คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
แบ่งมรดก

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 350 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 157/2472

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงชื่อในโฉนดรับมฤดกไม่สร้างสิทธิเท่าเทียมกัน การแบ่งมรดกต้องพิจารณาตามส่วนที่ได้รับ
การลงชื่อในโฉนดในฐานะที่เปนผู้รับมฤดกนั้น มีผลเพียงส่วนของตนที่ควรได้รับเท่านั้นไม่มีสิทธิในส่วนของผู้อื่นด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 246/2471

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งมรดกและการมอบส่วนมรดกให้ผู้ปกครองเด็ก แม้โจทก์เป็นหลานฟ้องปู่ไม่ได้
อุหลุมหลานฟ้องปู่ไม่ได้ มฤดกเมื่อตัดสินแบ่งแล้ว ศาลมีอำนาจจะมอบทรัพย์ให้แก่ผู้ปกครองเด็ก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6080/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งมรดกโดยไม่ชอบ และสิทธิในการขอเพิกถอนนิติกรรมของทายาทที่ถูกละเลย
โจทก์อุทธรณ์ว่า จ. ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแก่ตนเองโดยแจ้งในบัญชีเครือญาติว่าบุตรผู้ตายอีก 8 คน ถึงแก่ความตาย เหลือ จ. เพียงคนเดียว โดยไม่ระบุบุตรผู้ตาย และในคดีขอจัดการมรดก จ. ระบุว่า ผู้ตายมีทายาทเพียง 2 คน ถือเป็นการปิดบังมรดก แต่ในคำฟ้องของโจทก์อ้างสาเหตุที่เป็นหลักแห่งข้อหาว่าที่ต้องกำจัด จ. เพราะว่า จ. โอนทรัพย์มรดกแก่จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 โดยให้ถือกรรมสิทธิ์รวม แต่ไม่โอนให้แก่โจทก์ จึงเป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริงที่มิได้อ้างมาในคำฟ้อง ถือเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นจึงไม่รับวินิจฉัย เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่าอุทธรณ์ของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่โต้แย้งคัดค้านพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในประเด็นดังกล่าวนี้ว่า ไม่ชอบอย่างไร แท้จริงแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ไม่เป็นการยกเอาข้อเท็จจริงนอกคำฟ้องมาอุทธรณ์ แต่โจทก์ยังคงฎีกาว่า ตามคำฟ้องและจากพยานหลักฐานในสำนวนถือว่า จ. มีพฤติกรรมในการปิดบังทรัพย์มรดกต้องถูกกำจัด จึงถือว่าเป็นฎีกาที่มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
สิทธิในการรับมรดกนั้นเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย เมื่อปรากฏว่าเจ้ามรดกมีทายาทชั้นบุตร 9 คน โดยไม่ปรากฏว่ามีทายาทชั้นอื่นที่จะต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้อีก ดังนั้นมรดกของเจ้ามรดกต้องถูกแบ่งออกเป็น 9 ส่วนเท่าๆ กัน โดย ป.พ.พ. มาตรา 1632 และ 1633 บัญญัติว่า หากแบ่งปันหรือมีข้อตกลงให้แบ่งปันเป็นประการอื่น ต้องเป็นข้อตกลงยินยอมของทายาททุกคน จะใช้มติของทายาทเสียงข้างมากบังคับให้มีผลแตกต่างจากส่วนแบ่งที่จะได้รับตามกฎหมายหาได้ไม่ คดีนี้ ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 กล่าวอ้างว่า ทายาททุกคนตกลงให้แบ่งปันทรัพย์มรดกออกเป็น 10 ส่วน ส่วนที่เหลืออีก 1 ส่วน ยกให้แก่ จ. ก็มีผลเท่ากับว่า จ. ได้รับส่วนแบ่ง 2 ส่วน เกินส่วนที่ตนเองจะได้รับตามกฎหมาย และมีผลทำให้ทายาทอื่นรวมทั้งโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกแทนที่บิดาต้องได้รับส่วนแบ่งน้อยลงด้วย ทั้งในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ปรากฏว่าโจทก์เกี่ยวข้องด้วย การแบ่งปันทรัพย์มรดกตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงมีผลบังคับเฉพาะที่ทายาทที่ตกลงกันเท่านั้น ไม่มีผลผูกพันโจทก์และไม่อาจทำให้โจทก์ได้รับส่วนแบ่งที่มีสิทธิจะได้รับตามกฎหมายได้ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมการแบ่งมรดกที่แบ่งโดยมิชอบได้ แต่คงเพิกถอนได้เฉพาะส่วนที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1886/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องแบ่งมรดก: ทายาทโดยธรรมมีสิทธิเรียกร้องแบ่งมรดก แม้มีผู้จัดการมรดกหรือเจ้าหนี้
โจทก์มิได้ฟ้องโดยขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้สืบสันดานและเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายอันเป็นคำฟ้องเพื่อขอให้รับรองสิทธิ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้สืบสันดานและเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายจึงถือได้ว่าเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งที่เกินไปกว่าคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 ซึ่งสิทธิการรับมรดกของผู้ตายในฐานะทายาทโดยชอบธรรมเป็นสิทธิที่ได้มาโดยผลของกฎหมาย แม้ศาลอุทธรณ์จะยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนนี้ แต่ก็มิได้ทำให้สิทธิในการรับมรดกของผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรมที่ได้มาโดยผลของกฎหมายหมดสิ้นไป
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โจทก์โดยนาวาตรีหญิง ร. ผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นผู้คัดค้านที่ 1 เด็กหญิง ม. และเด็กหญิง ฐ. โดย ข. ผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นผู้คัดค้านที่ 2 จำเลยที่ 3 เป็นผู้คัดค้านที่ 3 ส. เป็นผู้คัดค้านที่ 4 จำเลยที่ 2 เป็นผู้คัดค้านที่ 5 จำเลยที่ 4 เป็นผู้คัดค้านที่ 6 จำเลยที่ 6 เป็นผู้คัดค้านที่ 7 และจำเลยที่ 7 เป็นผู้คัดค้านที่ 8 ยื่นคำคัดค้านและขอให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายด้วย ซึ่งโจทก์โดยนาวาตรีหญิง ร. ผู้แทนโดยชอบธรรมซึ่งเป็นผู้คัดค้านที่ 1 และเด็กหญิง ม. กับเด็กหญิง ฐ. โดย ข. ผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นผู้คัดค้านที่ 2 ต่างกล่าวอ้างในคำร้องคัดค้านว่า โจทก์ เด็กหญิง ม. และเด็กหญิง ฐ. ต่างเป็นบุตรนอกกฎหมายที่ผู้ตายรับรองแล้วและต่างเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีว่า โจทก์ เด็กหญิง ม. เด็กหญิง ฐ. จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 เป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตาย ส. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันกับผู้ตายและเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย จึงมีคำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 นาวาตรีหญิง ร. ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ ข. ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรม เด็กหญิง ม. กับเด็กหญิง ฐ. จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 และ ส. เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกัน แม้คดีนี้จะมิได้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีดังกล่าวเพราะโจทก์ในคดีนี้มิใช่โจทก์คนเดียวกันกับคดีดังกล่าวก็ตาม แต่โจทก์ เด็กหญิง ม. เด็กหญิง ฐ. จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าว ต่างกล่าวอ้างความเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายเช่นเดียวกัน ส่วนจำเลยที่ 5 แม้จะมิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว แต่คำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีดังกล่าวก็เกี่ยวด้วยฐานะความเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตายที่มีต่อกองมรดกเช่นเดียวกับคดีนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรืองดเสีย คำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดนับตั้งแต่วันที่ได้มีคำสั่ง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่อาจวินิจฉัยประเด็นเกี่ยวกับความเป็นทายาทโดยธรรมของโจทก์ในคดีนี้ได้อีก เพราะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับประเด็นที่ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวได้วินิจฉัยไว้แล้ว ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144
ผู้ตายมีบุตรเป็นทายาทโดยธรรมรวม 10 คน คือ โจทก์ เด็กหญิง ม. เด็กหญิง ฐ. จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และ ส. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์มรดกของผู้ตายกึ่งหนึ่ง ซึ่งแม้ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวจะมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 กับนาวาตรีหญิง ร.ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ ข. ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิง ม. กับเด็กหญิง ฐ. จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 และ ส. เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกันแล้วก็ตาม แต่ผู้จัดการมรดกทั้งหลายก็ยังคงมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้เป็นไปตามสิทธิของทายาทโดยธรรมแต่ละคน หากทายาทโดยธรรมคนใดไม่ได้รับหรือได้รับส่วนแบ่งไม่ครบตามสิทธิย่อมมีสิทธิเรียกร้องหรือฟ้องผู้จัดการมรดกหรือทายาทอื่นที่ครอบครองทรัพย์มรดกให้แบ่งแก่ตนได้ และแม้ว่าจะมีเจ้าหนี้ของผู้ตายที่ยังมิได้รับชำระหนี้อยู่ก็ตามเจ้าหนี้นั้นก็ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้จากทายาทโดยธรรมคนใดหรือผู้จัดการมรดกของผู้ตายก็ได้ แม้ทรัพย์มรดกจะได้แบ่งไปแล้วก็ตาม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1737 และ 1738 การมีผู้จัดการมรดกหรือเจ้าหนี้กองมรดกที่ยังมิได้รับชำระหนี้ จึงมิได้ทำให้สิทธิในการเรียกร้องขอแบ่งทรัพย์มรดกของโจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมเสื่อมเสียไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดขอแบ่งมรดกของผู้ตายได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงในคดีหมายเลขดำที่ 8795/2544 หมายเลขแดงที่ 3707/2547 ของศาลชั้นต้นว่า ส. เป็นเจ้าของรวมในทรัพย์มรดกของผู้ตายอยู่ด้วยกึ่งหนึ่งในฐานะเจ้าของรวมที่ทำมาหาได้ร่วมกัน โดยในคดีดังกล่าว โจทก์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ต่างใช้สิทธิร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้ตายยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับ ส. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิใช่คู่ความในคดีนี้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์มรดกของผู้ตายกึ่งหนึ่ง คำวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีดังกล่าวจึงผูกพันทายาทโดยธรรมทุกคนของผู้ตายรวมทั้งโจทก์ที่มีต่อ ส. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ดังนั้น โจทก์ เด็กหญิง ม. เด็กหญิง ฐ. และจำเลยทั้งเจ็ด ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายจึงมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายกึ่งหนึ่ง ส่วนอีกกึ่งหนึ่งย่อมเป็นของ ส. ในฐานะเจ้าของรวมและแม้ทายาทอื่นจะมิได้เข้ามาเป็นคู่ความหรือมิได้ร้องสอดเข้ามาในคดีนี้ก็ไม่เป็นเหตุให้โจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดมีสิทธิได้รับมรดกทั้งหมดเพียง 8 คน แต่โจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดคงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตายเพียงคนละ 1 ใน 10 ส่วน กรณีเช่นนี้มิใช่เป็นการกันส่วนแบ่งทรัพย์มรดกไว้เพื่อทายาทอื่นที่มิได้เป็นคู่ความหรือร้องสอดเข้ามาในคดีอันจะเป็นการต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1749 สิทธิของโจทก์ที่จะได้รับทรัพย์สินตามฟ้องจึงมีอยู่ 1 ใน 20 ส่วนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้แบ่งมรดกให้แก่โจทก์ 1 ใน 8 ส่วน ซึ่งเกินไปกว่าส่วนแห่งสิทธิที่โจทก์จะพึงได้จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (2) ประกอบมาตรา 246, 247 (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9277/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ: การแบ่งมรดกที่เคยมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ไม่อาจนำมาฟ้องใหม่ได้ แม้จะอ้างว่ายังมีทรัพย์สินที่ไม่ได้แบ่ง
ในคดีก่อน ส.ฟ้องทายาทของร้อยตำรวจโท ค. เพื่อขอแบ่งปันทรัพย์มรดก และมีการตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกกัน ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว คำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความ ส่วนวิธีการแบ่งปันทรัพย์มรดกจะถูกต้องครบถ้วนตามสัญญาประนีประนอมยอมความกันหรือไม่ อย่างไร เป็นเรื่องที่คู่ความในคดีดังกล่าวต้องไปว่ากล่าวกันในชั้นบังคับคดี หาใช่นำมาฟ้องเป็นคดีใหม่ เมื่อการประมูลทรัพย์มรดกเป็นการบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีเดิม หากไม่ถูกต้องโจทก์ซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิของ ส. ต้องไปโต้แย้งในชั้นบังคับคดีในคดีดังกล่าว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเป็นคดีใหม่ ฟ้องของโจทก์ที่ฟ้องเรียกทรัพย์มรดกตามสัญญาแบ่งมรดกจึงเป็นการฟ้องโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อน ต้องห้ามมิให้รื้อร้องฟ้องกันอีก ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ที่โจทก์อ้างว่ายังมีทรัพย์มรดกอื่นที่ไม่ได้ตกลงกันในสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกนั้นด้วย กองมรดกที่ตกทอดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1600, 1602 ถือเป็นการได้ทรัพย์มาโดยอาศัยสิทธิอันเดียวกัน มิใช่เป็นการได้มาโดยอาศัยสิทธิในทรัพย์แต่ละชิ้นเป็นสิทธิต่างรายกัน ประเด็นที่วินิจฉัยจึงอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อน ฟ้องของโจทก์ในส่วนดังกล่าว จึงเป็นการฟ้องซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ด้วยเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6653-6654/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกันส่วนในที่ดินพิพาทกรณีแบ่งมรดก: ไม่ใช่การบังคับชำระหนี้
การร้องขอกันส่วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 ต้องเป็นกรณีที่มีการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่คดีนี้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทที่เป็นทรัพย์มรดกของ ป. และ ต. ให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ เนื่องจาก ป. ต. ส. และจำเลยที่ 3 ถือกรรมสิทธิ์รวมกันในที่ดินพิพาทโดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นทายาทของ ส. การที่ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสามแบ่งทรัพย์มรดกของ ป. และ ต. ให้โจทก์ทั้งสองตามส่วน โดยคู่ความตกลงกันให้นำที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินที่ได้แบ่งกันตามส่วน จึงเป็นเรื่องบังคับให้จำเลยทั้งสามแบ่งที่ดินพิพาทในระหว่างผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมด้วยกัน แล้วจัดการแบ่งเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองเท่านั้น หาได้มีการบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามไม่ ผู้ร้องทั้งสี่จึงไม่อาจขอกันส่วนโดยอ้างว่าผู้ร้องทั้งสี่เป็นทายาทของ ส. ผู้ถือกรรมสิทธิ์รวม และมีสิทธิรับมรดกในส่วนของ ส. ร่วมกับจำเลยทั้งสาม เป็นเรื่องที่ผู้ร้องทั้งสี่จะต้องไปดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างหาก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6308/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีแบ่งมรดก: เจ้าหนี้มีสิทธิยึดขายทอดตลาดได้แม้มีการแบ่งทรัพย์สินบางส่วนโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของรวมทั้งหมด
แม้คำพิพากษากำหนดให้จำเลยทั้งสี่ในฐานะผู้จัดการมรดกแบ่งทรัพย์สินให้แก่โจทก์ทั้งเก้าและผู้ร้องสอดทั้งสามตามอัตราส่วนแบ่งตามคำพิพากษา แต่เมื่อโจทก์ที่ 5 ในฐานะเจ้าของรวมซึ่งมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในที่ดินมรดกทุกแปลงของผู้ตายอีกคนหนึ่งมิได้ยินยอมด้วย ต้องถือว่าการแบ่งทรัพย์สินนั้นจำเลยทั้งสี่ไม่อาจกระทำได้ด้วยความยินยอมของเจ้าของรวมทุกคน ทั้งกรณีเป็นการแบ่งทรัพย์สิน มิใช่การทำนิติกรรมซึ่งโจทก์ที่ 5 จะให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสี่ในการแบ่งมรดกได้ โจทก์ที่ 5 ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงมีสิทธิขอให้ออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อบังคับยึดที่ดินมรดกออกขายทอดตลาดได้
เมื่อโจทก์ที่ 5 ร้องขอให้บังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดทรัพย์สินทั้งหมดภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 แล้ว แต่การบังคับคดียังไม่แล้วเสร็จ เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจดำเนินการบังคับคดีต่อไปจนกว่าจะเสร็จสิ้นได้ แม้จะพ้นกำหนดเวลาการบังคับคดีดังกล่าวแล้วก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8371/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งมรดกโดยการครอบครองทรัพย์สิน การครอบครองแทนทายาท และอายุความมรดก
การแบ่งปันทรัพย์มรดกซึ่งอาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัดตามมาตรา 1750 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น เป็นกรณีซึ่งข้อเท็จจริงต้องได้ความชัดแจ้งแล้วว่าทายาทได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยต่างได้เข้าครอบครองทรัพย์มรดกตามส่วนแบ่งนั้นอย่างเป็นส่วนสัดชัดเจนว่าทายาทคนใดเข้าครอบครองที่ดินทรัพย์มรดกนั้นในส่วนใด มีอาณาเขตและเนื้อที่ดินเข้าครอบครองแบ่งแยกกันจนชัดเจนเพียงพอที่จะดำเนินการจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์กันได้ เมื่อข้อเท็จจริงจากทางนำสืบไม่ได้ความ เช่นนั้นที่ดินพิพาทจึงยังไม่พ้นสภาพจากการเป็นทรัพย์มรดกของ พ. และกรณีต้องถือว่าการที่ ต. และจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่นั้นเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่น ๆ ของ พ. ทุกคน กรณีจึงเข้าเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง ที่ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ พ. เพราะเข้าสืบสิทธิในมรดกส่วนของ ต. มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความมรดกตามมาตรา 1754 แล้วก็ตาม ดังนั้น คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7844/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องแบ่งมรดก: คดีจัดการมรดกใช้มาตรา 1733 วรรคสอง ไม่ใช่ 1754/1755
โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 2 ต่างเป็นทายาทโดยธรรมของ พ. เจ้ามรดกลำดับเดียวกัน ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งมรดกเท่ากัน ทั้งมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งร่วมกันจนกว่าจะแบ่งมรดกแล้วเสร็จ จึงถือได้ว่าโจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทเท่า ๆ กัน การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ พ. โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากทายาททุกคน จึงเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 ดังนั้น โจทก์ทั้งสามในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกย่อมฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกที่จำเลยที่ 1 โอนให้แก่จำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียวจากจำเลยที่ 2 ได้ตามมาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1363 เมื่อโจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกกระทำการโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวซึ่งไม่ถูกต้อง จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก กำหนดอายุความต้องบังคับตามมาตรา 1733 วรรคสอง หาใช่บังคับตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1755

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7036/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถูกกำจัดมิให้ได้มรดก, อายุความมรดก, การแบ่งมรดก, สิทธิทายาท, การแก้ไขคำพิพากษา
กำหนดอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ที่บัญญัติห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดก เมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย หรือนับแต่ทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก แต่ห้ามมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายนั้น ใช้บังคับสำหรับกรณีที่ทายาทฟ้องเรียกร้องทรัพย์มรดกจากทายาทที่ครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งปันกัน แต่สำหรับกรณีที่มีการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกเพื่อรวบรวมทรัพย์มรดกมาแบ่งปันแก่ทายาทนั้น ตราบใดที่ยังมิได้มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกหรือการแบ่งปันทรัพย์มรดกยังไม่แล้วเสร็จ ถือว่าทรัพย์มรดกอยู่ระหว่างการจัดการมรดกทายาทย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้จัดการมรดกแบ่งปันทรัพย์มรดกเมื่อใดก็ได้ ไม่มีกำหนดอายุความ เมื่อที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกยังมิได้จัดสรรแบ่งปันแก่ทายาท จึงถือว่าอยู่ในระหว่างการจัดการทรัพย์มรดกของผู้จัดการมรดก อายุความตามมาตรา 1754 จึงไม่นำมาใช้บังคับ คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความมรดก
แม้จำเลยต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกในที่ดินพิพาท แต่การถูกกำจัดมิให้รับทรัพย์มรดกนั้นเป็นเรื่องเฉพาะของจำเลย ผู้สืบสันดานของจำเลยสืบมรดกแทนจำเลยต่อไปได้ ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของจำเลยว่า จำเลยมีบุตรทั้งหมด 4 คน จึงถือว่าจำเลยมีผู้สืบสันดานที่สามารถสืบมรดกแทนจำเลยเสมือนหนึ่งว่าจำเลยตายแล้วได้ตามมาตรา 1607 เมื่อทายาทของ ก. เจ้ามรดกมีทั้งหมด 10 คน แม้ ส. ทายาทคนหนึ่งได้ตายไปก่อนที่ ก. ถึงแก่ความตาย แต่ ส. ก็มีผู้สืบสันดานเข้ารับมรดกแทนที่ ส่วนจำเลยซึ่งเป็นทายาทของ ก. คนหนึ่งถูกกำจัดมิให้ได้มรดกที่ดินพิพาท แต่จำเลยก็มีผู้สืบสันดานมรดกแทนที่จำเลยได้ ดังนั้น ที่ดินพิพาทจึงต้องแบ่งเป็น 10 ส่วนเท่าจำนวนทายาทของ ก. โจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในที่ดินพิพาทคนละ 1 ใน 10 ส่วน
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนแบ่งที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสาม หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ย่อมเป็นการพิพากษาตามคำขอบังคับของโจทก์ทั้งสามที่ให้ใส่ชื่อโจทก์ทั้งสามถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาท หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยครบถ้วนแล้ว ไม่จำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไขในกรณีที่จำเลยไม่สามารถปฏิบัติการตามคำพิพากษาดังกล่าวได้ต่อไปอีก ทั้งการถูกกำจัดมิให้รับมรดกเป็นการวินิจฉัยถึงสิทธิในการรับมรดกของทายาท ไม่จำเป็นต้องระบุไว้ในคำพิพากษาเพื่อบังคับคดี
of 35