คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เหตุผลความจำเป็น

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 27 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3301/2525

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเมื่อนายจ้างไม่คำนึงถึงเหตุผลความจำเป็นส่วนตัวของลูกจ้างและไม่ตักเตือนก่อน
โจทก์เป็นลูกจ้างที่นายจ้างยอมให้ทำงานอยู่ในกรุงเทพมหานครตั้งแต่เริ่มเข้าทำงานตลอดมาเป็นเวลา 3 ปีเศษเหตุที่โจทก์ไม่สามารถไปทำงานต่างจังหวัดเพราะต้องดูแลบุตรซึ่งยังเล็กและป่วยเป็นโรคหัวใจพิการ ต่อมาจำเลยผู้เป็นนายจ้างสั่งให้โจทก์ไปทำงานต่างจังหวัดโดยไม่ได้ให้โอกาสและเวลาแก่โจทก์ในการปรับตัวและหาทางแก้ไขข้อขัดข้องดังกล่าวบ้างตามสมควร โจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ดังนี้ ไม่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโดยมิได้ตักเตือนเป็นหนังสือก่อนจึงต้องจ่ายค่าชดเชย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2449/2523

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากความขัดแย้งในการทำงาน ศาลฎีกาพิจารณาเหตุผลความจำเป็นและความสมเหตุสมผลของนายจ้าง
โจทก์กับ ช. หัวหน้าแผนกมีการขัดแย้งกันในการทำงานทำให้งานในแผนกนั้นระส่ำระสายเป็นที่เสียหายแก่จำเลยผู้เป็นนายจ้าง จึงเป็นเหตุจำเป็นและสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ การที่จำเลยไม่เลิกจ้าง ช. ด้วยก็เพราะจำเลยเห็นว่าหากให้คนทั้งสองออกจากตำแหน่งจะเกิดความเสียหายแก่งานของจำเลย จึงต้องให้คนใดคนหนึ่งออกเพียงคนเดียว และเห็นว่าควรเอา ช. ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกไว้ เห็นได้ว่าจำเลยมีเหตุผลสมควรที่ปฏิบัติเช่นนั้น ฉะนั้น การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ผู้เดียวโดยไม่ได้ดำเนินการอย่างใดกับ ช. จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1481/2523

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การระบุพยานเพิ่มเติมหลังวันกำหนด การพิจารณาเหตุผลความจำเป็น และสิทธิในการอุทธรณ์คำสั่งศาล
โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายนำสืบก่อน ยื่นคำร้องขอระบุพยานในวันนัดสืบพยานโจทก์อ้างว่าตัวโจทก์ขอสำนวนไปดูแล้วเพิ่งจะส่งคืนในวันนั้น ก่อนหน้านี้ทนายโจทก์ไม่ทราบว่ามีบุคคลใดและพยานเอกสารใดพอจะอ้างเป็นพยานได้ จำเลยคัดค้านว่าไม่สมควรอนุญาตแต่มิได้คัดค้านเหตุที่โจทก์อ้าง จึงฟังได้ตามคำร้อง เมื่อไม่ปรากฏว่าตัวโจทก์ทราบว่าทนายโจทก์ต้องใช้สำนวนในการยื่นบัญชีระบุพยานจะถือว่าโจทก์จงใจไม่ยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 3 วันมิได้ คดีนี้โจทก์เป็นฝ่ายนำสืบก่อน การรับระบุพยานของโจทก์ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบ จึงมีเหตุผลสมควรรับบัญชีระบุพยานของโจทก์เพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นเป็นไปโดยเที่ยงธรรมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรค 3
ศาลชั้นต้นสั่งว่า 'ไม่อนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานและถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะสืบพยาน ให้นัดสืบพยานจำเลยต่อไป' คำสั่งตอนที่ว่า 'ถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะสืบพยานต่อไป' เป็นผลของข้อความตอนต้นที่สั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ระบุพยาน เป็นคำสั่งฉบับเดียวกัน เมื่อโจทก์โต้แย้งคำสั่งที่ไม่อนุญาตให้โจทก์ระบุพยาน จึงเป็นการโต้แย้งคำสั่งทั้งฉบับ โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1155/2511 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอพิจารณาคดีใหม่หลังขาดนัด พิจารณาจากเหตุผลความจำเป็นและข้อคัดค้านคำพิพากษา
คำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยกล่าวว่า การที่ศาลพิพากษาให้จำเลยแพ้คดีนั้นยังไม่ถูกต้อง ถ้าหากจำเลยได้นำพยานมาสืบแล้วจำเลยจะชนะคดีโจทก์ได้ เพราะจำเลยไม่ได้ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่ากว่า 2 ครั้งติดๆ กัน ถือว่าได้กล่าวในคำขอโดยชัดแจ้งซึ่งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 618/2501 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอนุญาตให้ยื่นบัญชีพยานหลังศาลนัดสืบพยาน: พิจารณาเหตุผลความจำเป็นและไม่ทำให้คู่ความเสียเปรียบ
การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับบัญชีพยานจำเลยซึ่งยื่นก่อนหน้าวันศาลนัดสืบพยานเพียง 2 วันนั้น เมื่อปรากฎว่าจำเลยมีเหตุอ้างที่ต้องยื่นช้าพอสมควร ไม่ใช่เป็นการจงใจฝ่าฝืนระเบียบไม่ทำให้โจทก์เสียเปรียบในทางคดีอย่างไรและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงไม่เป็นการผิดกระบวนพิจารณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13049/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลื่อนคดีและการขาดนัดพิจารณา: เหตุผลความจำเป็นและผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรม
ศาลได้กำหนดวันนั่งพิจารณาและแจ้งให้คู่ความทราบแล้ว การที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะขอเลื่อนการนั่งพิจารณาหรือขอเลื่อนคดี คู่ความฝ่ายนั้นจะต้องยื่นคำขอเข้ามาก่อนหรือในวันนัดและแสดงเหตุผลให้ปรากฏว่ามีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้และหากศาลไม่อนุญาตจะทำให้เสียความยุติธรรม ทั้งนี้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 40 วรรคหนึ่ง ในวันนัดไกล่เกลี่ย ให้การ และสืบพยานนัดแรกวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2557 คู่ความแถลงว่า คดีพอมีทางตกลงกันได้ ประกอบกับทนายจำเลยทั้งสามติดว่าความที่ศาลอื่นและขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นจึงให้เลื่อนไปนัดไกล่เกลี่ยที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยในวันที่ 18 มีนาคม 2557 เวลา 9 นาฬิกา เมื่อถึงวันนัด จำเลยทั้งสามไม่ประสงค์จะไกล่เกลี่ย ศาลชั้นต้นจึงออกนั่งพิจารณาและนัดสืบพยานโจทก์ทั้งสองในวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 นัดสืบพยานจำเลยทั้งสามในวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 ครั้นถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ทั้งสอง ทนายจำเลยทั้งสามมอบฉันทะให้ ส. เสมียนทนายนำคำร้องมายื่นอ้างว่า ทนายจำเลยทั้งสามเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. ซึ่งเป็นคู่สัญญากับธนาคาร อ. เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 ธนาคาร อ. มีหนังสือเชิญประชุมเพื่อจัดทำบันทึกข้อตกลงว่าจ้างฉบับใหม่ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 ทนายจำเลยทั้งสามจำต้องเข้าร่วมประชุมและลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าจ้างฉบับใหม่กับธนาคาร อ. ที่จังหวัดเชียงใหม่ จึงขอเลื่อนการสืบพยานออกไปอีกสักครั้ง นั้น ทนายจำเลยทั้งสามทราบนัดล่วงหน้าแล้วเกือบ 2 เดือน ที่ทนายจำเลยทั้งสามอ้างเหตุที่จะต้องไปเข้าร่วมประชุมกับลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าจ้างฉบับใหม่กับธนาคาร อ. คงเป็นไปเพื่อกิจการในเรื่องส่วนตัวของทนายจำเลยทั้งสามโดยแท้และทนายจำเลยทั้งสามได้ทราบเหตุก่อนถึงวันนัดหลายวันเพียงพอที่ทนายจำเลยทั้งสามจะแจ้งให้จำเลยทั้งสามทราบและจัดทนายความคนใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทนเพื่อมิให้กระบวนพิจารณาในศาลที่นัดไว้ล่วงหน้าต้องเสียหายแต่มิได้กระทำ จึงมิใช่กรณีที่มีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ ในอันที่จำเลยทั้งสามจะนำมาอ้างเป็นเหตุเพื่อขอเลื่อนคดี
ในวันสืบพยานโจทก์วันที่ 15 พฤษภาคม 2557 ทนายจำเลยทั้งสามมอบฉันทะให้ ส. เสมียนทนายนำคำร้องมายื่นขอเลื่อนคดี ฟังคำสั่งศาลและกำหนดวันนัดแทน ส. ย่อมอยู่ในฐานะเป็นคู่ความ มิใช่คู่ความฝ่ายจำเลยทั้งสามไม่มาศาลในวันนัดพิจารณาโดยมิได้ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่มาศาล อันจะให้ถือว่าจำเลยทั้งสามขาดนัดพิจารณาในคดีมโนสาเร่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 193 ทวิ วรรคสอง การไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสามเลื่อนคดี คงมีผลเพียงทำให้จำเลยทั้งสามเสียสิทธิในการซักค้านพยานโจทก์ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 เท่านั้น จำเลยทั้งสามยังคงมีสิทธินำพยานเข้าสืบในนัดวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 ตามที่นัดไว้แล้ว การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งถือว่าจำเลยทั้งสามขาดนัดพิจารณาและให้สืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียว จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5509-5510/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม: ศาลพิจารณาเหตุผลความจำเป็นและผลกระทบต่อลูกจ้างสูงอายุ
จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังพยานหลักฐานเพียงว่า จำเลยจ่ายเงินเดือนหรือโบนัสให้แก่ลูกจ้างในปีที่ผ่านมา โดยมิได้รับฟังข้อเท็จจริงตามงบการเงินที่แสดงถึงฐานะแห่งกิจการของจำเลยอย่างแท้จริงตามที่ผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นเชิงลบอย่างร้ายแรงต่อสถานะของกิจการของจำเลยว่าที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับความสามารถในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องของกิจการซึ่งถือเป็นความไม่แน่นอนที่สำคัญ หากไม่สามารถดำเนินกิจการได้อย่างต่อเนื่องแล้ว จำเลยอาจจำเป็นต้องปรับปรุงมูลค่าสินทรัพย์ใหม่ จัดประเภทสินทรัพย์และหนี้สินใหม่ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงไป แต่ศาลแรงงานกลางกลับให้น้ำหนักพยานหลักฐานประกอบ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและไม่เป็นธรรมต่อนายจ้างที่ประสบภาวะขาดทุนเช่นจำเลยนั้น เห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวประสงค์ที่จะให้ศาลฎีการับฟังว่าจำเลยประสบภาวะขาดทุนจนประกอบกิจการต่อไปไม่ได้นั่นเอง อันเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง จึงเป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริงต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
การวินิจฉัยว่ากรณีใดเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่นั้น ศาลชอบที่จะพิจารณาถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้างเป็นสำคัญว่ามีเหตุอันจำเป็นหรือสมควรเพียงพอที่จะเลิกจ้างหรือไม่ เมื่อศาลแรงงานกลางนำข้อเท็จจริงที่ฟังมาเป็นหลักในการวินิจฉัยและฟังว่า จำเลยไม่ได้ประสบภาวะขาดทุนจนประกอบกิจการต่อไปไม่ได้ เพราะยังได้จ่ายเงินเพิ่มหรือโบนัสให้ลูกจ้างในปีที่ผ่านมาประกอบกับจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองและลูกจ้างอื่นอีก 5 คน จากลูกจ้างทั้งหมดประมาณ 240 คน โดยที่โจทก์ทั้งสองทำงานมานานและอายุมากแล้วว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม แม้จำเลยจะอ้างว่าจำเลยได้ใช้หลักเกณฑ์ผลการประเมินการปฏิบัติงานในสิ้นปี 2546 ซึ่งประเมินลูกจ้างทุกคนประจำปีไว้ก่อนการเลิกจ้างและถือคะแนนการประเมินเป็นเกณฑ์การเลิกจ้าง โดยไม่ปรากฏว่ามีการกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสองแต่อย่างใด แต่หลักเกณฑ์การเลิกจ้างดังกล่าวจำเลยก็มิได้ประกาศแจ้งให้ลูกจ้างทราบว่าจะใช้หลักเกณฑ์ผลการประเมินการปฏิบัติงานปี 2546 มาเป็นเกณฑ์การเลิกจ้าง คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางจึงเป็นการวินิจฉัยถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างว่า กรณีเช่นนี้เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 49 หาใช่เป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังที่จำเลยอุทธรณ์มาไม่
of 3