คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
หน้าที่

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 709 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1932/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่ชอบธรรม: การกู้ยืมเงินส่วนตัวโดยไม่ส่งผลต่อหน้าที่และความเสียหายของบริษัท
ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัทโจทก์ที่กำหนดว่า การเรียกเงิน ยอมรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากผู้อื่นเพื่อตนเองหรือผู้อื่น ซึ่งทำให้เสียความเที่ยงธรรมในการปฏิบัติหน้าที่หรือทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย เป็นความผิดกรณีร้ายแรงนั้น หมายถึงการที่ลูกจ้างของโจทก์ได้เรียกเงิน ยอมรับเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้อื่น โดยมีความมุ่งหมายที่จะไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรม หรือลักษณะของการกระทำดังกล่าวทำให้เสียความเที่ยงธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ อันเป็นผลที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ การที่ ก. ลูกจ้างโจทก์ตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการกู้ยืมเงิน ท. ลูกจ้างโจทก์ ตำแหน่งพนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งเป็นผู้ที่สนิทสนมกับ ก. โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผลจากการกู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นเหตุให้เสียความเที่ยงธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ของ ก. หรือทำให้โจทก์เสียหายแต่อย่างใด การกระทำของ ก. ดังกล่าวไม่เป็นความผิดที่ร้ายแรง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1160/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของนายจ้างต่อการละเมิดของลูกจ้างขณะปฏิบัติงาน แม้ลูกจ้างไม่มีหน้าที่ขับรถ
ส. สั่งซื้อวัสดุก่อสร้างจากจำเลยที่ 3 และที่ 4 จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้จำเลยที่ 1และคนงานไปส่งวัสดุก่อสร้างโดยใช้รถยนต์บรรทุกสิ่งของไปส่ง มี ร. เป็นคนขับ ในระหว่างที่มีการขนถ่ายสิ่งของจำเลยที่ 1 ได้ติดเครื่องยนต์ทำให้รถยนต์แล่นไปชนโจทก์แม้จำเลยที่ 1 จะมีหน้าที่ขนวัสดุก่อสร้างไม่มีหน้าที่ขับรถ และรถยนต์คันเกิดเหตุมี ร. เป็นคนขับประจำ แต่จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 และที่ 4 การที่จำเลยที่ 1 ขึ้นไปติดเครื่องยนต์ในระหว่างทำการงานให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 โดย ร. ไม่ได้ควบคุมดูแล ทำให้รถแล่นไปชนโจทก์ ต้องถือว่าการละเมิดเกิดขึ้นขณะจำเลยที่ 1 ปฏิบัติงานในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 และที่ 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7101/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่มรณะก่อนมีคำพิพากษา และการที่สิทธิ/หน้าที่เป็นเรื่องเฉพาะตัว
จำเลยที่ 3 ถึงแก่มรณะก่อนที่ศาลฎีกาจะมีคำพิพากษา คดีนี้โจทก์ฟ้องบังคับจำเลยที่ 3 ในฐานะกรรมการศึกษาของโรงเรียน บ. มิให้รบกวนการครอบครองที่ดินของโจทก์และคัดค้านการออกเอกสารสิทธิในที่ดินของโจทก์ จึงเป็นการเฉพาะตัวของจำเลยที่ 3 โดยแท้ ไม่อาจให้บุคคลอื่นเข้าเป็นคู่ความแทนได้ ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7073/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบรรยายฟ้องความผิดฐานเบียดบังทรัพย์สิน: เพียงระบุหน้าที่, การกระทำ, และผลของการกระทำ ก็เพียงพอต่อการเข้าใจข้อหา
ฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงวันเวลาเกิดเหตุ หน้าที่และการกระทำของจำเลยว่า ตามวันเวลาที่เกิดเหตุจำเลยซึ่งเป็นกรรมการของบริษัท พ.ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดการทรัพย์สินของบริษัทดังกล่าวแต่ผู้เดียว ได้จำหน่ายสินค้าของบริษัทโดยระบุประเภท น้ำหนักของสินค้า และจำนวนเงินที่จำหน่ายสินค้าได้แต่ละวัน แล้วเบียดบังเงินที่จำหน่าย สินค้าได้นั้นเป็นของตนหรือผู้อื่นโดยทุจริตแล้ว ยังได้บรรยายถึงสถานที่เกิดเหตุด้วย คำบรรยายฟ้องเช่นนี้จำเลยสามารถเข้าใจข้อหาได้โดยถูกต้องแล้วว่าโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิดอย่างไร แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องระบุว่าจำเลยเบียดบังเอาเงินของบริษัทไปอย่างไรด้วยวิธีการใดมาด้วย ก็เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา คำฟ้องของโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6747/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และหน้าที่นำค่าธรรมเนียมมาวางศาลเพื่ออุทธรณ์ให้ชอบ
จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การและฟ้องแย้ง ศาลชั้นต้นสั่งรับคำให้การและเห็นว่าฟ้องแย้งเป็นคดีมีทุนทรัพย์จึงให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าขึ้นศาลเพิ่มภายใน 3 วัน หากไม่เสียให้ถือว่าทิ้งฟ้องแย้ง จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ศาลชั้นต้นสั่งว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เป็นการอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณา ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 จึงไม่รับอุทธรณ์ ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็มิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ดังกล่าวภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จึงเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิจะยกขึ้นเป็นข้ออุทธรณ์ภายหลังเมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาได้อีก การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 มานั้นจึงไม่ชอบและถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอเลื่อนคดีและงดสืบพยานจำเลยเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 แม้จำเลยจะได้โต้แย้งไว้เพื่อการใช้สิทธิอุทธรณ์แล้วก็ตาม แต่การที่จำเลยอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นโดยขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้วอนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีและให้นัดสืบพยานจำเลยต่อไปนั้น ย่อมอาจมีผลทำให้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ถูกยกไปด้วย กรณีจึงอยู่ภายใต้บังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 ที่ผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์นั้นด้วย อันเป็นบทบัญญัติที่บังคับให้เป็นหน้าที่ของผู้อุทธรณ์ที่ต้องปฏิบัติ เมื่อจำเลยอุทธรณ์โดยเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เพียง 200 บาท และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ให้จำเลย จึงเป็นการไม่ชอบและถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6671/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละทิ้งร้างและการอุปการะเลี้ยงดูบุตร: สิทธิและหน้าที่ของบิดามารดา
หลังจากโจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยแล้ว โจทก์กับจำเลยไปอยู่กินกันที่บ้านมารดาโจทก์ ต่อมามารดาและพี่สาวโจทก์มีเรื่องทะเลาะกับจำเลย จำเลยกับบุตรจึงต้องออกไปอาศัยอยู่ที่อื่นซึ่งโจทก์ก็ตามไปอยู่ด้วย กรณีจึงมิใช่เรื่องที่จำเลยละทิ้งร้างโจทก์ส่วนการที่โจทก์ไปอยู่กับจำเลยได้ประมาณ 3 เดือน แล้วกลับออกมาอยู่กับมารดาโจทก์โดยอ้างว่ามีเรื่องทะเลาะกับจำเลยและจำเลยไม่ยอมให้โจทก์เข้าบ้านนั้นก็เป็นเรื่องระหองระแหงกันระหว่างสามีภริยาซึ่งย่อมเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดาแต่โจทก์กลับละทิ้งจำเลยและบุตรกลับมาอยู่บ้านมารดาโจทก์โดยไม่สนใจนำพาจำเลยแม้ต่อมาจำเลยจะย้ายบ้านมาอยู่ข้างบ้านมารดาโจทก์ห่างออกไปเพียง 5 ถึง 6 ห้องเพื่อต้องการให้โจทก์มาอยู่กินด้วย แต่โจทก์ก็ไม่มา เมื่อจำเลยต้องย้ายที่อยู่ใหม่ห่างประมาณ 3 ป้ายรถประจำทาง แต่โจทก์ก็ไม่เคยมาหาหรือชักชวนจำเลยกับบุตรให้กลับไปอยู่ด้วยกัน อันเป็นการผิดปกติวิสัยของสามีที่จะพึงมีต่อภริยาแสดงให้เห็นว่าโจทก์สิ้นความรักความผูกพันต่อจำเลยแล้ว พฤติการณ์ของโจทก์จึงเป็นฝ่ายละทิ้งร้างจำเลย มิใช่จำเลยละทิ้งร้างโจทก์
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง เป็นหน้าที่ของบิดามารดาต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ หากไม่อุปการะเลี้ยงดู และให้การศึกษา บุตรผู้เยาว์ย่อมฟ้องเรียกเอาค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ ตามมาตรา 1598/38 และสิทธิที่จะได้ค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้นก็จะสละมิได้ตามมาตรา 1598/41 ฉะนั้น การที่จำเลยซึ่งเป็นมารดาผู้เยาว์ไม่ยอมรับค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากโจทก์ผู้เป็นบิดาที่เสนอให้ ย่อมไม่ทำให้สิทธิที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์เสียไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 480/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทการขนส่งทางทะเล: หน้าที่การออก/ส่งมอบใบตราส่ง และอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหาย
โจทก์ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งสินค้าจากท่าเรือกรุงเทพไปส่งให้แก่ผู้ซื้อสินค้าที่ท่าเรือเมืองนิวเจอร์ซี่ ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงเป็นการว่าจ้างให้ขนส่งสินค้าทางทะเลจากที่แห่งหนึ่งแห่งใดในราชอาณาจักรไปยังที่อีก แห่งหนึ่งนอกราชอาณาจักร ซึ่งต้องนำ พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดกรณีพิพาทคดีนี้มาใช้บังคับตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว ทั้ง พ.ร.บ. ดังกล่าวได้บัญญัติถึงหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ส่งของและผู้ขนส่งไว้ โดยเฉพาะ มาตรา 12 ได้บัญญัติไว้ว่า เมื่อผู้ขนส่งได้รับของไว้ในความดูแลแล้ว ถ้าผู้ส่งของเรียกเอาใบตราส่งผู้ขนส่งต้องออกให้ ข้อพิพาทที่ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ยอมส่งมอบใบตราส่งหรือโจทก์ไม่ยอมมารับใบตราส่งจากจำเลยที่ 1 จึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับหน้าที่ระหว่างผู้ขนส่งกับผู้ส่งของว่าผู้ใดเป็นฝ่ายไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนตามที่ พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 บัญญัติไว้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งสินค้าของโจทก์ทางเรือจากท่าเรือกรุงเทพไปยังท่าเรือเมืองนิวเจอร์ซี่ ประเทศสหรัฐอเมริกา โจทก์ได้ส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมมอบใบตราส่งให้แก่โจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยไม่สามารถรับสินค้าหรือโอนสินค้าให้แก่ลูกค้าได้ ต้องเสียค่าเก็บของในคลังสินค้า จนต่อมารัฐบาลสหรัฐอเมริกาต้องนำสินค้าของโจทก์ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ค่าเก็บของในคลังสินค้านั้น เห็นได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์ได้บรรยายให้เห็นว่าโจทก์ถูกจำเลยที่ 1 โต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ตามกฎหมายแพ่งและเกิดความเสียหายแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลได้ ส่วนการนำสินค้าของโจทก์ออกขายทอดตลาดแล้วหรือไม่ หรือขายแล้วได้เงินเท่าใด เป็นข้อเท็จจริงอันเป็นรายละเอียดที่จะนำมาพิจารณาต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4340-4341/2545 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขาดนัดยื่นคำให้การ, ประเด็นข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้ว, การรุกล้ำที่ดิน, และการพิจารณาคำฟ้องตามหน้าที่
ศาลชั้นต้นจะไม่มีคำสั่งว่าจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การหากโจทก์ไม่มีคำขอต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่ระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การได้สิ้นสุดลง อย่างไรก็ตาม การที่โจทก์มิได้มีคำขอให้ศาลสั่งว่าจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ มิได้หมายความว่าจำเลยทั้งสองไม่ขาดนัดยื่นคำให้การ เพราะเมื่อจำเลยทั้งสองมิได้ให้การภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ทั้งมิได้แจ้งเหตุขัดข้องต่อศาลภายในกำหนดเช่นว่านั้น ต้องถือว่าจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การโดยผลของกฎหมายดังที่บัญญัติไว้ในป.วิ.พ. มาตรา 197 วรรคแรก (เดิม) แล้วผลของการที่โจทก์มีคำขอดังกล่าวมีผลเพียงว่าโจทก์ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปเท่านั้น หากโจทก์ไม่ยื่นคำขอภายในกำหนดระยะเวลาดังว่านั้น ก็เป็นผลทำให้ศาลชั้นต้นอาจมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นออกเสียจากสารบบความได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 วรรคแรกและวรรคสอง (เดิม) ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับโจทก์โดยเฉพาะ มิได้เกี่ยวข้องกับปัญหาว่าจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การหรือไม่แต่อย่างใด เหตุนี้การขออนุญาตยื่นคำให้การตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 (เดิม) จึงไม่ต้องให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การตามมาตรา 198 วรรคแรก (เดิม) ก่อน ข้อเท็จจริงในการพิจารณาว่าจะอนุญาตให้จำเลยทั้งสองซึ่งขาดนัดยื่นคำให้การยื่นคำให้การได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยทั้งสองจงใจขาดนัดหรือไม่เท่านั้น หากจำเลยทั้งสองมิได้ขาดนัดยื่นคำให้การโดยจงใจหรือมีเหตุอันสมควรประการอื่นศาลชั้นต้นย่อมอนุญาตให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การภายในกำหนดเวลาตามที่ศาลจะเห็นสมควรได้แต่ถ้าการขาดนัดนั้นเป็นไปโดยจงใจหรือไม่มีเหตุสมควร ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 วรรคแรกและวรรคสอง (เดิม)
ส่วนปัญหาที่จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การดังกล่าวจะถือเท่ากับเป็นการขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งขยายระยะเวลายื่นคำให้การแก่จำเลยทั้งสองได้หรือไม่นั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า กรณีนี้เป็นการขออนุญาตยื่นคำให้การเมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นคำให้การแล้ว ซึ่งหากจะถือว่าเป็นการขอขยายระยะเวลา จำเลยทั้งสองจะต้องอ้างทั้งพฤติการณ์พิเศษที่ไม่อาจยื่นคำให้การภายในกำหนดระยะเวลายื่นคำให้การด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 แต่ปรากฏตามคำร้องขอของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองอ้างเหตุที่มิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การเท่านั้น หาได้อ้างพฤติการณ์พิเศษและเหตุสุดวิสัยแต่อย่างใด ไม่ ดังนี้ ที่จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การดังกล่าวจึงไม่อาจถือเท่ากับเป็นการขอให็ศาลชั้นต้นมีคำสั่งขยายระยะเวลายื่นคำให้การแก่จำเลยทั้งสองได้
จำเลยทั้งสองได้รับหมายเรียกให้ให้การและสำเนาคำฟ้องโดยชอบแล้ว โดยอาจอ้างเหตุที่หลงลืมเพราะจำเลยที่ 2 มีธุระส่วนตัวต้องรีบเดินทางไปประกอบพิธีไหว้บรรพบุรุษ ไปดูแลพี่ชายซึ่งป่วยหนัก และติดต่อหาสถานที่ศึกษาให้แก่บุตรจึงไม่อาจยื่นคำให้การทันภายในกำหนดว่ามีเหตุผลอันสมควรได้ทั้งจำเลยที่ 2 ก็มีทนายความในคดีอาญาที่เกี่ยวกับคดีที่ตนถูกฟ้องเป็นคดีแพ่งนี้อยู่แล้วซึ่งจำเลยที่ 2 อาจติดต่อกับทนายความของตนเพื่อยื่นคำให้การต่อสู้คดีได้ก่อนสิ้นระยะเวลายื่นคำให้การหรืออาจขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การโดยอ้างพฤติการณ์พิเศษอย่างใดอย่างหนึ่งได้ แต่จำเลยที่ 2 หาได้เอาในใส่ในการดำเนินการดังกล่าวหรือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการไม่ พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยทั้งสองยังถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การโดยมีเหตุอันสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การได้
แม้ปัญหาตามข้อฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ว่าจำเลยทั้งสองปลูกสร้างอาคารพาณิชย์รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์หรือไม่ จะมิใช่ประเด็นพิพาท เพราะจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การโดยไม่ได้ให้การต่อสู้คดีเป็นประเด็นไว้ก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นประเด็นแห่งคดีตามคำฟ้องของโจทก์ โจทก์ยังคงมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบให้รับฟังได้ตามคำฟ้อง และในกรณีที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การเช่นคดีนี้ จำเลยทั้งสองมีสิทธิที่จะสาบานตนให้การเป็นพยานเอง และถามค้านพยานโจทก์ได้ ตามมาตรา 199 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งจำเลยทั้งสองได้สาบานตนให้การเป็นพยาน และถามค้านพยานโจทก์ในปัญหาดังกล่าวไว้แล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้จึงถือได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคแรก
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 4 / 2545)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4007/2545 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนเงินธนาณัติคืนให้จำเลยเมื่อผู้รับไม่ไปรับเงิน และหน้าที่ของผู้ฝากในการติดต่อขอรับเงินคืน
ตามระเบียบของจำเลยที่ 1 ฉบับที่ 61 ว่าด้วย บริการไปรษณีย์ธนาณัติในประเทศพ.ศ. 2526 ข้อ 238 กำหนดให้ที่ทำการไปรษณีย์ปลายทางส่งธนาณัติคืนให้แก่ที่ทำการไปรษณีย์ต้นทางเพื่อจ่ายคืนให้แก่ผู้ฝากส่งเมื่อผู้รับไม่ไปติดต่อขอรับเงินธนาณัติภายในกำหนดตามข้อ 235.1 และเมื่อที่ทำการไปรษณีย์ต้นทางได้รับธนาณัติคืนแล้ว ตามระเบียบของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว แก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยระเบียบการสื่อสารแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 61 ว่าด้วย บริการไปรษณีย์ธนาณัติในประเทศ พ.ศ. 2526(แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 9 พ.ศ. 2535) ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2535 ข้อ 3 กำหนดให้ที่ทำการไปรษณีย์ต้นทางตรวจสอบแบบ ธน.31ท่อนที่1ซึ่งได้รับคืนกับแบบธน.1ของธนาณัตินั้นและแยกเก็บไว้เพื่อรอการติดต่อขอรับเงินคืนจากผู้ฝากเท่านั้น ทั้งไปรษณีย์นิเทศ พ.ศ. 2539ก็มิได้กำหนดให้ที่ทำการไปรษณีย์ต้นทางจะต้องแจ้งให้ผู้ฝากทราบ จึงเป็นหน้าที่ของผู้ฝากที่จะต้องไปติดต่อขอรับเงินคืนภายในกำหนดเวลาตามระเบียบของจำเลยที่ 1 ฉบับที่ 61 ข้อ 235 เมื่อโจทก์ไม่ได้ไปติดต่อขอรับเงินคืนในกำหนดเวลา จำเลยที่ 1 จึงดำเนินการประกาศโฆษณากำหนดระยะเวลาให้โจทก์ไปขอรับเงินคืนและโอนเงินธนาณัติที่โจทก์ฝากส่งเป็นของจำเลยที่ 1 เพราะโจทก์ไม่ไปติดต่อขอรับเงินตามระเบียบของจำเลยที่ 1 ฉบับที่ 61 ข้อ 236 และไปรษณีย์นิเทศ พ.ศ. 2539 ข้อ 204 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4007/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ไปรษณีย์ธนาณัติ: หน้าที่ผู้ฝากติดตามรับเงินเอง เมื่อไปรษณีย์ไม่ต้องแจ้ง
ระเบียบการสื่อสารแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 61 ว่าด้วยบริการไปรษณีย์ธนานัติในประเทศ พ.ศ. 2526 ข้อ 241.1 ได้ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยระเบียบการสื่อสารแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 61 ว่าด้วยบริการไปรษณีย์ธนาณัติในประเทศ พ.ศ. 2526(แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 9 พ.ศ. 2535) ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2535 ข้อ 3 กำหนดให้ที่ทำการต้นทางเพียงแต่ตรวจสอบแบบ ธน.31ท่อนที่1ซึ่งได้รับคืนแบบธน.1ของธนาณัติฉบับนั้น และแยกเก็บไว้เพื่อรอการติดต่อขอรับเงินคืนจากผู้ฝากเท่านั้น ทั้งไปรษณีย์นิเทศ พ.ศ. 2539ก็มิได้กำหนดให้ที่ทำการต้นทางจะต้องแจ้งให้ผู้ฝากทราบ จึงเป็นหน้าที่ของผู้ฝากที่จะต้องไปติดต่อขอรับเงินคืนภายในกำหนดเวลาตามระเบียบดังกล่าว ข้อ 235 เมื่อโจทก์ผู้ฝากไม่ได้ไปขอรับเงินคืนในกำหนดเวลาดังกล่าว การสื่อสารแห่งประเทศไทยจำเลยจึงดำเนินการประกาศโฆษณากำหนดระยะเวลาให้โจทก์ไปขอรับเงินคืนและโอนเงินธนาณัติที่โจทก์ฝากส่งเป็นของจำเลย เพราะโจทก์ไม่ไปขอรับเงินตามระเบียบ ข้อ 236 และไปรษณีย์นิเทศ พ.ศ. 2539 ข้อ 204 ได้
of 71