คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
แจ้งสิทธิ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 26 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7104/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การค้นบ้านโดยหมายค้นชอบด้วยกฎหมาย แม้หมายค้นระบุที่อยู่ไม่ตรงกัน และการแจ้งสิทธิของผู้ต้องหาตามกฎหมายที่ใช้บังคับ ณ ขณะนั้น
ปัญหาข้อกฎหมายว่า การค้นและการสอบสวนไม่ชอบ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ดังนี้ แม้หมายค้นจะระบุให้พันตำรวจโท ป. กับพวกมีอำนาจตรวจค้นบ้านเลขที่ 57/7 ข้างหมู่บ้าน ป.ผาสุก ส่วนบ้านจำเลยเป็นเลขที่ 67 ก็ตาม แต่บ้านจำเลยอยู่ข้างหมู่บ้าน ป.ผาสุก และพันตำรวจโท ป. ได้แนบหลักฐานภาพถ่ายจำเลยขณะอยู่ในบ้านประกอบคำขอเพื่อแสดงว่าประสงค์จะขอหมายค้นบ้านจำเลย การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาออกหมายค้นตามขอ จึงเป็นการให้อำนาจพันตำรวจโท ป. ค้นบ้านจำเลยนั่นเอง การตรวจค้นบ้านจำเลยตามหมายค้นจึงชอบด้วยกฎหมาย สิ่งของที่ได้จากการค้นย่อมนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานคดีนี้ได้
ตาม พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2547 มาตรา 37 ให้ยกเลิกความเดิมตามมาตรา 134 และให้ใช้ข้อความใหม่ตามที่จำเลยอ้างแทน แต่มาตรา 2 กำหนดให้พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ นับตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2547 เป็นต้นไป โดยไม่มีบทบัญญัติให้มีผลย้อนหลัง จึงไม่มีผลกระทบต่อกระบวนพิจารณาความอาญาที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว ดังนี้ เมื่อจำเลยถูกจับส่งตัวให้พนักงานสอบสวนในวันที่ 15 ธันวาคม 2545 พนักงานสอบสวนได้แจ้งสิทธิและแจ้งข้อหาให้จำเลยทราบโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 134 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้น โดยมิได้แจ้งให้จำเลยทราบถึงข้อเท็จจริงที่กล่าวหาว่าจำเลยได้กระทำผิดก่อน ก็หาทำให้การสอบสวนคดีนี้ไม่ชอบแต่อย่างใดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2090/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน: การแจ้งสิทธิขอพิจารณาใหม่และการยื่นคำร้องเป็นหนังสือ
แม้โจทก์มิได้แจ้งสิทธิในการยื่นคำร้องขอพิจารณาการประเมินใหม่ตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ มาตรา 40 วรรคแรก ไม่มีผลทำให้การประเมินไม่ชอบเนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการให้สิทธิแก่ผู้รับประเมินในการยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่โดยขยายระยะเวลาเป็นหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน
การโต้แย้งคัดค้านการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินจะต้องทำเป็นหนังสือโดยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่แบบ ภ.ร.ด.9 ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ มาตรา 25 และมาตรา 26 เมื่อจำเลยมิได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ภายในหนึ่งปีนับแต่ได้รับแจ้งการประเมิน จำนวนภาษีที่ประเมินจึงเป็นจำนวนเด็ดขาดตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ มาตรา 27

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13535/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจับกุม ตรวจค้น และแจ้งสิทธิผู้ต้องหา: กฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง และอำนาจเจ้าพนักงานตำรวจ
ในขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยและพนักงานสอบสวนได้สอบสวนจำเลยนั้น พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 22)ฯ มาตรา 4 และมาตรา 39 ซึ่งได้บัญญัติเพิ่มเติมมาตรา 7/1 และมาตรา 134/4 ที่บัญญัติให้มีการแจ้งสิทธิดังกล่าวแก่ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหายังได้ออกใช้บังคับ ประกอบกับ ป.วิ.อ. ที่แก้ไขใหม่ดังกล่าวก็ไม่มีบทบัญญัติให้นำมาตรา 7/1 และ มาตรา 134/4 มาใช้บังคับแก่คดีที่มีการจับกุมและสอบสวนเสร็จสิ้นไปก่อนวันที่กฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวมีผลใช้บังคับ จึงต้องใช้หลักทั่วไปที่ว่ากฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมและพนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบถึงสิทธิต่างๆ โดยละเอียดดังกล่าวจึงชอบแล้ว
โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้แล้วว่ามีการสอบสวนแล้ว ทั้งจำเลยก็มิได้ฎีกาว่าการสอบสวนไม่ชอบเพราะเหตุผลอื่นๆ เพียงแต่อ้างว่าการตรวจค้นโดยไม่มีหมายค้นเป็นการไม่ชอบ จึงต้องถือว่าการสอบสวนในความผิดที่กล่าวหาตามฟ้องชอบแล้วนอกจากนี้การตรวจค้นและการสอบสวนเป็นการดำเนินการคนละขั้นตอนกัน แม้การตรวจค้นจับกุมและไม่ชอบด้วยกฎหมายก็หามีผลทำให้การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วยไม่
ร้อยตำรวจเอก ป. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีอำนาจหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนและทำการจับกุมปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายได้ นอกจากนี้ยังมีอำนาจทำการสืบสวนคดีอาญาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (16) (17) และมาตรา 17 ซึ่งเป็นไปโดยผลของกฎหมาย ดังนั้น ร้อยตำรวจเอก ป. จึงมีอำนาจจับกุม ควบคุมตัวจำเลย ตลอดจนการจัดทำเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในอำนาจหน้าที่ได้ หาใช่จะเป็นเจ้าพนักงานตำรวจหรือไม่ขึ้นอยู่กับการลงบันทึกประจำวันว่าออกปฏิบัติหน้าที่ดังที่จำเลยอ้างในฎีกาแต่อย่างใดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8148/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังพยานหลักฐานจากการจับกุม: การแจ้งสิทธิผู้ถูกจับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 83 วรรคสอง และผลกระทบต่อการรับฟังคำรับสารภาพ
เจ้าพนักงานตำรวจเป็นผู้จับจำเลยมิใช่ราษฎรเป็นผู้จับจึงไม่มีกรณีที่จะต้องแจ้งสิทธิตาม ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคหนึ่ง แต่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับต้องแจ้งสิทธิตาม ป.วิ.อ. มาตรา 83 วรรคสอง เมื่อบันทึกการจับกุมมีข้อความว่าจำเลยให้การรับสารภาพ จึงต้องห้ามมิให้นำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของผู้ถูกจับมารับฟังเป็นพยานหลักฐานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคสี่ และเมื่อบันทึกการจับกุมไม่มีข้อความใดที่บันทึกการแจ้งสิทธิแก่จำเลยผู้ถูกจับตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา 83 วรรคสอง บัญญัติเลย ทั้งพยานโจทก์ที่ร่วมจับกุมก็ไม่ได้เบิกความถึงเรื่องการแจ้งสิทธิแต่อย่างใด แม้โจทก์จะส่งบันทึกการแจ้งสิทธิผู้ถูกจับมาพร้อมกับบันทึกการจับกุมในชั้นพิจารณาสืบพยานโจทก์ แต่บันทึกการแจ้งสิทธิผู้ถูกจับดังกล่าวมีลักษณะเป็นแบบพิมพ์เติมข้อความในช่องว่างด้วยน้ำหมึกเขียนโดยเจ้าพนักงานตำรวจผู้บันทึกเป็นคนละคนกับที่เขียนบันทึกการจับกุม ทั้งใช้ปากกาคนละด้ามและไม่มีข้อความว่าผู้ถูกจับมีสิทธิจะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ กับไม่มีข้อความว่าถ้อยคำของผู้ถูกจับนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้แต่อย่างใด แม้จะมีข้อความแจ้งสิทธิเรื่องทนายความก็เป็นการแจ้งสิทธิไม่ครบถ้วนตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา 83 วรรคสองบัญญัติ ฉะนั้นถ้อยคำอื่นของจำเลยตามบันทึกการจับกุมจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยหาได้ไม่เช่นกัน ดังนั้น บันทึกการจับกุมจึงไม่อาจอ้างเป็นพยานหลักฐานได้เพราะเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยไม่ชอบ ทั้งนี้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 938/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีขายทอดตลาด: การแจ้งสิทธิและราคาประเมินทรัพย์ ไม่ถือเป็นเหตุให้ระงับการบังคับคดี
เมื่อศาลอนุญาตให้ทำการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องแจ้งคำสั่งศาลและวันขายทอดตลาดทรัพย์สินดังกล่าวให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีทราบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 306 ซึ่งจำเลยผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีนี้ได้ทราบคำสั่งศาลและกำหนดวันขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดตามกฎหมายแล้ว ส่วนการปิดประกาศขายทอดตลาดไว้โดยเปิดเผย ณ ที่ใดเป็นขั้นตอนวิธีปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งเป็นระเบียบภายในของกรมบังคับคดีเพื่อประสงค์จะให้บุคคลภายนอกที่สนใจมาประมูลซื้อทรัพย์ในการขายทอดตลาดทรัพย์เท่านั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องดำเนินการประกาศขายทอดตลาดทางหนังสือพิมพ์ตามที่จำเลยอ้างส่วนการประเมินราคาทรัพย์สินของเจ้าพนักงานบังคับคดีก็เป็นเพียงการประเมินราคาในชั้นต้น เพื่อประโยชน์ในการบังคับคดีขายทอดตลาดซึ่งอาจจะไม่ตรงกับราคาที่แท้จริงก็ได้ และการกำหนดราคาเริ่มต้นขายตามประกาศกรมบังคับคดีก็ไม่ได้ผูกมัดจำเลยหรือโจทก์หรือผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีว่าเมื่อขายทอดตลาดแล้วจะต้องเป็นไปตามราคาดังกล่าว แต่ขึ้นอยู่กับผู้เข้าสู้ราคาว่าจะให้ราคาสูงสุดเพียงใดซึ่งหากจำเลยเห็นว่าราคาต่ำไป ก็ชอบที่จะคัดค้านการขายทอดตลาดได้ กรณียังถือไม่ได้ว่ามีข้อโต้แย้งสิทธิระหว่างเจ้าพนักงานบังคับคดีกับจำเลย อันจะเป็นเหตุให้จำเลยมีสิทธิยื่นคำร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง เพื่อขอให้ดำเนินการตามคำร้องของจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4146/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งสิทธิผู้ถูกจับ-สอบสวน และการใช้กฎหมายใหม่ย้อนหลัง กรณีคดียาเสพติด
ในขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 2 และพนักงานสอบสวนได้สอบสวนจำเลยที่ 2 นั้น พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 22)ฯ มาตรา 4 และมาตรา 38 ซึ่งได้บัญญัติเพิ่มเติมมาตรา 7/1 และมาตรา 134/4 ที่บัญญัติให้มีการแจ้งสิทธิดังกล่าวแก่ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหายังมิได้ออกใช้บังคับ ประกอบกับ ป.วิ.อ. ที่แก้ไขใหม่ดังกล่าว ก็ไม่มีบทบัญญัติให้นำมาตรา 7/1 และมาตรา 134/4 มาใช้บังคับแก่คดีที่มีการจับกุมและสอบสวนเสร็จสิ้นไปก่อนวันที่กฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวมีผลใช้บังคับ จึงต้องใช้หลักทั่วไปว่ากฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบถึงสิทธิต่างๆ ดังกล่าว จึงชอบด้วยกฎหมายขณะที่มีการจับกุมและสอบสวน
of 3