คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ภารจำยอม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 460 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8727/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองทางพิพาท การภารจำยอม และขอบเขตการฟ้องร้อง สิทธิการใช้ทางเข้าออก
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยให้นำโครงเหล็กที่จำเลยวางขายสินค้าออกไปจากทางพิพาทโดยอ้างว่าทางพิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยให้การยอมรับว่าทางพิพาทเป็นที่ดินของโจทก์ ไม่ได้ยืนยันว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะ เพียงแต่ให้การว่าทางพิพาทเป็นเสมือนทางสาธารณะ การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า ทางพิพาทเป็นทางสาธารณะหรือไม่ จึงเป็นการไม่ชอบ แม้ศาลล่างทั้งสองจะวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวก็ถือว่าเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ฎีกาจำเลยในข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยนำโครงเหล็กของจำเลยออกไปจากทางพิพาทเท่านั้นมิได้ห้ามจำเลยใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะ จึงถือว่าจำเลยมิได้ถูกโต้แย้งสิทธิเรื่องการใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะ ฟ้องแย้งของจำเลยที่ให้โจทก์จดทะเบียนภารจำยอมพื้นที่พิพาทให้เป็นที่วางสินค้าของจำเลย จึงไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม จำเลยไม่มีอำนาจฟ้องแย้งในส่วนนี้
ภารจำยอมเป็นทรัพยสิทธิที่กฎหมายก่อตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่นอันเรียกว่าสามยทรัพย์ แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของอาคารตึกแถวซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินที่อยู่ติดทางพิพาท แต่การที่จำเลยใช้ทางพิพาทวางสินค้าเพื่อจำหน่ายในกิจการค้าของจำเลยเป็นการใช้ทางพิพาทเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของจำเลยโดยเฉพาะมิได้เกี่ยวกับประโยชน์ของอสังหาริมทรัพย์ที่จำเลยเป็นเจ้าของ ดังนั้น ภารจำยอมจึงไม่อาจเกิดมีขึ้นได้ จำเลยไม่ได้ภารจำยอมในทางพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 800-801/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทางจำเป็นและภารจำยอม: การใช้ทางผ่านที่ดินของผู้อื่นเมื่อไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ
คลองบางไผ่น้อยบริเวณพิพาท แม้ใช้เรือสัญจรเข้าออกได้ แต่ก็ ขาดความสะดวกที่จะใช้สอยเป็นทางสาธารณะได้ตามปกติ จึงยังไม่พอ ที่จะถือได้ว่าเป็นทางสาธารณะตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1349 โจทก์จึงมีความจำเป็นที่จะต้องผ่านที่ดินของจำเลยซึ่งล้อมอยู่ ไปสู่ทางสาธารณะโดยใช้ทางเดินพิพาทผ่านเข้าออกเป็นทางจำเป็นได้
โจทก์ได้ใช้ทางเดินพิพาทเข้าออกสู่ทางสาธารณะสืบทอดมาตั้งแต่ ครั้งบรรพบุรุษของโจทก์และจำเลยที่เป็นญาติใกล้ชิดมาแต่เดิม จนกระทั่ง ปลายปี 2528 น้ำท่วมทางพิพาท ทางฝ่ายโจทก์จึงได้จัดสรรสร้างสะพานไม้ ข้ามคูน้ำในทางเดินพิพาท โดยบิดาจำเลยยินยอมให้ดำเนินการในลักษณะ ของความอะลุ่มอล่วยฉันเครือญาติ จึงเป็นการแสดงออกโดยแจ้งชัดว่า โจทก์ได้ใช้ทางเดินพิพาทด้วยความสนิทสนมคุ้นเคย โดยถือว่าเป็นกันเอง อย่างเช่น เครือญาติที่ผูกพันกันมานานสืบเนื่องมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ อันเป็นการใช้ทางเดินพิพาทโดยถือวิสาสะและเอื้อเฟื้อต่อกัน ทางเดินพิพาท จึงไม่ตกเป็นภารจำยอมโดยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 789/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภารจำยอมจากการตกลงในสัญญาซื้อขาย: สิทธิการใช้ทางและสาธารณูปโภค
ปัญหาว่าข้อสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาวางมัดจำข้อ 10 ที่ว่า"ผู้จะขายตกลงสร้างถนนคอนกรีตพร้อมท่อระบายน้ำ ประปา และไฟฟ้า มาจดที่ดินที่จะซื้อจะขายพร้อมทั้งอนุญาตให้ที่ดินที่จะซื้อจะขายใช้ถนน และสาธารณูปโภคของโครงการหมู่บ้าน ส. เป็นทางเข้าออกสู่ ถนนแจ้งวัฒนะ" เป็นข้อสัญญาที่บังคับให้จดทะเบียนภารจำยอมได้หรือไม่ นั้น ข้อสรุปของสัญญามีว่า "ผู้จะขายที่ดินตกลงให้ที่ดินจะซื้อจะขาย ใช้ถนนและสาธารณูปโภค" เป็นการให้สิทธิแก่ที่ดินที่จะซื้อจะขายเหนือ อสังหาริมทรัพย์อื่น อันเป็นเหตุให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์นั้นต้องยอมรับ กรรมบางอย่างเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินที่จะซื้อจะขาย จึงเป็นสัญญา ก่อให้เกิดภารจำยอม โจทก์ย่อมบังคับให้จดทะเบียนได้
ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่คู่สัญญาตามสัญญา จึงบังคับ จำเลยที่ 1 ไม่ได้นั้น เมื่อคู่ความตกลงท้ากันให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยใน ข้อ ดังกล่าวแล้ว ถือได้ว่าคู่ความสละซึ่งประเด็นอื่นทั้งหมดแล้ว คงเหลือ เฉพาะประเด็นที่ท้ากันเท่านั้น ฎีกาของจำเลยทั้งสามจึงเป็นข้อที่ ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง ต้องห้ามฎีกาตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7221/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิภารจำยอม: ศาลคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาเมื่อถูกปิดกั้นทางเข้าออก
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรื้อถอนกำแพงพิพาทซึ่งจำเลยได้ก่อสร้างปิดทางภารจำยอมอันเป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ในการใช้ทางภารจำยอมเข้าสู่ที่ดินของโจทก์ การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ชั่วคราวก่อนพิพากษาโดยให้จำเลยรื้อถอนกำแพงพิพาทออกไปก่อน เพื่อโจทก์จะได้ใช้ทางภารจำยอมได้นั้น จึงเป็นการขอให้ศาลมีคำสั่งในอันที่จะบรรเทาความเดือดร้อนที่โจทก์ได้รับเนื่องจากการกระทำของจำเลยที่ถูกฟ้องร้องดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254(2) กรณีตามคำร้องมีเหตุที่โจทก์จะขอให้ศาลมีคำสั่งใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ได้ และเมื่อคดีปรากฏว่าจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินภารยทรัพย์ได้ก่อสร้างกำแพงปิดทางภารจำยอม ทำให้โจทก์ไม่สามารถผ่านเข้าออกที่ดินของโจทก์ซึ่งเป็นสามยทรัพย์ได้โดยสะดวก เช่นนี้กรณีมีเหตุสมควรและเพียงพอที่จะนำวิธีคุ้มครองที่โจทก์ขอมาใช้บังคับตามมาตรา 255เฉพาะบริเวณที่ติดกับที่ดินของโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 605-606/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภารจำยอมโดยการใช้ต่อเนื่องเกิน 10 ปี แม้เริ่มจากสิทธิสัญญาที่ไม่สมบูรณ์ และการย้ายแนวทางภารจำยอม
บิดาจำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินให้โจทก์โดยรับรองว่าจะจัดให้มีทางเดินออกสู่ถนนสาธารณะได้ ซึ่งเป็นข้อตกลงตามสัญญาจะซื้อจะขายที่มีลักษณะคล้ายภารจำยอมอันเป็นทรัพยสิทธิเมื่อโจทก์ไม่จดทะเบียนการได้มาจึงไม่บริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคแรก แต่ใช้ได้ในระหว่างคู่สัญญา ในฐานะบุคคลสิทธิ การที่โจทก์ใช้ทางพิพาทเดินผ่านที่ดินที่จำเลยรับมรดกจากบิดาเกิน 10 ปี แม้เดิมโจทก์จะเข้าใจว่าเดินโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาดังกล่าว แต่เมื่อโจทก์มีเจตนาถือเอาทางพิพาทเป็นทางเดินผ่าน ถือได้ว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาใช้เป็นทางเข้าออกของโจทก์ทางพิพาทจึงตกเป็นทางภารจำยอม
ทางพิพาทหากอยู่ตรงกลางที่ดินของจำเลย จะทำให้เสียที่ดินซึ่งเป็นการเพิ่มภาระแก่จำเลย และใช้ประโยชน์ที่ดินส่วนที่เหลือไม่ได้เท่าที่ควร การย้ายทางพิพาทจากที่เดิมไปอยู่ตรงสุดแนวที่ดินของจำเลย ย่อมไม่ทำให้ความสะดวกในการใช้ทางเดินของโจทก์ต้องลดน้อยลง จำเลยจึงสามารถทำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1392

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 592/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวางสิ่งของกีดขวางทางภารจำยอม การใช้สิทธิโดยปกตินิยม ไม่ถือเป็นการละเมิด
คดีเดิมมีประเด็นข้อพิพาทว่า กระถางต้นไม้และถังขยะที่จำเลยวางในทางพิพาทเป็นการละเมิดสิทธิการใช้ทางของโจทก์หรือไม่ อันเป็นประเด็นเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ แต่คดีเดิมศาลพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่า โจทก์อ้างว่ากระถางต้นไม้และถังขยะที่จำเลยวางอยู่บนทางพิพาทซึ่งเป็นที่ดินของบุคคลภายนอกที่โจทก์จำเลยใช้ร่วมกัน แต่โจทก์ไม่ได้นำบุคคลภายนอกมาสืบให้ศาลเห็นว่ายินยอมให้โจทก์ได้ใช้ที่ดินร่วมกับจำเลยหรือทางพิพาทตกเป็นภารจำยอมอันถือได้ว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะมิได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์มีสิทธิใช้ทางพิพาท ดังนั้นประเด็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่จึงยังไม่ได้วินิจฉัย เมื่อโจทก์ฟ้องเจ้าของทางพิพาทจนได้ทางพิพาทเป็นภารจำยอมแล้วจึงมาฟ้องเป็นคดีนี้ว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์จึงเป็นการขอให้ศาลวินิจฉัยว่าการที่จำเลยวางกระถางต้นไม้ ถังขยะ และทิ้งสิ่งปฏิกูลลงในถังขยะซึ่งอยู่ในทางพิพาทเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ย่อมเป็นการพิจารณาในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยมิได้อาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ไม่เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 วรรคหนึ่ง
ซอยพิพาทอันเป็นภารจำยอมที่โจทก์และจำเลยใช้ร่วมกันกว้างประมาณ5 เมตร จำเลยวางกระถางต้นไม้บนทางพิพาทใกล้ประตูรั้วบ้านจำเลยเป็นผลให้ทางแคบลงเหลือประมาณ 4 เมตร เป็นลักษณะเดียวกับที่โจทก์ก่อกระถางอิฐเป็นแนวเดียวกับตึกแถวที่อยู่ติดรั้วบ้านโจทก์ และเพื่อป้องกันมิให้รถยนต์แล่นทับท่อระบายน้ำตรงทางพิพาท เมื่อโจทก์ยังคงขับรถยนต์แล่นเข้าออกได้เป็นปกติการกระทำของจำเลยในทางพิพาทเป็นการใช้สิทธิโดยปกตินิยม ส่วนการวางถังขยะไว้นอกบ้านเพื่อให้พนักงานเก็บขยะมาเก็บไปทิ้งเช่นเดียวกับคนทั่วไปถือปฏิบัติกัน เมื่อการวางถังขยะมิได้เกะกะกีดขวางทางเดินรถยนต์ ลักษณะของขยะก็มิได้น่ารังเกียจส่งกลิ่นเหม็นรบกวนแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงเป็นการใช้สิทธิโดยปกตินิยม ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 587/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ทางภารจำยอมโดยอายุความและการยินยอมใช้ทางของเจ้าของที่ดิน
เมื่อนับตั้งแต่ปีที่โจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินจนถึงปี 2533ซึ่งจำเลยปิดทางพิพาทแล้วยังไม่ถึง 10 ปี ทางพิพาทจึงยังไม่ตกเป็นทางภารจำยอมโดยอายุความในส่วนนี้
เดิมที่ดินของโจทก์เป็นของ อ. อยู่คนละฝั่งคลองกับที่ดินของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ซื้อมาจาก ส. บุตรของ ย. อ. ขออนุญาต ย. ทำสะพานข้ามคลองเดินผ่านที่ดินพิพาทออกสู่ถนนสาธารณะทำให้ทุกคนสามารถเดินข้ามสะพานผ่านที่ดินของ ย. การใช้ทางดังกล่าวของโจทก์จึงมิได้ใช้โดยปรปักษ์ ไม่เป็นทางภารจำยอม แม้โฉนดที่ดินของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจะไม่มีชื่อ ย. ถือกรรมสิทธิ์ แต่ก็ระบุว่า ย. เป็นบิดาของ ส. เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เมื่อ ย. อนุญาตให้ใช้ทางเดินทุกคนก็ใช้ทางเดินได้โดยไม่มีเหตุขัดข้อง จึงต้องถือว่าเป็นการที่บิดาของเจ้าของที่ดินอนุญาตแทนโดยชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 404/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภารจำยอมโดยอายุความ: การใช้ทางต่อเนื่องเกิน 10 ปี แม้กรรมสิทธิ์ยังไม่จดทะเบียนก็มีผล
แม้โจทก์ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินเมื่อคำนวณถึงวันที่จำเลยปิดกั้นทางพิพาทเป็นทางผ่านเข้าออกยังไม่ครบ 10 ปีก็ตาม แต่เมื่อโจทก์อาศัยอยู่ในที่ดินของโจทก์มานาน 20 ปีแล้ว แสดงว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทผ่านเข้าออกตั้งแต่อาศัยอยู่ในที่ดินดังกล่าวจนได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน เมื่อนับระยะเวลาทั้งสองตอนติดต่อกันแล้วเกินกว่า 10 ปี ทางพิพาทจึงตกเป็นภารจำยอมโดยอายุความแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 320/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิภารจำยอมเกิดจากการใช้ทางต่อเนื่อง สงบ เปิดเผย เกิน 10 ปี
โจทก์ทั้งสี่และผู้อยู่อาศัยในที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ได้ใช้ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยเป็นทางเดินเข้าออกโดยสงบ เปิดเผย และด้วยเจตนาจะให้ได้สิทธิภารจำยอมเกินกว่าสิบปี ทางพิพาทจึงตกเป็นภารจำยอมของโจทก์ทั้งสี่ ส่วนที่จำเลยเคยฟ้อง ส. ซึ่งอยู่อาศัยในที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ให้รื้อถอนสะพานไม้บนที่ดินพิพาทและศาลพิพากษาให้ ส. รื้อสะพานออกไปและห้ามเกี่ยวข้อง ย่อมเป็นเรื่องที่ผูกพันระหว่างจำเลยและบริวารกับ ส. และมีผลบังคับให้ ส. ต้องรื้อสะพานและห้ามเข้าไปเกี่ยวข้องในการก่อสร้างสิ่งใด ๆ ขึ้นอีกเท่านั้น หาได้ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2520/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภารจำยอมโดยอายุความ: ศาลต้องวินิจฉัยก่อนว่ามีภารจำยอมโดยอายุความหรือไม่ แม้จำเลยไม่ตกลง
โจทก์ได้บรรยายฟ้องในตอนแรกแล้วว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นเวลากว่า 20 ปี และโจทก์ได้บรรยายในตอนต่อมาว่าจำเลยได้ตกลงจดทะเบียนภารจำยอมให้มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแต่ปรากฏว่าจำเลยปฏิเสธไม่ยอมไปจดทะเบียนภารจำยอมตามที่ตกลงกัน จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยไปทำนิติกรรมจดทะเบียนภารจำยอมในที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 2219 ของจำเลย ซึ่งจำเลยได้ให้การว่าทางพิพาทมิใช่ภารจำยอมและจำเลยไม่เคยตกลงกับโจทก์เพื่อจดทะเบียนภารจำยอม ประเด็นแห่งคดีจึงมีทั้งข้อที่จะต้องวินิจฉัยว่าทางพิพาทเป็นภารจำยอมโดยอายุความหรือไม่และโจทก์จะบังคับให้จำเลยจดทะเบียนทางพิพาทดังกล่าวให้เป็นภารจำยอมได้หรือไม่ เพราะหากทางพิพาทเป็นภารจำยอมโดยอายุความ โจทก์ย่อมบังคับให้จำเลยจดทะเบียนเป็นภารจำยอมได้แม้จำเลยมิได้ตกลงด้วยก็ตาม
of 46