คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สิ่งปลูกสร้าง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 323 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5418/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งมรดกที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ศาลวินิจฉัยกรรมสิทธิ์และส่วนควบของที่ดิน
ที่ดินพิพาทคือที่ดินโฉนดเลขที่ 39466 ตำบลแสมดำ อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ติดจำนองธนาคาร ก. ยังไม่มีลู่ทางว่าจำเลยซึ่งยังเรียนหนังสืออยู่ ไม่ได้ประกอบอาชีพอันใดจะสามารถหารายได้มาช่วยเหลือครอบครัวหรือชำระหนี้สินได้อย่างไรเจ้ามรดกถึงจะได้ยกที่ดินพิพาทให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยเพียงคนเดียว ทั้ง ๆ ที่เจ้ามรดกยังมีบุตรคนอื่นอีกเก้าคน คือโจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วม ที่ ส. เจ้ามรดกยกให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 30977 และ 30974 จะเห็นได้ว่ามีการจดทะเบียนการให้เป็นหลักฐานยืนยันได้ทั้งสิ้น อีกทั้ง ป.พ.พ. มาตรา 525 บัญญัติว่า "การให้ทรัพย์สินซึ่งถ้าจะซื้อขายกันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ท่านว่าย่อมสมบูรณ์ต่อเมื่อได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ในกรณีเช่นนี้ การให้ย่อมเป็นอันสมบูรณ์โดยมิพักต้องส่งมอบ" แต่ไม่ปรากฏว่าว่าเจ้ามรดกได้ทำหลักฐานหรือได้จดทะเบียนการให้ที่ดินพิพาทแก่ผู้ใด จนกระทั่งเจ้ามรดกได้ถึงแก่ความตาย และมีจำเลยเป็นผู้จัดการมรดก จำเลยจึงมารับโอนที่ดินพิพาทในฐานะผู้จัดการมรดกแล้วลงชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในเวลาต่อมา นอกจากนี้โจทก์ที่ 2 และที่ 4 เป็นผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตั้งโรงงานบนที่ดินพิพาท ที่จำเลยอ้างว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ให้บริษัท อ. เช่าที่ดิน ก็ผิดวิสัยว่าเหตุใดจำเลยจึงเอาที่ดินส่วนที่ตนเองปลูกบ้านพักไปให้บริษัท อ. เช่าด้วย การทำสัญญาเช่าดังกล่าว จึงน่าเชื่อว่าไว้หักเป็นค่าใช้จ่ายบริษัท อ. เพื่อประโยชน์ในทางภาษีของบริษัท อ. จึงฟังว่าจำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วม
จำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วม กรณีจึงเข้าเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง ที่ทำให้โจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วมซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความมรดกตามมาตรา 1754 แล้ว ทั้งนี้ตามมาตรา 1748 คดีของโจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วมจึงไม่ขาดอายุความ
บริษัท อ. เป็นผู้ขออนุญาตปลูกสร้างอาคารโรงงานที่เป็นกิจการของบริษัท อ. กิจการดังกล่าวเป็นของครอบครัวโจทก์ทั้งแปด โจทก์ร่วมและจำเลย โรงงานจึงไม่เป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท ส่วนบ้านพักอาศัยที่ปลูกสร้างบนที่ดินพิพาทใช้เงินจากการขายบ้านหลังอื่นที่บิดายกให้จำเลยมาใช้ก่อสร้าง นอกจากนี้จำเลยและครอบครัวก็พักอาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้โดยโจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วมไม่เคยโต้แย้งหรือเรียกร้องสิทธิในบ้านหลังนี้ บ้านหลังดังกล่าวจึงเป็นของจำเลยและไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท
คดีนี้โจทก์ทั้งแปดฟ้องและโจทก์ร่วมร้องสอดขอให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกแบ่งมรดกที่ดินพิพาท โดยบรรยายฟ้องว่า ทายาทของเจ้ามรดกตกลงใช้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นที่ตั้งของบริษัท อ. ที่เป็นกิจการของครอบครัว โดยให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์แทน และขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์ทั้งแปด 8 ใน 10 ส่วน และแก่โจทก์ร่วม 1 ใน 10 ส่วน จำเลยให้การต่อสู้ว่า บิดามารดายกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย จำเลยปลูกสร้างบ้านบนที่ดินพิพาทเป็นที่พักอาศัย และต่อมาโจทก์ที่ 2 และที่ 4 ขอเช่าที่ดินพิพาทบริเวณด้านหน้าเพื่อก่อสร้างโรงงานของบริษัท อ. ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ว่า จำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนและจำเลยต้องโอนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วมหรือไม่เพียงใด ดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โรงงานของบริษัท อ. ที่ปลูกสร้างบนที่ดินพิพาทเป็นของบริษัทดังกล่าว แต่บ้านพักอาศัยเป็นของจำเลย ไม่เป็นส่วนควบของที่ดินพิพาทที่จะต้องแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วม จึงเป็นเรื่องที่อยู่ในประเด็นข้อพิพาทและไม่ถือเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1132/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ไม้แปรรูปหวงห้าม การพิสูจน์ไม้เก่าที่เคยเป็นสิ่งปลูกสร้าง และการรอการลงโทษ
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เป็นเรื่องที่กฎหมายกําหนดให้เป็นดุลพินิจของศาลที่จะพิพากษาไปโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไป มิได้หมายความว่าเมื่อจําเลยให้การรับสารภาพแล้วจะต้องพิพากษาลงโทษจําเลยเสมอไป คดีอาญาไม่ว่าจําเลยจะให้การเช่นใด ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาเสมอว่าจําเลยได้กระทำความผิดจริงหรือไม่ ถ้าศาลเห็นว่าจําเลยมิได้กระทำความผิดหรือการกระทำของจําเลยไม่เป็นความผิด ศาลย่อมพิพากษายกฟ้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง หรือหากศาลเห็นว่าสมควรให้มีการสืบพยานหลักฐานก่อนมีคําพิพากษาก็เป็นอำนาจของศาลที่จะมีคำสั่งเช่นนั้นได้ ประกอบขณะคดีนี้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2562 มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 106/2557 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน ซึ่งตามบทบัญญัติมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 (ที่แก้ไขใหม่) มีผลต่อการวินิจฉัยของศาลว่า ไม้ของกลางยังคงเป็นไม้หวงห้ามหรือไม่ ซึ่งหากไม่เป็นไม้หวงห้าม การกระทำของจําเลยก็ย่อมไม่เป็นความผิดอีกต่อไป ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงมีอำนาจที่สั่งให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนพยานโจทก์และพยานจําเลยในประเด็นว่าไม้ของกลางเป็นไม้หวงห้ามหรือไม่ ได้ตาม ป.วิ.อ มาตรา 208 (1) ทั้ง พ.ร.บ.คุมประพฤติ พ.ศ. 2559 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้อำนาจศาลที่จะนําข้อเท็จจริงที่ปรากฏในรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยที่พนักงานคุมประพฤติส่งศาลมาประกอบการพิจารณาพิพากษาหรือเพื่อประกอบดุลพินิจในการกำหนดโทษที่จะลงแก่จําเลย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 สั่งให้ศาลชั้นต้นทำการสืบเสาะและพินิจจําเลยก่อนมีคําพิพากษา และพิจารณารายงานการสืบเสาะและพินิจแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงไม่แน่ชัดว่าไม้ของกลางยังเป็นไม้หวงห้ามต่อไปหรือไม่ จึงมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นสืบพยานเพิ่มเติมในประเด็นถึงแหล่งที่มาของไม้ของกลาง แล้วนําข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการสืบพยานหลักฐานของโจทก์และจําเลยมาเป็นพยานหลักฐานในการวินิจฉัยคดี จึงไม่ขัดต่อ ป.วิ.อ. และ พ.ร.บ.คุมประพฤติ พ.ศ. 2559 ดังกล่าว
คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยฐานมีไม้จําปา ไม้ตาเสือและไม้หยีแปรรูปอันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. เกินกว่า 0.20 ลูกบาศก์เมตร ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีคําขอให้ลงโทษจําเลยตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 48, 73 จําเลยต่อสู้ว่าไม้แปรรูปของกลางส่วนที่เป็นไม้ใหม่เป็นไม้ที่ตัดมาจากที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ข ส่วนที่เป็นไม้เก่าได้มาจากการรื้อบ้านหลังเก่าที่ปลูกสร้างมาประมาณ 30 ปี เมื่อจําเลยให้การต่อสู้ดังกล่าว จําเลยจึงต้องนําสืบให้เห็นว่าไม้แปรรูปของกลางที่เป็นไม้ใหม่ ไม่ใช่ไม้หวงห้ามจึงจะเข้าข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 50 (4) ส่วนไม้ของกลางที่เป็นไม้เก่าไม่ใช่ไม้แปรรูปตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4 (4) ซึ่งในประเด็นไม้แปรรูปที่เป็นไม้ใหม่นั้น จําเลยและ อ. ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้ขายไม้แปรรูปของกลางให้แก่จําเลยเบิกความแต่เพียงลอย ๆ ว่า ไม้แปรรูปของกลางตัดมาจากที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินซึ่งมีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแบบ ส.ป.ก. 4-01 ข โดยไม่มีข้อเท็จจริงใดมานําสืบสนับสนุนให้เห็นเช่นนั้น ทั้งภาพถ่ายที่จําเลยอ้างไม่ปรากฏตอไม้ที่จะบ่งชี้ถึงที่มาของไม้แปรรูปของกลาง และบางภาพปรากฏว่าเป็นต้นไม้ที่ถูกโค่นใหม่ ยังไม่มีการแปรรูปใด ๆ ทำให้เชื่อได้ว่ามีการโค่นต้นไม้ดังกล่าวภายหลังจากจําเลยถูกดำเนินคดีนี้แล้ว จึงยังฟังไม่ได้ว่าไม้แปรรูปของกลางที่เป็นไม้ใหม่ได้มาจากไม้ที่ปลูกขึ้นในที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ข ดังนั้น จึงต้องฟังว่าจําเลยมีไม้แปรรูปหวงห้ามไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต สำหรับไม้ของกลางที่เป็นไม้เก่าเป็นไม้ที่รื้อมาจากบ้านหลังเก่าของจําเลย ซึ่งตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4 (4) วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 31/2559 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ บัญญัติว่า "ไม้ที่อยู่ในสภาพเป็นสิ่งปลูกสร้างหรืออยู่ในสภาพเป็นเครื่องใช้ ทั้งนี้ ตลอดเวลาที่อยู่ในสภาพเช่นนั้น รวมทั้งไม้ที่เคยอยู่ในสภาพดังกล่าว และผู้ครอบครองพิสูจน์ได้ว่าได้เคยมีสภาพเช่นนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีสำหรับไม้อื่นที่มิใช่ไม้สัก และไม่น้อยกว่าสิบปีสำหรับไม้สัก มิให้ถือว่าเป็นไม้แปรรูป" ความในวรรคนี้มีความหมายว่า ไม้ที่มิให้ถือว่าเป็นไม้แปรรูปนั้นแยกได้เป็นสองอย่าง คือ ไม้ที่อยู่ในสภาพเป็นสิ่งปลูกสร้างหรืออยู่ในสภาพเป็นเครื่องใช้ ทั้งนี้ ตลอดเวลาที่อยู่ในสภาพเช่นนั้นอย่างหนึ่ง กับไม้ที่เคยอยู่ในสภาพดังกล่าว คือเคยเป็นสิ่งปลูกสร้างหรือเคยเป็นเครื่องใช้มาแล้วและผู้ครอบครองพิสูจน์ได้ว่าเคยมีสภาพเช่นนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีสำหรับไม้อื่นที่ไม่ใช้ไม้สัก และสิบปีสำหรับไม้สักอีกอย่างหนึ่ง ตามความในกฎหมายดังกล่าว ผู้ครอบครองจะต้องพิสูจน์แต่เฉพาะกรณีที่ไม้นั้นมิได้อยู่ในสภาพเป็นสิ่งปลูกสร้างหรือมิได้อยู่ในสภาพเป็นเครื่องใช้แต่กล่าวอ้างว่าเคยมีสภาพเช่นนั้นมาแล้วเท่านั้น ข้อความที่ว่า "รวมทั้งไม้ที่เคยอยู่ในสภาพดังกล่าว และผู้ครอบครองพิสูจน์ได้ว่าเคยมีสภาพเช่นนั้นมาแล้ว" ย่อมแสดงชัดว่าในปัจจุบันไม้มิได้อยู่ในสภาพเช่นนั้นแล้ว โดยมีระยะเวลาไม่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด คือ ห้าปีสำหรับไม้อื่นที่ไม่ใช่ไม้สัก และสิบปีสำหรับไม้สัก ดังนั้นไม้ของกลางที่เป็นไม้เก่านี้เป็นไม้ที่เคยอยู่ในสภาพสิ่งปลูกสร้างมาก่อน จึงมิใช่ไม้แปรรูปตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4 (4) การที่จําเลยมีไม้ของกลางในส่วนที่เป็นไม้เก่าไว้ในครอบครองจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 48, 73 เมื่อไม้ของกลางที่อยู่ในความครอบครองของจําเลยมีทั้งไม้แปรรูปที่เป็นไม้หวงห้าม กับไม้ที่มีไว้ในครอบครองได้โดยไม่เป็นความผิด ซึ่งในส่วนของไม้แปรรูปของกลางที่เป็นไม้หวงห้ามนั้น เมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายที่โจทก์นําสืบมีจำนวนค่อนข้างมาก จําเลยเองก็ให้การไว้ในรายงานการสืบเสาะและพินิจจําเลยว่า ร. ไม่ทราบชื่อสกุล นําไม้จําปาแปรรูปจำนวน 50 แผ่น ไม้ตาเสือแปรรูปจำนวน 20 แผ่น และไม้หยีแปรรูปจำนวน 20 แผ่น มาขายให้แก่จําเลย ไม้แปรรูปของกลางที่เป็นไม้ใหม่จึงย่อมต้องมีปริมาตรเกินกว่า 0.20 ลูกบาศก์เมตร แต่เมื่อไม่ได้ความชัดว่าปริมาตรเกิน 2 ลูกบาศก์เมตร หรือไม่ ก็ต้องฟังในทางที่เป็นคุณแก่จําเลยว่า จําเลยมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตไม่เกิน 2 ลูกบาศก์เมตร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3158/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แผงโซลาร์เซลล์เป็นสิ่งปลูกสร้างตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน มีหน้าที่เสียภาษี
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 6 บัญญัติว่า "เพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ท่านให้แบ่งทรัพย์สินออกเป็น 2 ประเภท คือ (1) โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ กับที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ" และมาตรา 5 บัญญัติว่า "ในพระราชบัญญัตินี้ถ้าข้อความมิได้แสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น... "โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ" ให้กินความถึงแพด้วย..." เท่านั้น โดยมิได้กำหนดความหมายของสิ่งปลูกสร้างไว้โดยเฉพาะ โดยสภาพของแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์ของโจทก์เป็นทรัพย์ที่ใช้อยู่เป็นประจำกับโครงเหล็กฐานรากเพื่อประโยชน์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ใช้ร่วมกัน แผงรับพลังงานแสงอาทิตย์จึงเป็นอุปกรณ์ที่ติดตั้งบนโครงคอนกรีตเสริมเหล็กซึ่งติดตรึงถาวรอยู่กับพื้นดินเพื่อใช้ในการประกอบกิจการโรงผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายอันก่อให้เกิดรายได้แก่โจทก์ มิใช่เป็นการผลิตเพื่อใช้ในครัวเรือนเป็นหลัก จึงเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ ที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 6 (1)
of 33