คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ภาษีอากร

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 716 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6087/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับชำระหนี้ภาษีอากรในคดีล้มละลาย: อายุความ, เอกสาร, และความรับผิดของหุ้นส่วนผู้จัดการ
เจ้าหนี้เป็นหน่วยงานราชการครอบครองต้นฉบับเอกสารอยู่แล้ว ได้นำส่งสำเนาเอกสารอันเกิดจากการรับรองความถูกต้องของเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานของรัฐ จึงรับฟังเอกสารที่เจ้าหนี้ส่งเป็นพยานเอกสารได้
เจ้าหนี้ได้มีหนังสือเตือนให้ลูกหนี้ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. นำเงินภาษีอากรไปชำระตามแบบแจ้งการประเมินจำนวน 2 ครั้ง โดยลูกหนี้ได้รับหนังสือเตือนแล้ว เป็นกรณีที่เจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการรับผิดในหนี้ภาษีอากรของห้าง นับจากวันที่ลูกหนี้ได้รับหนังสือเตือนครั้งแรกวันที่ 11 พฤศจิกายน 2537 ถึงวันที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้วันที่ 24 พฤษภาคม 2543 หนี้ดังกล่าวจึงยังไม่ขาดอายุความ 10 ปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31 และมูลหนี้ค่าภาษีอากรดังกล่าวเป็นมูลหนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 13 ธันวาคม 2542 อันเป็นวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด จึงไม่ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 94 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลายฯ และเป็นหนี้ที่หุ้นส่วนผู้จัดการต้องรับผิดร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. ผิดนัดชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1070 ประกอบมาตรา 1077 (2) โดยเจ้าหนี้ไม่จำต้องไปใช้สิทธิเรียกร้องเอากับลูกหนี้ตามมาตรา 55 แห่ง ป.วิ.พ. แต่อย่างใด กรณีไม่ต้องด้วย มาตรา 88 และ 89 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลายฯ เพราะเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิดำเนินคดีกับตัวลูกหนี้โดยตรงแล้ว
การใช้อำนาจตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 12 สั่งยึดและอายัดทรัพย์สินของลูกหนี้นำออกขายทอดตลาดเพื่อหักชำระหนี้ภาษีได้นั้น เป็นกระบวนการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหนี้ และลูกหนี้มิได้โต้แย้งจำนวนหนี้ค่าภาษีอากรที่เจ้าหนี้ได้แจ้งการประเมินเรียกให้ลูกหนี้ชำระแต่อย่างใด จึงไม่ได้มีปัญหาที่ศาลจะบังคับใช้กฎหมายตามมาตรา 12 แห่ง ป.รัษฎากรฯ ที่จะต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5028/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกและคำสั่งเจ้าพนักงานประเมิน ทำให้ไม่สามารถอุทธรณ์การประเมินภาษีได้
การที่โจทก์ไม่นำใบเสร็จรับเงินการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปแสดงต่อเจ้าพนักงานประเมินตามหมายเรียก และไม่ไปพบเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือเชิญพบหลายครั้ง ถือได้ว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามหมายหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินที่ให้นำใบเสร็จรับเงินการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอันเป็นพยานหลักฐานอันควรแก่เรื่องมาแสดงตาม ป. รัษฎากร มาตรา 23 เนื่องจากใบเสร็จรับเงินการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสามารถแสดงให้เห็นได้ว่า โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบใดและยื่นถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพราะใบเสร็จรับเงินจะระบุวัน เดือน ปี ที่ยื่นแบบแสดงรายการ รวมทั้งประเภทของแบบแสดงรายการที่ยื่น หากในใบเสร็จรับเงินระบุว่า ภ.ง.ด. 91 ก็แสดงว่าโจทก์มิได้นำเงินได้ที่ได้จากการขายที่ดินที่ได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร มารวมคำนวณกับเงินได้อื่น ส่วนเอกสารที่บริษัท ท. กับบริษัท ร. ซึ่งโจทก์เป็นเจ้าของส่งให้แก่เจ้าพนักงานประเมินก็เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่าง ว. คนขับรถยนต์ของโจทก์กับบริษัทดังกล่าว มิใช่หลักฐานการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับ ว. นอกจากนี้หากใบเสร็จรับเงินการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของโจทก์ในปีพิพาทสูญหาย โจทก์ควรให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานประเมินเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบไต่สวนของทางราชการ แต่โจทก์มิได้ให้ถ้อยคำอันเป็นประโยชน์ในการตรวจสอบไต่สวนของทางราชการแต่อย่างใด ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโจทก์โดยอาศัยอำนาจตาม ป. รัษฎากร มาตรา 25 นั้น ชอบแล้ว ซึ่งเป็นผลให้โจทก์ไม่สามารถอุทธรณ์การประเมินได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3691/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทุนทรัพย์พิพาทในคดีภาษีอากร: การพิจารณาจำนวนทุนทรัพย์ที่ใช้ในการห้ามอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริง
ทุนทรัพย์ที่จะพิจารณาว่าคดีต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 25 หมายถึง จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในศาลภาษีอากร หาใช่จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่ การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าภาษีป้ายและเงินเพิ่มจากจำเลยรวมเป็นเงิน 49,680 บาท แม้จะระบุจำนวนทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์ว่าเป็นจำนวน 58,788 บาท ก็ตาม ทุนทรัพย์ที่พิพาทคือ 49,680 บาท มิใช่ 58,788 บาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3450/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลภาษีอากรกลางขยายกำหนดเวลาฟ้องคดี และการพิจารณาเหตุงด/ลดเบี้ยปรับตามดุลพินิจ
กำหนดเวลาการอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภายใน 30 วัน เป็นกำหนดเวลาให้ฟ้องคดี ถ้ามิได้ฟ้องภายในกำหนดเวลาดังกล่าวย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง กำหนดเวลาดังกล่าวแม้เป็นระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 30 (2) แห่ง ป.รัษฎากรฯ แต่ก็เป็นระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งอันกำหนดไว้ใน ป.รัษฎากรฯ ศาลภาษีอากรกลางย่อมมีอำนาจขยายได้โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 23
คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.81/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การงดหรือลดเบี้ยปรับฯ เป็นเพียงระเบียบที่กำหนดให้เจ้าพนักงานประเมินถือปฏิบัติไม่มีผลผูกพันศาลให้ต้องถือตามระเบียบดังกล่าว ศาลมีอำนาจพิจารณาว่าการที่เจ้าพนักงานประเมินงดหรือลดเบี้ยปรับมานั้นถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ และมีอำนาจที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับได้เองในกรณีที่มีเหตุสมควรเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมอีกด้วย
กรณีมีเหตุสมควรงดหรือลดเบี้ยปรับหรือไม่เป็นข้อเท็จจริงซึ่งโจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้าง ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์ โจทก์ต้องสืบพยานให้เห็นว่ากรณีของโจทก์มีเหตุสมควรงดหรือลดเบี้ยปรับเพราะเหตุใด เมื่อโจทก์ไม่สืบพยานจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1936/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีภาษีอากร: การชำระภาษีด้วยเช็คยังไม่ถือเป็นการชำระหนี้สิ้นสุดตามกฎหมาย
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 39 มุ่งประสงค์ให้ผู้รับประเมินได้ชำระหนี้ค่าภาษีจนหนี้ค่าภาษีที่พนักงานเก็บภาษีได้แจ้งการประเมินระงับสิ้นไปเสียก่อน หากเมื่อศาลตัดสินให้ลดค่าภาษี ผู้รับประเมินจึงจะมีสิทธิมาขอรับคืนเงินส่วนที่ลดลงมาได้เพื่อป้องกันมิให้ผู้รับประเมินใช้การฟ้องคดีต่อศาลเพื่อประวิงการชำระหนี้ค่าภาษี และตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคสาม การชำระหนี้ค่าภาษีดังกล่าวด้วยเช็ค หนี้จะระงับเมื่อเช็คได้ใช้เงินแล้ว ดังนั้น หนี้ค่าภาษีประจำปีจึงยังไม่ระงับสิ้นไปและถือไม่ได้ว่าผู้รับประเมินได้ชำระค่าภาษีทั้งสิ้นซึ่งถึงกำหนดต้องชำระ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลตามจำนวนเงินค่าภาษีแต่ละปีภาษีเป็นการเรียกค่าขึ้นศาลเกินไปจากที่กฎหมายกำหนดเพราะพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้แจ้งการประเมินค่าภาษีประจำปี 2535 ถึง 2543 ไปยังโจทก์ร่วมคราวเดียวกัน ถึงแม้พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจะแจกแจงค่าภาษีแต่ละปีภาษี แต่ก็รวมยอดเป็นค่าภาษีทั้งสิ้น 143,949,403.29 บาท ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาล 200,000 บาท นั้น แม้โจทก์จะไม่ได้โต้แย้งไว้เพื่อใช้สิทธิในการอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2535 ถึง 2543 รวม 9 ข้อหา ซึ่งแต่ละข้อหาแยกต่างหากจากกัน โจทก์จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลตามรายข้อหา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1738/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งการประเมินภาษีที่ชอบแล้ว และเหตุจำเป็นในการขยายเวลาอุทธรณ์
บทบัญญัติตาม ป. รัษฎากรมาตรา 3 อัฏฐ วรรคหนึ่ง มีความหมายว่าอธิบดีกรมสรรพากรจะเห็นสมควรสั่งให้ขยายกำหนดเวลาหรือเลื่อนกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ หรือการอุทธรณ์ หรือกำหนดเวลาการ เสียภาษีอากรตามที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากรออกไปได้เมื่อผู้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกำหนดเวลาดังกล่าวมิได้อยู่ในประเทศไทยหรือมีเหตุจำเป็นจนไม่สามารถจะปฏิบัติตามกำหนดเวลาได้
โจทก์เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย จึงมิใช่ผู้ที่มิได้อยู่ในประเทศไทย จำเลยได้แจ้งการประเมินให้โจทก์ทราบรวม 7 ฉบับ โดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับในประเทศจ่าหน้าซองระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับตามภูมิลำเนาของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้ต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดตรัง เลขที่ 71 หมู่ที่ 2 ตำบลเกาะเปียะ อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง รหัสไปรษณีย์ 92140 โดยมี พ. ซึ่งบรรลุนิติภาวะและอยู่ที่นั่นรับไว้แล้ว จึงเป็นการ แจ้งการประเมินที่ชอบและถือว่าโจทก์ได้รับทราบการแจ้งการประเมินแล้ว ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 8 กรณีจึงมิใช่ มีเหตุจำเป็นจนโจทก์ไม่สามารถจะยื่นอุทธรณ์ตามกำหนดเวลาได้ การที่อธิบดีกรมสรรพากรมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ขยายกำหนดเวลาการอุทธรณ์ จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1687/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อร่วมลงทุนแล้วยกเลิก ถือเป็นการขายตามกฎหมายภาษีอากร
บทบัญญัติ ป.รัษฎากร มาตรา 91/1 และมาตรา 91/2 หมายความว่า การประกอบกิจการการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรในราชอาณาจักรไทยต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 244 โดยคำว่า ขาย ในภาษีธุรกิจเฉพาะนั้นมีความหมายกว้างกว่าคำว่า ซื้อขาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 453 ซึ่งหมายถึงผู้ขายโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อโดยมีค่าตอบแทน แต่คำว่า ขาย ในภาษีธุรกิจเฉพาะนั้นนอกจากหมายถึงการซื้อขายตามมาตรา 453 แห่ง ป.พ.พ.แล้วยังหมายความรวมถึงการจำหน่าย จ่าย หรือโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามนิติกรรมสัญญาประเภทต่างๆ ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ด้วย
โจทก์กับ พ. ได้ทำสัญญาต่างตอบแทนเพื่อลงทุนก่อสร้างอาคารพาณิชย์ในที่ดินของ พ. โดยก่อนทำการก่อสร้าง พ. ได้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่โจทก์จำนวน 38 ส่วนใน 75 ส่วน ต่อมาโจทก์กับ พ. ตกลงยกเลิกสัญญาการร่วมลงทุนก่อสร้างอาคารพาณิชย์ดังกล่าว โจทก์จึงโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินจำนวน 38 ส่วนใน 75 ส่วนคืนให้แก่ พ. การที่โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวคืนให้แก่ พ. โดยไม่มีค่าตอบแทนก็ถือเป็นการขายตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/1 (4) แล้ว และที่ดินที่โจทก์ขายให้แก่ พ. นั้นเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่โจทก์มีไว้โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะประกอบกิจการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ จึงเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการ ซึ่งถือว่าเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/2 (6) ประกอบพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 244 มาตรา 3 (5) โจทก์จึงต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7682/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจประเมินภาษีเกินอายุความ, การพิสูจน์ราคาตลาด, และการประเมินราคาซากรถยนต์
โจทก์อุทธรณ์คัดค้านหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มของจำเลยต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ว่าการประเมินของเจ้าพนักงานไม่ชอบ แม้เหตุผลในการคัดค้านของโจทก์จะไม่ได้ยกเรื่องการประเมินของเจ้าพนักงานขาดอายุความ ไม่ชอบด้วยมาตรา 88/6 แห่ง ป.รัษฎากรไว้ในคำอุทธรณ์ด้วย แต่ข้ออ้างดังกล่าวซึ่งโจทก์ยกขึ้นอ้างในการฟ้องคดีนี้ก็เป็นเหตุผลอีกข้อหนึ่งที่โจทก์กล่าวอ้างเพิ่มเติมเพื่อเป็นข้อสนับสนุนว่าการประเมินของเจ้าพนักงานดังกล่าวไม่ชอบนั่นเอง ทั้ง ป. รัษฎากร มาตรา 30 (2) ก็มิได้บัญญัติว่าการอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลจะต้องอ้างเหตุผลเช่นเดียวกับที่อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการดังกล่าว โจทก์จึงอ้างถึงเหตุอื่นนอกเหนือจากที่เคยอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการดังกล่าวได้
จำเลยให้การรับว่าเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มตามฟ้องเกิน 2 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มจริง แต่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรแล้ว การประเมินของเจ้าพนักงานจำเลยจึงชอบด้วยมาตรา 88/6 แห่ง ป.รัษฎากร จำเลยจึงเป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยมีอำนาจประเมินโดยได้รับอนุมัติจากอธิบดีแล้ว หน้าที่นำสืบจึงตกแก่จำเลย เมื่อจำเลยไม่มีพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าอธิบดีกรมสรรพากรได้มอบอำนาจให้ จ. มีอำนาจอนุมัติให้ประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 88/6 แห่ง ป. รัษฎากรแทนอธิบดีแล้ว จึงฟังไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเกิน 2 ปี นับแต่วันยื่นแบบแสดงรายการ การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเจ้าพนักงานประเมินไม่มีอำนาจประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว จึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นแต่อย่างใด
โจทก์นำสืบแสดงให้เห็นว่าราคาตลาดของสารเคมีไม่อาจกำหนดให้แน่นอนตายตัวได้ ทั้งนำผู้ซื้อสินค้าจากโจทก์และซื้อจากผู้อื่นมาสืบแสดงถึงราคาที่ได้ซื้อไปจากบริษัทอื่นว่าราคาดังกล่าวเป็นราคาตลาดแล้ว ส่วนจำเลยไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบหักล้างว่าราคาดังกล่าวไม่ใช่ราคาตลาดเพราะมีบริษัทอื่นขายไปในราคาสูงกว่าที่โจทก์ขายซึ่งจะแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีเจตนาแจ้งราคาตลาดไม่ตรงกับความจริง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าโจทก์ได้ขายตามราคาตลาด จำเลยจึงไม่มีสิทธิให้เอาราคาทุนเป็นราคาตลาด
โจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทในเดือนธันวาคม 2533 แล้วขายไปในเดือนพฤษภาคม 2538 ในราคา 200,000 บาท อ้างว่าคนขับขับรถไปเกิดอุบัติเหตุพังทั้งคัน จึงขายไปในสภาพซากรถ แต่ปรากฏว่ารถยนต์คันดังกล่าวไม่ได้ทำประกันภัยไว้ทั้งๆที่โจทก์ทำประกันภัยรถยนต์คันอื่นของโจทก์ทุกคัน บันทึกการแจ้งความก็ไม่ได้ระบุว่าการเกิดอุบัติเหตุดังกล่าวทำให้รถอยู่ในสภาพเสียหายใช้การไม่ได้อย่างไร ทั้งโจทก์ยังไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าได้ดำเนินการอย่างใดในการที่จะได้รับชดใช้มูลค่าของรถที่โจทก์สูญเสียไปไม่น้อยกว่า 2,000,000 บาท หากคิดตามราคาตลาดของรถยนต์รุ่นเดียวกับโจทก์ที่ซื้อขายกันในขณะนั้น หากรถยนต์ยังอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ การที่จำเลยประเมินราคาขายรถยนต์ดังกล่าวตามราคาตลาด จึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4812/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีที่ถูกต้องตามกฎหมาย: เหตุผลความเสียหายจากภัยธรรมชาติ และลักษณะของสัญญาบริการ
หลังจากที่โจทก์ทราบว่าสินค้าที่เก็บในคลังสินค้าได้รับความเสียหายจากพายุฝนแล้ว แม้โจทก์จะทราบถึงจำนวนสินค้าที่เก็บไว้ในคลังสินค้าแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่อาจทราบจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงได้จนกว่าจะได้มี การสำรวจค่าเสียหายก่อน ในวันที่โจทก์ได้ยื่นประมาณการกำไรสุทธินั้น โจทก์ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า สินค้าของโจทก์ได้รับความเสียหายเท่าใด และไม่ทราบว่าโจทก์จะมีรายได้ที่จะได้รับจากค่าเสียหายที่บริษัทประกันภัยจะชดใช้ให้ แก่โจทก์เพียงใด อีกทั้งไม่ทราบว่าบริษัทประกันภัยจะไม่รับเอาสินค้าที่ได้รับความเสียหายไป จึงทำให้โจทก์มีกำไรจากการขายซากทรัพย์เพิ่มขึ้นอีก การที่โจทก์ยื่นประมาณการกำไรสุทธิสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2533 ขาดเกินไปกว่าร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิ ที่ได้รับจากกิจการหรือเนื่องจากกิจการ จึงมีเหตุอันสมควร
ตามสัญญาให้บริการด้านการตลาดที่บริษัทต่างประเทศตกลงให้คำแนะนำและคำปรึกษาเกี่ยวกับเรื่อง การบริหารการเงินและด้านการตลาดให้แก่โจทก์ เป็นสัญญาจ้างทำของตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 และการรับจ้างทำของดังกล่าวก็ไม่ปรากฏว่ามีการให้ใช้สิทธิในกรรมวิธี สูตร หรือ สิทธิในการประกอบกิจการอันเป็นความลับแต่อย่างใด แม้การจ่ายค่าตอบแทนตามสัญญาจะกำหนดให้คิดคำนวณในอัตราร้อยละของยอดขายสินค้า ที่บริษัทต่างประเทศเป็นผู้ให้สิทธิแก่โจทก์เป็นตัวแทนจำหน่าย แต่บริษัทต่างประเทศก็มิได้ให้สิทธิแก่โจทก์เป็นตัวแทนขายสินค้าที่มีชื่อตราสินค้าหรือผูกขาดยี่ห้อสินค้าต่าง ๆ แต่ผู้เดียว กรณีที่โจทก์เป็นตัวแทนจำหน่ายของบริษัทต่างประเทศจึงไม่ใช่ค่าให้ใช้สิทธิแห่งเครื่องหมายการค้า หรือค่าแห่งสิทธิอย่างอื่นลักษณะทำนองเดียวกับค่าแห่งกู๊ดวิลล์ หรือค่าแห่งลิขสิทธิ์ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 40 (3) และสัญญาดังกล่าวก็ไม่ได้มีการตกลงที่จะถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์พิเศษ ซึ่งจะต้องไม่เปิดเผยต่อสาธารณชนอันเป็นวิทยาการเพื่อให้โจทก์นำไปใช้ จึงมิใช่การให้ข้อสนเทศเกี่ยวกับประสบการณ์ทาง อุตสาหกรรม การพาณิชย์ หรือวิทยาศาสตร์ อันจะเป็นค่าสิทธิตามที่ระบุไว้ในข้อ 12 วรรคสอง แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งประเทศไทยกับรัฐบาลแห่งประเทศเดนมาร์ก เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้และทุน เงินค่าบริการดังกล่าวเป็นค่าตอบแทนตามสัญญารับจ้างทำของ อันเป็นเงินได้ในลักษณะเป็นกำไรทางธุรกิจที่บริษัทต่างประเทศซึ่งมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย และ ไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยได้รับจากโจทก์ซึ่งประกอบกิจการในประเทศไทยตามสัญญาข้อ 7 แห่งอนุสัญญาดังกล่าวประกอบ พ.ร.ฎ. ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 มาตรา 3 โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 70 แห่ง ป. รัษฎากร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 44/2547 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีอากร การหักกลบลบหนี้ภาษี และสิทธิในการทุเลาการชำระภาษีตามกฎหมายภาษีอากร
ตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 12 และ 31 การที่เจ้าพนักงานประเมินจำเลย ประเมินให้โจทก์เสียภาษีอากรแล้วโจทก์ไม่เสียภายในกำหนดต้องถือว่าเป็นภาษีอากรค้าง จำเลยมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์ได้ การยึดย่อมหมายความรวมถึงการนำเอาเงินที่จำเลยต้องคืนให้โจทก์มาหักกลบลบหนี้กับหนี้ภาษีอากรที่โจทก์ค้างจำเลยได้ด้วย แม้ในระหว่างนั้นโจทก์จะอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จำเลยก็มีอำนาจที่จะหักกลบลบหนี้ได้ไม่ถือว่าเป็นการทุเลาการเสียภาษีอากร เว้นแต่กรณีที่ผู้อุทธรณ์ได้รับอนุมัติจากอธิบดีให้รอคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือคำพิพากษาได้
of 72