คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เพิกถอนใบอนุญาต

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 23 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15561/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะนิติบุคคลสมาคม: การเพิกถอนใบอนุญาตยังไม่ถึงที่สุด สมาคมยังมีอำนาจฟ้อง
การกีฬาแห่งประเทศไทยเพิกถอนใบอนุญาตที่ให้โจทก์จัดตั้งเป็นสมาคมแต่โจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลปกครองและคดีอยู่ระหว่างพิจารณา ข้อเท็จจริงจึงยังไม่ยุติ ทั้งการเลิกสมาคมต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 101 (6) ที่บัญญัติให้สมาคมเลิกกันเมื่อนายทะเบียนถอนชื่อสมาคมจากทะเบียน เมื่อไม่ปรากฏว่านายทะเบียนได้ถอนชื่อโจทก์ออกจากทะเบียน โจทก์จึงยังมีสถานะเป็นนิติบุคคลและมีอำนาจฟ้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 83

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6530/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่จากความผิดขับรถเมาแล้วเกิดอุบัติเหตุ ไม่เข้าข่ายการใช้ ม.50 ป.อ. ที่เกี่ยวข้องกับอาชีพ
การที่ศาลจะนำ ป.อ. มาตรา 50 มาใช้บังคับต้องได้ความว่า จำเลยประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ และได้กระทำความผิดโดยอาศัยโอกาสจากการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ หรือเนื่องจากการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ และศาลเห็นว่าหากจำเลยประกอบอาชีพหรือวิชาชีพนั้นต่อไป อาจกระทำความผิดเช่นนั้นขึ้นอีก ศาลจะสั่งไว้ในคำพิพากษาห้ามประกอบอาชีพหรือวิชาชีพนั้นมีกำหนดเวลาไม่เกินห้าปีนับแต่วันพ้นโทษไปแล้วก็ได้ แต่ความผิดของจำเลยเป็นความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 160 ตรี วรรคสี่ ไม่เกี่ยวกับอาชีพหรือวิชาชีพที่จำเลยประกอบอยู่ คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองที่ให้เพิกถอนใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลของจำเลย จึงหาใช่คำสั่งตาม ป.อ. มาตรา 50 ไม่ แต่เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ศาลสั่งเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของจำเลย กรณีจึงไม่อาจนำ ป.อ. มาตรา 50 มาใช้บังคับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5331/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพักใช้/เพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ แม้เป็นคนละประเภทกับรถที่ใช้ก่อผิด ศาลมีอำนาจสั่งได้เพื่อความปลอดภัยสาธารณะ
การพักใช้ใบอนุญาตขับขี่หรือเพิกถอนใบขับขี่ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ไม่ใช่โทษที่ใช้สำหรับลงโทษผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 18 หรือวิธีการเพื่อความปลอดภัยตามมาตรา 39 แต่ก็มีบทบังคับเช่นเดียวกับวิธีการเพื่อความปลอดภัยด้วยเจตนาคุ้มครองประชาชนหรือสังคมเพื่อป้องกันมิให้ผู้ถูกพักใช้ใบอนุญาตขับขี่หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ก่อความเสียหายแก่ผู้อื่น โดยเป็นการป้องปรามไม่ให้ผู้ขับขี่ไปกระทำความผิดอีก ทั้งตามนิยามของคำว่า รถ ใน พ.ร.บ.การจราจรทางบก มาตรา 4 (15) ก็ให้คำนิยามว่า รถ หมายถึง ยานพาหนะทางบกทุกชนิด เว้นแต่รถไฟและรถราง ดังนั้น รถจักรยานยนต์และรถยนต์อยู่ในความหมายของคำว่า รถ ด้วย โดยการพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตจะอยู่ในลักษณะ 19 บทกำหนดโทษ ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงยานพาหนะชนิดใดชนิดหนึ่งไว้โดยเฉพาะ แต่เป็นการกล่าวถึงการขับขี่ยานพาหนะที่มีลักษณะเป็นการกระทำความผิดแล้วให้ศาลมีคำสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่เพื่อมิให้ผู้กระทำความผิดไปยุ่งเกี่ยว ควบคุม ยานพาหนะทั้งหมดที่ต้องมีใบอนุญาตขับขี่ ดังนั้นศาลจึงต้องพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ ไม่ว่าใบอนุญาตขับขี่นั้นจะเกี่ยวข้องกับยานพาหนะที่ผู้กระทำความผิดขับขี่ในขณะกระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม แม้จำเลยมีใบอนุญาตขับขี่รถคนละประเภทกับรถที่จำเลยขับขณะกระทำความผิด ศาลก็มีอำนาจพักใช้ใบอนุญาตขับขี่หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยได้
of 3