คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ลอกเลียนแบบ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 24 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3278/2527

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องแย้งเรื่องการมอบอำนาจ และสิทธิในเครื่องหมายการค้า การลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้าทำให้เกิดความเสียหาย
การที่จะตีความเอกสารฉบับใดเพื่อให้ได้ความหมายที่ถูกต้องแท้จริงจะพิจารณาจากข้อความเพียงประโยคใดตอนใด แล้วสรุปความหมายเอาหาได้ไม่ จำต้องพิเคราะห์จากถ้อยคำ ทั้งหมดในเอกสารนั้นประมวลเข้าด้วยกันจึงจะสามารถทราบ ความหมายที่แท้จริงได้ โดยเฉพาะถ้อยคำที่แปลและเรียบเรียง จากภาษาต่างประเทศมาเป็นภาษาไทยการใช้ถ้อยคำอาจไม่ตรงกัน แต่มีความหมายในทำนองเดียวกัน เกี่ยวกับการมอบอำนาจให้ ฟ้องคดีนี้ถ้อยคำที่เกี่ยวข้องคือ "เพื่อป้องกัน เครื่องหมายการค้าของ ข้าพเจ้าให้พ้นจากการปลอมแปลงเลียนแบบ จะโดยทางศาลแพ่งหรือกระบวนพิจารณาอาญารวมทั้ง ให้มีอำนาจที่จะกระทำการต่อสู้ในการเรียกร้องฟ้องแย้งหรือ ผู้ขอเรียกร้องที่แยกออก ประนีประนอมยอมความหรือตกลงกัน เกี่ยวกับการพิจารณาใดๆเช่นว่ามาแล้ว เพื่อให้ เป็นไป ตามความมุ่งหมายที่ได้กล่าวมาแล้วให้มีอำนาจ ไป กระทำการ และปรากฏตัวเพื่อและในนามของข้าพเจ้ายัง สำนักงานรัฐบาลแห่งประเทศไทยหรือสถานที่อื่นใด หรือที่ศาลสถิตย์ยุติธรรม "ถ้อยคำ ทั้งหมดดังกล่าวที่ว่า มอบอำนาจเพื่อป้องกันเครื่องหมายการค้าให้พ้น จากการปลอมแปลง เลียนแบบโดยทางศาลแพ่ง รวมทั้งมีอำนาจต่อสู้ เรียกร้อง ฟ้องแย้งก็มีความหมายชัดแจ้งถึงว่าให้มีอำนาจฟ้องคดีแพ่งเพื่อป้องกันสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์แทนโจทก์นั่นเอง จะตีความ ว่าเพียงมีอำนาจให้ฟ้องแย้งเพียงอย่างเดียว ย่อมไม่ได้ โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "BOSS" ใช้กับสินค้าประเภทเครื่องเขียนไว้ที่ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันตั้งแต่พ.ศ. 2518 และบริษัทซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยได้ สั่งสินค้าประเภทนี้ของโจทก์เข้ามาขายในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ.2517 ก่อนมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า 1 ปี นอกจากนี้โจทก์ยังได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ในประเทศ ต่างๆ อีกหลายประเทศทั้งได้มีการโฆษณาถึงคุณภาพสินค้า สำหรับประเทศไทยทำผ่านบริษัทซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่าย โจทก์ เป็นผู้คิด ประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าคำว่า "BOSS" ขึ้น มาใช้กับสินค้าของโจทก์ก่อนจำเลยจะผลิตสินค้าของจำเลย ประเภทเดียวกันนี้เป็นเวลาหลายปี เมื่อจำเลยใช้ เครื่องหมายการค้าคำว่า "BOSS" กับสินค้าจำพวกเดียวกันมีลักษณะเหมือนและคล้ายของโจทก์โดยรู้ถึงว่าสินค้าของ โจทก์ประเภทนี้มีเครื่องหมายการค้าคำว่า "BOSS" จำหน่าย อยู่ในประเทศไทยแล้ว แม้จำเลยจะนำเครื่องหมายการค้าคำว่า "BOSS" ไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าใน ประเทศไทยไว้ก่อน ก็หาทำให้จำเลยมีสิทธิดีกว่าโจทก์ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นไม่ ฎีกาปัญหาข้อที่จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การและไม่ เป็นประเด็นแห่งคดี จึงไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากัน มาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า"BOSS" ดีกว่า จำเลย จำเลยเป็นฝ่ายลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไป ลวงขาย ทำให้ผู้ซื้อสินค้า หลงผิดซื้อสินค้าจำเลยโดยเข้าใจ ผิดว่าเป็นของโจทก์ โจทก์ย่อมเป็นฝ่าย ได้รับความเสียหาย และ ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายเอาได้ตามพระราชบัญญัติ เครื่องหมายการค้าพุทธศักราช2474 มาตรา 29 วรรคสอง และ ศาลมีอำนาจ กำหนดให้ตามสมควรแก่พฤติการณ์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1742/2527

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดเครื่องหมายการค้า: การลอกเลียนแบบลักษณะสำคัญของเครื่องหมายการค้าผู้อื่นจนเกิดความเข้าใจผิด
เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นรูปตัวการ์ตูนทรงกระบอกรูปขวดมีหมวก ตา ปาก มือ เท้าและลำตัว ซึ่งดัดแปลงมาจากขวดของน้ำมันพืชกุ๊ก ส่วนเครื่องหมายค้าของจำเลยเป็นรูปตุ๊กตาประดิษฐ์ มีหมวก ตา ปาก มือ เท้าและลำตัวมือขวา ถือตะหลิวหงายขึ้น ทรงลำตัวเป็นรูปทรงกระบอก โดยจำเลยลอกเลียนเอาจุดเด่นของรูปตัวการ์ตูนที่ประดิษฐ์ขึ้นของโจทก์ไปดัดแปลงบางส่วน เมื่อพิจารณารวมทั้งเครื่องหมายจะ เห็นความเหมือนหรือคล้ายกันของเครื่องหมายทั้งสองอย่างเห็นได้ชัด ถือได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนแล้ว โจทก์บรรยายฟ้องว่า การที่จำเลยนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปใช้ ทำให้สาธารณชนเสื่อมความเชื่อถือในสินค้าของโจทก์ แม้โจทก์จะมิได้นำสืบให้เห็นว่าได้รับความเสียหาย ศาลย่อมวินิจฉัยค่าเสียหายให้ตามควรแก่พฤติการณ์และความ ร้ายแรงแห่งละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1120/2511 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้าและหีบห่อสินค้า แม้สินค้าต่างประเภทกัน หากสร้างความเข้าใจผิดว่าเป็นสินค้าของผู้อื่น ถือเป็นการละเมิด
ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 29 วรรค 2 การกระทำที่เป็นการลวงชายมีความหมายกว้างขวางมาก ไม่จำเป็นว่าสินค้าที่ทำขึ้นจะต้องเป็นสินค้าชนิดเดียวกันหรือประเภทเดียวกันเท่านั้นซึ่งแปลความหมายได้ว่า ไม่ใช่แต่เป็นการลวงในวัตถุเท่านั้น หากรวมถึงการลวงในความเป็นเจ้าของด้วย
จำเลยใช้เครื่องหมายสินค้าหมากฝรั่งของจำเลยในหีบห่อเหมือนบุหรี่ของโจทก์ตลอดจนลักษณะและสี คือ ใช้พื้นสีแดง อักษรสีขาว กลางซองบุหรี่ด้านหน้าทำเป็นรูปวงกลมรี เป็นรูปไข่ขนาดเท่ากัน ผิดแต่แทนที่จะเป็นอักษร คราเวน เอ ทำเป็นอักษร โปรเกรส เหนือวงกลมนี้ขึ้นไปเป็นรูปแมวสีดำ รูปร่างหน้าตาขนาดเดียวกัน แต่ของจำเลยยึดลำตัวสูงกว่าเล็กน้อย อยู่ระหว่างตัวอักษร คำว่า คอร์ด ทิป เช่นเดียวกัน ของด้านหลังทำเป็นรูปกรอบสี่เหลี่ยมมุมกรอบทั้งสี่ข้างทำเป็นรูปและขนาดเดียวกัน แต่ของโจทก์เป็นอักษรภาษาอังกฤษ ของจำเลยเป็นอักษรไทย ใต้กรอบลงมามีอักษรฝรั่งสีดำขนาดตัวอักษรเดียวกัน ด้านข้างของกล่องบุหรี่พิมพ์ด้วยอักษรสีขาวของโจทก์ว่า คราเว่น เอ 10 ของจำเลยก็เป็น โปรเกรส 10 ด้านข้างอีกด้านหนึ่งเป็นอักษรภาษาอังกฤษ ตัวหนังสือสีขาวเช่นเดียวกัน ของโจทก์ว่า เมดอิน อิงแลนด์ ของจำเลยเป็น โปรเกรส 10 เหมือนกับทั้งสองข้าง ใต้รูปไข่ด้านหน้า มีอักษรตัวโตขนาดเดียวกันเด่นชัดว่า ซิกาแรต เพียงแต่สลับที่กัน ของโจทก์อยู่ชิดขอบซองแถวล่าง ของจำเลยอยู่ถัดแถวล่างสูงขึ้นไปบรรทัดหนึ่งผิดกันแต่คำว่า เวอรยินเนีย กับ ซิวอิงกัม เท่านั้น จริงอยู่แม้รูปจะผิดเพี้ยนกันบ้างเล็กน้อยแต่การวินิจฉัยเครื่องหมายการค้าจะต้องให้เหมือนกันทุกสิ่งอย่างหามิได้ เพียงแต่ให้เห็นว่าเครื่องหมายนั้นชวนให้เห็นว่าเป็นลักษณะทำนองเดียวกันหรือเกือบเหมือนสินค้าของโจทก์ก็พอแล้ว ทั้งจำเลยก็รับว่าได้เคยเห็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาก่อนแล้ว จึงเป็นการแสดงเจตนาว่าจำเลยแสวงหาประโยชน์โดยอาศัยแอบอิงเอารูปเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาใช้กับสินค้าของจำเลยโดยไม่สุจริต ฉะนั้น เมื่อปรากฏว่าจำเลยนำเอาหีบห่อในลักษณะ ขนาด และสีเช่นเดียวกับของโจทก์ไปใช้กำกับสินค้าหมากฝรั่งของจำเลย ย่อมเป็นการลวงขายว่าเป็นสินค้าของโจทก์แล้ว เป็นการกระทำที่ไม่มีสิทธิจะทำได้ ซึ่งเข้าลักษณะเป็นการผิดกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19305/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลิขสิทธิ์ต้องเกิดจากความวิริยะอุตสาหะ ไม่ใช่การลอกเลียนแบบงานเดิม แม้มีการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ก็ไม่ใช่การรับรองสิทธิ
การจะเป็นผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์นั้นความสำคัญมิได้อยู่ที่ว่างานที่อ้างว่าได้สร้างสรรค์นั้นเป็นงานใหม่หรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าบุคคลนั้นได้ทำหรือก่อให้เกิดงานโดยได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์ และงานดังกล่าวมีที่มาหรือต้นกำเนิดจากบุคคลผู้นั้น มิได้คัดลอกหรือทำซ้ำหรือดัดแปลงมาจากงานอันมีลิขสิทธิ์อื่น
เมื่อพิจารณาตุ๊กตารูปช้างของโจทก์ร่วมเปรียบเทียบกับภาพธงราชนาวีไทยและธงชาติไทยในอดีตที่มีรูปช้างทรงเครื่องอยู่กลางธง ซึ่งมีมาช้านานแล้ว มีการตกแต่งเครื่องทรงตัวช้างที่คล้ายคลึงกัน แสดงว่างานที่โจทก์ร่วมอ้างว่าโจทก์ร่วมมีลิขสิทธิ์ตามฟ้องนั้นเป็นการปรับปรุงเล็กน้อยโดยลอกเลียนแบบมาจากรูปช้างทรงเครื่องที่มีมาตั้งแต่ครั้งโบราณเช่นที่ปรากฏอยู่ในธงราชนาวีไทยและธงชาติไทยในอดีต งานของโจทก์ร่วมจึงถือไม่ได้ว่าเป็นงานที่โจทก์ร่วมได้ทำขึ้นโดยใช้ความวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์งานของโจทก์ร่วมเอง โจทก์ร่วมจึงมิใช่ผู้สร้างสรรค์ตามความหมายแห่งมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537
การรับแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญามิใช่เป็นการจดทะเบียนรับรองสิทธิหรือยืนยันลิขสิทธิ์ของผู้แจ้ง แต่เป็นเพียงหลักฐานเบื้องต้นของผู้แจ้งว่าเป็นเจ้าของของลิขสิทธิ์เท่านั้น หากมีการโต้แย้งว่าผู้ใดเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือไม่ต้องมีการพิสูจน์
โจทก์ฟ้องจำเลยว่าละเมิดลิขสิทธิ์โดยมิได้กล่าวถึงเรื่องสิทธิบัตรมาด้วย ตามทางพิจารณาก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว ข้อที่โจทก์ร่วมอ้างมาในอุทธรณ์จึงไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
of 3