คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
พิทักษ์ทรัพย์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 377 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10207/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้ค่าปรับจากการผิดสัญญาประกันหลังศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ไม่สามารถนำมาขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้
เจ้าหนี้ไม่มีประกันที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27 มาตรา 91 และมาตรา 94 นั้น ต้องเป็นเจ้าหนี้ในหนี้เงินที่มูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม ผู้ร้องขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ที่ลูกหนี้ทำสัญญาประกันการปล่อยชั่วคราวจำเลยในคดีอาญา ซึ่งมีวัตถุแห่งหนี้เป็นกรณีให้ลูกหนี้กระทำการคือให้ลูกหนี้ผู้ประกันนำตัวจำเลยในคดีอาญามาศาลตามนัดหรือหมายเรียกของศาลแขวงชลบุรี และเมื่อลูกหนี้ยังมิได้ผิดสัญญาที่ต้องกระทำการดังกล่าว ลูกหนี้ก็ไม่มีความรับผิดใช้เงินค่าปรับตามที่ศาลมีอำนาจบังคับตามสัญญา หนี้ตามสัญญาประกันในส่วนที่ให้ลูกหนี้กระทำการและยังมิได้ผิดสัญญาจึงมิใช่หนี้เงินที่ต้องขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย เมื่อต่อมาหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ลูกหนี้ผิดสัญญาประกันและศาลแขวงชลบุรีมีคำสั่งปรับลูกหนี้ ถือว่ามูลหนี้ค่าปรับซึ่งเป็นหนี้เงินที่ลูกหนี้จะต้องชำระตามสัญญาประกันเกิดขึ้นเมื่อศาลมีคำสั่งปรับ แต่เป็นหนี้ที่มิได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ไม่อาจนำหนี้ค่าปรับมาขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้ แม้ผู้ร้องจะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในหนี้ค่าปรับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคสอง แต่ผู้ร้องก็ยังไม่อาจบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้จนกว่าลูกหนี้จะพ้นจากการล้มละลายแล้ว เพราะเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว อำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตกแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5604/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจดำเนินคดีหลังมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียว
หลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจเข้าว่าคดี ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 และมาตรา 25 จำเลยไม่มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ได้อีก ซึ่งจำเลยแถลงให้ศาลชั้นต้นทราบถึงข้อเท็จจริงที่จำเลยไม่มีอำนาจดังกล่าวแล้ว แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังคงดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป โดยไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีแทนจำเลย การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลอุทธรณ์ภาค 7 นับแต่วันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด รวมถึงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 และการยื่นฎีกาของจำเลย จึงเป็นการไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 และมาตรา 25 แม้ปัญหาเรื่องกระบวนพิจารณาในศาลอุทธรณ์ภาค 7 และการยื่นฎีกาของจำเลยชอบหรือไม่จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3488/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีตั๋วสัญญาใช้เงินหลังศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์โจทก์ & ดอกเบี้ยผิดนัด
โจทก์มีตั๋วสัญญาใช้เงินไว้ในครอบครองเนื่องจาก บริษัท อ. สลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นกลับมาให้โจทก์เพราะโจทก์ใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่บริษัทนั้นแล้ว โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์จะรับโอนตั๋วสัญญาใช้เงินและใช้เงินให้แก่บริษัท อ. หลังจากกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้โจทก์ระงับการดำเนินกิจการ แต่ก็ได้ความจาก พ. ผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์ว่า หลังจากกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้โจทก์ระงับการดำเนินกิจการ องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน แต่งตั้ง ช. เป็นประธานกรรมการของโจทก์ ซึ่งเป็นการดำเนินการโดยคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินตามมาตรา 30 แห่ง พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 และหลังจากนั้นองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินเคยมีหนังสือแจ้งไปยังประธานกรรมการโจทก์ให้ถือปฏิบัติเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยแก่ลูกหนี้ของโจทก์ การดำเนินกิจการของโจทก์หลังจากกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการจึงเป็นการเข้าดำเนินการโดยองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน การดำเนินกิจการของโจทก์ดังกล่าวจึงหาเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งกระทรวงการคลังไม่
คำสั่งกระทรวงการคลังให้โจทก์ระงับการดำเนินกิจการ เป็นคำสั่งที่ใช้บังคับแก่โจทก์โดยเฉพาะมิได้ใช้บังคับแก่บุคคลทั่วไป การดำเนินการของโจทก์เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับบริษัท อ. และกระทรวงการคลังที่จะต้องว่ากล่าวกัน หาได้กระทบกระเทือนต่อฐานะความเป็นคู่สัญญาผู้ขายลดตั๋วเงินของจำเลยที่ 1 และฐานะความเป็นผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ 2 ไม่ กล่าวอีกนัยหนึ่ง หาทำให้สัญญาขายลดตั๋วเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 หรือตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกตั๋วระงับหรือสิ้นสุดไปด้วยไม่ ทั้งไม่ได้ความว่าการโอนตั๋วสัญญาใช้เงินระหว่างโจทก์กับบริษัท อ. มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล เท่ากับการใช้สิทธิฟ้องคดีของโจทก์เป็นไปโดยสุจริต ดังนั้น เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ใช้เงินตามตั๋ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินได้
สัญญาขายลดตั๋วเงิน มีข้อตกลงว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดนัด จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามที่โจทก์ประกาศกำหนด โดยโจทก์อ้างส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง อัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมและส่วนลดสูงสุด และอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้าชั้นดีของโจทก์ และหนังสือขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน แสดงให้เห็นว่า ขณะจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาขายลดตั๋วเงิน โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ซึ่งไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์ประกาศกำหนด จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ไม่ได้เขียนข้อความกำหนดให้เรียกดอกเบี้ยไว้ แต่ ป.พ.พ. มาตรา 968 (2) ประกอบมาตรา 985 บัญญัติให้มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้อัตราร้อยละ 5 ต่อปี แม้โจทก์จะไม่ได้ฎีกา แต่เรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15349/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีและการอายัดทรัพย์สินก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์: สิทธิของเจ้าหนี้ในการรับชำระหนี้
เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือถึงศาลชั้นต้นอายัดเงินค่าเช่าที่จำเลยนำมาวางต่อศาลชั้นต้นตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เงินค่าเช่าที่จำเลยได้นำมาวางศาลเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาไม่จำต้องทำการยึดหรืออายัดอีก แต่ไม่ให้นำไปชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาจนกว่าคดีจะถึงที่สุด เป็นเหตุให้โจทก์ไม่อาจบังคับคดีเอาแก่เงินจำนวนดังกล่าวได้ทันที จึงไม่ใช่ความผิดของโจทก์ คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงเป็นคำสั่งไม่ชอบ ที่ถูกศาลชั้นต้นจะต้องส่งเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีไปตามหนังสือขออายัดซึ่งมีผลเท่ากับเจ้าพนักงานบังคับคดีได้อายัดทรัพย์สินของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้แทนโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคหนึ่ง อย่างช้าสุดนับแต่วันที่ 10 มกราคม 2546 อันเป็นวันที่ศาลชั้นต้นได้รับหนังสืออายัด ทั้งตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 110 บัญญัติว่า "คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ไว้ชั่วคราว หรือหมายบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้นั้น จะใช้ยันแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ไม่ได้ เว้นแต่การบังคับคดีนั้น สำเร็จบริบูรณ์แล้วก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์" และตามวรรคสองของบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า "การบังคับคดีนั้น ให้ถือว่าสำเร็จบริบูรณ์เมื่อพ้นกำหนดเวลาที่อนุญาตให้เจ้าหนี้อื่นยื่นคำขอเฉลี่ยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง" เมื่อถือว่ามีการอายัดเงินค่าเช่านับแต่วันที่ 10 มกราคม 2546 เจ้าหนี้อื่นมีสิทธิยื่นคำขอเฉลี่ยทรัพย์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคห้า ได้ภายในวันที่ 24 มกราคม 2546 จำเลยถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดวันที่ 18 สิงหาคม 2552 การบังคับคดีจึงสำเร็จบริบูรณ์ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วย่อมใช้ยันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ แม้คดีนี้ต่อมาวันที่ 1 เมษายน 2548 โจทก์จะมีการยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นส่งเงินไปให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อโจทก์จะได้บังคับเอากับเงินดังกล่าว และศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของโจทก์ ก็ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ต้องเสียไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14472/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้เกิดก่อนคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์: เจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามกฎหมายล้มละลาย
ดอกเบี้ยของเบี้ยปรับและค่าเสียหายที่โจทก์ต้องซื้อสินค้าในราคาที่เพิ่มขึ้น แม้เกิดขึ้นภายหลังที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด แต่เมื่อมูลหนี้เงินทั้งสองจำนวนดังกล่าวเป็นมูลหนี้จากสัญญาซื้อขายที่เกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด จึงมิใช่มูลหนี้ที่เกิดขึ้นใหม่ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ได้ก็แต่โดยปฏิบัติตามวิธีการที่กล่าวไว้ในกฎหมายล้มละลายเท่านั้น โจทก์จะฟ้องบังคับจำเลยเป็นคดีแพ่งหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12941/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีสำเร็จก่อนพิทักษ์ทรัพย์ แต่มีคดีพิพาทเรื่องเจ้าหนี้จำนอง ศาลมีอำนาจงดการพิจารณาและส่งเรื่องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จัดการ
แม้การบังคับคดีนั้นได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วก่อนวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดก็ตาม แต่เนื่องจากผู้ร้องอ้างว่าผู้ร้องอยู่ในฐานะผู้รับจำนองได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 17767 และ 16632 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยในคดีระหว่างโจทก์กับจำเลย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ซึ่งถือได้ว่าเป็นคำฟ้องบังคับจำนอง แต่จำเลยคัดค้าน ระหว่างการพิจารณาว่าผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้จำนองทรัพย์สินดังกล่าวหรือไม่ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด คดีระหว่างผู้ร้องกับจำเลยดังกล่าวในชั้นบังคับคดีจึงมีกรณีพิพาทว่าผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยหรือไม่ ถือเป็นคดีแพ่งอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลในขณะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 25 ที่กำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีแพ่งทั้งปวงอันเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลขณะที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ประกอบกับจำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ ตามมาตรา 22 (1) เมื่อต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยมีคำขอให้จำหน่ายคดี โดยให้ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ศาลย่อมมีอำนาจงดการพิจารณาคดีแพ่งนั้นไว้ หรือจะสั่งประการใดตามที่เห็นสมควรก็ได้ตามที่มาตรา 25 ตอนท้าย บัญญัติไว้ การที่ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเพื่อให้ผู้ร้องไปดำเนินการทั้งหลายต่อในคดีล้มละลายเพื่อประโยชน์ในการจัดกิจการและทรัพย์สินของจำเลย ผู้ร้องไม่เสียสิทธิในการได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9592/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเจ้าหนี้มีประกันในการบังคับคดี แม้มีการพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของลูกหนี้
เมื่อจำเลยที่ 1 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลายภายหลังจากที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ตามคำขอให้บังคับคดีของโจทก์ในคดีนี้ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำเลยที่ 1 จำนองไว้แก่ผู้ร้องก่อนโจทก์ผู้นำยึดแล้ว การที่โจทก์เจ้าหนี้สามัญผู้นำยึดมิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายมีผลเพียงทำให้โจทก์หมดสิทธิได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ในคดีล้มละลายเท่านั้น มิได้ทำให้การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ที่ดำเนินการมาโดยชอบสิ้นผลไป และการที่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันมิได้ใช้สิทธิขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ในคดีล้มละลาย แต่เลือกใช้สิทธิที่จะบังคับแก่หลักประกัน ซึ่งตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 110 วรรคสาม คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ไม่กระทบถึงสิทธิของเจ้าหนี้มีประกันในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมีอำนาจบังคับคดีแก่หลักประกันของผู้ร้องต่อไปในคดีนี้ได้ แม้ต่อมาภายหลังศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งปลดจำเลยที่ 1 จากล้มละลาย ก็มิได้ทำให้อำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะดำเนินการบังคับคดีหมดไปไม่ ส่วนเมื่อได้มีการบังคับคดีแก่ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นหลักประกันแล้วจะมีเงินเหลือเป็นประโยชน์แก่กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ในคดีล้มละลาย เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ก่อนปลดจากการล้มละลาย ก็เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบที่จะขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีโอนเข้ามาในคดีล้มละลายได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 112 กรณีจึงไม่มีเหตุให้เพิกถอนการบังคับคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7942/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความละเมิดจากการชำระหนี้หลังถูกพิทักษ์ทรัพย์: เริ่มนับเมื่อคืนเงินกองทรัพย์สิน
โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดฐานละเมิดที่เปิดบัญชีกระแสรายวันกับโจทก์ หลังจากจำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดที่อำนาจจัดการทรัพย์สินของจำเลยตกแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามกฎหมาย จำเลยรู้อยู่แล้วว่าไม่มีอำนาจดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลย แต่กลับเปิดบัญชีกระแสรายวันและเดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์ เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องขอให้โจทก์ชำระเงินที่จำเลยชำระหนี้โจทก์ คืนแก่กองทรัพย์สินของจำเลยในคดีล้มละลาย ถือว่า ณ วันที่จำเลยนำเงินเข้าบัญชีชำระหนี้แก่โจทก์ยังมิใช่เป็นวันละเมิด อายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 ยังไม่เริ่มนับ เพราะการกระทำของจำเลยกรณีนี้ จะถือเป็นการละเมิดโจทก์ต่อเมื่อโจทก์ต้องคืนเงินให้แก่กองทรัพย์สินของจำเลยแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว เมื่อโจทก์จำต้องคืนเงินให้แก่กองทรัพย์สินของจำเลยตามคำสั่งศาล ซึ่งศาลมีคำสั่งในวันที่ 14 ธันวาคม 2549 จึงถือว่า โจทก์ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันดังกล่าว โจทก์ฟ้อง วันที่ 7 มิถุนายน 2550 ไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทน คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1307/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายที่ดินหลังมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์: จำเลยไม่ประมาทเลินเล่อในการตรวจสอบ
ในระหว่างที่โจทก์เจรจาตกลงกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพื่อขอซื้อที่ดินและบ้านพิพาทจนกระทั่งมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของจำเลยที่ 1 และทำสัญญาขายที่ดินและบ้านพิพาทนั้น ยังมิได้มีการประกาศคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 1 ในราชกิจจานุเบกษา แม้ศาลล้มละลายกลางจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในวันที่ 13 ธันวาคม 2544 ก็ตาม แต่ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 ได้รู้หรือควรจะรู้ว่าจำเลยที่ 1 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว จนกระทั่งมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 12 มีนาคม 2545 ซึ่งให้ถือว่าบุคคลทั่วไปต้องทราบคำสั่งเช่นนั้นแล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ดีเสียก่อนว่าจำเลยที่ 1 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วหรือไม่ ก่อนที่จะทำสัญญาขายนั้น โจทก์มีหน้าที่นำสืบในประเด็นดังกล่าวเพื่อให้ศาลรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่ออย่างไร และจำเลยที่ 2 ต้องดำเนินการตรวจสอบอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะทราบได้ว่าศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว พยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18851/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คที่ออกภายหลังศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเป็นโมฆะ แม้มีหนี้จริงก็ไม่อาจฟ้องร้องได้
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 24 บัญญัติห้ามมิให้จำเลยกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตนเว้นแต่จะกระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้จัดการทรัพย์หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ การที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ ในขณะที่จำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีล้มละลายแล้ว จึงเป็นการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยซึ่งจำเลยไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว การกระทำของจำเลยเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เช็คพิพาททั้งสองฉบับดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่อาจนำเช็คพิพาททั้งสองฉบับมาฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย
of 38