คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ละเมิดลิขสิทธิ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 149 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2555/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์ความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้าต้องมีหลักฐานชัดเจนถึงกรรมสิทธิ์ในของกลาง การขาดหลักฐานฟังได้ว่าจำเลยมีความผิดทำให้ไม่อาจสั่งให้ของกลางตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์
แผ่นซีดีเพลง แผ่นเอ็มพี 3 และแผ่นวิดีโอซีดีของกลาง แม้จะทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วม แต่การจะสั่งให้ตกเป็นของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 75 ได้ ของกลางต้องยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้กระทำความผิดมาตรา 70 ด้วย เมื่อคดีไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า จึงไม่อาจสั่งให้ของกลางตกเป็นของโจทก์ร่วมได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8452/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดลิขสิทธิ์งานวรรณกรรมในภาพยนตร์: การทำซ้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต และความรับผิดของผู้ประกอบการ
โจทก์เป็นผู้ประพันธ์และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในนวนิยายเรื่องดาวพระศุกร์ ทำสัญญาอนุญาตให้จำเลยร่วมที่ 2 นำนวนิยายเรื่องดังกล่าวไปสร้างเป็นภาพยนตร์ได้ 1 ครั้ง เพื่อจัดฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศภายใน 7 ปี ดังนี้ แม้จำเลยร่วมที่ 2 จะมีลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์ที่ได้ดัดแปลงขึ้นตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 9 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะที่ทำสัญญาก็ตาม แต่สิทธิในลิขสิทธิ์สำหรับงานภาพยนตร์ดังกล่าวของจำเลยร่วมที่ 2 มีจำกัดอยู่เพียงสิทธิในการโฆษณาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งภาพยนตร์นั้นด้วยการฉายตามโรงภาพยนตร์ภายใน 7 ปีตามสัญญาเท่านั้น จำเลยร่วมที่ 2 ไม่มีสิทธิในการทำซ้ำหรือดัดแปลง นำออกโฆษณา หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนด้วยวิธีอื่น ดังนี้ การที่จำเลยร่วมที่ 2 นำภาพยนตร์เรื่องดาวพระศุกร์ที่ตนสร้างขึ้นไปบันทึกเป็นวีดีโอเทปในรูปของงานโสตทัศนวัสดุหรือภาพยนตร์แล้วนำวิดีโอเทปนั้นออกจำหน่ายและให้เช่า จึงเป็นการทำซ้ำงานวรรณกรรมนวนิยายเรื่องดาวพระศุกร์อันเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ซึ่งมีอยู่ในภาพยนตร์นั้นโดยไม่มีสิทธิที่จะทำได้ตามสัญญา และโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 24 (1) หรือ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 27 (1) ส่วนวิดีโอเทปที่จำเลยร่วมที่ 2 ทำซ้ำขึ้นแล้วนำออกจำหน่ายและให้เช่านั้นเป็นสิ่งที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ เมื่อจำเลยร่วมที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าวิดีโอเทปนั้นตนได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ยังนำออกจำหน่ายให้เช่าเพื่อหากำไร การกระทำในส่วนนี้ของจำเลยร่วมที่ 2 ยังเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 27 (1) หรือ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31 (1) อีกด้วย
จำเลยร่วมที่ 1 เป็นบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการซื้อขายลิขสิทธิ์ทั้งในรูปของภาพยนตร์หรือภาพยนตร์วิดีโอเทปเพื่อนำมาผลิตหรือบันทึกเป็นวิดีโอเทปและนำออกขาย ให้เช่า หรือให้ใช้สิทธิแก่บุคคลทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ การเข้าทำสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์นั้นจึงควรอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจสอบถึงสิทธิของคู่สัญญาเสียก่อนว่ามีสิทธิอนุญาตหรือไม่เพียงใดเพื่อป้องกันปัญหาที่จำเลยร่วมที่ 1 อาจต้องรับผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมนั้นได้ การที่จำเลยร่วมที่ 1 เข้าทำสัญญากับจำเลยร่วมที่ 2 โดยมิได้ทำการตรวจสอบถึงสิทธิดังกล่าวของจำเลยร่วมที่ 2 ก่อน เมื่อจำเลยร่วมที่ 2 ไม่มีสิทธิตามสัญญาที่จะอนุญาตให้จำเลยร่วมที่ 1 นำภาพยนตร์เรื่องดาวพระศุกร์ซึ่งมีงานวรรณกรรม นวนิยายเรื่องดังกล่าวอันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์รวมอยู่ด้วยไปทำซ้ำโดยบันทึกเป็นวิดีโอเทปแล้วนำม้วนวิดีโอเทปนั้นออกจำหน่าย จำเลยร่วมที่ 1 จึงไม่อาจอ้างว่าตนมีสิทธิตามสัญญาที่จะทำซ้ำงานภาพยนตร์นั้นเป็นวิดีโอเทปภาพยนตร์และนำม้วนวิดีโอเทปนั้นออกจำหน่ายได้ เมื่อจำเลยร่วมที่ 1 ทำซ้ำงานภาพยนตร์นั้นซึ่งมีงานวรรณกรรมของโจทก์รวมอยู่ด้วยโดยทำเป็นวิดีโอเทปและนำม้วนวิดีโอเทปที่ทำขึ้นนั้นออกจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมนวนิยายเรื่องดาวพระศุกร์ การกระทำของจำเลยร่วมที่ 1 ดังกล่าวจึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 24 (1) และมาตรา 27 (1) หรือตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 27 (1) และมาตรา 31 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2205/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์และการใช้เครื่องหมายการค้าโดยมิชอบ การฟ้องร้องต้องระบุรายละเอียดการกระทำที่เข้าข่ายความผิดชัดเจน
การกระทำของจำเลยที่โจทก์บรรยายฟ้องอ้างว่าเป็นความผิดคือ การนำเอาเทปบันทึกภาพและเสียงภาพยนตร์ เรื่อง อุลตร้าแมนทิก้า ที่จำเลยจัดทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ไปเผยแพร่ต่อสาธารณชนผ่านทางสถานีโทรทัศน์ เป็นการให้บริการที่ใช้เครื่องหมายบริการที่เลียนเครื่องหมายบริการของโจทก์ซึ่งได้จดทะเบียนไว้แล้วนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ แต่การกระทำที่จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 110 (2) ต้องเป็นการให้บริการที่ใช้เครื่องหมายบริการที่เลียนเครื่องหมายบริการของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรเท่านั้น การให้บริการที่ใช้เครื่องหมายบริการที่เลียนเครื่องหมายบริการของโจทก์ซึ่งได้จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักรไม่อาจเป็นความผิดตามบทกฎหมายมาตรานี้ได้ ทั้งไม่ปรากฏจากฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นการให้บริการใดและเครื่องหมายบริการของโจทก์เป็นอย่างไร ฟ้องที่โจทก์บรรยายดังกล่าวจึงไม่มีมูลที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 110 (2)
การกระทำที่จะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (1) ต้องเป็นการเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้หรือทำให้ปรากฏที่หีบ ห่อ วัตถุที่ใช้หุ้มห่อ แจ้งความ รายการแสดงราคา จดหมายเกี่ยวกับการค้า หรือสิ่งอื่นทำนองเดียวกันเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของผู้อื่นนั้น แต่จากที่โจทก์บรรยายฟ้องไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยนำเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความใดในการประกอบการค้าของโจทก์ในภาพยนตร์ชุดอุลตร้าแมนมาทำให้ปรากฏที่สินค้าใดโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของโจทก์ ทั้งการที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยนำเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ และข้อความที่ใช้ในการประกอบการค้าของโจทก์ในภาพยนตร์ชุดอุลตร้าแมนมาทำให้ปรากฏอยู่ในเทปบันทึกภาพและเสียงภาพยนตร์เรื่อง อุลตร้าแมนทิก้า ที่จำเลยจัดทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์และนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณชนผ่านทางสถานีโทรทัศน์นั้น ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการบรรยายฟ้องว่าจำเลยได้เอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความมาใช้หรือทำให้ปรากฏที่สินค้า หีบ ห่อ วัตถุที่ใช้ห่อหุ้ม แจ้งความ รายการแสดงราคา จดหมายเกี่ยวกับการค้า หรือสิ่งอื่นทำนองเดียวกันแต่อย่างใด แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยนำเทปบันทึกภาพและเสียงภาพยนตร์เรื่องอุลตร้าแมนทิก้าออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนผ่านทางสถานีโทรทัศน์ซึ่งเป็นการให้บริการโดยใช้เครื่องหมายบริการที่เลียนเครื่องหมายบริการของโจทก์ซึ่งได้จดทะเบียนไว้แล้ว นอกราชอาณาจักร โดยเป็นการนำเอาแคแรกเตอร์ตัวอุลตร้าแมนในลักษณะต่าง ๆ และสัตว์ประหลาดต่าง ๆ รวมทั้งชื่อ คำ และข้อความว่า อุลตร้าแมน และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ชุดอุลตร้าแมน ซึ่งโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์นำไปใช้ประโยชน์ในทางการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ด้วยก็ตาม แต่ก็เป็นการบรรยายอ้างว่าจำเลยนำเอาแคแรกเตอร์ตัวอุลตร้าแมน สัตว์ประหลาด ชื่อ คำ และข้อความว่า อุลตร้าแมนมาใช้ ถือว่าเป็นการให้บริการโดยใช้เครื่องหมายบริการที่เลียนเครื่องหมายบริการของโจทก์ซึ่งได้จดทะเบียนไว้แล้วนอกราชอาณาจักรโดยประสงค์จะขอให้ ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 110 (2) มิได้บรรยายให้เห็นว่าจำเลยนำเอาแคแรกเตอร์ตัวอุลตร้าแมน สัตว์ประหลาด ชื่อ คำ และข้อความว่า อุลตร้าแมน โดยอ้างว่าเป็นชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความในการประกอบการค้าของโจทก์มาใช้หรือทำให้ปรากฏที่สินค้าใดเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของโจทก์อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (1) แต่อย่างใด ฟ้องที่โจทก์บรรยายดังกล่าวจึงไม่มีมูลที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 272 (1) ได้
การกระทำที่จะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 274 ต้องเป็นการเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนภายในหรือนอกราชอาณาจักรเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นนั้น แต่จากที่โจทก์บรรยายฟ้องไม่ปรากฏในข้อความส่วนใดที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยได้กระทำการเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนแล้วนอกราชอาณาจักร ทั้งไม่ปรากฏเครื่องหมายการค้าที่จำเลยได้กระทำเลียนว่าเป็นเครื่องหมายการค้าใด ฟ้องที่โจทก์บรรยายดังกล่าวจึงไม่มีมูลที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 274

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 564/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้า: การรับฟังคำรับสารภาพ, การพิสูจน์องค์ประกอบความผิด, และการแก้ไขโทษปรับ
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายอันเป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้า และขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 31และ 70 เท่ากับโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามมาตรา 70 วรรคสองอยู่ในตัวแล้ว โจทก์หาจำต้องระบุวรรคของบทมาตราดังกล่าวมาในคำขอท้ายฟ้องด้วยไม่ เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลที่จะต้องพิพากษาปรับบทลงโทษจำเลยตามวรรคในมาตรานั้น ๆ ให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ตามคำฟ้องและคำรับสารภาพของจำเลย
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าโดยนำออกให้เช่าซึ่งม้วนภาพยนตร์วิดีโอเทปที่มีผู้ทำซ้ำโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย และขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 31,70 ซึ่งความผิดดังกล่าวหาได้มีองค์ประกอบความผิดว่า ผู้กระทำผิดจะต้องเป็นผู้ทำซ้ำซึ่งม้วนวิดีโอเทปของกลางด้วยหรือไม่ อีกทั้งโจทก์มิได้มีคำขอให้ลงโทษจำเลยฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยเป็นผู้ทำซ้ำซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นตามมาตรา 27(1),69 ซึ่งเป็นความผิดคนละอย่างกันมาด้วย ดังนั้นโจทก์จึงไม่จำต้องบรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้ทำซ้ำซึ่งม้วนภาพยนตร์วิดีโอเทปของกลางซึ่งเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพว่าได้กระทำผิดดังที่โจทก์ฟ้องศาลก็ลงโทษจำเลยตามฟ้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5410/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางอาญาของกรรมการบริษัทในฐานะตัวการร่วม กรณีละเมิดลิขสิทธิ์ของนิติบุคคล
เจตนารมณ์ของบทบัญญัติมาตรา 74 แห่ง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ต้องการให้ดำเนินคดีเพื่อลงโทษกรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคลที่นิติบุคคลนั้นกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นด้วย โดยให้ถือว่ากรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคลนั้นได้ร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคลดังกล่าวโดยเป็นตัวการด้วยกัน ตาม ป.อ. มาตรา 83 แต่ความเป็นนิติบุคคลของบริษัทจำเลยที่ 1 นั้น เป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากความเป็นบุคคลของจำเลยที่ 2 ที่มีฐานะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 ประกอบกับความรับผิดในทางอาญาเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้กระทำผิด กล่าวคือ บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดเท่านั้น ดังนั้น แม้บทบัญญัติมาตรา 74 แห่ง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 จะบัญญัติให้ถือว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับนิติบุคคลจำเลยที่ 1 ด้วยก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ร่วมมีหนังสือมอบอำนาจให้ ว. ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนโดยหนังสือมอบอำนาจระบุให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 เท่านั้น กรณีจึงไม่มีผลที่จะให้ถือได้ว่าโจทก์ร่วมร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 เพื่อให้รับผิดในฐานที่ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย
แม้ว่าในขณะที่ไปร้องทุกข์ดังกล่าวโจทก์ร่วมยังไม่รู้จักชื่อกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ว่าเป็นจำเลยที่ 2 แต่โจทก์ร่วมก็มีสิทธิที่จะร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่กรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 โดยเพียงแต่ระบุตำแหน่งไว้ได้ เพราะไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดห้ามไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5395/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้รับอนุญาตใช้สิทธิแต่ผู้เดียว แม้ไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์โดยตรง
โจทก์เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิจากเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์เรื่อง TIANDI ซึ่งเป็นการอนุญาตให้โจทก์แต่ผู้เดียวหรือโดยเด็ดขาด ในการฉายภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวในประเทศไทยรวมทั้งการนำไปผลิตเป็นโฮมวิดีโอในประเภทวิดีโอซีดีและดิจิตอลเวอร์แซทไทล์ดิสก์ ออกให้เช่าและขายด้วยตลอดระยะเวลา 60 เดือน อันเป็นลิขสิทธิ์บางส่วนในงานภาพยนตร์ การที่จำเลยทั้งสองนำภาพและเสียงของภาพยนตร์เรื่องTIANDI ไปผลิตเป็นแผ่นวิดีโอซีดีออกจำหน่ายแก่ประชาชนในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ในระหว่างอายุสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิโดยเด็ดขาด จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ที่โจทก์มีสิทธิใช้แต่ผู้เดียวในประเทศไทย โจทก์จึงเป็นผู้เสียหาย มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5041/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับบทมาตราผิดในคดีละเมิดลิขสิทธิ์ และการตกเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของงานต้นฉบับ
จำเลยให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามมาตรา 28 (2) และ 69 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ตามที่โจทก์ฟ้อง แต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 31 และ 70 วรรคสอง โดยวางโทษก่อนลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตาม ป.อ. มาตรา 78 ให้จำคุก 3 เดือน และปรับ 50,000 บาท ซึ่งเป็นระวางโทษขั้นต่ำตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 70 วรรคสอง อันมิใช่ความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ซึ่งมีระวางโทษขั้นต่ำตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 69 วรรคสอง ให้จำคุก 6 เดือน และปรับ 100,000 บาท ดังนี้ จึงเป็นเพียงการปรับบทมาตราผิดเท่านั้น แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง แต่ก็ไม่อาจกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยตามระวางโทษที่บัญญัติไว้ในมาตรา 69 วรรคสองได้ เพราะจะมีผลเป็นการเพิ่มโทษแก่จำเลย
ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 75 ซึ่งบัญญัติให้เฉพาะสิ่งที่ได้ทำขึ้นอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์เท่านั้นตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ ดังนั้น เมื่อแผ่นวีซีดีของกลางเป็นแผ่นวีซีดีอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5041/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับบทมาตราผิดในคดีละเมิดลิขสิทธิ์และการแก้ไขคำพิพากษาให้ถูกต้องตามกฎหมาย
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537มาตรา 28 และ 69 จำเลยให้การรับสารภาพ แต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 31 และ 70 วรรคสองโดยวางโทษก่อนลดโทษให้กึ่งหนึ่งให้จำคุก 3 เดือน และปรับ 50,000 บาท ซึ่งเป็นระวางโทษขั้นต่ำตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 70 วรรคสอง แต่ความผิดตามมาตรา 31และ 70 วรรคสอง เป็นความผิดต่องานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น อันมิใช่การกระทำที่ผู้กระทำละเมิดลิขสิทธิ์ได้กระทำต่องานอันมีลิขสิทธิ์ตามที่โจทก์ฟ้องซึ่งมีระวางโทษขั้นต่ำตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 69 วรรคสอง ให้จำคุก 6 เดือน และปรับ 100,000 บาท การพิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา 31 และ 70 วรรคสองจึงเป็นเพียงการปรับบทมาตราผิดเท่านั้น แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศแก้ไขเสียให้ถูกต้องเป็นพิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา 28(2) และ 69 วรรคสอง แต่ไม่อาจกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยตามระวางโทษในมาตรา 69 วรรคสองได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มโทษแก่จำเลย
แผ่นวีซีดีของกลางเป็นแผ่นวีซีดีอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์จึงไม่อาจพิพากษาให้ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2537 มาตรา 75 ซึ่งบัญญัติให้เฉพาะสิ่งที่ได้ทำขึ้นอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์เท่านั้นตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2695/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีละเมิดลิขสิทธิ์: เริ่มนับจากวันที่ทราบเรื่องและตัวผู้กระทำผิด
โจทก์มอบอำนาจให้ ร. เป็นตัวแทนและผู้รับมอบอำนาจเพื่อโจทก์และในนามโจทก์ในประเทศไทย ในอันที่จะดำเนินการทุกอย่างเพื่อยับยั้งและจำกัดการเลียนแบบ การละเมิดและการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวกับชื่อทางการค้า ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และอื่น ๆ ที่ใช้เกี่ยวกับการค้าของโจทก์ให้ป้องกันการค้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้มีอำนาจร้องทุกข์ ฟ้องร้องดำเนินคดีและต่อสู้ในนามของโจทก์ ร. จึงมีอำนาจร้องทุกข์และฟ้องร้องผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ในประเทศไทยในนามของโจทก์ได้ตามกฎหมาย ร. ได้รู้เรื่องการกระทำความผิด และรู้ตัวผู้กระทำความผิดคดีนี้แล้ว ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2541 ส่วนการตรวจสอบคอมพิวเตอร์และโปรแกรมที่ซื้อมาโดย ส. ก็เพื่อให้ได้หลักฐานชัดเจนยิ่งขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ในการฟ้องคดี ไม่ใช่เพื่อให้รู้ถึงการกระทำความผิด ดังนั้น ร. ต้องดำเนินการร้องทุกข์หรือฟ้องร้องภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2541 ซึ่งเป็นวันที่ ร. รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเป็นครั้งแรก เมื่อโจทก์นำคดีนี้ ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้มาฟ้องเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2542 คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1908/2546 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์หนังสือ การฟ้องร้อง และข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์
โจทก์รับราชการอยู่ที่ฝ่ายวิจัยและประเมินผล สถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน สำนักงาน ก.พ. มีหน้าที่โดยตรงในการประเมินผลการฝึกอบรม ไม่มีหน้าที่จัดทำเอกสารหรือเขียนตำราทางวิชาการเพื่อใช้ในการฝึกอบรม และสำนักงาน ก.พ. ก็มิได้มีคำสั่งให้โจทก์เขียนหนังสือ "คู่มือการประเมินผลการฝึกอบรมสำหรับผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม/สัมมนา" และหนังสือ "คู่มือการประเมินและติดตามผลสำหรับผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม/สัมมนา" หรือมีการจ่ายค่าตอบแทนให้ โจทก์เขียนหนังสือทั้งสองเล่มดังกล่าวนอกเวลาราชการ การที่โจทก์เขียนหนังสือดังกล่าวขึ้น จึงไม่ถือว่าเป็นงานที่โจทก์ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ในกรอบงานของโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ขึ้นเอง และในการเขียนหนังสือคู่มือทั้งสองเล่มของโจทก์ โจทก์ได้กำหนดเค้าโครงการเขียนและได้คิดกำหนดสารบัญรวมทั้งได้เขียนอธิบายเนื้อหาสาระและรายละเอียดต่าง ๆ แต่ละประเด็นโดยใช้ถ้อยคำและคำอธิบายของโจทก์ใหม่ทั้งหมดตามความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ของโจทก์โดยตรง จึงเป็นงานนิพนธ์ที่โจทก์ทำขึ้นโดยไม่ได้ลอกเลียนงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น โจทก์จึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมหนังสือทั้งสองเล่ม หาใช่สำนักงาน ก.พ. ไม่
แนวความคิด ทฤษฎี และตัวข้อมูลความรู้ไม่ใช่สิ่งที่กฎหมายลิขสิทธิ์คุ้มครองตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 6 วรรคสอง หากจำเลยที่ 1 นำแนวความคิด ทฤษฎี และตัวข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการประเมินและติดตามผลการฝึกอบรมของบุคคลอื่นรวมทั้งของโจทก์ไปสร้างสรรค์งานวรรณกรรมของตน จำเลยที่ 1 จะต้องสร้างสรรค์งานนั้นขึ้นมาโดยมีเนื้อหารายละเอียดและลักษณะการแสดงออกซึ่งความคิดของจำเลยที่ 1 เอง ไม่ใช่เพียงแต่คัดลอกหรือเลียนแบบงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นในส่วนอันเป็นสาระสำคัญซึ่งถือว่าเป็นการทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ซึ่งเป็นสิทธิแต่ผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 15 (1) หากจำเลยที่ 1 กระทำไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ การกระทำของจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 27 (1) แห่ง พ.ร.บ. ฉบับเดียวกัน
หนังสือ "กลยุทธ์ในการฝึกอบรม" ของจำเลยที่ 1 ในหัวข้อความหมายของการประเมินผล ขั้นตอนในการประเมินผลการฝึกอบรม รูปแบบของรายงาน แนวทางเบื้องต้นในการวิเคราะห์โครงการฝึกอบรม การกำหนดขอบเขตและวัตถุประสงค์ของการประเมินผล และการวางแผนประเมินผล มีข้อความที่เหมือนและคล้ายกับข้อความที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ "คู่มือการประเมินผลการฝึกอบรมสำหรับผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม/สัมมนา" และ "คู่มือการประเมินและติดตามผลการฝึกอบรมสำหรับผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม/สัมมนา" ของโจทก์ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญของงานประมาณ 30 หน้า จากจำนวนประมาณ 150 หน้า ข้อความบางตอนมีลักษณะเกือบเหมือนกันคำต่อคำ บางตอนมีลักษณะดัดแปลงให้ต่างกันเล็กน้อย และบางตอนก็เพียงแต่ปรับเปลี่ยนหัวข้อเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งยากที่จะเกิดขึ้นได้โดยบังเอิญ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการทำซ้ำและดัดแปลงงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์
แม้ในการเผยแพร่ตำราและสิ่งตีพิมพ์ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยจำเลยที่ 2 ไม่ได้มุ่งแสวงหาผลกำไรแบบธุรกิจเอกชน เพราะตั้งราคาจำหน่ายหนังสือใกล้เคียงกับต้นทุน แต่จำเลยที่ 1 ก็ได้รับค่าตอบแทนจากงานเขียน แสดงให้เห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำเพื่อหากำไรแล้ว แม้จะไม่ได้กำไรเท่าธุรกิจเอกชนก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำซ้ำและดัดแปลงงานวรรณกรรมอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ การจำหน่ายหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งหนังสือ "กลยุทธ์ในการฝึกอบรม" ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำเพื่อหากำไรโดยรู้อยู่แล้วว่างานนั้นได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้จำหน่ายหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งหนังสือดังกล่าวอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์
มหาวิทยาลัยจำเลยที่ 2 เป็นหน่วยงานราชการ จัดพิมพ์ตำราต่าง ๆ ตามระเบียบว่าด้วยสำนักพิมพ์ของมหาวิทยาลัยจำเลยที่ 2 โดยมีคณะกรรมการบริหารของสำนักพิมพ์พิจารณาในขั้นต้น และมีบรรณาธิการตรวจคุณภาพ ในการจัดพิมพ์หนังสือ "กลยุทธ์ในการฝึกอบรม" ของจำเลยที่ 1 ก็ได้ดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าว จึงย่อมจะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ไม่อาจทราบในเบื้องต้นได้ว่าหนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือที่เขียนขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ ส่วนการจำหน่ายและเผยแพร่ต่อสาธารณชนในระยะต่อมานั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่าหนังสือดังกล่าวจำเลยที่ 1 เขียนขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ แล้วจำหน่ายหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งหนังสือดังกล่าวเพื่อการค้า การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31 (1) และ (2)
ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 นั้น ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ คือ (1) เป็นการกระทำต่าง ๆ ตามที่มาตรา 32 วรรคสอง ถึงมาตรา 33 บัญญัติไว้ (2) การกระทำนั้นต้องไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ และ (3) การกระทำนั้นต้องไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร แม้จำเลยที่ 1 จะเขียนหนังสือ "กลยุทธ์ในการฝึกอบรม" เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการสอนและเป็นผลงานทางวิชาการที่จำเลยที่ 1 ใช้ประกอบการพิจารณาขอรับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ อันอาจถือได้ว่าเป็นการวิจัยงานหรือทำซ้ำและดัดแปลงโดยผู้สอนเพื่อแจกจ่ายแก่ผู้เรียนในชั้นเรียนหรือในสถาบันการศึกษาโดยไม่ได้หากำไร ซึ่งเข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 32 วรรคสอง (1) และ (7) แห่ง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ก็ตาม แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำถึงขั้นจัดพิมพ์เพื่อจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไปเพื่อหากำไร การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าว
การคัด ลอก เลียน หรืออ้างอิงงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นอันอาจเข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 จะต้องปรากฏว่าเป็นการกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์บางตอนตามสมควร และมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น แม้จะปรากฏว่าจำเลยที่ 1 จะคัด ลอก หรือเลียนงานวรรณกรรมของโจทก์จำนวนประมาณ 30 หน้า จากจำนวนทั้งหมดประมาณ 150 หน้า อันอาจถือได้ว่าเป็นงานบางตอนก็ตาม แต่ปรากฏว่าการนำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์มาบางตอนดังกล่าวล้วนเป็นส่วนของเนื้อหาสาระที่สำคัญ และมีปริมาณงานเป็นจำนวนมาก จึงถือได้ว่าเป็นการคัด ลอก หรือเลียนงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเกินสมควร
หนังสือ "กลยุทธ์ในการฝึกอบรม" ของจำเลยที่ 1 เป็นหนังสือคำอธิบายเกี่ยวกับการฝึกอบรม จัดอยู่ในหนังสือประเภทขนาด 8 หน้ายก ซึ่งจำเลยที่ 1 สามารถที่จะแสดงการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของโจทก์ได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการทำเชิงอรรถหรือกล่าวถึงเจ้าของลิขสิทธิ์ เมื่อจำเลยที่ 1 นำข้อความของงานนั้นมาเขียนไว้ในหนังสือของจำเลยที่ 1 ดังที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำแล้วในส่วนอื่น ๆ ของหนังสือดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 เพียงแต่อ้างอิงถึงชื่อโจทก์และบุคคลอื่นพร้อมงานเขียนรวม 26 รายการ ไว้ในหัวข้อเอกสารอ้างอิงที่ท้ายเล่มในกรณีเช่นนี้ ผู้อ่านย่อมไม่สามารถที่จะทราบได้ว่าข้อความส่วนใดของงานดังกล่าวเป็นงานเขียนของโจทก์ซึ่งจำเลยที่ 1 คัดลอกมา จึงยังไม่เป็นการเพียงพอที่จะถือได้ว่าเป็นการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของโจทก์ อันจะถือได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เข้าหลักเกณฑ์ประการแรกของข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
เมื่อจำเลยที่ 1 จัดทำหนังสือซึ่งมีลักษณะทำนองเดียวกับงานที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นออกจำหน่าย จึงเป็นการแบ่งตลาดของผู้บริโภคซึ่งจะซื้อหนังสือประเภทดังกล่าวออกไปส่วนหนึ่ง อันเป็นการขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของโจทก์และกระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของโจทก์เกินสมควร การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์สองประการหลังของข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 32 วรรคหนึ่ง
of 15