คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
จำกัดสิทธิ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 329 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9185/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทุนทรัพย์พิพาทจำกัดสิทธิอุทธรณ์ฎีกาคดีแพ่ง และการพิจารณาความผิดฐานลักทรัพย์
สิทธิในการอุทธรณ์และฎีกาในคดีส่วนแพ่งนั้นต้องพิจารณาจากทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์และฎีกา เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วม 10,000 บาท ให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม 40,000 บาท จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมสูงเกินสมควร จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ในคดีส่วนแพ่งจึงไม่เกิน 50,000 บาท ต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามเป็นการโต้เถียงดุลพินิจของศาลชั้นต้น เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 รับวินิจฉัยให้ในส่วนนี้จึงเป็นการไม่ชอบ และถือเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 9 ต้องห้ามมิให้ฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7364/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาห้ามแข่งขันหลังพ้นงาน: การจำกัดสิทธิลูกจ้างต้องเป็นธรรมและมีระยะเวลาที่สมเหตุสมผล มิฉะนั้นอาจเป็นโมฆะ
โจทก์ผลิตเครื่องสำอางซึ่งในการประกอบกิจการโจทก์ต้องอาศัยการแข่งขันทางธุรกิจการค้า โจทก์จึงมีสิทธิตามสมควรที่จะป้องกันสงวนรักษาข้อมูลและความลับในทางการค้าเพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจของโจทก์ได้ จำเลยเป็นพนักงานโจทก์ตำแหน่งหัวหน้างานผสมผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการผลิตตามแผนงานของแผนกวางแผน โจทก์จึงมีสิทธิที่จะทำความตกลงกับจำเลยเพื่อรักษาความลับทางการค้าของโจทก์ได้ด้วยการทำข้อตกลงกับจำเลยในการห้ามประกอบกิจการหรือปฏิบัติงานในกิจการอื่นที่แข่งขันกับโจทก์ สัญญาข้อตกลงเรื่องการขัดแย้งเกี่ยวกับผลประโยชน์ ข้อ 2 ที่กำหนดว่า ในขณะที่จำเลยเป็นพนักงานหรือพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของโจทก์ ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็ตามภายใน 1 ปี นับแต่วันพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของโจทก์ จำเลยไม่ปฏิบัติงานเป็นพนักงานของนิติบุคคลอื่น ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดก็ตาม ในลักษณะการค้าประเภทหรือชนิดเดียวกันหรือคล้ายกัน หรือเป็นคู่แข่งทางการค้าของโจทก์นั้น เมื่อข้อตกลงมีกำหนดเวลาห้ามจำเลยอยู่ 1 ปี ถือได้ว่าเป็นกำหนดเวลาพอสมควร ไม่ทำให้จำเลยต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ จึงเป็นข้อสัญญาที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี
หลังจากจำเลยพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของโจทก์ภายใน 1 ปี แล้วไปทำงานกับบริษัทที่มีลักษณะทางการค้าคล้ายกัน เข้าเงื่อนไขตามสัญญาข้อ 2 ถือว่าจำเลยผิดสัญญาจ้าง แต่ข้อตกลงในสัญญาที่มีข้อความว่า หากฝ่าฝืนข้อตกลง จำเลยยินยอมให้โจทก์ปรับเงินจำนวน 500,000 บาท เป็นการกำหนดค่าเสียหายจากการผิดสัญญาไว้ล่วงหน้า จึงเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ซึ่งถ้าสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงได้ตามมาตรา 383 แต่การกำหนดค่าเสียหายเป็นดุลพินิจของศาลแรงงานกลาง อันเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องห้ามอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่อาจกำหนดให้ได้ จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายที่จำเลยต้องชดใช้แก่โจทก์แล้วพิพากษาคดีเสียใหม่ตามรูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6601/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหลังสัญญาจะซื้อจะขาย และการจำกัดสิทธิของเจ้าของรวม
สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทซึ่งโจทก์ทำกับ ส. ข้อ 1 ระบุว่า ส. จะขายที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของตนให้แก่โจทก์ ข้อนี้จำเลยทั้งสี่ให้การต่อสู้คดีมาตั้งแต่ยื่นคำให้การในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ ที่โจทก์เบิกความว่า ส. ตกลงขายที่ดินพิพาททั้งแปลงซึ่งรวมถึงที่ดินพิพาทในส่วนของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เจ้าของรวมด้วยก็ขัดแย้งกับที่ระบุในสัญญา และถือว่าเป็นการนำพยานบุคคลมาสืบเพิ่มเติมข้อความในเอกสาร ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) ปัญหานี้แม้จำเลยทั้งสี่ไม่ได้อ้างมาในคำแก้ฎีกา แต่เป็นเรื่องหลักเกณฑ์การรับฟังพยานเอกสาร อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247
โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทในส่วนของ ส. เท่านั้น ไม่ได้ซื้อที่ดินพิพาทส่วนของจำเลยที่ 2 ช. และจำเลยที่ 4 เจ้าของรวมด้วย สำหรับที่ดินพิพาทเป็นที่ดินซึ่งทางราชการห้ามโอนภายใน 10 ปี นับแต่วันออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ทั้งข้อ 3 ของหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ระบุว่า ส. จะทำการโอนขายที่ดินให้แก่โจทก์ภายในกำหนด 10 ปี ตามที่กำหนดไว้ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ซึ่งจำเลยทั้งสี่ยอมรับในคำฟ้องอุทธรณ์ว่า ข้อความดังกล่าวมีความหมายว่า ส. และโจทก์มีเจตนาจะไปดำเนินการจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทต่อเจ้าพนักงานภายใน 10 ปี หลังจากครบกำหนดห้ามโอน ดังนั้นการที่คู่สัญญามีข้อตกลงเช่นนี้จึงหามีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ป.พ.พ. มาตรา 150 ไม่ เมื่อคู่สัญญาจะจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทในภายหน้า กรณีจึงเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย ไม่ใช่ซื้อขายเสร็จเด็ดขาด
สัญญาข้อ 4 ระบุว่า นับแต่วันทำสัญญา ส. ยินยอมให้โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้เลย เชื่อว่า หลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายกันแล้ว โจทก์ผู้จะซื้อเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจริง แต่โจทก์ไม่ได้สิทธิครอบครอง เพราะ ส. มิได้สละเจตนาครอบครองหรือไม่ยึดถือที่ดินพิพาทต่อไป เพราะยังอยู่ในระยะเวลาห้ามโอน 10 ปี โจทก์เพียงยึดถือที่ดินพิพาทในฐานะเป็นผู้แทน ส. ผู้ครอบครองเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หลังจากปี 2527 พ้นกำหนดห้ามโอน 10 ปี แล้วโจทก์ยังคงครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาโดย ส. มิได้โต้แย้งคัดค้าน จนกระทั่ง ส. ถึงแก่ความตายเมื่อปี 2554 ย่อมแสดงให้เห็นว่า ส. สละเจตนาครอบครองไม่ยึดถือที่ดินเพื่อตนต่อไป การครอบครองของ ส. ย่อมสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 วรรคแรก โจทก์อยู่ในที่ดินพิพาทโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนจึงได้ซึ่งสิทธิครอบครอง จำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทของ ส. กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เจ้าของรวมในที่ดินพิพาทต้องเคารพสิทธิของโจทก์ด้วย จำเลยทั้งสี่ยอมรับในคำให้การว่า จำเลยทั้งสี่นำรถไปไถในที่ดินพิพาทจริง ซึ่งจำเลยที่ 1 ผู้สืบสิทธิของ ส. ไม่มีสิทธิกระทำได้ ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มีสิทธิทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทในฐานะเจ้าของรวม แต่ต้องระมัดระวังมิให้กระทบกระเทือนต่อการใช้สิทธิของโจทก์ด้วย โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทในส่วนของ ส. โดย ส. ยินยอมให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ได้ แต่เมื่อโจทก์ไปทำประโยชน์ จำเลยที่ 1 ในฐานะทายาท ส. กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เจ้าของรวมกลับขัดขวาง โจทก์มีสิทธิห้ามจำเลยที่ 1 ได้ตามคำขอท้ายฟ้อง แต่ห้ามจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้เท่าที่ไม่ขัดต่อการใช้ประโยชน์ของโจทก์ในที่ดินส่วนของ ส. เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4439/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาล: การจำกัดสิทธิเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง และผลของการไม่อุทธรณ์ตามกฎหมาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ คำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 236 วรรคหนึ่ง ต้องห้ามมิให้ฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3226/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดสิทธิอุทธรณ์คดีแพ่งจากทุนทรัพย์ และขอบเขตค่าสินไหมทดแทนที่ศาลบังคับได้ตามกฎหมาย
สิทธิในการอุทธรณ์ในคดีส่วนแพ่งนั้นต้องพิจารณาจากทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยมิได้เป็นคนร้ายที่ร่วมกับพวกกระทำความผิดตามฟ้อง จึงไม่จำต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 24,725 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2555 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท จึงห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. อาญา มาตรา 40 แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 จะรับวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ ถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
การที่ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 นั้น ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวจะต้องเป็นความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดที่พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องร้องเท่านั้น ผู้เสียหายจะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดที่ไม่ถูกฟ้องไม่ได้ เมื่อคดีนี้พนักงานอัยการโจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ซึ่งเกิดแก่รถจักรยานยนต์ของผู้ร้อง ดังนี้ ผู้ร้องจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่รถจักรยานยนต์ดังกล่าวไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1648/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเมื่อทุนทรัพย์ไม่เกิน 200,000 บาท และการโต้แย้งดุลพินิจศาล
โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทอ้างว่าเป็นทางสาธารณะ จำเลยให้การต่อสู้ว่าที่ดินเป็นของจำเลยไม่มีทางสาธารณะตัดผ่าน จึงมีประเด็นที่โต้เถียงว่า ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือเป็นของจำเลย ผลประโยชน์ที่โจทก์หรือจำเลยจะได้รับย่อมเป็นการปลดเปลื้องทุกข์ที่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เมื่อปรากฏว่าที่ดินพิพาทมีราคา 75,354 บาท ดังนี้ ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง โจทก์ฎีกากล่าวอ้างโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 2 เพื่อให้รับฟังข้อเท็จจริงตามที่โจทก์ฎีกาว่า ที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะ จึงเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15320/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีล้มละลาย: สิทธิในการฟ้องร้องของลูกหนี้ที่อยู่ภายใต้การพิทักษ์ทรัพย์ และข้อจำกัดในการดำเนินคดี
หลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2554 แล้ว โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและบ้านพิพาทของโจทก์และเรียกค่าเสียหายจากการที่โจทก์ไม่อาจนำที่ดินและบ้านพิพาทออกให้เช่าซึ่งจะได้ค่าเช่าไม่น้อยกว่าเดือนละ 60,000 บาท คิดถึงวันฟ้องเป็นเวลา 1 เดือน เป็นเงิน 60,000 บาท พร้อมทั้งค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 60,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาท จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า สัญญาเช่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา จำเลยไม่ได้ผิดสัญญาต่อโจทก์ ขอให้บังคับโจทก์จดทะเบียนสิทธิการเช่าที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่จำเลย ดังนี้คดีโจทก์ในส่วนที่ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและบ้านพิพาทอันเป็นทรัพย์สินของโจทก์ ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยโดยตรงจึงไม่อยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะดำเนินคดีแทนจำเลยตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (3) จำเลยย่อมมีอำนาจต่อสู้คดีได้โดยลำพัง สำหรับค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมานั้นโจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่าเป็นค่าเสียหายนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 พร้อมทั้งค่าเสียหายนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาท เมื่อปรากฏว่าศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2554 ค่าเสียหายดังกล่าวจึงเป็นมูลหนี้อันเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่เกิดขึ้นภายหลังที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว โจทก์ไม่อาจนำมาขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 27, 91 และ 94 โจทก์ชอบที่จะฟ้องจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ในคดีล้มละลายไม่อาจฟ้องเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นจำเลยแทนลูกหนี้หรือเข้าดำเนินคดีนี้แทนลูกหนี้ จำเลยย่อมมีอำนาจต่อสู้คดีได้โดยลำพังทั้งมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ด้วยตนเอง แต่ในส่วนฟ้องแย้งของจำเลยนั้น เป็นการขอให้บังคับโจทก์จดทะเบียนสิทธิการเช่าที่ดินและบ้านพิพาทตามสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาอันเป็นประโยชน์ในทางทรัพย์สินของจำเลย กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยใช้สิทธิฟ้องร้องเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยระหว่างจำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดซึ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 22 (3) ที่ศาลชั้นต้นรับฟ้องแย้งและพิพากษาตามฟ้องแย้งจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14499/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดสิทธิฎีกาแพ่งจากทุนทรัพย์พิพาท และการหักเงินค่าสินไหมทดแทนที่ชำระแล้ว
สิทธิในการฎีกาในคดีส่วนแพ่งนั้น ต้องพิจารณาจากทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกา ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน 70,000 บาท จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาในคดีส่วนแพ่งจึงไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 ฎีกาของจำเลยโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและดุลพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนของศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 827/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดสิทธิอุทธรณ์/ฎีกาในคดีเช่าและค่าเสียหาย หากเกินทุนทรัพย์ที่ฟ้อง และประเด็นค่าซ่อมแซมอาคาร
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากอาคารพาณิชย์พิพาท 2 คูหา อันมีค่าเช่าคูหาละ 4,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า พยานหลักฐานจำเลยฟังได้ว่าสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่า เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายสูงเกินไปนั้น ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายเดือนละ 14,000 บาท นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2553 เมื่อนับถึงวันฟ้องวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2554 ทุนทรัพย์ที่พิพาทในส่วนนี้จึงไม่เกินห้าหมื่นบาท ต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วมีคำพิพากษามาจึงไม่ชอบ และปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่ได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และกรณีเช่นนี้จำเลยย่อมไม่มีสิทธิฎีกาข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าวต่อมาด้วย
ส่วนที่จำเลยฎีกาในส่วนฟ้องแย้งขอให้โจทก์ชำระค่าซ่อมแซมอาคารพิพาทเป็นเงิน 450,000 บาท นั้น เห็นว่า ที่จำเลยซ่อมแซมอาคารพิพาทนั้นล้วนเป็นการซ่อมแซมเพื่อประโยชน์ของจำเลยเอง จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าซ่อมแซมอาคารพิพาทจากโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19706/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิถอนเงินวางทรัพย์ถูกจำกัดเมื่อเจ้าหนี้แสดงเจตนาขอรับเงิน แม้ยังไม่มีการพิสูจน์สิทธิ
เมื่อจำเลยและธนาคาร ก. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้แสดงต่อสำนักงานวางทรัพย์กลางว่าจะรับเอาทรัพย์นั้น สิทธิถอนทรัพย์ของโจทก์ที่ 1 จึงเป็นอันขาดไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 334 วรรคสอง (2) เหตุที่สำนักงานวางทรัพย์กลางยังไม่จ่ายเงินเนื่องจากจำเลยและธนาคาร ก. ต่างขอรับเงินจำนวนนี้ จึงต้องมีการพิสูจน์สิทธิต่อสำนักงานวางทรัพย์กลางว่าแท้จริงแล้วผู้ใดมีสิทธิได้รับเงินจำนวนนี้ เมื่อยังไม่มีการพิสูจน์สิทธิ สำนักงานวางทรัพย์กลางต้องเก็บรักษาเงินดังกล่าวไว้เพื่อจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิที่แท้จริง แม้จะล่วงพ้นเวลาสิบปีนับแต่ได้รับการบอกกล่าว ก็ไม่ทำให้สิทธิของเจ้าหนี้เหนือทรัพย์ที่วางไว้ระงับสิ้นไป โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีสิทธิที่จะถอนเงินวางทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 339
of 33