คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ขยายเวลา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 338 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขยายเวลาคำร้องเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ: เหตุสุดวิสัยและดุลพินิจศาล
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสอง เป็นบทบังคับเรื่องกำหนดเวลาในการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ไม่ใช่เรื่องอายุความ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง มาบังคับใช้กับกรณีนี้ได้ หากแต่กำหนดเวลาดังกล่าวเป็นระยะเวลาที่ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้ขยายได้ตามหลักเกณฑ์ใน ป.วิ.พ. มาตรา 23 การดำเนินกระบวนพิจารณาของผู้ร้องทั้งสองเป็นไปตามความจำเป็นโดยสุจริต พฤติการณ์แห่งคดีถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่ศาลชั้นต้นจะใช้อำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 สั่งให้ขยายระยะเวลาการยื่นคำร้องให้ก่อนที่จะสั่งรับคำร้องของผู้ร้องทั้งสองในคดีไว้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แต่หากศาลชั้นต้นซึ่งได้พิจารณาในชั้นตรวจรับคำร้องเห็นว่าคำร้องยื่นเกินกำหนดระยะเวลา 90 วัน ผู้ร้องทั้งสองไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง ก็ต้องมีคำสั่งให้ยกคำร้องนั้นเสีย มิใช่สั่งรับคำร้องขอไว้ก่อน อันทำให้เข้าใจได้ว่าศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจสั่งขยายระยะเวลาเช่นว่านี้ให้แล้ว จึงเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นการสั่งไปโดยผิดหลงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1526/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เหตุสุดวิสัยขยายเวลาอุทธรณ์: การติดต่อทนายความและการเปิดทำการศาลเป็นปัจจัยที่สามารถดำเนินการได้
ผู้ร้องทั้งสองทราบกำหนดนัดและผลคดีรวมทั้งสามารถติดต่อสื่อสารกับทนายของผู้ร้องทั้งสองได้โดยตลอด แม้ผู้ร้องทั้งสองอยู่ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แต่ผู้ร้องทั้งสองมีทนายความในประเทศไทยที่มีอำนาจดำเนินคดีแทน และผู้ร้องทั้งสองสามารถติดต่อกับทนายความได้ ประกอบกับศาลชั้นต้นก็ยังคงเปิดทำการอยู่ เช่นนี้ ทนายความของผู้ร้องทั้งสองย่อมสามารถดำเนินการขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ การที่ผู้ร้องทั้งสองมิได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ภายในกำหนดจึงถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3317/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายห้องชุด, การขยายเวลาโอนกรรมสิทธิ์, เบี้ยปรับ, การสงวนสิทธิ์เรียกค่าปรับ
คำแก้อุทธรณ์เป็นคำคู่ความ คู่ความจึงอาจตั้งประเด็นมาในคำแก้อุทธรณ์ได้ แม้คำพิพากษาศาลชั้นต้นตัดสินให้จำเลยชนะคดีก็ตามแต่ในส่วนที่วินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยผิดสัญญาเป็นการวินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ในคำให้การของจำเลยที่ว่าจำเลยไม่ได้ผิดสัญญาฟังไม่ขึ้น จำเลยย่อมมีสิทธิโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่วินิจฉัยว่าจำเลยผิดสัญญาได้ แม้จำเลยมิได้ยื่นคำฟ้องอุทธรณ์ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์ จำเลยได้โต้แย้งโดยกล่าวมาในคำแก้อุทธรณ์ว่าข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญา คดีในชั้นอุทธรณ์จึงยังคงมีประเด็นข้อพิพาทในปัญหาว่าจำเลยผิดสัญญาหรือไม่อยู่ ที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกปัญหาในประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยจึงชอบแล้ว
จำเลยก่อสร้างอาคารและห้องชุดไม่เสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ได้ทันภายในเดือนมีนาคม 2559 ซึ่งเป็นกำหนดวันโอนกรรมสิทธิ์ที่โจทก์จำเลยตกลงให้ขยายระยะเวลา จำเลยจึงผิดสัญญาข้อตกลงในสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดข้อ 7.4.2 ระบุว่า หากจำเลยไม่โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ภายในเวลาที่กำหนดไว้แล้ว โจทก์ไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา จำเลยยินยอมให้โจทก์ปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.01 ของราคาห้องชุดแต่รวมกันแล้วไม่เกินร้อยละสิบของราคาห้องชุด ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นการให้สัญญาว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อไม่ชำระหนี้ตรงตามเวลาที่กำหนดไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 381 ซึ่งวรรคสามของมาตราดังกล่าวบัญญัติว่า "ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้แล้ว จะเรียกเอาเบี้ยปรับได้ต่อเมื่อได้บอกสงวนสิทธิ์ไว้เช่นนั้นในเวลารับชำระหนี้" เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า โจทก์ได้บอกสงวนสิทธิ์กับจำเลยไว้ว่าจะเรียกเอาค่าปรับจากการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดล่าช้าไม่ตรงตามกำหนดในสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าปรับตามฟ้องจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3716/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาชอบด้วยกฎหมายเมื่อศาลขยายเวลาให้ยื่นคำร้องอนุญาตฎีกาได้ และศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจรอการลงโทษจำคุกได้
โจทก์ร่วมยื่นฎีกาพร้อมคำร้องขออนุญาตฎีกาเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566 ภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นขยายให้ ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องขออนุญาตฎีกาว่า พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 มิใช่เป็นกรณีที่ต้องขออนุญาตฎีกาต่อศาลฎีกา แต่เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเห็นสมควรให้โจทก์ร่วมดำเนินการยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาให้ถูกต้องภายใน 15 วัน มิฉะนั้นถือว่าโจทก์ร่วมทิ้งคำร้อง อันเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควรขยายระยะเวลายื่นฎีกาออกไปอีก 15 วัน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 19 สิงหาคม 2566 โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขออนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงอันเป็นคำร้องที่ถูกต้องวันที่ 18 สิงหาคม 2566 ภายในกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นขยายให้ เมื่อผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง คำสั่งรับฎีกาโจทก์ร่วมของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 275/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เหตุสุดวิสัยและขยายเวลาการยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายสำหรับเจ้าหนี้ต่างประเทศ
ผู้ร้องเป็นชาวต่างประเทศมีภูมิลำเนาอยู่นอกราชอาณาจักร ไม่มีตัวแทนในประเทศไทย ช่วงเวลาที่กำหนดให้เจ้าหนี้ทั้งหลายยื่นคำขอรับชำระหนี้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย นับว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ผู้ร้องไม่สามารถยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดได้ ทั้งเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เริ่มคลี่คลาย ผู้ร้องก็ได้รีบดำเนินการมอบอำนาจให้ อ. ยื่นคำขอรับชำระหนี้ทันที กรณีจึงมีเหตุอันสมควรที่จะให้ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2311/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคำนวณวันคำพิพากษาถึงที่สุดเพื่อขอคืนของกลางตาม ป.อ. มาตรา 36 ต้องยึดตามกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด ไม่ใช่ตามวันที่ศาลอนุญาตขยายเวลา
การร้องขอคืนของกลางตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 36 นั้น เจ้าของที่แท้จริงซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดย่อมมีสิทธิร้องขอคืนของกลางต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด ซึ่งคำว่า "วันคำพิพากษาถึงที่สุด" นี้ ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง บัญญัติว่า "คำพิพากษาหรือคำสั่งใดซึ่งอาจอุทธรณ์ฎีกาหรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้นั้น ถ้ามิได้อุทธรณ์ฎีกาหรือร้องขอให้พิจารณาใหม่ภายในเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง..." ซึ่งก็คือ เมื่อครบกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งให้คู่ความฟัง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 198 และมาตรา 216 ในกรณีที่คู่ความยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ฎีกาแล้วมิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาตามที่ได้ขอขยายระยะเวลาไว้ วันคำพิพากษาถึงที่สุดย่อมต้องกลับไปใช้ระยะเวลา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่กำหนดโดยกฎหมาย คือ เมื่อครบกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งให้คู่ความฟัง คดีนี้เมื่อมีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้คู่ความความฟัง เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 โจทก์และจำเลยทั้งสองใช้สิทธิฎีกาได้ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2564 ซึ่งจำเลยทั้งสองมิได้ขอขยายระยะเวลาฎีกา และมิได้ใช้สิทธิฎีกา ส่วนโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาและศาลชั้นต้นอนุญาตถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2564 แต่โจทก์มิได้ฎีกา คำพิพากษาย่อมถึงที่สุดในวันที่ 15 มีนาคม 2564 อันเป็นวันครบกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้คู่ความฟัง สิทธิของผู้ร้องที่จะขอคืนของกลางต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด จึงต้องนับตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2564 มิใช่วันที่ 14 มิถุนายน 2564 ดังที่ผู้ร้องอุทธรณ์ ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอคืนของกลางเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565 จึงเป็นการยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด ต้องห้ามตาม ป.อ. มาตรา 36 ที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของผู้ร้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1785/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขยายระยะเวลาบังคับคดี: ศาลอนุญาตสวมสิทธิเจ้าหนี้ถือเป็นการขยายเวลา แม้หมดอายุระหว่างพิจารณา
การร้องขอให้บังคับคดีซึ่งต้องกระทำภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง เป็นระยะเวลาที่กำหนดไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) ศาลมีอำนาจที่จะขยายหรือย่นระยะเวลาได้โดยคู่ความไม่จำต้องร้องขอ เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและศาลได้มีคำสั่งก่อนสิ้นระยะเวลานั้น เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยตามมาตรา 23
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาวันที่ 13 พฤศจิกายน 2543 คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์ขอให้บังคับคดีและศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2546 ต่อมาโจทก์โอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยรวมถึงหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. วันที่ 10 พฤศจิกายน 2553 บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. ยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ และวันที่ 11 พฤศจิกายน 2553 บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. ยื่นคำขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 141813 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง การดำเนินการของบริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. ยังอยู่ภายในกำหนดระยะเวลาบังคับคดี 10 ปี แต่ศาลกำหนดนัดไต่สวนคำร้องขอสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาภายหลังรับคำร้องนานเกือบ 3 เดือน แล้วมีคำสั่งอนุญาตเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งล่วงเลยระยะเวลาการบังคับคดีแล้ว นับได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษ แต่ระยะเวลาบังคับคดีได้สิ้นสุดลงในระหว่างการไต่สวนคำร้องขอสวมสิทธิดังกล่าว ทำให้ศาลไม่อาจมีคำสั่งขยายระยะเวลาบังคับคดีได้ก่อนสิ้นระยะเวลานั้น จึงมีเหตุสุดวิสัย การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. สวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ต้องถือว่าศาลมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาบังคับคดีออกไปแล้ว บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. ยื่นคำขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 141813 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลย ซึ่งถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับ จ. เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2554 จึงอยู่ภายในกำหนดระยะเวลาบังคับคดีตามที่ศาลชั้นต้นให้ขยาย กรณีไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนการยึด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1302/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขยายเวลาไถ่ขายฝากตาม พ.ร.บ.คุ้มครองประชาชนฯ และผลกระทบต่อสิทธิการไถ่ของลูกหนี้
แม้สัญญาขายฝากระหว่างโจทก์กับจำเลยจะทำขึ้นก่อน พ.ร.บ.คุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ แต่เมื่อกำหนดไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝาก คือวันที่ 20 เมษายน 2562 เป็นกำหนดไถ่ที่มีหรือเหลือระยะเวลาน้อยกว่าสามเดือนนับแต่วันที่ 17 เมษายน 2562 ซึ่งเป็นวันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ กรณีย่อมต้องด้วยบทเฉพาะกาลมาตรา 20 ที่กำหนดให้สัญญาขายฝากซึ่งทรัพย์สินที่ขายฝากเป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัยที่ได้ทำไว้ก่อนวันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับและยังไม่ครบกำหนดเวลาไถ่ให้มีผลผูกพันคู่สัญญาต่อไปตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในวันทำสัญญาขายฝาก เว้นแต่กรณี (3) ให้นําความในมาตรา 17 มาใช้บังคับกับสัญญาขายฝากที่มีผลบังคับอยู่ก่อนวันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ และในกรณีที่กำหนดเวลาไถ่ในสัญญาขายฝากมีหรือเหลือระยะเวลาน้อยกว่าสามเดือนนับแต่วันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ ให้ขยายกำหนดเวลาการไถ่ออกไปเป็นเวลาหกเดือนนับแต่วันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ กำหนดไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงต้องขยายระยะเวลาออกไปอีก 6 เดือนนับแต่วันที่ พ.ร.บ. นี้มีผลใช้บังคับ ทำให้จะครบกำหนดไถ่ในวันที่ 17 ตุลาคม 2562 และเมื่อมาตรา 17 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ก่อนวันครบกำหนดเวลาไถ่ไม่น้อยกว่าสามเดือนแต่ไม่มากกว่าหกเดือน ให้ผู้ซื้อฝากแจ้งเป็นหนังสือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังผู้ขายฝากเพื่อให้ผู้ขายฝากทราบกำหนดเวลาไถ่และจำนวนสินไถ่ หากผู้ซื้อฝากละเลยไม่ดำเนินการดังกล่าว มาตรา 17 วรรคสอง บัญญัติให้ผู้ขายฝากมีสิทธิไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากได้ภายในหกเดือนนับแต่วันครบกำหนดไถ่ที่ระบุไว้ในสัญญาขายฝากโดยผู้ขายฝากมีหน้าที่ชําระสินไถ่ตามจำนวนที่กำหนดไว้ในสัญญา เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าก่อนวันครบกำหนดเวลาไถ่ที่ขยายระยะเวลาออกไปโดยผลของกฎหมายตามที่กล่าวมาจำเลยผู้ซื้อฝากได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ผู้ขายฝากทราบถึงกำหนดเวลาไถ่และจำนวนสินไถ่ก่อนวันครบกำหนดเวลาไถ่ไม่น้อยกว่าสามเดือนแต่ไม่มากกว่าหกเดือนตามบทบัญญัติมาตรา 17 วรรคหนึ่ง กำหนดไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากจึงต้องขยายไปอีกหกเดือนนับแต่วันครบกำหนดไถ่ตามมาตรา 17 วรรคสอง กล่าวคือ ขยายออกไปอีกจนถึงวันที่ 17 เมษายน 2563 การที่โจทก์ขอไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากต่อจำเลยเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2562 จึงยังอยู่ภายในกำหนดไถ่
of 34