คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
โอนที่ดิน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 328 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6380/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์หลังการโอนที่ดินมีข้อจำกัด และเจตนาสละการครอบครองของผู้ขาย
ที่ดินพิพาทมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ตาม ป.ที่ดินฯ มาตรา 58 ทวิ นับแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2521 ส. ขายที่ดินและบ้านพิพาทโดยส่งมอบการครอบครองให้ พ. ในเดือนพฤศจิกายน 2526 ยังอยู่ภายในกำหนดเวลาห้ามโอนตามกฎหมาย แม้ในระหว่างนั้น พ. จะยังไม่ได้สิทธิครอบครอง เนื่องจากถูกจำกัดโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว มีผลทำให้การโอนที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ถือว่า พ. ครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทแทน ส. แต่เมื่อ พ. ยังคงครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทตลอดมาจนล่วงเลยระยะเวลาห้ามโอนแล้วเป็นเวลานานประมาณ 6 ปี โดย พ. ถึงแก่ความตายเมื่อกลางปี 2537 และจำเลยที่ 2 เป็นผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินพิพาทตลอดมา และ ส. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2530 ก่อนครบกำหนดเวลาห้ามโอน แต่โจทก์เพิ่งยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของ ส. เพื่อกล่าวอ้างสิทธิในที่ดินและบ้านพิพาทในปี 2537 โดยก่อนหน้าที่ พ. จะถึงแก่ความตายนั้น โจทก์และทายาทของ ส. ไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวอ้างสิทธิครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทแต่ประการใด จึงเป็นกรณีที่ พ. ไม่อาจทราบได้ว่าตนยึดถือที่ดินและบ้านพิพาทไว้แทนผู้ใด อันจะต้องบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังผู้นั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 พฤติการณ์แห่งคดีแสดงให้เห็นว่าโจทก์และทายาทของ ส. สละเจตนาครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทแล้ว การครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทของ พ. จึงเป็นการยึดถือโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน พ. ย่อมได้ซึ่งสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 142/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงให้โอนที่ดินเพื่อชำระหนี้โดยไม่คำนึงถึงราคาตลาดเป็นโมฆะ เพราะเอารัดเอาเปรียบผู้กู้
ข้อตกลงที่กำหนดว่า หากโจทก์ผู้กู้ไม่ชำระหนี้เงินกู้ให้แก่ ส. ผู้ให้กู้ เมื่อครบกำหนดตามสัญญา ก็ให้สิทธิ ส. โอนที่ดินพิพาทเพื่อชำระหนี้เงินกู้ได้ทันทีตามหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ลงลายมือชื่อไว้โดยไม่กรอกข้อความให้ ส. ยึดถือไว้เป็นประกันโดยไม่คำนึงถึงราคาที่ดินพิพาทว่าจะเท่ากับราคาท้องตลาดในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบคือเวลาจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์หรือไม่ ข้อตกลงดังกล่าวจึงขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 656 วรรคสอง ย่อมตกเป็นโมฆะตาม มาตรา 656 วรรคสาม ส. หามีสิทธิบังคับให้โจทก์ดำเนินการโอนที่ดินพิพาทไม่ การที่จำเลยบุตรของ ส. จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยโดยขัดต่อ มาตรา 656 วรรคสอง และวรรคสาม ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพราะเป็นเรื่องที่กฎหมายบัญญัติห้ามไว้โดยชัดแจ้งเพื่อป้องกันมิให้ผู้กู้ยืมถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ให้กู้ยืม ปัญหานี้จึงเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบด้วย มาตรา 246 และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 142/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเงินกู้ที่มีข้อตกลงให้โอนที่ดินเพื่อชำระหนี้โดยไม่คำนึงถึงราคาตลาด เป็นโมฆะ
หนังสือสัญญากู้ยืมเงิน ระบุว่า "เพื่อเป็นหลักฐาน ข้าพเจ้าฯได้นำโฉนดที่ดินพร้อมหลักฐานต่างๆ มอบอำนาจในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเมื่อข้าฯ ผิดสัญญาไม่ชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยทั้งหมดเมื่อครบสัญญาโดยไม่ต้องฟ้องร้องต่อศาลใดๆ" ตามข้อตกลงดังกล่าวหากโจทก์หากไม่ชำระหนี้เงินกู้ให้แก่ ส. บิดาจำเลย เมื่อครบกำหนดตามสัญญาก็ให้สิทธิ ส. โอนที่ดินพิพาทเพื่อชำระหนี้เงินกู้ได้ทันทีโดยไม่คำนึงถึงราคาที่ดินพิพาทว่าจะเท่ากับราคาท้องตลาดในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบคือเวลาจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์หรือไม่ จึงขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 656 วรรคสองย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 656 วรรคสาม ส. ไม่มีสิทธิบังคับให้โจทก์กำหนดการโอนที่ดินพิพาท
การที่จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยโดยขัดต่อประมวบกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 656 วรรคสองและวรรคสาม เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงลเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247
โจทก์มีคำขอให้ใส่ชื่อโจทกืเป็นเจ้าของที่ดินตามเดิมและหากจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา แต่เมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์ย่อมกลับมามีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินตามเดิม จึงไม่จำเป็นต้องพิพากษาบังคับตามคำขอดังกล่าวของโจทก์อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 819/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการโอนที่ดินเป็นสาธารณประโยชน์ - ผู้จัดสรรที่ดินมีสิทธิโอนที่ดินที่เป็นสาธารณูปโภคให้ราชการเพื่อพ้นจากหน้าที่บำรุงรักษา
ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นถนนที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. ผู้จัดสรรได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินเพื่อประโยชน์ให้แก่ผู้ที่อยู่อาศัยในที่ดินที่จัดสรรโดยเฉพาะ มิได้มุ่งหมายให้บุคคลภายนอกเข้ามาใช้ถนนร่วมกับผู้ซื้อที่ดินจัดสรรที่ตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินที่จัดสรร ภาระจำยอมดังกล่าวเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง พันเอก ว. เจ้าของกรรมสิทธิ์มีสิทธิในการใช้สิทธิเหนือที่ดินพิพาทที่เป็นภาระจำยอมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 เว้นแต่จะมีบทบัญญัติของกฎหมายที่ห้ามจำหน่ายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสาธารณูปโภค เพียงแต่ต้องยอมรับกรรมบางอย่าง ซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนหรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ทั้งหก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1387 และจะกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไป หรือเสื่อมความสะดวกมิได้เท่านั้น ภาระจำยอมเป็นทรัพยสิทธิย่อมตกติดไปกับอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสามยทรัพย์และภารยทรัพย์ แม้ต่อมา พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 3 ให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 แต่ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 43 ยังคงมีบทบัญญัติกำหนดให้สาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินให้ตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร และให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินที่จะบำรุงรักษาสาธารณูปโภคให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นนั้นต่อไป และจะกระทำการใดอันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้ และมาตรา 70 วรรคสาม บัญญัติว่า "การพ้นจากความรับผิดชอบในการบํารุงรักษาสาธารณูปโภคของผู้ได้รับใบอนุญาตหรือผู้รับโอนใบอนุญาตตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 หรือผู้รับโอน กรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภค ให้นํามาตรา 44 มาใช้บังคับโดยอนุโลม" โดยมาตรา 44 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ผู้จัดสรรที่ดินจะพ้นจากหน้าที่บํารุงรักษาสาธารณูปโภค ตามมาตรา 43 เมื่อได้ดําเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ภายหลังจากครบกําหนดระยะเวลาที่ผู้จัดสรรที่ดินรับผิดชอบ การบํารุงรักษาสาธารณูปโภคตามมาตรา 23 (5) แล้วตามลําดับ ดังต่อไปนี้...(2) ผู้จัดสรรที่ดินได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการให้...ดําเนินการจดทะเบียนโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้เป็นสาธารณประโยชน์" ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่รับรองว่า ผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์มีสิทธิที่จะจดทะเบียนโอนถนนให้เป็นสาธารณประโยชน์ได้ ทั้งนี้ เพื่อให้พ้นจากหน้าที่และความรับผิดชอบในการบำรุงรักษาถนนอันเป็นสาธารณูปโภคเช่นเดียวกัน การที่ พ. ผู้จัดการมรดกและในฐานะทายาทโดยธรรมของพันเอก ว. โดยความยินยอมของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ทายาทโดยธรรมผู้รับโอนมรดกที่ดินพิพาทต้องการจะพ้นจากหน้าที่และความรับผิดชอบในการบำรุงรักษาที่ดินพิพาทย่อมมีอำนาจที่จะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 มาตรา 6 เพื่อให้เป็นสาธารณประโยชน์ และเพื่อให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. ผู้จัดสรร รวมทั้ง พ. และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์พ้นจากหน้าที่และความรับผิดชอบในการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคสอง และ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 70 วรรคสาม ประกอบมาตรา 44 (2) จึงไม่ใช่การกระทำที่ต้องห้ามตามกฎหมาย ไม่ใช่การกระทำโดยไม่สุจริต ไม่ใช่การกระทำที่เป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งหก และไม่เป็นการกระทำอันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไป หรือเสื่อมความสะดวก โจทก์ทั้งหกไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้เป็นสาธารณประโยชน์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5052/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนที่ดินสินส่วนตัวและเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี ไม่ทำให้สิทธิในการโอนเป็นโมฆะ
แม้คดีจะฟังว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นสินส่วนตัวของ น. มิใช่สินสมรสตามที่ผู้ร้องสอดยกขึ้นต่อสู้ก็ตาม น. ก็มีอำนาจจัดการสินส่วนตัวของตนโดยให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงบางส่วน และยกกรรมสิทธิ์ในส่วนของ น. ให้แก่จำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1473 ดังนั้น การที่ น. ยกที่ดินพิพาททั้งสองแปลง ซึ่งเป็นสินส่วนตัวให้แก่จำเลย จึงเป็นสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะกระทำได้ ไม่ทำให้นิติกรรมดังกล่าวตกเป็นโมฆะ ส่วนการที่ น. และจำเลยแจ้งความเท็จโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียค่าธรรมเนียม ค่าภาษีเงินได้ ค่าอากร และค่าใช้จ่ายในการโอนก็เป็นหน้าที่ของรัฐ ที่หน่วยงานราชการจะต้องไปดำเนินการเรียกเอาจากผู้ที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 156/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนที่ดินโดยเสน่หาแต่มีเจตนาซ่อนเร้น การพิสูจน์เจตนาที่แท้จริง และผลกระทบต่อการเพิกถอนนิติกรรม
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินให้จำเลยที่ 2 โดยเสน่หาทั้งแปลง มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องร้องขอให้บังคับหรือไม่บังคับตามสัญญาให้โจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นคู่สัญญาที่ก่อนิติสัมพันธ์กันเอง การที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่า จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 400,000 บาท แต่เพื่อให้เสียค่าธรรมเนียมน้อยลงจึงแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินว่าเป็นการให้แทนการซื้อขายนั้น เป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองนำสืบถึงเจตนาที่แท้จริงของการทำนิติกรรมหรือมูลเหตุที่มาของการทำสัญญาให้ระหว่างจำเลยทั้งสอง แม้สัญญาให้ที่ดินจะระบุว่า จำเลยที่ 1 ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยไม่มีค่าตอบแทนเพราะผู้รับการให้เป็นหลานของผู้ให้ จำเลยทั้งสองก็มีสิทธินำสืบพยานบุคคลให้เห็นว่า การให้ที่ดินพิพาทตามสัญญาให้เป็นการให้ที่ดินโดยมีค่าภาระติดพันได้ กรณีไม่ใช่เป็นการนำสืบพยานบุคคลแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสาร อันจะเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 การโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองจึงเป็นการโอนโดยเสียค่าตอบแทน เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกกระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองมิได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4240/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนที่ดินที่เป็นสาธารณูปโภคให้เป็นสาธารณประโยชน์ ผู้จัดสรรที่ดินพ้นจากหน้าที่บำรุงรักษาตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ที่ดินพิพาทเป็นถนนที่จำเลยที่ 1 จัดให้มีขึ้นเป็นสาธารณูปโภคเพื่อการจัดสรรที่ดิน จึงตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร ซึ่งจำเลยที่ 1 หรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์คนต่อไปมีหน้าที่บำรุงรักษาที่ดินพิพาทให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นโดยตลอดไป และจะกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้ ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง ซึ่งใช้บังคับในขณะที่จำเลยที่ 1 ดำเนินการจัดสรรที่ดิน และ ป.พ.พ. มาตรา 1390 แต่จำเลยที่ 1 และผู้รับโอนกรรมสิทธิ์คนต่อไปมีสิทธิอุทิศที่ดินพิพาทอันเป็นสาธารณูปโภคของที่ดินจัดสรรให้เป็นสาธารณประโยชน์เพื่อให้ตนเองหลุดพ้นจากหน้าที่บำรุงรักษาที่ดินพิพาทได้ ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคสอง เมื่อจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ย่อมเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์คนต่อไปและมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 เพียงแต่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 มีหน้าที่บำรุงรักษาที่ดินพิพาทและมีสิทธิอุทิศที่ดินพิพาทอันเป็นสาธารณูปโภคของที่ดินจัดสรรให้เป็นสาธารณประโยชน์เพื่อให้ตนเองหลุดพ้นจากหน้าที่บำรุงรักษาที่ดินพิพาทตามบทบัญญัติดังกล่าวเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 ได้
ต่อมาขณะที่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์ ได้มี พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ใช้บังคับ โดยมาตรา 3 ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ซึ่งมาตรา 43 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้สาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดิน เช่น ถนน สวน สนามเด็กเล่น ตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรและให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินที่จะบำรุงรักษาสาธารณูปโภคให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นนั้นต่อไป และจะกระทำการใดอันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้ เช่นเดียวกับประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง และมีบทเฉพาะกาล มาตรา 70 วรรคสาม บัญญัติว่า การพ้นจากความรับผิดชอบในการบำรุงรักษาสาธารณูปโภคของผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภค ให้นํามาตรา 44 มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยมาตรา 44 วรรคหนึ่ง (เดิม) บัญญัติว่า ผู้จัดสรรที่ดินจะพ้นจากหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณูปโภคตามมาตรา 43 เมื่อได้มีการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามลำดับ ดังต่อไปนี้ ...(3) ผู้จัดสรรที่ดินจดทะเบียนโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้เป็นสาธารณประโยชน์ ดังนี้ บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการเพื่อให้พ้นจากหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณูปโภคที่แตกต่างจากประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ซึ่งถูกยกเลิกแล้ว จึงต้องใช้พ.ร.บ. ดังกล่าวบังคับแก่คดีนี้ แต่เมื่อตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดินฯ มาตรา 70 วรรคสาม ให้นํามาตรา 44 (เดิม) มาใช้บังคับโดยอนุโลม จึงต้องพิจารณาถึงสิทธิและหน้าที่ที่บุคคลต่าง ๆ มีอยู่ก่อนแล้วตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ประกอบด้วย การนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมนั้นหมายความเพียงว่า ให้ใช้บังคับเท่าที่จะบังคับได้ เมื่อตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคสอง กำหนดให้ผู้จัดสรรที่ดินมีอำนาจอุทิศที่ดินให้เป็นสาธารณประโยชน์ได้ และ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดินฯ มาตรา 44 (เดิม) บัญญัติให้ผู้จัดสรรที่ดินพ้นจากหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณูปโภคเมื่อได้โอนทรัพย์สินให้เป็นสาธารณประโยชน์ การที่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นสาธารณประโยชน์จึงชอบแล้ว แม้บุคคลทั่วไปนอกจากผู้ซื้อที่ดินจัดสรรสามารถใช้สอยที่ดินพิพาทในฐานะเป็นทางสาธารณประโยชน์ได้ แต่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรยังคงใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางภาระจำยอมได้เป็นปกติดังเดิม ไม่ทำให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกแต่ประการใด จึงไม่ขัด ต่อ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดินฯ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 900/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท: การครอบครองโดยชอบธรรมและผลของการโอนที่ดิน
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินและบ้านพิพาท อนุญาตให้จำเลยอยู่อาศัยในที่ดินและบ้านพิพาทโดยไม่มีค่าตอบแทน ต่อมาโจทก์แจ้งให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินและบ้านพิพาท แต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยเป็นบุคคลต่างด้าว เดินทางเข้ามาในประเทศไทย รู้จักและคบหาโจทก์ ต่อมาโจทก์และจำเลยร่วมลงทุนทำธุรกิจ และอยู่กินฉันสามีภริยาและลงทุนทำธุรกิจร่วมกันตลอดมา โดยอยู่อาศัยร่วมกันที่บ้านเช่าของจำเลยแล้วร่วมกันซื้อที่ดินและบ้านพิพาทโดยใช้เงินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน แต่จำเลยเป็นบุคคลต่างด้าว จึงตกลงให้โจทก์เป็นผู้มีชื่อในที่ดินและบ้านพิพาท หลังจากนั้นโจทก์กระทำการอันเป็นความผิดร้ายแรงต่อจำเลยและบุตรสาวเป็นเหตุให้โจทก์และจำเลยไม่สามารถอาศัยอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปได้ จำเลยให้โจทก์ออกจากที่ดินและบ้านพิพาท ก่อนที่โจทก์จะย้ายออก โจทก์บอกว่าโจทก์ยกที่ดินและบ้านพิพาทในส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยเพื่อเป็นการชดเชยกับสิ่งที่โจทก์ทำกับจำเลยและบุตรสาว แต่จำเลยเป็นบุคคลต่างด้าว ไม่สามารถจดทะเบียนมีชื่อในโฉนดที่ดินโดยยังไม่ได้รับอนุญาต โฉนดที่ดินจึงยังเป็นชื่อของโจทก์ โดยจำเลยครอบครองอยู่อาศัยอย่างเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียวตลอดมา คดีจึงมีประเด็นพิพาทว่า โจทก์หรือจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาท หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาท ฟ้องแย้งของจำเลยในส่วนที่ขอให้โจทก์คืนโฉนดที่ดินพิพาทแก่จำเลย มิใช่ขอให้ส่งมอบแก่เด็กหญิง ก. จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ส่วนในภายหน้าจำเลยจะยกที่ดินพิพาทให้แก่บุคคลใดย่อมเป็นสิทธิส่วนตัวของจำเลย ชอบที่จะต้องรับฟ้องแย้งของจำเลยในส่วนนี้ไว้พิจารณาพิพากษา
of 33