คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
หนังสือมอบอำนาจ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 340 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2423/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังสำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงเป็นพยานหลักฐาน และผลกระทบต่อการปิดอากรแสตมป์
เมื่อโจทก์ส่งภาพถ่ายสำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงเป็นพยานต่อศาล จำเลยไม่ได้คัดค้านหรือโต้แย้งว่าโจทก์มิได้ส่งต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจช่วงแต่อย่างใด การที่ศาลชั้นต้นรับฟังสำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงดังกล่าว จึงเท่ากับศาลชั้นต้นอนุญาตให้นำสำเนาเอกสารนั้นมาสืบได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93 (2) สำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงจึงสามารถรับฟังเป็นพยานเอกสารได้ เมื่อปรากฏว่าเป็นการรับฟังสำเนาเอกสารเป็นพยานหลักฐานแทนต้นฉบับเอกสาร จึงไม่ใช่การรับฟังต้นฉบับเอกสารเป็นพยานหลักฐาน ทั้งสำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงดังกล่าวก็มิใช่คู่ฉบับหรือคู่ฉีกแห่งตราสาร จึงไม่อยู่ในบังคับให้ต้องปิดอากรแสตมป์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 สำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงดังกล่าวจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ไม่ต้องห้ามตาม ป.รัษฎากร แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 760/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือมอบอำนาจปลอม, การฉ้อโกง, และสิทธิในการบังคับคดี: ศาลอนุญาตให้บังคับคดีได้หากยังไม่ได้รับชำระหนี้
พ. ปลอมหนังสือมอบอำนาจ แล้วนำไปใช้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความลดยอดหนี้และรับเงินจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ทั้งห้า และแม้ว่าโจทก์ทั้งห้าจะได้ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความมอบให้แก่ พ. ไป แต่ พ. เป็นทนายความของโจทก์ทั้งห้าย่อมถือเป็นผู้มีวิชาชีพและมีจรรยาบรรณเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนว่าจะกระทำการใด ๆ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตตามหลักจริยธรรมทางวิชาชีพของตนเพื่อจรรโลงความยุติธรรมในสังคม ทั้งจะต้องรักษาผลประโยชน์แห่งลูกความของตนไม่ให้เป็นที่เสื่อมเสีย เช่นนี้ การที่ พ. นำหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ทั้งห้าลงลายมือชื่อไปปลอมเอกสาร ย่อมถือไม่ได้ว่าเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ทั้งห้า เมื่อ พ. นำหนังสือมอบอำนาจปลอมของโจทก์ทั้งห้าไปใช้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความลดยอดหนี้และรับเงินจากจำเลยที่ 2 โดยไม่ปรากฏว่า โจทก์ทั้งห้าร่วมรู้เห็นกับการกระทำของ พ. ดังกล่าว การทำสัญญาระหว่าง พ. กับจำเลยที่ 2 จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งห้า พ. จึงไม่มีฐานะเป็นตัวแทนของโจทก์ทั้งห้า ไม่มีอำนาจรับเงินหรือเช็คจากจำเลยที่ 2 ไว้แทนโจทก์ทั้งห้า และมิใช่กรณีตัวแทนกระทำการโดยปราศจากอำนาจหรือทำนอกเหนือขอบอำนาจในอันที่ตัวการจะให้สัตยาบัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 823 ได้ ดังนี้ แม้โจทก์ที่ 3 และที่ 4 จะได้ฟ้อง พ. ให้คืนเงินที่รับไว้จากจำเลยที่ 2 แก่โจทก์ที่ 3 และที่ 4 หรือร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญาต่อ พ. กับพวกก็ตาม ก็เป็นเพียงการเรียกร้องค่าเสียหายและการดำเนินคดีเนื่องจากโจทก์ที่ 3 และที่ 4 ถูก พ. กระทำละเมิด ฉ้อโกง และยักยอกไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ที่ 3 และที่ 4 ได้ให้สัตยาบันแก่การกระทำของ พ.
ภายหลังจากที่ พ. รับเงินและเช็คจากจำเลยที่ 2 แล้ว พ. นำเช็คไปเรียกเก็บเงินและรับเงินตามเช็คเป็นของตน มิได้นำเงินที่ได้รับมาไปมอบให้แก่โจทก์ทั้งห้า ทั้งยังนำเช็คส่วนที่เหลืออีก 29 ฉบับ รวมเป็นเงิน 3,050,000 บาท ไปขายลดคืนให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคาเพียง 900,000 บาท ต่ำกว่าจำนวนเงินตามเช็คจำนวนมาก ซึ่งไม่มีเหตุผลใดที่ พ. จะต้องนำเช็คมาขายลดคืนแก่จำเลยที่ 2 ในราคาดังกล่าวและไม่เป็นประโยชน์ต่อโจทก์ทั้งห้าที่เป็นลูกความ การที่จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 900,000 บาท แก่ พ. เพื่อแลกกับเช็คจำนวน 3,050,000 บาท ที่จำเลยที่ 2 ไม่ต้องชำระแก่โจทก์ทั้งห้า ย่อมส่อแสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่ 2 ที่สมคบกับ พ. เพื่อที่จะไม่ชำระเงินแก่โจทก์ทั้งห้าตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นไปโดยไม่สุจริต เช่นนี้ จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจอ้างว่าตนได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทั้งห้าครบถ้วนแล้วขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งห้าได้ เมื่อโจทก์ทั้งห้ายังไม่ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ที่ 3 และที่ 4 จึงยังคงมีสิทธิขอให้ศาลออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1732/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญา: การแก้ไขข้อบกพร่องหนังสือมอบอำนาจและการมอบอำนาจช่วง
โจทก์จัดทำหนังสือมอบอำนาจในวันเดียวกันหลายฉบับ แต่โจทก์แนบสำเนาหนังสือมอบอำนาจมาท้ายฟ้องคดีนี้ผิดพลาดอันถือเป็นข้อบกพร่องเล็กน้อย ไม่ถึงกับทำให้อำนาจฟ้องของโจทก์เสียไป เมื่อโจทก์ขอแก้ฟ้องก่อนลงมือสืบพยานและขอส่งสำเนาหนังสือมอบอำนาจฉบับใหม่ที่ถูกต้องแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต ถือได้ว่าโจทก์แก้ไขข้อบกพร่องเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของผู้รับมอบอำนาจแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4658/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจผู้รับมอบอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความ – ผลกระทบต่อคำพิพากษา – การตีความหนังสือมอบอำนาจ
สัญญาประนีประนอมยอมความเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ การที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ฉ้อฉลโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยโจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้กระทำได้นั้น จึงเป็นการกล่าวอ้างว่าคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคสอง (2)
การตีความหนังสือมอบอำนาจท้ายคำฟ้องโจทก์ว่าผู้รับมอบอำนาจโจทก์มีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ โจทก์ก็มีสิทธิฎีกาได้
โจทก์อุทธรณ์และฎีกาขอให้พิพากษาว่า สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมตกเป็นโมฆะและขอให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาคดีใหม่ เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาชั้นละ 200 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3825/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือมอบอำนาจไม่สมบูรณ์ (ไม่ขีดฆ่าอากรแสตมป์) ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดี
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจฟ้องจำเลย และไม่ได้มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจฟ้องคดีในศาลชั้นต้น โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ถือว่าจำเลยปฏิเสธฟ้องโจทก์ว่าโจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้ ส. ผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ จึงต้องอาศัยหนังสือมอบอำนาจเป็นพยานหลักฐานว่าโจทก์มอบอำนาจให้ ส. ฟ้องคดีแทนหรือไม่ เมื่อหนังสือมอบอำนาจโจทก์ปิดอากรแสตมป์แล้ว แต่ไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ ย่อมถือว่ายังไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์ตามที่ ป.รัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติไว้ จึงไม่อาจใช้หนังสือมอบอำนาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานว่า โจทก์ได้มอบอำนาจให้ ส. ดำเนินคดีแทน และการที่โจทก์ดำเนินการเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงินในหนังสือมอบอำนาจก็เป็นเวลาภายหลังจากศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำพิพากษาแล้ว ย่อมไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 9

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2359/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การมอบอำนาจฟ้องคดี: หนังสือมอบอำนาจทั่วไปไม่ครอบคลุมอำนาจยื่นฟ้องต่อศาล
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่า โจทก์มอบอำนาจให้ บ. ฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ ตามหนังสือมอบอำนาจ หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวระบุข้อความในการมอบอำนาจแต่เพียงว่า บ. มีสิทธิในการลงนามเอกสารดำเนินการทั้งหมดของบริษัทสาขาทั้งภายในและภายนอก อันมีลักษณะเป็นการมอบอำนาจโดยไม่ระบุกิจการ โดยมิได้ระบุให้ บ. มีอำนาจยื่นฟ้องต่อศาล จึงเป็นหนังสือมอบอำนาจทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 801 วรรคหนึ่ง แม้โจทก์จะมี บ. มาเบิกความยืนยันว่าตามหนังสือมอบอำนาจ พยานมีสิทธิดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ เป็นการนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขพยานเอกสาร ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ บ. ฟ้องคดีนี้แทนโจทก์โดยชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 935/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดี: การมอบอำนาจที่ไม่ถูกต้องตามข้อกำหนดของบริษัทจำกัด ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 ที่ระบุว่า โจทก์โดย อ. ได้มอบอำนาจให้ พ. เป็นผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนโจทก์และให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วงได้ แม้ภายหลังจากจำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่า หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ เอกสารหมาย จ.3 ลงลายมือชื่อ อ. กรรมการโจทก์เพียงคนเดียวไม่มีผลผูกพันโจทก์ โจทก์จะทำหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 ที่ระบุว่า โจทก์โดย จ. มอบอำนาจให้ อ. เป็นผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนโจทก์และให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วงได้ก็ตาม แต่ อ. กรรมการโจทก์เพียงคนเดียวไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ เมื่อขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้โจทก์มีเพียงหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 เท่านั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2718/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสวมสิทธิเรียกร้องหนี้: หนังสือมอบอำนาจและการนิยาม 'ลูกหนี้' ในสัญญาโอนสิทธิ
ตามหนังสือรับรองกรรมการบริษัทผู้ร้องมีจำนวน 10 คน ในจำนวนนี้มี บ. กับ ก. เป็นกรรมการร่วมอยู่ด้วย โดยกรรมการสองคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัทมีผลผูกพันผู้ร้องเมื่อปรากฏว่าผู้ร้องโดย บ. กับ ก. ซึ่งเป็นกรรมการสองคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัททำหนังสือมอบอำนาจลงวันที่ 25 มีนาคม 2558 มอบอำนาจให้ ฤ. หรือ ศ. หรือ ส. หรือ ม. หรือ ว. หรือ น. มีอำนาจลงนามในสัญญาโอนสินทรัพย์ระหว่างโจทก์ในคดีนี้กับผู้ร้อง โดยมิได้ระบุเงื่อนไขว่า ผู้รับมอบอำนาจจะต้องร่วมลงนามด้วยกันสองคน หรือต้องประทับตราสำคัญของบริษัทผู้ร้องด้วย ดังนั้น โดยหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว เมื่อ ส. ผู้รับมอบอำนาจเป็นผู้ลงนามในสัญญาโอนสินทรัพย์แทนผู้ร้อง สัญญาโอนสินทรัพย์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
สัญญาโอนสินทรัพย์ระบุว่า ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ผู้โอน ประสงค์จะโอนสินทรัพย์ให้แก่ผู้รับโอนและผู้รับโอนประสงค์จะรับโอนสินทรัพย์จากผู้โอน โดยมีค่าตอบแทนการโอนสินทรัพย์ และข้อ 1 ของสัญญาดังกล่าว ได้นิยามคำว่า "สินทรัพย์" หมายถึง สิทธิเรียกร้องและผลประโยชน์ทั้งปวงที่ผู้โอนมีต่อลูกหนี้ตามสัญญาสินเชื่อและสัญญาอุปกรณ์ และผู้โอนตกลงโอนให้แก่ผู้รับโอนตามสัญญานี้ กับให้นิยามคำว่า "ลูกหนี้" หมายถึง ลูกหนี้ชั้นต้น ผู้ค้ำประกัน ผู้จำนอง ผู้จำนำ ผู้รับสภาพหนี้ และบุคคลอื่นใดซึ่งต้องรับผิดร่วมกับลูกหนี้หรือแทนลูกหนี้ตามสัญญาสินเชื่อ หรือสัญญาที่บุคคลดังกล่าวข้างต้นทำไว้ หรือมีภาระผูกพันกับผู้โอน ตามนิยามดังกล่าว เมื่อบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินที่โอนระบุจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ จึงย่อมหมายรวมถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 อันเป็นบุคคลซึ่งต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ด้วย ดังนั้น ตามสัญญาโอนสินทรัพย์ หนี้ในส่วนของจำเลยทั้งสามจึงโอนมายังผู้ร้องแล้ว ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4241/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือมอบอำนาจไม่ใช่พินัยกรรม หากมีพินัยกรรมอยู่แล้ว และไม่มีเจตนาให้ทรัพย์ตกแก่ผู้อื่น
ผู้ตายทำหนังสือมอบอำนาจให้ พ. นำค่าเช่าบ้านไปชำระหนี้สิ้นที่ผู้ตายติดค้าง พ. โดยทยอยผ่อนชำระจากเงินค่าเช่าบ้าน หากชำระไม่ได้เพราะไม่มีค่าเช่าต่อเนื่องหรือผู้ตายถึงแก่ความตายให้ พ. ขายบ้านได้ แม้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจะมีข้อความว่าหรือข้าพเจ้าถึงแก่ความตายก็ตาม ข้อความนี้ก็เป็นเพียงขยายความว่ากรณีไม่มีเงินค่าเช่าต่อเนื่องก็ให้ขายบ้านเช่านำเงินมาชำระ การตายของผู้ตายที่ระบุไว้เป็นเพียงเหตุหนึ่งที่ต้องขายบ้านเช่า ประกอบกับผู้ตายเคยทำพินัยกรรมมาก่อน หากผู้ตายมีเจตนาจะทำพินัยกรรมก็มีความสามารถจะทำพินัยกรรมได้ไม่จำต้องใช้หนังสือมอบอำนาจ ถือได้ว่าหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว ไม่มีข้อความหรือแปลความได้ว่าเป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1646 และ 1647 หนังสือมอบอำนาจจึงไม่ใช่พินัยกรรม เมื่อจำเลยเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกตามพินัยกรรมย่อมโอนที่ดินและบ้านมาเป็นของตนได้โดยชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2294/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายสินสมรส: การมีอยู่ของหนังสือมอบอำนาจ และการยินยอมของคู่สมรสมีผลผูกพันตามสัญญา
จำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่ดินและบ้านพิพาทมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ โดยซื้อมาในระหว่างเป็นสามีภริยากัน จึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส อันเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) จำเลยที่ 2 มอบหมายให้ ก. ประกาศขายที่ดินและบ้านพิพาทแทน โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและบ้านพิพาทกับบริษัท ซ. โดย ก. จากการติดต่อชี้ช่องของ ช. ทางเว็บไซต์เฟซบุ๊กของ ก. โดย ก. นำหนังสือมอบอำนาจให้บริษัท ซ. ขายที่ดินและบ้านพิพาทแทน และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ตรวจสอบ ส่วนจำเลยที่ 2 นำโฉนดที่ดิน ใบอนุญาตก่อสร้างอาคารที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาต รวมทั้งใบอนุญาตขับรถของจำเลยที่ 2 ให้โจทก์ดูและแนะนำตัวว่าเป็นสามีของจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้มอบอำนาจให้บริษัท ซ. ขายที่ดินและบ้านพิพาท แต่ไม่ได้นำจำเลยที่ 1 มาสืบหักล้าง จึงมีน้ำหนักน้อย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้บริษัท ซ. ขายที่ดินและบ้านพิพาทแทน ต้องผูกพันตามสัญญา เสมือนว่ากระทำด้วยตนเองตามมาตรา 820 ส่วนจำเลยที่ 2 ลงชื่อเป็นพยานในหนังสือมอบอำนาจและสัญญาซื้อขาย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่า รู้เห็นยินยอมให้บริษัท ซ. โดย ก. ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและบ้านพิพาทอันเป็นสินสมรสแก่โจทก์ สัญญาระหว่างโจทก์กับบริษัท ซ.จึงมีผลผูกพัน จำเลยทั้งสองมีหน้าที่โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญา
of 34