คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
นิติกรรม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 305 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2219/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนทรัพย์มรดกและการเพิกถอนนิติกรรม: ทรัพย์ที่ซื้อด้วยเงินจากมรดกไม่ใช่ทรัพย์มรดกเดิม
โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านระหว่างจำเลยกับ ท. บิดาโจทก์ทั้งเจ็ด เป็นการฟ้องเรียกให้ได้ที่ดินและบ้านกลับคืนมาเป็นทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ทั้งเจ็ด จึงเป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามจำนวนราคาที่ดินและบ้านนั้นและเมื่อโจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องโดยอ้างว่า โจทก์แต่ละคนมีสิทธิในที่ดินและบ้านคนละ 1 ใน 8 ส่วนเท่ากัน จึงเป็นหนี้อันอาจแบ่งแยกได้ ต้องถือทุนทรัพย์แยกกันตามรายตัวโจทก์ตามคำฟ้องโจทก์ทั้งเจ็ดมีคำขอให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านคืนหากไม่สามารถทำได้ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,000,000 บาท จำนวนหนี้ตามสิทธิของโจทก์แต่ละคนจึงไม่เกิน 200,000 บาท คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่โจทก์ทั้งเจ็ดฎีกาว่า พยานหลักฐานโจทก์ทั้งเจ็ดฟังได้ว่า ท. ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านแทนโจทก์ทั้งเจ็ด การขายที่ดินและบ้านแก่จำเลยเป็นเจตนาลวงและเป็นการฉ้อฉลโจทก์ทั้งเจ็ด โจทก์ทั้งเจ็ดจึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินและบ้านได้ และจำเลยต้องชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งเจ็ด ล้วนเป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว
ท. ขายที่ดินมรดกบางส่วนไปในขณะที่ยังไม่มีการแบ่งปันมรดกแล้วนำเงินที่ได้ไปซื้อที่ดินแปลงอื่น ที่ดินที่ซื้อมานั้นไม่ถือว่าเป็นทรัพย์ที่มีสถานะเช่นเดียวกับทรัพย์มรดกที่จะนำมาแบ่งปันแก่ทายาท ดังนั้น การที่ ท. โอนที่ดินที่ซื้อมาดังกล่าวให้แก่จำเลย โจทก์ทั้งเจ็ดไม่อาจฟ้องร้องขอให้เพิกถอนได้ คงมีสิทธิฟ้องร้องขอให้เพิกถอนได้เฉพาะการโอนขายที่ดินที่เป็นมรดกแปลงแรกเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3351/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลคำพิพากษาคดีอาญาผูกพันคดีแพ่ง: เพิกถอนนิติกรรมต้องอาศัยเหตุผลที่ศาลอาญาวินิจฉัย
คดีนี้โจทก์ทั้งห้าฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนให้ที่ดิน เพื่อเรียกที่ดินคืนจากจำเลย โดยอ้างเหตุว่า จำเลยฉ้อโกงโจทก์ทั้งห้าว่าจะยืมที่ดินของโจทก์ทั้งห้าไปจำนองต่อสถาบันการเงิน แต่จำเลยกลับกรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจผิดไปจากความประสงค์ที่แท้จริง โดยปลอมว่า โจทก์ทั้งห้ายกที่ดินให้แก่จำเลย และโจทก์ทั้งห้ายังได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาข้อหาปลอมเอกสารสิทธิและฉ้อโกง คดีอาญาดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า พยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งห้านำสืบมายังไม่พอฟังว่าคดีมีมูล พิพากษายกฟ้อง แม้จะเป็นการวินิจฉัยในชั้นไต่สวนมูลฟ้องก็ตาม แต่คดีถึงที่สุดแล้ว อีกทั้งได้วินิจฉัยในประเด็นเกี่ยวข้องโดยตรงกับที่โจทก์ฟ้องคดีนี้แล้วว่า พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งห้าไม่มีมูลให้ฟังว่า จำเลยกระทำความผิด ฉะนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1849/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายสินสมรสโดยสุจริตของผู้ซื้อที่ไม่ทราบสถานะสมรสของผู้ขาย การเพิกถอนนิติกรรม
จำเลยไม่ทราบว่าโจทก์จดทะเบียนสมรสกับนางสาว พ. จำเลยซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นสินสมรสของโจทก์และนาง พ. จากนาง พ. โดยเข้าใจว่านาง พ. เป็นหม้ายเนื่องจากโจทก์ไปมีภริยาใหม่และได้ทิ้งร้างนาง พ. จำเลยทำนิติกรรมกับนาง พ. โดยสุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยกับนาง พ. ซึ่งถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10738/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ โมฆะนิติกรรมจำนองจากผู้จัดการมรดกปลอม และการเพิกถอนหมายบังคับคดี
ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ บ. ซึ่งเป็นมารดาของผู้ร้องและจำเลยเนื่องจากจำเลยอ้างว่า บ. ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้จำเลย แล้วจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยและนำไปจำนองเป็นประกันหนี้ต่อโจทก์ต่อมาศาลพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์และให้ยึดที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดซึ่งโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทเพื่อบังคับคดีแล้ว แต่ผู้ร้องยื่นคำร้องในคดีที่จำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกขอให้ถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของ บ. ศาลไต่สวนและมีคำสั่งถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกเนื่องจากพินัยกรรมที่จำเลยอ้างเป็นโมฆะ และตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกแทน คดีถึงที่สุดแล้ว กรณีจึงต้องถือว่าขณะจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทให้แก่ตนเองในฐานะส่วนตัวทั้งที่ตนไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมที่อ้าง เป็นการทำนิติกรรมซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของ บ. อันเป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 นิติกรรมการโอนตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โดยถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการโอนเกิดขึ้นเลยกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทยังเป็นของกองมรดกของ บ. อยู่ตามเดิม สัญญาจำนองที่จำเลยในฐานะส่วนตัวทำกับโจทก์ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิใด ๆ แก่โจทก์ที่จะบังคับเอาแก่ที่ดินพิพาท เพราะผู้จำนองไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่จำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 แม้โจทก์จะอ้างว่ารับจำนองโดยสุจริตก็ตาม
เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องในคดีที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทเพื่อบังคับคดีโดยอ้างข้อเท็จจริงดังกล่าว และขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดี จึงเป็นคำร้องที่มีความหมายว่า โจทก์ขอหมายบังคับคดีเอาแก่ที่ดินพิพาทซึ่งมิใช่กรรมสิทธิ์ของจำเลยที่เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา และโจทก์ไม่ได้เป็นผู้รับจำนองไว้โดยชอบ เพราะไม่ได้รับจำนองไว้จากผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ แต่เป็นการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของบุคคลภายนอก อันเป็นการฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 282 วรรคหนึ่ง ถือได้ว่าผู้ร้องกล่าวอ้างว่าหมายบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ยื่นคำขอเจาะจงว่าให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเพื่อดำเนินการบังคับคดีแก่ที่ดินพิพาท และศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีให้ตามขอ ถือได้ว่าเป็นการออกหมายบังคับคดีโดยไม่ชอบตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลชอบที่จะเพิกถอนหมายบังคับคดีดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8738/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนนิติกรรมโอนสินสมรสโดยไม่ยินยอม และประเด็นเรื่องอายุความฟ้องร้อง
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีนำที่ดินซึ่งเป็นสินสมรสไปโอนให้บุคคลอื่นโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1480 วรรคสอง ได้กำหนดระยะเวลาให้ฟ้องคดีซึ่งเป็นกำหนดระยะเวลาให้ใช้สิทธิเรียกร้อง ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดสิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ จึงเป็นเรื่องอายุความฟ้องร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/9 ปัญหาเรื่องอายุความไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มิได้ยกปัญหานี้ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ ส่วนจำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความมาตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลจะอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ ต้องห้ามตามมาตรา 193/29

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8738/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนนิติกรรมโอนสินสมรสโดยไม่ได้รับความยินยอม และประเด็นอายุความฟ้องร้อง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 วรรคสอง เป็นกำหนดระยะเวลาให้ใช้สิทธิเรียกร้อง ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความจึงเป็นเรื่องอายุความฟ้องร้องตามมาตรา 193/9
ปัญหาเรื่องอายุความไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มิได้ยกปัญหานี้ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การ ส่วนจำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความมาตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์จะเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/29

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7674/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ในที่ดินสินสมรสหลังการขายฝาก: สิทธิการครอบครองของคู่สมรสเมื่อยังไม่ได้เพิกถอนนิติกรรม
ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลย จำเลยขายฝากที่ดินพิพาทไว้กับโจทก์โดยผู้ร้องไม่ได้ให้ความยินยอม แต่เมื่อศาลยังไม่ได้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลย ที่ดินพิพาทก็ยังคงเป็นของโจทก์อยู่ โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารซึ่งรวมถึงผู้ร้องออกไปจากที่ดินพิพาทได้ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีอำนาจพิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา (3) ที่จะอยู่ในที่ดินพิพาทต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4324/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนทรัพย์มรดกโดยชอบ การเพิกถอนนิติกรรมเนื่องจากหลอกลวง/ไม่สุจริต และอำนาจการฟ้อง
ตามสำเนาคำขอโอนมรดกเฉพาะส่วน สำเนาบันทึกถ้อยคำเรื่องผู้จัดการมรดกรับโอนมรดก และสารบัญจดทะเบียนในสำเนาโฉนดที่ดินเลขที่ 13015 ได้ความว่า โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ป. ขอจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 13015 ส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของ ป. ที่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ป. รับโอนมาให้แก่โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในฐานะที่โจทก์เป็นทายาทของ ป. เจ้ามรดก ดังนี้ การขอจดทะเบียนของโจทก์ดังกล่าวเป็นกรณีที่ผู้จัดการมรดกขอจดทะเบียนสิทธิในที่ดินให้แก่ทายาทต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 82 วรรคสอง ถือได้ว่าการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์มรดกได้กระทำโดยชอบตามกฎหมาย หากทายาทคนอื่นของ ป. เห็นว่าโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกจัดการมรดกไม่ถูกต้องก็เป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกับโจทก์เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก เมื่อการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์มรดกดังกล่าวได้กระทำโดยชอบตามกฎหมายโจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน ดังนั้น นิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินส่วนดังกล่าวตามสัญญาให้ที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และสัญญาขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วจึงมีผลสมบูรณ์
เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วมีโจทก์ฝ่ายเดียวที่อุทธรณ์ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง แม้จำเลยทั้งสามไม่ได้อุทธรณ์แต่ได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์โดยกล่าวโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าวว่า ตามพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบฟังได้ว่าโจทก์ทำนิติกรรมสัญญาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 13015 ส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของ ป. ที่โจทก์รับโอนมาโดยเสน่หาและโดยสมัครใจ จำเลยที่ 1 ไม่ได้หลอกลวงโจทก์ให้ทำนิติกรรม และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทส่วนดังกล่าวโดยสุจริต ดังนี้ ในชั้นอุทธรณ์จึงมีประเด็นดังกล่าวต้องวินิจฉัยเพราะคู่ความยังโต้เถียงกันอยู่ และปัญหาดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังไม่ได้วินิจฉัย แต่คดีได้มีการสืบพยานของคู่ความในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาใหม่ ในชั้นนี้จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 หลอกลวงให้โจทก์ทำนิติกรรมสัญญาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 13015 ส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของ ป. ที่โจทก์รับโอนมา และจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับโอนที่ดินพิพาทส่วนดังกล่าวโดยไม่สุจริตตามที่โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างหรือไม่ โดยพยานโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และ ท. มาหลอกลวงโจทก์ให้โอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ตามที่อ้างในฟ้อง นิติกรรมตามสัญญาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 13015 ส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของ ป. ที่โจทก์รับโอนมาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่มีข้อบกพร่องตามกฎหมายอย่างใดที่จะเพิกถอนได้ เมื่อไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะเพิกถอนนิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 แล้วย่อมมีผลทำให้ไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมตามสัญญาขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 13015 ส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของ ป. ที่โจทก์รับโอนมาได้เช่นเดียวกัน จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซื้อที่ดินดังกล่าวโดยสุจริตหรือไม่จึงไม่เป็นปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3973/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีเพิกถอนนิติกรรมของผู้อนุบาลต้องกระทำร่วมกัน หรือได้รับคำสั่งศาลเป็นพิเศษ
ป.พ.พ. มาตรา 1598/18 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1590 บัญญัติให้นำบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ปกครองมาใช้บังคับแก่ผู้อนุบาล โดยศาลจะตั้งผู้อนุบาลหลายคนให้กระทำการร่วมกันหรือกำหนดอำนาจเฉพาะสำหรับคนหนึ่ง ๆ ก็ได้ ซึ่งศาลเยาวชนและครอบครัวมีคำสั่งเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 179/2558 ให้โจทก์เป็นคนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความอนุบาลของ ฤ. และจำเลยร่วมกัน ศาลอุทธรณ์ภาค 6 และศาลฎีกาพิพากษายืนโดยศาลฎีกาให้ ฤ. เป็นผู้มีสิทธิกำหนดที่อยู่ของโจทก์ ตามคำสั่งศาลระบุเพียงว่า ฤ. และจำเลยเป็นผู้อนุบาลโจทก์ผู้ไร้ความสามารถ โดยมิได้กำหนดหน้าที่ของผู้อนุบาลแต่ละคนไว้โดยเฉพาะและมิได้กำหนดให้ผู้อนุบาลกระทำการร่วมกันอย่างไร ยกเว้นแต่ในเรื่องการกำหนดที่อยู่ที่ศาลฎีการะบุให้ ฤ. เพียงผู้เดียวเป็นผู้มีสิทธิกำหนดที่อยู่ของโจทก์ได้ กรณีจึงต้องถือว่าการใดที่ ฤ. และจำเลยกระทำการแทนโจทก์รวมถึงการบอกล้างโมฆียะกรรมต้องกระทำด้วยความยินยอมพร้อมใจกัน ดังนั้น การที่โจทก์โดย ฤ. ในฐานะผู้อนุบาลเพียงคนเดียวโดยไม่มีจำเลยร่วมฟ้องเป็นคดีนั้นจึงขัดต่อคำสั่งศาล ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ทั้งนี้แม้การกระทำของจำเลยจะเป็นปฏิปักษ์ต่อทรัพย์ของโจทก์ แต่ ฤ.ไม่อาจอ้างเหตุความเป็นปฏิปักษ์ดังกล่าวมาเป็นข้ออ้างในการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวได้เพราะ ฤ. อาจยื่นคำร้องต่อศาลที่มีคำสั่งให้โจทก์เป็นคนไร้ความสามารถโดยแสดงเหตุขัดข้องดังกล่าว เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ ฤ. เพียงฝ่ายเดียวมีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว หรือขอให้ศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับการขอถอดถอนจำเลยจากการเป็นผู้อนุบาลร่วมได้ ดังนั้น โจทก์โดย ฤ. ในฐานะผู้อนุบาลเพียงคนเดียวจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ปัญหาอำนาจฟ้องนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6562/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การได้ภาระจำยอมโดยนิติกรรมและอายุความ แม้ยังมิได้จดทะเบียน ก็มีผลผูกพันกับผู้รับโอนที่ดิน
ที่ดินของโจทก์แบ่งแยกมาจากที่ดินของ ส. และ ต. ภายหลังแบ่งแยก ต. ผู้ขายที่ดินให้แก่โจทก์ตกลงยินยอมให้โจทก์ใช้ทางพิพาทซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินของ ต. เป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะ ซึ่งโจทก์และบริวารก็ได้ใช้ทางพิพาทดังกล่าวตลอดมา การตกลงกันดังกล่าวถือเป็นการทำนิติกรรมก่อตั้งสิทธิภาระจำยอมระหว่างกัน หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์ใช้ทางพิพาทโดยอาศัยสิทธิของ ต. หรือโดยวิสาสะไม่ ทางพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์โดยนิติกรรมดังกล่าว อันเป็นทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เมื่อโจทก์ยังไม่ได้จดทะเบียนการได้ทางภาระจำยอมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่บริบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง แต่โจทก์ก็อาจได้ภาระจำยอมในทางพิพาทโดยอายุความหากโจทก์ได้ใช้ทางพิพาทโดยเจตนาให้ได้ภาระจำยอมซึ่งต้องพิจารณาจากการใช้ว่า เป็นการใช้โดยอาการที่ถือสิทธิเป็นปรปักษ์ต่อ ต. เจ้าของที่ดินที่ตั้งทางพิพาทคนเดิมและเจ้าของที่ดินคนต่อ ๆ มาหรือไม่
โจทก์ใช้ทางพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาให้เป็นทางภาระจำยอมตลอดมา เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ทางพิพาทย่อมตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ เมื่อเป็นการได้มาซึ่งภาระจำยอมแล้ว แม้จะเป็นการได้ทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ก็ไม่อยู่ในบังคับบทบัญญัติมาตรา 1299 วรรคสอง ดังนั้น จำเลยทั้งสองจะยกเรื่องการรับโอนที่ดินมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์หาได้ไม่
of 31