประเมินจึงจะมีสิทธิมาขอรับคืนเงินส่วนที่ลดลงมาได้ตามเงื่อนไขของบทบัญญัติแห่งมาตราดังกล่าวในวรรคท้าย ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้ผู้รับประเมินใช้การฟ้องคดีต่อศาลเพื่อประวิงการชำระหนี้ค่าภาษี และตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคสาม การชำระหนี้ด้วยเช็ค หนี้จะระงับเมื่อเช็คได้ใช้เงินไปแล้ว ดังนั้น การที่จำเลยอนุมัติให้โจทก์ผ่อนชำระค่าภาษีประจำปี 2537 ถึง 2543 และโจทก์สั่งจ่ายเช็คลงวันที่ล่วงหน้าให้ไว้ซึ่งจะถึงกำหนดชำระหลังจากวันฟ้อง หนี้ค่าภาษีประจำปี 2537 ถึง 2543 จึงยังไม่ระงับสิ้นไปและถือไม่ได้ว่าผู้รับประเมินได้ชำระค่าภาษีทั้งสิ้นซึ่งถึงกำหนดต้องชำระดังที่กฎหมายกำหนดไว้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องสำหรับข้อหาเกี่ยวกับค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2537 ถึง 2543

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1821/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนขายที่ดินเพื่อหลีกเลี่ยงหนี้ภาษีและการฟ้องคดีไม่ขาดอายุความ
จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 ในขณะนั้นได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลของรอบปีบัญชี 2539 จำนวน 18,779 บาท ซึ่งต่ำกว่าการประเมินของพนักงานโจทก์ถึง 8,000,000 บาทเศษ จำเลยที่ 1 ต้องชำระภาษีเพิ่มเติมไม่รวมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มเป็นเงินจำนวน 2,817,028.21 บาท จำนวนเงินได้และเงินค่าภาษีที่แตกต่างกันมากเช่นนี้ย่อมชี้ให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ต่ำกว่าเป็นจริงโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงการชำระภาษีให้ถูกต้อง เมื่อโจทก์มีหมายเรียกวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2532 ให้จำเลยที่ 1 ไปให้ถ้อยคำพร้อมส่งมอบบัญชีและเอกสารหลักฐานต่างๆ เพื่อการไต่สวนตรวจสอบ จำเลยที่ 1 จึงต้องทราบแล้วว่าเจ้าพนักงานจะต้องประเมินภาษีของจำเลยที่ 1 ที่ยื่นไว้ไม่ถูกต้องใหม่ และจำเลยที่ 1 ต้องมีหนี้ค่าภาษีอากรที่ต้องชำระเพิ่มเติมต่อโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโอนขายที่ดินแก่จำเลยที่ 2 ภายหลังจากทราบว่ามีหนี้ค่าภาษีอากรที่จะต้องถูกประเมินใหม่ชำระเพิ่มเติมต่อโจทก์ แม้หนี้ดังกล่าวจะยังไม่ทราบจำนวนที่แน่นอนจากการประเมินของเจ้าพนักงาน ก็ชี้ให้เห็นว่าเป็นการกระทำเพื่อหลีกเลี่ยงให้ที่ดินดังกล่าวพ้นจากการถูกยึดบังคับชำระหนี้ค่าภาษีอากรแก่โจทก์ อันเป็นการกระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ และเมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีให้จำเลยที่ 1 จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ทราบอยู่ว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้ค่าภาษีอากรที่ต้องชำระเพิ่มเติมต่อโจทก์ แม้ต่อมาจำเลยที่ 2 จะออกจากการเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 แล้ว แต่การที่จำเลยที่ 2 ได้ทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินกับจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับหมายเรียกตรวจสอบภาษีจากโจทก์ โดยได้ซื้อขายที่ดินในราคาเพียง 2,990,000 บาท ทั้งๆ ที่ที่ดินมีราคาประเมินรวม 7,960,000 บาท ย่อมชี้ให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ได้ทราบถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้โจทก์ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย
โจทก์เป็นนิติบุคคลโดยเป็นกรมในรัฐบาล ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์หรือฟ้องคดีแทนโจทก์คืออธิบดี พนักงานเจ้าหน้าที่อื่นของโจทก์ทุกระดับแม้จะมีหน้าที่ปฏิบัติงานให้แก่โจทก์ แต่ก็ไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์หรือฟ้องคดีแทนโจทก์ได้ เมื่อ น. นิติกรของโจทก์ได้ทำบันทึกข้อความเสนอให้อธิบดีโจทก์ทราบรายละเอียดข้อเท็จจริงเรื่องการโอนที่ดินเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2540 จึงถือได้ว่าโจทก์ได้รู้ถึงการฉ้อฉลการโอนขายที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองในวันที่ 17 มีนาคม 2540 โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 25 มิถุนายน 2540 ยังไม่พ้น 1 ปี นับแต่เวลาที่โจทก์รู้มูลเหตุให้เพิกถอน คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1689/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีอย่างคนอนาถา: ศาลต้องพิจารณา 'มูลคดี' และ 'ฐานะยากจน' ของโจทก์
การพิจารณาว่าจะอนุญาตให้โจทก์ฟ้องคดีอย่างคนอนาถาได้หรือไม่เพียงใดนั้น ศาลต้องพิจารณาสาระสำคัญ 2 ประการคือ ประการแรก คดีของโจทก์มีมูลที่จะฟ้องร้องหรือไม่ โดยพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องนั้น มีข้อโต้แย้งสิทธิอันมีมูลที่โจทก์จะฟ้องจำเลยได้หรือไม่ ยังไม่ต้องพิจารณาว่าข้อที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องนั้นเป็นจริงหรือไม่ เพราะเป็นข้อที่จะนำสืบพิสูจน์กันในชั้นพิจารณาคดี ประการที่สองศาลต้องไต่สวนแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นคนยากจนไม่สามารถเสียค่าธรรมเนียมศาลได้จริงหรือไม่เพียงใด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 155 และ 156 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17
โจทก์ฟ้องโดยสรุปว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีการค้าพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม เนื่องจากโจทก์มีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร โดยขายในนามห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่โจทก์เป็นหุ้นส่วนอันเป็นการประเมินที่ไม่ชอบ เนื่องจากโจทก์ไม่ได้ขายที่ดินในนามห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล แต่ต่างคนต่างขายและไม่ได้ขายโดยมีเจตนาเพื่อเป็นทางค้าหรือหากำไรซึ่งจะต้องเสียภาษีการค้า ทั้งผู้ซื้อได้ตกลงชำระค่าภาษีทั้งหมดแทนโจทก์และชำระภาษีให้แก่จำเลยไปครบถ้วนแล้ว โจทก์ไม่ต้องเสียภาษีตามที่จำเลยประเมิน ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามคำฟ้อง โจทก์ย่อมไม่ต้องเสียภาษีในการขายที่ดินครั้งนี้อีก การประเมินภาษีดังกล่าวย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ เมื่อศาลภาษีอากรกลางไต่สวนคำร้องของโจทก์แล้วได้ความว่าโจทก์และผู้มีชื่อในโฉนดอื่นไม่ได้เป็นหุ้นส่วนกัน และต่างคนต่างขายที่ดินส่วนของตน คดีโจทก์จึงมีมูลที่จะฟ้อง การที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าคดีของโจทก์ไม่มีมูลที่จะฟ้องร้องจึงไม่ชอบ และศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลภาษีอากรกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นคนยากจนไม่สามารถเสียค่าธรรมเนียมศาลได้หรือไม่เพียงใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7690/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีทำของหาย: เริ่มนับแต่วันที่ควรส่งมอบสินค้า
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 624 บัญญัติการเริ่มต้นนับอายุความในกรณีที่ของสูญหายไว้ว่า ให้เริ่มต้นนับแต่วันที่ควรจะได้ส่งมอบ พยานโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัท บ. ผู้ส่งของให้ถ้อยคำว่า ระยะเวลาได้ผ่านพ้นไปพอสมควรแล้วก็ได้รับแจ้งจากจำเลยว่าผู้ขนส่งยังไม่ทราบว่าสินค้าได้ตกหล่นที่ไหน จำเลยขอให้บริษัท บ. สอบถามไปยังผู้ซื้อว่าได้รับมอบสินค้าหรือไม่ แสดงว่าขณะที่จำเลยแจ้งมายังบริษัท บ. เป็นวันอันควรที่ส่งมอบสินค้าแล้ว เมื่อปรากฏว่าบริษัท บ. ได้ส่งอีเมล์สอบถามไปยังบริษัทผู้ซื้อโดยเอกสารดังกล่าวลงวันที่ 24 สิงหาคม 2543 ถือได้ว่าอย่างช้าที่สุดวันที่ 24 สิงหาคม 2543 เป็นวันที่ควรจะได้ส่งมอบตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 624 แล้ว โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2544 จึงเกิน 1 ปี นับแต่วันที่ควรจะได้ส่งมอบ คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7455/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีและการมอบอำนาจช่วง: การมอบอำนาจช่วงก่อนยื่นฟ้องมีผลสมบูรณ์ แม้การมอบอำนาจภายหลังมีข้อบกพร่อง
น. ได้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแทนโจทก์และมีอำนาจแต่งตั้งตัวแทนช่วงกระทำการดังกล่าวได้ ขณะยื่นฟ้องคดี น. มอบอำนาจช่วงให้ ว. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลย ดังนี้ ว. ผู้รับมอบอำนาจช่วงจึงมีอำนาจยื่นคำฟ้องแทนโจทก์โดยชอบ แม้ภายหลังเมื่อ ว. ลาออกจากบริษัทโจทก์แล้ว น. จะมอบอำนาจช่วงให้ ช. เป็นผู้ดำเนินคดีแทนและหนังสือมอบอำนาจช่วงฉบับหลังนี้ไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ให้ถูกต้องครบถ้วนก็หามีผลกระทบไปถึงการฟ้องที่ ว. ได้ดำเนินการไปแล้วโดยชอบตามหนังสือมอบอำนาจช่วงฉบับแรกซึ่งได้ปิดอากรแสตมป์และขีดฆ่าโดยถูกต้องครบถ้วนแล้วแต่ประการใดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3270/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีอาญาและการไม่อุทธรณ์คำสั่งยกฟ้อง ทำให้ฎีกาไม่รับ
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องของโจทก์แล้วมีคำสั่งให้ยกฟ้อง และศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ผลเท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์จึงฎีกาไม่ได้ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย แม้ว่าคดีนี้จะเป็นการพิจารณาชั้นไต่สวนมูลฟ้องก็ตาม เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11979/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีภาษีอากร: ต้องรอการวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นก่อน จึงจะฟ้องคดีได้
จำเลยที่ 1 เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีทุกเดือนภาษีหากภาษีซื้อมากกว่าภาษีขายจำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับคืนภาษีตาม ป.รัษภากร ฯ มาตรา 82/3 วรรคสาม โดยมีสิทธิขอคืนพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีของเดือนภาษีนั้นตาม ป.รัษฎากร ฯ มาตรา 84 ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จำเลยที่ 1 ได้รับคืนไปจากโจทก์ เป็นการปฏิบัติตามบทกฎหมาย และภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีอากรประเมินตาม ป.รัษฎากร ฯ มาตรา 77
เจ้าพนักงานของโจทก์ออกหมายเรียกตาม ป.รัษฎากร ฯ เพื่อตรวจสอบการชำระภาษีอากรในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2537 ของจำเลยที่ 1 และพบว่าบางเดือนภาษีจำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับคืนภาษีมูลค่าเพิ่มบางส่วน บางเดือนภาษีจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิได้รับคืนภาษีมูลค่าเพิ่มและเจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งการประเมินแก่จำเลยที่ 1 แล้ว เป็นกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจำเลยที่ 1 มีสิทธิอุทธรณ์การประเมินตาม ป.รัษฎากร ฯ มาตรา 88/5
แม้หนังสือทวงถามของโจทก์จะมิใช่หนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มแต่ข้ออ้างสิทธิของโจทก์และจำนวนเงินที่โจทก์ทวงถามตามหนังสือก็เป็นมูลเดียวกันกับที่เจ้าพนักงานประเมินออกหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มแก่จำเลยที่ 1 โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 แสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ถูกต้อง ข้อพิพาทที่ว่าจำเลยที่ 1 ต้องคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้รับคืนไปให้แก่โจทก์หรือไม่ จึงเป็นคดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานหรือคณะกรรมการตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร ฯ มาตรา 7 (1) ซึ่งจะฟ้องในศาลภาษีอากรได้ก็ต่อเมื่อได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดคำคัดค้านหรือคำอุทธรณ์นั้นเสร็จสิ้นแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินแต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงยังไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องและไม่มีอำนาจฟ้องตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธิพิจารณาคดีภาษีอากร ฯ มาตรา 8
(ประชุมใหญ่)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 694/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลเกี่ยวกับการฟ้องคดีอย่างคนอนาถา: เฉพาะผู้ขอเท่านั้น
คำสั่งศาลเกี่ยวกับการฟ้องคดีอย่างคนอนาถา เป็นเรื่องระหว่างศาลกับผู้ขอไม่มีผลถึงคู่ความอื่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มิได้บัญญัติให้คู่ความอื่นที่มิได้ยื่นคำขอพิจารณาคดีอย่างคนอนาถามีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ ดังนั้น จำเลยจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลให้แก่โจทก์บางส่วนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6659/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังพยานที่ได้รับมอบอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ ศาลมีอำนาจรับฟังได้ตามกฎหมาย
บัญชีระบุพยานโจทก์ระบุพยานอันดับ 1 คือ โจทก์อ้างตนเองเป็นพยาน พยานอันดับ 2 คือ พ. เมื่อ พ. เป็นโจทก์คดีนี้ซึ่งได้มอบอำนาจให้ ส. ฟ้องคดีแทน การที่บัญชีระบุพยานโจทก์อ้างทั้งโจทก์และ พ. ซึ่งเป็นบุคคลคนเดียวกันเป็นคนละอันดับทำให้เห็นได้ว่าพยานอันดับ 1 ที่ทนายโจทก์มุ่งประสงค์จะอ้างเป็นพยานคือ ส. นั่นเองศาลจึงมีอำนาจรับฟังคำเบิกความของ ส. ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3367-3368/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีฉ้อโกง: เริ่มนับจากวันที่ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด
โจทก์แจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่า จำเลยที่ 1 ถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของโจทก์โดยไม่ถูกต้อง เมื่อโจทก์สอบถามจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ก็ได้ชี้แจงถึงเหตุที่ทางธนาคารจำเลยที่ 1 ต้องหักเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ชำระหนี้ของลูกหนี้ที่โจทก์ค้ำประกันไว้แสดงว่าโจทก์รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 คือผู้ที่หักเอาเงินของโจทก์ไป โจทก์จึงไปแจ้งความให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองจึงรับฟังได้ว่าโจทก์ได้รู้เรื่องความผิดที่จำเลยทั้งสองกระทำการฉ้อโกงโจทก์ตั้งแต่วันดังกล่าว ส่วนเมื่อโจทก์แจ้งความแล้วพนักงานสอบสวนผู้รับแจ้งจะเห็นว่าไม่เป็นความผิดทางอาญาจึงบันทึกการรับแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน ก็เป็นเพียงความเห็นของพนักงานสอบสวน ซึ่งไม่อาจลบล้างข้อเท็จจริงที่ถือว่าโจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดฐานฉ้อโกงไปได้โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนดเวลา 3 เดือนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96แล้วจึงขาดอายุความ
of 84