คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
อำนาจ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 971 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1529/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างแรงงานเป็นผลจากการโอนย้ายและหนังสือรับรองการจ้างงาน นายจ้างมีอำนาจเลิกจ้างเฉพาะตน
บริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (ฮ่องกง) จำกัด บริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (สิงคโปร์) จำกัด และจำเลย เป็นบริษัทในเครือเดียวกันแต่จดทะเบียนแยกต่างหากคนละประเทศกัน โจทก์เคยทำงานในบริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (ฮ่องกง) จำกัด ต่อมาโจทก์ได้รับการโอนย้ายมาทำงานกับจำเลย จากนั้นโจทก์ก็ได้รับการโอนย้ายมาทำงานในบริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (สิงคโปร์) จำกัด โดยโจทก์ได้ลงลายมือชื่อยอมรับข้อเสนอการจ้างงานตามหนังสือแจ้งการโอนย้ายดังกล่าว ซึ่งในหนังสือมีข้อความระบุถึงสถานที่ทำงาน ตำแหน่งงานของโจทก์ รวมทั้งเงินเดือน เงินโบนัส เบี้ยเลี้ยง ค่าที่พักอาศัย วันลาพักผ่อนประจำปี สวัสดิการอื่น การบอกเลิกสัญญาจ้างและอื่น ๆ หนังสือนี้จึงเป็นสัญญาจ้างแรงงานระหว่างบริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (สิงคโปร์) จำกัด กับโจทก์ ดังนั้น บริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (สิงคโปร์) จำกัด จึงเป็นนายจ้างของโจทก์ แม้ว่าบริษัทดังกล่าวทั้งสามจะเป็นบริษัทลูกซึ่งมีบริษัทแม่เดียวกัน แต่เมื่อต่างเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกัน ย่อมมีอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดแยกต่างหากจากกัน เมื่อบริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (สิงคโปร์) จำกัด มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ จึงเป็นกรณีที่บริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (สิงคโปร์) จำกัด ในฐานะนายจ้างบอกเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างในขณะที่โจทก์ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลย ทั้งยังไม่มีข้อความหรือข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานใดว่า บริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์บอสตัน (สิงคโปร์) จำกัด ได้กระทำการแทนจำเลย จึงถือไม่ได้ว่า บริษัทเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน (สิงคโปร์) จำกัด ได้เลิกจ้างโจทก์แทนจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9187/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตอำนาจผู้รับมอบฉันทะ: การฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และการปฏิบัติหน้าที่ตามมอบหมาย
ใบมอบฉันทะของโจทก์ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2546 ได้มอบอำนาจให้ ว. ไปฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 และลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งศาลในคดีนี้โดยมิได้ระบุว่าให้ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ในวันเวลาใด ดังนั้น ตราบใดที่ยังไม่มีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ว. ก็ยังมีอำนาจฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 อยู่จนกว่าโจทก์จะถอนหรือยกเลิกใบมอบฉันทะ การที่ ว. มาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 เวลา 16.15 นาฬิกา หลังจากที่ศาลมีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2546 เวลา 10 นาฬิกา แล้วให้เลื่อนการฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไปเป็นวันที่ 11 มีนาคม 2546 เวลา 9 นาฬิกา และออกหมายจับจำเลยรวมทั้งปรับนายประกันแล้วก็ต้องถือว่า ว. ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบฉันทะจากโจทก์ มิใช่กระทำโดยพลการดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้ ว. ฟังก็ต้องถือว่าได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้โจทก์ฟังโดยชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7506/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนการบังคับคดี: ผู้มีส่วนได้เสียย่อมมีสิทธิร้องขอต่อศาลที่มีอำนาจในคดีที่เกี่ยวข้อง
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง ผู้ที่ร้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดีต้องร้องขอให้คดีที่มีการบังคับคดีนั้น การที่โจทก์ร้องขอในคดีนี้ให้เพิกถอนการบังคับคดีของคดีหมายเลขแดงที่ 10188/2541 ของศาลชั้นต้น จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าว และบทบัญญัติดังกล่าวเปิดช่องให้ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายร้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดีในคดีนั้นได้อยู่แล้ว แม้ว่าจะไม่ได้เป็นคู่ความในคดีนั้นก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7404/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจทำสัญญาเช่าซื้อ: เจ้าของทรัพย์สินคือผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยมีเงื่อนไข และมีเจตนาครอบครองใช้สอย
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 เช่าซื้อ คือ สัญญาซึ่ง "เจ้าของ" เอาทรัพยืสินออกให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น หรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิผู้เช่า โดยเงื่อไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว ผู้มีอำนาจทำสัญญาจึงต้องเป็น "เจ้าของ" แต่โดยสภาพของสัญญาเช่าซื้อกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินย่อมจะโอนไปยังผู้เช่าซื้อในอนาคตหาได้โอนกรรมสิทธิ์ในทันทีขณะทำสัญญาไม่ "เจ้าของ" จึงหมายถึง ผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินขณะทำสัญญาเช่าซื้อ และหมายความรวมถึงผู้ที่จะมีกรรมิสทธิ์ในทรัพย์สินในอนาคตโดยชอบด้วย โจทก์เป็นผู้ซื้อรถยนต์บรรทุกพิพาทจากบริษัท ต. แม้จะเป็นสัญญาซื้อขายโดยมีเงื่อนไขที่จะได้กรรมสิทธิ์ต่อเมื่อได้ชำระราคาเป็นเงินสดครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์เป็นผู้ซื้อรถยนต์บรรทุกพิพากโดยเจตนาครอบครองใช้สอยอย่างเจ้าของ จะได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์บรรทุกพิพาทเมื่อชำระราคาเป็นเงินสดครบถ้วนตามสัญญา โดยมีเงื่อนไขนั้นแล้ว โจทก์จึงจะโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อได้ กรณีจึงถือได้ว่าโจทก์เป็น "เจ้าของ" ตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 มีอำนาจทำสัญญาเช่าซื้อได้ สัญญาเช่าซื้อย่อมสมบูรณ์ ไม่เป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6168/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจ ธปท. กำหนดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ มิได้ขัดต่อกฎหมาย
มาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 บัญญัติว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดังต่อไปนี้? (2) ดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่ธนาคารพาณิชย์อาจเรียกได้ การที่ธนาคาร แห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยและส่วนลดจากลูกค้าทุกประเภทได้เองก็เพื่อความคล่องตัวของระบบธนาคารพาณิชย์ตามภาวะขึ้นลงของเศรษฐกิจในขณะนั้นอันจะก่อให้เกิดความมั่นคงและเป็นหลักประกันแก่การประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ ทั้งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าว ข้อ 4 ยังกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์จัดส่งประกาศเกี่ยวกับดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบภายใน 3 วัน เพื่อควบคุมไม่ให้ธนาคารพาณิชย์ออกประกาศตามอำเภอใจ ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวจึงเป็นการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่ธนาคารพาณิชย์อาจเรียกได้วิธีหนึ่งตามที่พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ให้อำนาจไว้ ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวหาตกเป็นโมฆะแต่อย่างใดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3776/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจกรรมการนำเช็คเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้: การกระทำไม่เป็นละเมิดต่อผู้ทรงเช็ค
การที่จำเลยที่ 1 นำเช็คซึ่งระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงิน และเป็นเช็คมีข้อความระหว่างเส้นขีดคร่อมว่า A/C PAYEE ONLY ไปเข้าบัญชีบริษัท ภ. เป็นการกระทำตามคำสั่งของจำเลยร่วมซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ นำเช็คพิพาทเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ให้แก่บริษัท ภ. เจ้าหนี้โจทก์ การกระทำของจำเลยร่วมเป็นการกระทำในขอบอำนาจของกรรมการโจทก์ มีผลผูกพันโจทก์ นอกจากนี้โจทก์และบริษัท ภ. ต่างก็มีกรรมการชุดเดียวกันรวม 5 คน หากกรรมการอื่นอีก 4 คน เห็นว่าจำเลยร่วมนำเช็คพิพาทไปเข้าบัญชีบริษัท ภ. เป็นการไม่ถูกต้อง ก็ย่อมสามารถใช้สิทธิในฐานะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ภ. สั่งให้โอนเงินตามเช็คพิพาทคืนให้แก่โจทก์ได้อยู่แล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมจึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3100/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจการเข้าร่วมเป็นโจทก์ของผู้ที่กระทำผิดร่วม: ผู้เสียหายต้องไม่มีส่วนกระทำผิด
จำเลยได้แจ้งความร้องทุกข์โจทก์ร่วมในข้อหาทำร้ายร่างกาย โจทก์ร่วมให้การรับสารภาพเนื่องจากโจทก์ร่วมทำร้ายร่างกายจำเลยหลังจากจำเลยใช้อาวุธมีดแทงโจทก์ร่วมแล้ว ซึ่งคดีดังกล่าวพนักงานอัยการได้แยกฟ้องโจทก์ร่วมในข้อหาทำร้ายร่างกาย ศาลมีคำพิพากษาปรับโจทก์ร่วมแล้ว จึงฟังได้ว่าโจทก์ร่วมมีส่วนกระทำผิดฐานทำร้ายร่างกายจำเลยในเหตุการณ์ที่จำเลยใช้มีดแทงโจทก์ร่วมในคดีนี้ โจทก์ร่วมจึงมิใช่ผู้เสียหายตามความหมายใน ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) และทำให้ไม่มีอำนาจที่จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ตามมาตรา 30 โจทก์ร่วมไม่มีอำนาจยื่นฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12565/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินเกินกำหนดเวลาตามกฎหมาย พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจ
โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2537 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2537 กรณีจึงต้องตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 24 ทวิ (2) คือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินย้อนหลังได้ไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันสุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ 2537 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินและแจ้งการประเมินให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2542 พ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นการประเมินที่ไม่มีอำนาจกระทำได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12498/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์ต้องมีทนายความแต่งตั้งเป็นหนังสือ หากไม่มีการแต่งตั้ง ทนายความไม่มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณา
ตามคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์มีร้อยตำรวจเอก ป. พนักงานอัยการจังหวัดราชบุรีทนายความลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ แต่ไม่ปรากฎในสำนวนว่าโจทก์ได้ตั้งแต่งบุคคลผู้นี้เป็นทนายความโจทก์ไว้ ทั้งบุคคลผู้นี้มิได้ทำหน้าที่เป็นทนายความโจทก์มาก่อนที่จะมีการยื่นอุทธรณ์ ดังนั้น จึงไม่มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใช้สิทธิในการอุทธรณ์แทนโจทก์ได้
แม้ พ.ร.บ. อัยการฯ มาตรา 11 (2) กำหนดว่า ในคดีแพ่งพนักงานอัยการมีอำนาจดำเนินคดีแทนรัฐบาลในศาลทั้งปวง แต่เมื่อพนักงานอัยการเข้ามาดำเนินการแทนตัวความในคดีแพ่งในฐานะทนายความ การตั้งทนายความจะต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อตัวความและทนายความแล้วยื่นต่อศาลเพื่อรวมไว้ในสำนวนตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 61 เมื่อคดีนี้ไม่มีการตั้งแต่งร้อยตำรวจเอก ป. พนักงานอัยการจังหวัดราชบุรีให้เป็นทนายความแก้ต่างในคำฟ้องอุทธรณ์ คำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1239/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการหลังศาลอนุมัติ: ผู้บริหารแผนมีอำนาจเสนอแก้ไขได้ แม้คณะกรรมการเจ้าหนี้มีอำนาจเสนอแนะ
เมื่อพิจารณา พ.ร.บ. ล้มละลาย ฯ มาตรา 90/63 วรรคหนึ่งและวรรคสามแล้วจะเห็นได้ว่าในการขอแก้ไขแผนหลังจากศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้วนั้น หากมีเหตุอันสมควรและมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการ รวมทั้งพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่ศาลใช้เป็นเหตุในการพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนนั้นได้เปลี่ยนแปลงไป ผู้บริหารแผนซึ่งเป็นบุคคลที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบจะต้องปฏิบัติและดำเนินการตามแผนให้สำเร็จลุล่วงไปเพียงผู้เดียวมีอำนาจที่จะเสนอขอแก้ไขแผนนั้นได้ โดยยื่นข้อเสนอนั้นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แล้วให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เสนอให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณา หากที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติยอมรับข้อเสนอขอแก้ไขแผนดังกล่าวนั้นตามมาตรา 90/46 แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องรายงานศาลเพื่อพิจารณาว่าจะเห็นชอบด้วยหรือไม่
การที่แผนปรับโครงสร้างหนี้ทางการเงินกำหนดว่าคณะกรรมการเจ้าหนี้มีอำนาจในการตกลงเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญหรือแก้ไขเอกสารปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เมื่อนำมาพิจารณาประกอบอำนาจของคณะกรรมการเจ้าหนี้ตามมาตรา 90/55 วรรคหนึ่ง และมาตรา 90/67 เห็นได้ว่า คณะกรรมการเจ้าหนี้มีอำนาจในการเสนอแนะและสอดส่องให้ผู้บริหารแผนดำเนินการปฏิบัติไปตามแผนแทนเจ้าหนี้ทั้งหลายเท่านั้น หาได้มีอำนาจในการที่จะเสนอขอแก้ไขแผนด้วยตนเองไม่ ตามที่แผนกำหนดให้คณะกรรมการเจ้าหนี้มีอำนาจในการตกลงเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญหรือแก้ไขเอกสารปรับโครงสร้างหนี้ ฯลฯ ก็หมายความเพียงว่า เมื่อเข้าเงื่อนไขในการขอแก้ไขแผนแล้ว คณะกรรมการเจ้าหนี้มีอำนาจในการเสนอเรื่องดังกล่าวให้ผู้บริหารแผนดำเนินการต่อไปตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย ฯ มาตรา 90/63 ได้ แต่ขณะเดียวกัน เมื่ออำนาจในการเสนอขอแก้ไขแผนนั้นเป็นอำนาจของผู้บริหารแผนโดยตรง ผู้บริหารแผนเองก็ย่อมมีอำนาจในการที่จะเสนอขอแก้ไขแผนตามที่กฎหมายกำหนดไว้เช่นกัน และเมื่อผู้บริหารได้ยื่นข้อเสนอขอแก้ไขแผนแล้ว การประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาข้อเสนอขอแก้ไขแผน การลงมติของที่ประชุมเจ้าหนี้จะต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย ฯ มาตรา 90/63
เมื่อมีเหตุจำเป็นต้องแก้ไขแผนให้เกิดความชัดเจนสามารถปฏิบัติได้และสอดคล้องกับความประสงค์ของเจ้าหนี้ ทั้งเจ้าหนี้เกือบทั้งหมดซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแก้ไขแผนได้ยอมรับข้อเสนอขอแก้ไขแผนนั้นแล้ว ชั้นพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผน ไม่มีเจ้าหนี้คัดค้าน ข้อเสนอขอแก้ไขแผนดังกล่าวไม่ขัดต่อ พ.ร.บ. ล้มละลาย ฯ มาตรา 90/58 กรณีจึงสมควรเห็นชอบด้วยข้อเสนอขอแก้ไขแผน
of 98