คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
แก้ไข

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 382 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 424/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานซื้อน้ำมันเถื่อน การลงโทษซ้ำซ้อน และอำนาจแก้ไขศาลฎีกาเพื่อความถูกต้อง
ความผิดฐานลักลอบนำน้ำมันซึ่งมิได้เสียภาษีและผ่านศุลกากรโดยถูกต้องตามกฎหมาย เข้ามาในราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากร และโดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษีอากรขาเข้า กับความผิดฐานซื้อ รับจำนำ ช่วยพาเอาไปเสีย ช่วยจำหน่าย ช่วยซ่อนเร้น หรือรับไว้ในครอบครอง ซึ่งน้ำมันที่ยังมิได้เสียภาษีโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่มีผู้ลักลอบนำพาหลบหนีศุลกากร เข้ามาในราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงอากรที่ต้องเสีย เป็นคนละความผิดกัน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ซื้อน้ำมันของกลางที่ยังมิได้เสียภาษีโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่มีผู้ลักลอบนำพาหลบหนีศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานนำเข้าซึ่งสินค้าน้ำมันเชื้อเพลิงที่มิได้เสียภาษี ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 147 (2) ได้ และโจทก์บรรยายฟ้องความผิดฐานขายหรือมีไว้เพื่อขายสินค้าน้ำมันเชื้อเพลิง โดยรู้ว่าเป็นสินค้าที่มิได้เสียภาษี และความผิดฐานรับซื้อของน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งรู้ว่าเป็นของนำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงอากรรวมมาในข้อเดียวกัน แสดงว่าโจทก์ประสงค์ลงโทษเป็นกรรมเดียว ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยที่ 2 เป็นสองกรรมจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6271/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือรับสภาพหนี้ไม่ระงับหนี้เดิม, อายุความ, และการแก้ไขดอกเบี้ยผิดนัด
หนังสือรับสภาพความผิดจำเลยทำขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานว่าได้นำเงินของโจทก์ไปใช้ส่วนตัวในระหว่างดำรงตำแหน่งเหรัญญิกของโจทก์ และจำเลยยินยอมชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยให้ครบถ้วนภายในวันที่ 1 มิถุนายน 2554 หนังสือรับสภาพความผิดดังกล่าวจึงเป็นเพียงหลักฐานที่จำเลยทำขึ้นฝ่ายเดียวตกลงยอมรับผิดชำระหนี้ที่จำเลยนำเงินของโจทก์ไปใช้โดยไม่ชอบ มิใช่คู่กรณีตกลงระงับข้อพิพาทที่มีอยู่หรือจะมีขึ้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่ทำให้มูลหนี้เดิมที่จำเลยนำเงินของโจทก์ไปใช้ระงับไปแล้วเกิดหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ทั้งไม่มีการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ จึงมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่อันจะทำให้หนี้ระงับไป
จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยยักยอกเงินของโจทก์ไป มูลหนี้จึงเกิดจากการกระทำละเมิด เมื่อโจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปี นับแต่วันที่รู้ว่าเงินหายไปและรู้ตัวผู้กระทำความผิด ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ แต่ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 26 เมษายน 2546 ถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2553 จำเลยซึ่งเป็นเหรัญญิกของโจทก์ได้ยักยอกเงินของโจทก์ไปโดยทุจริต ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ในฐานะเจ้าของเงินย่อมมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตน สภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้องเป็นเรื่องที่โจทก์ในฐานะเจ้าของทรัพย์สินใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์ของตนจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 หาใช่ฟ้องจำเลยในมูลละเมิดไม่ และจำเลยก็มิได้ให้การต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ในเรื่องละเมิด คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทดังที่อุทธรณ์ อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น และถือเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ทั้งมิใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน
โจทก์ฟ้องคดีนี้ในฐานะเจ้าของทรัพย์สินใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ดังที่วินิจฉัยแล้ว ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความ โจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามหนังสือรับสภาพความผิด ฉะนั้น จึงนำอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/35 มาใช้บังคับในกรณีนี้ไม่ได้
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเอาเงินจำนวนตามฟ้องโจทก์ไป จำเลยจึงต้องรับผิดใช้เงินคืนแก่โจทก์ จำเลยฎีกาว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 โดยคัดลอกข้อความทั้งหมดมาจากอุทธรณ์ของจำเลยโดยมิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร ทั้ง ๆ ที่เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีข้อแตกต่างกัน จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระเงินคืนภายใน 15 วัน จำเลยได้รับหนังสือทวงถามเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2556 ครบกำหนดชำระเงินวันที่ 24 พฤษภาคม 2556 จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2556 มิใช่วันที่ 24 พฤษภาคม 2556 ตามที่โจทก์มีคำขอ การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2556 จึงไม่ถูกต้องและเกินคำขอซึ่งเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5755/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความชำรุดบกพร่อง: การสะดุดหยุดและเริ่มนับใหม่เมื่อมีการแก้ไขซ่อมแซมและแจ้งยุติการแก้ไข
เมื่อโจทก์ที่ 2 พบบ้านชำรุดบกพร่องในเดือนมกราคม 2552 จำเลยเข้าไปแก้ไขซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดบกพร่อง เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) แต่ต่อมาโจทก์ที่ 2 ให้ทนายความมีหนังสือลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2552 แจ้งให้จำเลยหยุดทำการแก้ไขชำรุดบกพร่องโดยโจทก์ที่ 2 จะหาบุคคลภายนอกมาแก้ไขเอง จึงเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลง อายุความจึงเริ่มนับใหม่นับแต่เวลานั้นคือวันที่ 7 พฤษภาคม 2552 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 วรรคสอง โจทก์ที่ 2 มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องได้ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2552 ดังนั้น เมื่อโจทก์ที่ 2 นำคดีมาฟ้องวันที่ 13 มกราคม 2554 เกินกว่า 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 474 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 350/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจทนายในการอุทธรณ์ฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขข้อบกพร่องเพื่อความถูกต้อง
พ. ทนายโจทก์ได้รับแต่งตั้งให้ว่าความมาตั้งแต่ศาลชั้นต้น ปรากฏว่าใบแต่งทนายความดังกล่าวไม่ได้ระบุให้ทนายโจทก์มีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาแทนโจทก์ได้ ฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ที่ทนายโจทก์ลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 62 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 246 ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะต้องแก้ไขความบกพร่องในข้อนี้เสียก่อน แม้ฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จะยื่นโดยชอบแล้วก็ตาม การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ไปพร้อมกันและมีคำพิพากษาโดยที่ยังมิได้แก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวเสียให้ถูกต้อง เป็นการมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยการพิจารณาตามมาตรา 243 (2) เป็นการไม่ชอบและเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2955/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องแย้งไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ศาลไม่รับฟ้องแย้ง และแก้ไขค่าขึ้นศาลให้ถูกต้อง
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาแบ่งส่วนกำไรจากการให้บริการดาวน์โหลดเสียงเพลงริงโทนผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ และมีคำขอให้บังคับจำเลยทั้งหกชำระส่วนแบ่งกำไรโดยอ้างว่า จำเลยทั้งหกผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ตามข้อตกลงในหนังสือดังกล่าวให้โจทก์ จำเลยทั้งหกฟ้องแย้งโดยบรรยายฟ้องแย้งว่า โจทก์ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 ให้สร้างพัฒนาออกแบบ ควบคุมดูแลบริหารจัดการ และทำการตลาดข้อมูลดิจิตอล ข้อมูลทางธุรกิจลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาของโจทก์และบริษัทในเครือผ่านสื่อมัลติมีเดีย ตามสัญญาจ้างพัฒนาธุรกิจ แล้วผิดสัญญาไม่ชำระค่าจ้างตามสัญญาพัฒนาธุรกิจดังกล่าว ขอให้บังคับโจทก์ชำระหนี้ค่าจ้างให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 เมื่อสัญญาพัฒนาธุรกิจที่จำเลยทั้งหกอ้างมีเนื้อหาเป็นคนละส่วนกับสัญญาแบ่งส่วนกำไรที่โจทก์ฟ้อง แม้ว่าสัญญาแบ่งส่วนกำไรจะมีที่มาจากสัญญาพัฒนาธุรกิจ แต่สาระสำคัญของเนื้อหาแตกต่างเป็นคนละเรื่องกัน ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งหกจึงเป็นคนละเรื่องกับคำฟ้องโจทก์ ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ชอบที่จำเลยทั้งหกจะฟ้องเป็นคดีใหม่ต่างหาก ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1574/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งในคดีอาญา: ศาลแก้ไขคำพิพากษาเกินคำขอเรื่องดอกเบี้ย
ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงิน 943,606 บาท ไม่ใช่ทรัพย์สินหรือราคาที่โจทก์ร่วมสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิด แต่เป็นค่าเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย เมื่อโจทก์ร่วมมิได้ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนดอกเบี้ยดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ร่วมจึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ เป็นการมิชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย และแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12797/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิพากษาเกินคำขอและทรัพย์สินที่ไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขได้
ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 364 นั้น แม้คำขอท้ายฟ้องของโจทก์จะระบุอ้าง ป.อ. มาตรา 364 ไว้ด้วย แต่โจทก์ไม่ได้กล่าวบรรยายในคำฟ้องว่า จำเลยทั้งสามเข้าไปในเคหสถานในความครอบครองของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร อันจะเป็นความผิดตามมาตรา 364 ดังนั้น ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามตาม ป.อ. มาตรา 364 ไม่ได้ เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพและคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นไปแล้วและไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ตามบันทึกการตรวจยึดและบัญชีของกลางคดีอาญาระบุว่า ป้ายผ้าผืนแรกมีข้อความว่า "ที่ดินคนไทย ทำไมให้ต่างชาติทำกิน" ผืนที่สองมีข้อความว่า "แผ่นดินไทยแต่คนไทยไม่มีที่ทำกิน ต้องยกเลิกสัญญา" ส่วนไม้กระดานอัดแผ่นแรกเขียนข้อความเกี่ยวกับระเบียบการเข้ามาอยู่ในที่ดินที่เกิดเหตุและแผ่นที่สองเขียนข้อความเกี่ยวกับค่าสมัครสมาชิก แม้ป้ายผ้าและไม้กระดานอัดซึ่งมีข้อความดังกล่าวแขวนหรือติดไว้ในที่เกิดเหตุ แต่ป้ายผ้าและไม้กระดานอัดไม่ใช่ทรัพย์สินที่บุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดในคดีนี้โดยตรง จึงริบทรัพย์สินดังกล่าวไม่ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำพิพากษาให้ริบทรัพย์สิน ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 เมื่อไม่ริบทรัพย์สินดังกล่าวจึงต้องคืนแก่เจ้าของ แม้โจทก์มิได้มีคำขอมาก็ตาม ศาลฎีกามีอำนาจสั่งคืนของกลางแก่เจ้าของได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 49 ประกอบมาตรา 186 (9)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 222/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบรรยายฟ้องต้องระบุองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 371 อย่างชัดเจน ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขได้แม้ไม่มีการอุทธรณ์
แม้คำขอท้ายฟ้องจะระบุอ้าง มาตรา 371 ไว้ด้วยก็ตาม แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องถึงองค์ประกอบความผิดในมาตราดังกล่าวว่าจำเลยที่ 1 พาอาวุธปืนไปโดยเปิดเผยหรือไม่มีเหตุสมควร และจำเลยที่ 2 พาอาวุธมีดไปโดยเปิดเผยหรือไม่มีเหตุสมควรมาด้วย ดังนั้น ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 371 มิได้ เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14810/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือขอรับข้อเสนอที่มีการแก้ไขภายหลัง ไม่ผูกพันตามกฎหมาย การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ข้อความตามหนังสือขอรับข้อเสนอที่มีถึงกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ว่าขอรับข้อเสนอของจำเลย ยอมรับเงินค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี โดยไม่ติดใจจะเรียกร้องฟ้องร้องหรือค่าตอบแทนอื่นใดจากจำเลยอีกทั้งสิ้น เป็นกรณีทำคำบอกกล่าวสนองไปถึงจำเลยซึ่งเป็นผู้เสนอ เอกสารดังกล่าวจำเลยจัดเตรียมไว้ให้โจทก์ลงลายมือชื่อเป็นคำสนองของโจทก์ โจทก์ลงลายมือชื่อแล้วมีการขีดฆ่าลายมือชื่อของตนออกเสียก่อน มีการลงวันที่ในหนังสือและก่อนนำเสนอต่อกรรมการผู้จัดการของจำเลย จึงไม่มีผลเป็นคำสนองรับคำเสนอของจำเลย คำเสนอของจำเลยจึงเป็นอันสิ้นความผูกพัน ไม่ก่อให้เกิดเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่ใช่เรื่องการถอนการแสดงเจตนาเลิกสัญญาประนีประนอมยอมความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12442/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีหุ้น, การรับฟังพยานสำเนาต่างประเทศ, การเพิกถอนการแก้ไขรายชื่อผู้ถือหุ้น
จำเลยให้การรับว่าจำเลยดำเนินการเพิกถอนชื่อโจทก์กับพวกออกจากรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทแล้วใส่ชื่อผู้ถือหุ้นบริษัทชุดเดิมกลับเข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหม่อีกครั้งโดยไม่ปรากฏว่าเป็นการทำแทนบริษัท จึงเป็นการทำโดยพลการ โจทก์ไม่จำต้องฟ้องบริษัทเข้าเป็นจำเลยด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
แม้โจทก์จะมิได้ระบุหนังสือแจ้งการแก้ไขการลงทุนเอกสารหมาย จ.15 ไว้ในบัญชีระบุพยาน แต่โจทก์ก็ได้นำเอกสารดังกล่าวมาประกอบการถามติงในการสืบตัวโจทก์อันเป็นการสืบพยานโจทก์ปากแรกซึ่งจำเลยและผู้ร้องสอดที่ 3 มีโอกาสอย่างเต็มที่ในการที่จะนำพยานมาสืบหักล้าง ประกอบกับจำเลยและผู้ร้องสอดที่ 3 ก็อ้างมาตลอดว่าหุ้นเป็นของจำเลยและผู้ร้องสอดที่ 3 มิใช่ของโจทก์และจำเลยไม่ได้เป็นลูกจ้างหรือพนักงานของบริษัท ด. แต่อย่างใด เช่นนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลจึงรับฟังเอกสารดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) ส่วนที่ว่าเอกสารหมาย จ.15 เป็นเพียงสำเนานั้น เห็นว่า เอกสารดังกล่าวได้มีการจัดทำในต่างประเทศทั้งต้นฉบับก็มิได้อยู่ในความครอบครองของโจทก์ พยานเอกสารดังกล่าวเป็นพยานสำคัญที่จะพิสูจน์ถึงผู้มีสิทธิในหุ้นของบริษัท ซ. กรณีจึงจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจึงนำสืบสำเนาเอกสารดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93 (2) นอกจากนี้ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 โจทก์ก็ดำเนินการขอให้บริษัท ด. จัดทำหนังสือรับรองความมีอยู่จริงของสำเนาเอกสารหมาย จ.15 มาประกอบการพิจารณาของศาลด้วยแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับฟังเอกสารหมาย จ.15 มานั้น ชอบแล้ว
of 39