คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ลิขสิทธิ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 300 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3034/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์ที่ไม่ชัดเจน ขาดรายละเอียดงานและเจ้าของลิขสิทธิ์ ทำให้จำเลยไม่เข้าใจข้อหา
โจทก์บรรยายฟ้องมีสาระสำคัญเพียงว่าเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2547 เวลากลางคืนหลังเที่ยงต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสามร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ในงานแพร่เสียงแพร่ภาพของผู้เสียหายทั้งห้า ด้วยการส่งหรือรับภาพด้วยคลื่นความถี่ ด้วยวิธีการแพร่กระจายไปในตัวนำไฟฟ้า ในงานอันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งห้าเหตุเกิดที่ ต.หายยา อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงมีความชัดแจ้งเพียงเฉพาะข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ แต่เมื่อมิได้บรรยายให้ชัดเจนว่า งานแพร่เสียงแพร่ภาพอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายแต่ละรายที่ถูกละเมิดในช่วงเวลาและสถานที่ดังกล่าวคือรายการใดบ้าง และรายการใดเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายรายใด มีรายละเอียดของลักษณะงานพอสังเขปเช่นใด จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่อาจทำให้จำเลยทั้งสามเข้าใจและต่อสู้ถึงการมีลิขสิทธิ์ในรายการแต่ละรายการและความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายแต่ละราย รวมทั้งลักษณะการกระทำอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ต่องานแพร่เสียงแพร่ภาพส่วนที่มีลิขสิทธิ์ได้ ถือไม่ได้ว่าฟ้องของโจทก์บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยทั้งสามได้กระทำผิด และข้อเท็จจริงอีกทั้งรายละเอียดที่เกี่ยวกับบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี คำฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 302/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเผยแพร่ต่อสาธารณชนงานละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านตู้เพลงคาราโอเกะ และการแก้ไขคำพิพากษาให้ถูกต้องตามกฎหมาย
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 ให้ความหมายคำว่า "เผยแพร่ต่อสาธารณชน" ไว้ว่า ทำให้ปรากฏต่อสาธารณชนโดยการแสดง การบรรยาย การสวด การบรรเลง การทำให้ปรากฏด้วยเสียงและหรือภาพ การก่อสร้าง การจำหน่าย หรือโดยวิธีอื่นใดซึ่งงานที่ได้จัดทำขึ้น เมื่อปรากฏตามคำฟ้องโจทก์ว่า โจทก์ได้บรรยายการกระทำของจำเลยแล้วว่า จำเลยนำแผ่นวีซีดีซึ่งเป็นงานสิ่งบันทึกเสียงและโสตทัศนวัสดุที่บันทึกข้อมูลงานดนตรีกรรมเพลง "เทพธิดาผ้าซิ่น" และ "โบว์รักสีดำ" ซึ่งทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ 2 แผ่น เข้าประกอบไว้ในตู้เพลงวีซีดีคาราโอเกะ ซึ่งมีเครื่องอ่านข้อมูลทำการแปลงสัญญาณดิจิตัลออกเป็นสัญญาณภาพและเสียงผ่านออกทางจอภาพและลำโพง ปรากฏเนื้อร้องและทำนองออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนในร้านอาหารของจำเลยเพื่อให้บริการลูกค้าผู้เข้ามาใช้บริการฟังเพลงและขับร้องเพลง อันเป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหาย เห็นได้ว่าคำบรรยายฟ้องดังกล่าวได้บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยตามความหมายของคำว่า "เผยแพร่ต่อสาธารณชน" โดยทำให้ปรากฏต่อสาธารณชนด้วยเสียงหรือภาพแล้ว ซึ่งในคำฟ้องใช้ถ้อยคำว่า "ทำการแปลงเนื้อร้องและทำนอง" ส่วนคำว่า "เพื่อ" ให้บริการลูกค้าผู้เข้ามาใช้บริการฟังเพลงและขับร้องเพลงในฟ้อง ก็เป็นการบรรยายว่า การเปิดเพลงดังกล่าวเพื่อให้สาธารณชนฟังอันเป็นการครบองค์ประกอบความผิดแล้ว การบรรยายฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 5/2549)
จำเลยอุทธรณ์ว่า ขณะจำเลยถูกจับกุมและยึดของกลาง จำเลยมิได้ทำการเผยแพร่ต่อสาธารณชน จำเลยไม่ได้เปิดเพลงเป็นการเผยแพร่ เพียงจับได้ของกลางแผ่นซีดี 2 แผ่น ในตู้เพลง แต่ปรากฏว่าในชั้นพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จำเลยให้การรับสารภาพ ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่จำเลยอุทธรณ์จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ ป.วิ.พ. มาตรา 225
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยกระทำต่องานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31(2) ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง ดังนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 28 (2) ประกอบมาตรา 69 วรรคสอง ตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้อง รวมถึงกำหนดอัตราโทษตามกฎหมายที่ถูกต้องด้วย ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 302/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเผยแพร่ต่อสาธารณชนงานละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านตู้เพลงคาราโอเกะ และการแก้ไขคำพิพากษาให้ถูกต้องตามกฎหมาย
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 4 ให้ความหมายคำว่า "เผยแพร่ต่อสาธารณชน" ไว้ว่า ทำให้ปรากฏต่อสาธารณชนโดยการแสดง การบรรยาย การสวด การบรรเลงการทำให้ปรากฏด้วยเสียงและหรือภาพ การก่อสร้าง การจำหน่ายหรือโดยวิธีอื่นใดซึ่งงานที่ได้จัดทำขึ้น เมื่อปรากฏตามคำฟ้องโจทก์ว่า โจทก์ได้บรรยายการกระทำของจำเลยแล้วว่า จำเลยนำแผ่นวีซีดีซึ่งเป็นงานสิ่งบันทึกเสียงและโสตทัศนวัสดุที่บันทึกข้อมูลงานดนตรีกรรมเพลง "เทพธิดาผ้าซิ่น" และ "โบว์รักสีดำ" ซึ่งทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ 2 แผ่น เข้าประกอบไว้ในตู้เพลงวีซีดีคาราโอเกะ ซึ่งมีเครื่องอ่านข้อมูลทำการแปลงสัญญาณดิจิตัลออกเป็นสัญญาณภาพและเสียงผ่านออกทางจอภาพและลำโพง ปรากฏเนื้อร้องและทำนองออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนในร้านอาหารของจำเลยเพื่อให้บริการลูกค้าผู้เข้ามาใช้บริการฟังเพลงและขับร้องเพลง อันเป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหาย เห็นได้ว่าคำบรรยายฟ้องดังกล่าวได้บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยตามความหมายของคำว่า "เผยแพร่ต่อสาธารณชน" โดยทำให้ปรากฏต่อสาธารณชนด้วยเสียงและหรือภาพแล้วซึ่งในคำฟ้องใช้ถ้อยคำว่า "ทำการแปลงสัญญาณดิจิตัลออกเป็นสัญญาณภาพและเสียงผ่านออกทางจอภาพและลำโพง ปรากฏเนื้อร้องและทำนอง" ส่วนคำว่า "เพื่อ" ให้บริการลูกค้าผู้เข้ามาใช้บริการฟังเพลงและขับร้องเพลงในฟ้อง ก็เป็นการบรรยายว่าการเปิดเพลงดังกล่าวเพื่อให้สาธารณชนฟังอันเป็นการครบองค์ประกอบความผิดแล้ว การบรรยายฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1148/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีละเมิดลิขสิทธิ์: การร้องทุกข์โดยผู้รับมอบอำนาจและเจ้าของลิขสิทธิ์ที่แท้จริง
แม้ตามคำฟ้องจะระบุว่า ช. เป็นผู้เสียหาย แต่ในคำฟ้องก็มีข้อความต่อไปว่าลิขสิทธิ์ตามฟ้องเป็นของ ม. สำหรับดนตรีกรรม เพลง "พี่ชาย" และ ค. สำหรับดนตรีกรรมเพลง "ลมเพ ลมพัด, โมรา และรอยทาง" ส่วนในความตอนท้ายของคำฟ้องก็มีข้อความว่าผู้เสียหายซึ่งคือ ช. ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนโดยท้ายคำฟ้องโจทก์ได้อ้างสัญญาซื้อขายสิทธิมาด้วย ซึ่งถือว่าสัญญาซื้อขายสิทธิดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง และในข้อ 7 ของสัญญาซื้อขายสิทธิระบุว่า เจ้าของลิขสิทธิ์คือ ม. และ ค. ได้ตกลงให้ ช. เป็นผู้ดำเนินการแจ้งความทุกข์ รวมทั้งมีสิทธิมอบอำนาจช่วง ดังนี้การร้องทุกข์โดยผู้เสียหายคือ ช. ต่อพนักงานสอบสวนตามคำบรรยายฟ้องจึงถือได้ว่าคดีมีการร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2462/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านตู้คาราโอเกะ: การพิสูจน์เจตนา 'รู้' หรือ 'ควรรู้' ถึงการละเมิดลิขสิทธิ์
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (2) บัญญัติว่า "ผู้ใดรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานนั้นเพื่อหากำไร ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้...(๒) เผยแพร่ต่อสาธารณชน..." แม้โจทก์มิได้บรรยายโดยชัดแจ้งว่าจำเลยกับพวกรู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานที่นำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนนั้นเป็นงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายอันเป็นองค์ประกอบสำคัญของความผิดดังกล่าว แต่คดีนี้โจทก์ก็บรรยายฟ้องในตอนต้นว่า จำเลยกับพวกร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ในงานของผู้เสียหายด้วยการทำซ้ำหรือดัดแปลงในงานสร้างสรรค์ประเภทงานดนตรีกรรม ซึ่งประกอบด้วยเนื้อร้องและทำนองของผู้เสียหาย โดยการนำสิ่งบันทึกเสียงที่มีคำร้อง ทำนองเสียงเพลง อันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายไปบันทึกข้อมูลลงในเครื่องคอมพิวเตอร์บรรจุลงในตู้คาราโอเกะหยอดเหรียญในลักษณะทำซ้ำหรือดัดแปลงให้ปรากฏคำร้องและทำนองเสียงเพลงในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ อันเป็นการบรรยายให้พอเข้าใจได้ว่างานที่อยู่ในตู้คาราโอเกะหยอดเหรียญดังกล่าวนั้นเป็นงานที่ได้กระทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย เนื่องจากอ้างว่าเป็นงานที่จำเลยกับพวกร่วมกันทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องต่อไปในตอนท้ายว่า โดยนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนด้วยการเปิดงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายดังกล่าวผ่านทางตู้คาราโอเกะหยอดเหรียญให้บริการร้องเพลงคาราโอเกะแก่ลูกค้าในร้านที่เกิดเหตุโดยเรียกเก็บเงินค่าตอบแทนจากลูกค้า เพื่อแสวงหากำไรในทางการค้า โดยจำเลยกับพวกรู้อยู่แล้วว่าเป็นการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายและไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหาย ดังนี้ เมื่ออ่านฟ้องทั้งหมดแล้วย่อมพอเข้าใจได้ว่าเป็นการบรรยายฟ้องที่อ้างว่าจำเลยกับพวกรู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานที่อยู่ในตู้คาราโอเกะหยอดเหรียญดังกล่าวที่นำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนนั้นเป็นงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1265/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลิขสิทธิ์งานศิลปกรรม: การสร้างสรรค์ด้วยวิริยะอุตสาหะ แม้มีนโยบาย/แนวคิดจากผู้อื่น ก็ยังถือเป็นการริเริ่มสร้างสรรค์
ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 และมาตรา 6 งานสร้างสรรค์ประเภทศิลปกรรมที่มีลักษณะเป็นงานจิตรกรรมจะเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติดังกล่าวของ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 นั้น ต้องเป็นงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำหรือก่อให้เกิดงานนั้นด้วยการริเริ่มขึ้นเองโดยมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต งานอันมีลิขสิทธิ์ไม่จำต้องเป็นงานใหม่อย่างเช่นกรณีของสิทธิบัตรการประดิษฐ์ซึ่งจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตรต่อเมื่อเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่หรือต้องไม่เป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้ว งานอันมีลิขสิทธิ์จึงอาจเหมือนหรือคล้ายกับงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ปรากฏอยู่แล้วได้ แต่งานที่เหมือนหรือคล้ายกันนั้นต้องเกิดจากการริเริ่มสร้างสรรค์ขึ้นเองของผู้สร้างสรรค์โดยมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต คุณค่าของงานหรือคุณค่าทางศิลปะไม่ใช่เงื่อนไขของการคุ้มครองลิขสิทธิ์ แม้งานที่สร้างขึ้นนั้นจะไม่มีคุณค่าของงานหรือคุณค่าทางศิลปะ หากผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้นด้วยความวิริยะอุตสาหะ ด้วยการทุ่มเทกำลังสติปัญญาความรู้ความสามารถ ใช้ประสบการณ์และวิจารณญาณในการสร้างงานนั้น งานนั้นก็ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ โดยการคุ้มครองลิขสิทธิ์เป็นการให้ความคุ้มครองรูปแบบของการแสดงออกซึ่งความคิด ไม่คุ้มครองความคิดหรือแนวความคิด เมื่อพิจารณาถึงแบบซุ้มประตูเมืองที่ขยายมาตราส่วน ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือ ส่วนแรก ซุ้มประตูด้านบน ซึ่งประกอบไปด้วยรูปโบราณสถานของเมือง 5 อย่าง ได้แก่ ศาลหลักเมือง พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชและกำแพงเมือง พระบรมมหาธาตุ ศาลาพุทธสิหิงค์ และหอพระนารายณ์ ส่วนที่สอง คานของซุ้มประตู โดยด้านซ้ายและขวามีลายไทย 4 มุม วงกลมล้อมรูป 12 นักษัตร ด้านละ 6 ตัว ตรงกลางเป็นแผ่นป้าย "ยินดีต้อนรับ เทศบาลนครนครศรีธรรมราช" และส่วนที่สาม เสาของซุ้มประตูเมือง โดยเสาซ้ายและขวามีลายเส้นดอกไม้ใหญ่เริ่มจากตรงกลางเสา เสาละ 1 ดอก ส่วนเสากลางมีดอกไม้ 1 ดอก เริ่มตั้งแต่ฐานล่างสุดของเสา ด้านบนเป็นตราของจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์นำสืบว่าได้ออกแบบโดยปรึกษากับนายภิญโญ ค้นประวัติของเมืองนครศรีธรรมราช ตรวจสอบศึกษาสถาปัตยกรรมพื้นบ้าน วัตถุโบราณ โบราณสถานในจังหวัด ภูมิปัญญาท้องถิ่น จุดเด่นของจังหวัด รวบรวมหลายอย่างเข้าด้วยกัน แล้วจินตนาการด้วยลีลาการเขียนจิตรกรรม ทำเป็นร่างงานจิตรกรรมขึ้นมา ดังนี้ ย่อมถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ด้วยความวิริยะอุตสาหะแล้ว แม้การออกแบบดังกล่าวของโจทก์จะเป็นไปตามนโยบายและแนวคิดของจำเลยที่ 1 และมีการปรับปรุงแก้ไขตามคำแนะนำของจำเลยที่ 1 ตามที่ฝ่ายจำเลยอ้างก็ตาม แต่การคุ้มครองลิขสิทธิ์นั้นเป็นการคุ้มครองในการแสดงออก ไม่คลุมถึงความคิดหรือแนวความคิด การที่โจทก์ปรับปรุงแก้ไขก็เพียงเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของทางจำเลยที่ 1 เพื่อที่โจทก์จะได้รับพิจารณาให้เป็นผู้ก่อสร้างซุ้มประตูตามแบบดังกล่าว นอกจากนี้แม้ซุ้มประตูด้านบนจะประกอบไปด้วยโบราณสถานของจังหวัดซึ่งบุคคลทั่วไปรู้จักและมีการก่อสร้างมานานแล้วก็ตาม แต่การที่โจทก์เลือกโบราณสถานที่สำคัญของจังหวัดมาเพียง 5 รายการ โดยออกแบบโบราณสถานทั้งห้ารายการให้มีลักษณะ มุมมอง ลายเส้น และขนาด ที่เหมาะสมกับซุ้มประตู แล้วนำมาจัดเรียงกัน ตกแต่งด้วยลายไทย ลายดอกไม้ 12 นักษัตร โจทก์ย่อมต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะในการดำเนินการเพื่อให้ออกมาเป็นแบบได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าแบบซุ้มประตูเมืองดังกล่าวเกิดจากการทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ย่อมถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ริเริ่มสร้างสรรค์และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานศิลปกรรมอันมีลักษณะงานจิตรกรรมในแบบซุ้มประตูเมืองดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5715/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ประกอบการคาราโอเกะต่อการละเมิดลิขสิทธิ์เพลง
ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นผู้ประกอบการร้านคาราโอเกะ แม้ขณะเกิดเหตุจำเลยมิได้อยู่ในร้าน แต่จำเลยในฐานะเจ้าของร้านซึ่งประกอบกิจการร้านคาราโอเกะย่อมมีหน้าที่ต้องตรวจตราดูแลและควบคุมการดำเนินกิจการของร้านให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและไม่ผิดกฎหมาย การที่จำเลยเป็นผู้ติดต่อให้เจ้าของตู้เพลงคาราโอเกะหยอดเหรียญที่มีงานเพลงซึ่งได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายมาติดตั้งที่ร้านคาราโอเกะของจำเลย จำเลยย่อมอยู่ในวิสัยที่จะตรวจสอบได้ว่างานเพลงที่ติดตั้งในหน่วยความจำของตู้เพลงคาราโอเกะหยอดเหรียญดังกล่าวเป็นงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายหรือไม่ จำเลยจึงรู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานดังกล่าวทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย เมื่อมีการเปิดเพลงดังกล่าวจากตู้เพลงคาราโอเกะหยอดเหรียญโดยแบ่งปันผลประโยชน์กัน จึงเป็นความผิดสำเร็จ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเผยแพร่ต่อสาธารณชนในงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายเพื่อหากำไรอันเป็นการกระทำเพื่อการค้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7616/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลต้องพิจารณาความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์และคอมพิวเตอร์ควบคู่กัน หากเป็นการกระทำกรรมเดียว หากฟ้องไม่ชัดเจน ศาลมีสิทธิยกฟ้อง
แม้ฟ้องของโจทก์จะไม่บรรยายระบุว่าได้ทำการโฆษณางานครั้งแรกเมื่อใด แต่โจทก์อาจได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่ายในกรณีที่ยังไม่ได้มีการโฆษณางานได้เมื่อโจทก์มีสัญชาติไทยและเป็นผู้สร้างสรรค์งานภาพถ่ายนั้นเอง โจทก์ก็ย่อมได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าวทันทีที่สร้างสรรค์งานเสร็จแม้จะยังมิได้โฆษณางานนั้น ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 8 (1) ซึ่งลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่ายนั้น มีอายุ 50 ปี นับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้นตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 21 เมื่อขณะฟ้องโจทก์มีอายุเพียง 25 ปี แม้จะฟังว่าโจทก์ได้สร้างสรรค์งานนั้นตั้งแต่เกิด งานภาพถ่ายของโจทก์ก็ยังอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครอง จึงถือได้ว่าฟ้องของโจทก์ได้แสดงให้เห็นว่าโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่ายที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นและยังอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์จึงไม่ขาดองค์ประกอบของความผิดในข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่ายของโจทก์
เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องรวมกันมาในข้อเดียวว่า จำเลยกระทำโดยเจตนาละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยการทำซ้ำหรือดัดแปลงด้วยการคัดลอกงานภาพถ่ายของโจทก์ อีกทั้งจำเลยยังเจตนาทำให้โจทก์เสียหายด้วยการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมข้อมูลคอมพิวเตอร์บางส่วนของโจทก์โดยมิชอบ จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่แสดงให้เห็นว่าเจตนาของจำเลยในการกระทำความผิดทั้งสองเป็นเจตนาเดียวกันอันถือเป็นการฟ้องคดีอาญาสำหรับการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์สำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ขาดองค์ประกอบของความผิดและพิพากษายกฟ้องความผิดส่วนดังกล่าวไป ก็ยังต้องวินิจฉัยต่อไปด้วยว่าฟ้องโจทก์ในส่วนของความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 9 มีมูลให้ประทับรับฟ้องไว้พิจารณาต่อไปหรือไม่ด้วย การที่ศาลดังกล่าวออกจากสารบบความจึงไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 35
พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 9 บัญญัติว่า "ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุก..." แต่ที่โจทก์บรรยายฟ้องมาเพียงทำนองว่า จำเลยได้คัดลอกข้อมูลคอมพิวเตอร์ของโจทก์จากเว็บไซต์ของโจทก์ไปไว้ในเว็บไซต์ของจำเลยเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าการกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมข้อมูลคอมพิวเตอร์ของโจทก์อย่างไร แม้จะฟังข้อเท็จจริงได้ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาดังกล่าว ก็ไม่อาจเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 9 ได้ ฟ้องโจทก์สำหรับความผิดดังกล่าวจึงเป็นฟ้องที่ไม่อาจลงโทษจำเลยในข้อหาดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5073/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์เพลงในร้านอาหาร: เจ้าของร้านมีหน้าที่ดูแลควบคุมการกระทำของพนักงาน
แม้ขณะเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นร้านอาหารของจำเลย จำเลยจะมิได้อยู่ในที่เกิดเหตุและมีพนักงานในร้านของจำเลยดูแลร้านอาหารที่เกิดเหตุก็ตาม แต่จำเลยในฐานะเจ้าของร้านค้าก็มีหน้าที่ต้องตรวจตราดูแลและควบคุมการดำเนินกิจการของร้านให้เป็นไปโดยเรียบร้อยโดยไม่ผิดกฎหมาย เมื่อปรากฏว่าพนักงานในร้านของจำเลยให้บริการลูกค้าภายในร้านโดยการเปิดเพลงซึ่งเป็นงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งที่สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิได้ครบกำหนดแล้ว แต่การกระทำดังกล่าวล้วนเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของร้านอาหารโดยแท้ กรณีจึงเชื่อได้ว่าจำเลย รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำดังกล่าวของพนักงานและเป็นการกระทำภายใต้การสั่งการของจำเลย จำเลยจึงเป็นตัวการในการกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าโดยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (2)
ตามคำฟ้องของโจทก์ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเปิดเพลงของโจทก์ร่วมที่มีผู้ทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ให้สาธารณชนทั่วไปที่ใช้บริการในร้านอาหารของจำเลยได้รับฟังและขับร้องเพลง อันเป็นความผิดฐานเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2) แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยการกระทำโดยตรงต่องานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมด้วยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (2) ที่กล่าวมาข้างต้น คำบรรยายฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นคำฟ้องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าโดยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (2) จึงไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่งและวรรคสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4631/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์: การบรรยายฟ้องความผิดหลายกรรม และการขาดอายุความ
ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ได้ความว่า บทความของโจทก์ที่ได้เผยแพร่ทางเว็บไซต์นั้น มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับข่าวเศรษฐกิจและบทสัมภาษณ์บุคคล ซึ่งล้วนแต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม 2558 ทั้งสิ้น แม้ฟ้องไม่ได้ระบุว่าบทความนั้นทำขึ้นเมื่อใด แต่ก็เห็นได้ชัดว่าบทความดังกล่าวทำขึ้นในปี 2558 ดังนั้น ในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 14 มกราคม 2558 ถึงวันที่ 13 มีนาคม 2558 ที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งเจ็ดกระทำความผิดจึงยังอยู่ในอายุแห่งความคุ้มครองลิขสิทธิ์ ถือได้ว่าฟ้องของโจทก์ได้บรรยายแล้วว่าโจทก์เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอันเป็นองค์ประกอบของความผิดข้อหนึ่งแล้ว ในกรณีนี้ ฟ้องของโจทก์ไม่จำต้องบรรยายวันที่โจทก์โฆษณางานครั้งแรกแต่อย่างใด เพราะโจทก์ได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ทันทีที่สร้างสรรค์งานวรรณกรรมบทความดังกล่าวเสร็จตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง (1)
ตามฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดที่โจทก์อ้างว่าเป็นการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์และวันเวลาที่เกิดการกระทำละเมิดดังกล่าวอันเป็นการบรรยายฟ้องเพียงพอที่จะทำให้จำเลยทั้งเจ็ดเข้าใจได้ว่าโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งเจ็ดกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันอย่างไรแล้ว ถือได้ว่าเป็นการบรรยายฟ้องถึงการกระทำอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันโดยชอบ ส่วนการที่คำบรรยายฟ้องอาจไม่มีความชัดเจนว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดเป็นจำนวนกี่กรรมนั้น ถือไม่ได้ว่าเป็นการบรรยายฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะปัญหาว่าการกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดจะเป็นความผิดหลายกรรมตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องวินิจฉัยชี้ขาดจากพยานหลักฐานในสำนวน
แม้คดีนี้จะเป็นความผิดอันยอมความได้ซึ่งหากโจทก์มิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดจะเป็นอันขาดอายุความตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 66 และ ป.อ. มาตรา 96 ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ฟ้องคดีภายในสามเดือนแล้ว แม้โจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์ก็ไม่เป็นเหตุให้คดีนี้ขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 แต่อย่างใด
of 30