คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ศาลอาญา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 25 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6466/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาล, การพิพากษาเกินฟ้อง, และการรับฟังพยานหลักฐานในคดีทุจริตเงินของทางราชการ
แม้โจทก์ฟ้องจำเลยและ ว. ซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารว่าร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหารต่อศาลยุติธรรม แต่ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้าคู่ความที่ถูกฟ้องเห็นว่าคดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่รับฟ้องก่อนวันสืบพยาน แต่จำเลยไม่ได้ยื่นคำร้อง เป็นกรณีที่ไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว แสดงว่าจำเลยยอมรับอำนาจของศาลยุติธรรมที่จะพิจารณาพิพากษาคดีนี้ และเมื่อศาลยุติธรรมพิจารณาพิพากษาคดีนี้แล้ว จำเลยย่อมไม่อาจยกปัญหาดังกล่าวขึ้นฎีกาได้
การนำข้อเท็จจริงที่ไม่ได้กล่าวในฟ้องมาพิพากษาลงโทษจำเลย แม้เป็นการลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 157 เช่นเดียวกัน ก็ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 225 ประกอบมาตรา 195 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5412/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์คณะผู้พิพากษาในการพิจารณาคดีอาญา: การสอบจำเลย การสืบพยาน และการอ่านคำพิพากษา
การสอบจำเลยเรื่องทนายความก่อนเริ่มพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคสอง เป็นการที่ศาลออกนั่งเกี่ยวกับการพิจารณาคดีจึงเป็นการนั่งพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (9) ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 ซึ่งจะต้องอยู่ในบังคับของพระธรรมนูญศาลยุติธรรมว่าด้วยองค์คณะผู้พิพากษา แต่เมื่อการดำเนินการดังกล่าวมิใช่การชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี จึงเป็นอำนาจของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นคนเดียวตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 (2) การที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นคนเดียวได้สอบจำเลยเรื่องทนายความและลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาจึงชอบแล้ว ส่วนการสืบพยานประเด็นโจทก์ที่ศาลอาญามีผู้พิพากษาสองคนนั่งพิจารณาครบองค์คณะแล้ว แม้มีผู้พิพากษาอีกคนมาร่วมลงลายมือชื่อโดยที่ไม่ได้นั่งพิจารณาก็เป็นเพียงการดำเนินกระบวนพิจารณาเกินไปกว่าที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น หามีผลให้การนั่งพิจารณาที่ถูกต้องกลับกลายเป็นไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ ส่วนการสืบพยานในศาลชั้นต้นทุกครั้งก็ปรากฏตามบันทึกคำเบิกความและรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นว่าในแต่ละครั้งมีลายมือชื่อผู้พิพากษาสองคนลงลายมือชื่อไว้จึงต้องฟังตามรายงานกระบวนพิจารณาว่าในวันเวลาดังกล่าวมีผู้พิพากษาสองคนของศาลชั้นต้นนั่งพิจารณาคดีอันเป็นการนั่งพิจารณาครบองค์คณะตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 หาได้เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 236 ที่ใช้บังคับในขณะนั้น ส่วนการอ่านคำพิพากษาเป็นการดำเนินการหลังคดีเสร็จการพิจารณา ทั้งผู้พิพากษาได้ลงชื่อในคำพิพากษาครบองค์คณะตามกฎหมายแล้ว การอ่านคำพิพากษาย่อมกระทำได้โดยผู้พิพากษาคนเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9535/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขโทษทางอาญาหลังศาลตัดสินแล้ว: จำเลยต้องใช้สิทธิอุทธรณ์เท่านั้น การยื่นคำร้องใหม่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 แล้ว หากจำเลยที่ 1 เห็นว่าศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษแก่จำเลยที่ 1 ไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 1 ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 8 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 แต่จำเลยที่ 1 มิได้ใช้สิทธิดังกล่าว กลับมายื่นคำร้องขอให้ศาลกำหนดโทษจำเลยที่ 1 ใหม่ โดยเลี่ยงอ้างว่าเป็นการบังคับคดีให้ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนี้ หากศาลฟังตามที่จำเลยที่ 1 อ้างแล้ววินิจฉัยกำหนดโทษจำเลยที่ 1 ใหม่ ย่อมมีผลเป็นการแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 190 ซึ่งห้ามมิให้แก้ไขคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งอ่านแล้วนอกจากถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4292/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา: การคืนค่าขึ้นศาลเมื่อศาลยกฟ้องคดีอาญา
พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 19 วรรคสอง บัญญัติว่า "ศาลอาญา... มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทั้งปวงที่มิได้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมอื่น รวมทั้งคดีอื่นใดที่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญา แล้วแต่กรณี" และ ป.วิ.อ. มาตรา 40 บัญญัติว่า "การฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจะฟ้องต่อศาลซึ่งพิจารณาคดีอาญาหรือต่อศาลที่มีอำนาจชำระคดีแพ่งก็ได้..." เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาต่อศาลอาญาซึ่งเป็นศาลชั้นต้นในคดีนี้ ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจรับไว้ไต่สวนมูลฟ้องในคดีส่วนอาญา แต่เมื่อศาลชั้นต้นซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเฉพาะคดีอาญาไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีไม่มีมูลและพิพากษายกฟ้องคดีส่วนอาญาแล้ว ศาลชั้นต้นย่อมไม่มีอำนาจรับคดีส่วนแพ่งโดยลำพังไว้พิจารณา จึงต้องมีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีส่วนแพ่งและคืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดให้แก่โจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1184/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เขตอำนาจศาล: ศาลอาญา รับฟ้องคดีทุจริต หลังศาลอาญาคดีทุจริตเปิดทำการแล้ว เป็นการไม่ชอบ
โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้น (ศาลอาญา) เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560 ภายหลังเมื่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางเปิดทำการแล้ว ซึ่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 10 ได้บัญญัติว่า "เมื่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเปิดทำการแล้ว ห้ามมิให้ศาลชั้นต้นอื่นรับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบไว้พิจารณาพิพากษา" จากบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วว่า เมื่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเปิดทำการแล้ว ศาลชั้นต้นอื่นจะรับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบไว้พิจารณาและพิพากษามิได้ การที่ศาลชั้นต้น (ศาลอาญา) รับคดีไว้พิจารณาพิพากษาจึงเป็นการไม่ชอบตามบทกฎหมายดังกล่าว และกรณีไม่ต้องด้วย มาตรา 16 วรรคสาม แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรมอันศาลชั้นต้น (ศาลอาญา) จะใช้ดุลพินิจรับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาพิพากษาได้ และศาลชั้นต้น (ศาลอาญา) ซึ่งเป็นศาลที่ไม่มีเขตอำนาจคดีนี้ ไม่อาจโอนคดีไปยังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับในเรื่องของการโอนคดีไว้ ทั้งการที่ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 11 ว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ไม่อาจนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10, 11, 13 มาปรับใช้แก่คดีได้ เนื่องจากตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้บัญญัติไว้ว่า ในพระราชบัญญัตินี้ "ศาล" หมายความว่า ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหารหรือศาลอื่น เมื่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกับศาลชั้นต้น (ศาลอาญา) ต่างเป็นศาลยุติธรรม กรณีจึงมิใช่เรื่องระหว่างศาลตามพระราชบัญญัติดังกล่าว อันจะนำมาปรับใช้กับคดีนี้
of 3