คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
อุทธรณ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3,483 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3498/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทางภาระจำยอม, การขาดนัดยื่นคำให้การ, การอุทธรณ์, การฎีกา, สิทธิในการใช้ทาง
คำฟ้องอุทธรณ์ที่ระบุว่าจำเลยทั้งสองอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่มีเพียงจำเลยที่ 2 ลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์เพียงผู้เดียว ส่วนทนายความจำเลยทั้งสองลงชื่อมาในช่องเป็นผู้เรียง/พิมพ์ เท่านั้น จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้อุทธรณ์เพียงผู้เดียว
จำเลยที่ 1 ไม่ได้อุทธรณ์ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิฎีกา เพราะฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7
จำเลยทั้งสองเป็นผู้ชักชวนให้โจทก์ซื้อที่ดินจาก ป. โดยจำเลยทั้งสองตกลงยินยอมให้โจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะได้อย่างเป็นทางภาระจำยอม แม้ข้อตกลงจะมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเพียงทำให้การได้มาไม่บริบูรณ์และไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกได้เท่านั้น แต่ระหว่างคู่กรณียังคงบังคับกันได้ในฐานะบุคคลสิทธิ จำเลยทั้งสองจึงต้องเปิดทางภาระจำยอมและจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 2 จะขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์ต้องนำสืบให้ได้ความตามคำฟ้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ คดีจึงมีประเด็นตามที่โจทก์ตั้งสภาพแห่งข้อหามาในคำฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ต้องรื้อถอนประตูเหล็กและใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ ดังนั้น อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ในประเด็นดังกล่าว จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตามมาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 343/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม: การอุทธรณ์ข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นในศาลล่าง และประเด็นที่ไม่ใช่ความสงบเรียบร้อยของประชาชน
จำเลยทั้งหกให้การแต่เพียงว่า บ. เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างแต่ใช้ชื่อห้างโจทก์เป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ 1 โจทก์มอบอำนาจให้ บ. เป็นผู้รับเงินค่าจ้างแทน จำเลยทั้งหกจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินให้แก่โจทก์อีก และศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์ได้รับเงินค่าจ้างก่อสร้างปรับปรุงถนนตามฟ้องจากจำเลยที่ 1 ไว้ถูกต้องแล้วหรือไม่ และจำเลยทั้งหกและจำเลยร่วมต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าโจทก์เชิดจำเลยร่วมขึ้นเป็นตัวแทนก็ดี หรือการที่โจทก์ลงลายมือชื่อของตนไว้ในหนังสือมอบอำนาจและให้จำเลยร่วมนำหนังสือดังกล่าวมากรอกข้อความในทำนองว่าโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยร่วมเป็นผู้รับเงินแทน ถือเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ก็ดี ล้วนแต่เป็นการอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3105/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องไม่ยื่นโดยตรงต่อศาลฎีกาหากมีทุนทรัพย์พิพาทไม่เกินห้าหมื่นบาท
โจทก์อุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง โจทก์จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาจึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย และเนื่องจากเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาทต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง การที่ศาลฎีกาจะส่งสำนวนคืนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยตามมาตรา 223 ทวิ วรรคท้าย จึงไม่เป็นประโยชน์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2959/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความผูกพันคู่ความ หากมีเหตุยกเว้นต้องอุทธรณ์ หากไม่ทำแล้วจะขอเพิกถอนไม่ได้
โจทก์ จำเลยทั้งสาม และจำเลยร่วมทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลและศาลพิพากษาตามยอมแล้ว ย่อมผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 หากจำเลยที่ 1 เห็นว่าคำพิพากษานั้นไม่ชอบเป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งเข้าข้อยกเว้นที่สามารถอุทธรณ์คำพิพากษาได้ตามมาตรา 138 วรรคสอง (2) จำเลยที่ 1 ก็ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษานั้นตามบทบัญญัติดังกล่าวเช่นกัน เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์และคดีถึงที่สุดไปแล้วจำเลยที่ 1 จะมายื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2696/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลเมื่อมีคำสั่งรับอุทธรณ์คดีล้มละลาย และการจำหน่ายคดีซ้ำซ้อน
เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกาคดีย่อมอยู่ในอำนาจของศาลฎีกาที่จะทำคำสั่งหรือคำพิพากษาต่อไป การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ภายหลังจากที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 แล้ว คำสั่งของศาลล้มละลายกลางจึงไม่ชอบให้เพิกถอนคำสั่งของศาลล้มละลายกลางดังกล่าว
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ในคดีนี้เป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีล้มละลายของศาลล้มละลายกลาง คดีหมายเลขแดงที่ 3940/2549 ซึ่งศาลล้มละลายกลางในคดีดังกล่าวมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดก่อนที่จะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดในคดีนี้ กรณีต้องจำหน่ายคดีของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 15 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 28

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 266/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาความเหมือนหรือความคล้ายคลึงของเครื่องหมายการค้าเพื่อการจดทะเบียน และขอบเขตการอุทธรณ์
การที่จะพิจารณาเครื่องหมายการค้าสองเครื่องหมายการค้าเหมือนหรือคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ นั้น เครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ต้องพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายการค้านั้นชวนให้เห็นว่ามีลักษณะทำนองเดียวกันหรือไม่ และพิจารณาเปรียบเทียบถึงลักษณะในเวลาใช้อยู่ตามปกติ
เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นรูปคนประดิษฐ์อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมลักษณะกางแขนออกและแยกขาจากกัน ส่วนเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.103780 ก็เป็นรูปคนประดิษฐ์ภายในกรอบสี่เหลี่ยมมีลักษณะเช่นเดียวกัน เครื่องหมายการค้าทั้งสองจึงมีลักษณะเหมือนกันหรือคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์นำสืบถึงความสุจริตในการใช้เครื่องหมาย (การค้า) ของโจทก์ ความเหมือนกันของแนวความคิดในการสร้างสรรค์รูปที่เป็นรูปคนประดิษฐ์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติโดยบังเอิญไม่ควรเป็นข้อขัดข้องในการที่จะไม่ให้โจทก์ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้น เท่ากับโจทก์อุทธรณ์ขอให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้านำ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 27 วรรคแรก มาปรับใช้กับโจทก์ ในชั้นชี้สองสถาน ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ได้กำหนดประเด็นเรื่องที่ว่าโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าที่นำมาขอจดทะเบียน โดยสุจริตหรือมีพฤติการณ์พิเศษที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นสมควรจะรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่ และโจทก์ไม่ได้โต้แย้งการกำหนดประเด็นพิพาทดังกล่าว ดังนั้น การที่โจทก์หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นอุทธรณ์ถือเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง และไม่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2635/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์การประเมินภาษีอากร การไม่ใช้สิทธิอุทธรณ์ภายในกำหนด ทำให้การประเมินยุติ และจำเลยต้องชำระภาษี
จำเลยนำเข้าสินค้ากากกุ้งเข้ามาในราชอาณาจักรโดยสำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าว่าสินค้าขาเข้าจัดอยู่ในประเภทพิกัด 2301.20 อัตราอากรขาเข้าร้อยละ 10 และเสียภาษีอากรตามอัตราดังกล่าว แต่ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้แจ้งการประเมินให้จำเลยทราบว่า สินค้าดังกล่าวจัดอยู่ในประเภทพิกัด 0508.00 อัตราอากรขาเข้าร้อยละ 35 จึงขอให้จำเลยชำระภาษีอากรเพิ่มเติม จำเลยได้รับหนังสือแจ้งการประเมินเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2543 แต่มิได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินภายใน 30 วัน ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ศุลกากรฯ ที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 ฉ ซึ่งบัญญัติว่า "...ผู้นำของเข้ามีสิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน..." การประเมินจึงยุติ จำเลยไม่มีสิทธิต่อสู้ว่าการประเมินไม่ชอบ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระภาษีอากรเพิ่มเติมตามฟ้อง แม้ศาลภาษีอากรกลางจะมิได้ยกข้อที่จำเลยไม่มีสิทธิต่อสู้ว่าการประเมินไม่ชอบขึ้นวินิจฉัย ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรก็ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้ เพราะเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2580/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์ต้องควบคู่กับการวางค่าธรรมเนียมและชำระตามคำพิพากษา หรือประกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 234
การที่จำเลยยื่นอุทธรณ์และยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินและมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยในคราวเดียวกัน จำเลยจะต้องยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ด้วย ทั้งต้องนำเงินค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาล และนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 234 จำเลยจะเลือกอุทธรณ์เฉพาะคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลเพียงอย่างเดียวหาได้ไม่ อุทธรณ์ของจำเลยไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 234 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยมา และศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยให้ จึงเป็นการไม่ชอบและไม่ก่อให้เกิดสิทธิที่จะฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 258/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำสั่งศาลล้มละลาย: การขายสิทธิเรียกร้องต้องเป็นไปตามข้อยกเว้นตามกฎหมายจึงจะอุทธรณ์ได้
คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่ยกคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้เพิกถอนการขายสิทธิเรียกร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านมิใช่คำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดที่ต้องด้วยข้อยกเว้นให้อุทธรณ์ได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 24 วรรคสอง (1) ถึง (5) จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2574/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีร่วมกัน การยึดทรัพย์สินลูกหนี้ร่วม และสิทธิในการอุทธรณ์ฎีกา
คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งว่าหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้บังคับคดีกับจำเลยที่ 4 มีผลให้เจ้าพนักงานบังคับคดีสามารถบังคับคดีเอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 4 ได้ จำเลยที่ 4 ย่อมได้รับผลกระทบจากคำสั่งของศาลชั้นต้นด้วย จำเลยที่ 4 จึงมีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวได้
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้บังคับจำนองนำที่ดินของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ชำระหนี้จนครบ จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดที่จะต้องชำระหนี้ทั้งหมดแก่โจทก์ เมื่อโจทก์บังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 ได้เงินไม่เพียงพอชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ย่อมสามารถบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 214
of 349