คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ศาล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3,640 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8711/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง-หนังสือรับรองปลอดหนี้: ศาลสั่งถือเอาคำพิพากษาแทนเจตนาจำเลยได้หากไม่ปฏิบัติตาม
หลักเกณฑ์การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดนั้นกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการทั่วไปโดยไม่มีข้อยกเว้น จึงย่อมนำมาใช้บังคับแก่กรณีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดอันเนื่องมาจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลด้วย มิใช่ใช้บังคับเฉพาะกรณีที่เจ้าของห้องชุดเป็นผู้ขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด หนี้อันเกิดจากค่าใช้จ่ายแม้เจ้าของร่วมผู้เป็นเจ้าของห้องชุดมีหน้าที่ต้องร่วมกันชำระตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18 กฎหมายมิได้ห้ามบุคคลอื่นชำระหนี้ดังกล่าวแทนเจ้าของห้องชุด ทั้งโดยสภาพห้องชุดเป็นอาคารที่ใช้สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยร่วมกันของคนจำนวนมาก บทกฎหมายและข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดเป็นข้อกำหนดสิทธิและหน้าที่ของผู้อยู่อาศัยเพื่อประโยชน์แก่การอยู่อาศัยร่วมกันโดยปกติสุข เจ้าของร่วมจึงต้องมีส่วนรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายส่วนกลางและค่าปรับตามบทกฎหมายและข้อบังคับเท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อห้องชุดต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของเจ้าของร่วมเดิม และต้องถือว่าค่าปรับอันเกิดจากการผิดนัดชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่โจทก์ต้องรับผิดชอบด้วย
ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 คิดค่าปรับอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน ของจำนวนเงินที่ค้างชำระนั้นมีลักษณะเป็นค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนซึ่งจำเลยที่ 1 กำหนดไว้ล่วงหน้าเมื่อเจ้าของร่วมไม่ชำระให้ถูกต้องสมควร เป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ทั้งเป็นเบี้ยปรับสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เมื่อพิเคราะห์ทางได้เสียของคู่ความ เห็นสมควรกำหนดให้อัตราร้อยละ 12 ต่อปี
หนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เจ้าของห้องชุดพิพาทคนเดิมค้างชำระแก่จำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อห้องชุดจากการขายทอดตลาดได้ชำระหนี้ดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 แล้ว หนี้เป็นอันระงับสิ้นไป แต่โจทก์ก็มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ตอบแทนเช่นกัน เพราะโจทก์ประสงค์จะนำหนังสือนี้ไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอจดทะเบียนโอนห้องชุดมาเป็นของตนตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 29 การที่จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้จึงก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะโอนห้องชุดได้ จึงเป็นการกระทำนิติกรรมฝ่ายเดียวของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 149 ดังนั้น ในการบังคับชำระหนี้หากสภาพหนี้ไม่เปิดช่องศาลชอบที่จะสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาได้ตาม ป.พ.พ. 213 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 806/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำให้การ, อํานาจฟ้อง, การดำเนินคดีอย่างคนอนาถา, และผลกระทบต่อค่าธรรมเนียมศาล
คำสั่งของศาลชั้นต้นที่เพิกถอนคำสั่งเดิมที่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ มีผลเท่ากับเป็นคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ ถือว่าเป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความซึ่งมิได้ทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 228 (3) จำเลยย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ในเมื่อศาลพิพากษาแล้วได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 228 วรรคท้าย แต่การอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวอาจมีผลให้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นต้องเป็นอันถูกยกไป จึงอยู่ในบังคับที่ผู้อุทธรณ์จะต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์นั้นด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 ปรากฏว่าในวันที่จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่ง จำเลยยังได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษามาพร้อมกับยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ และศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ในเวลาต่อมา อันมีผลทำให้จำเลยไม่ต้องวางเงินค่าธรรมเนียมศาลในการอุทธรณ์คำพิพากษา ซึ่งรวมถึงเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาที่จำเลยจะต้องนำมาวางศาลในการยื่นฟ้องอุทธรณ์ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 157 ประกอบมาตรา 229 การที่จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่างหากจากอุทธรณ์คำพิพากษา โดยยอมชำระค่าธรรมเนียมศาลในการยื่นอุทธรณ์ไม่อาจแปลว่าจำเลยประสงค์ขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาเฉพาะในการยื่นฟ้องอุทธรณ์คำพิพากษาอย่างเดียว อันจะมีผลให้จำเลยต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์คำสั่ง
ข้อความที่จำเลยขอแก้ไขตามคำร้องของจำเลยข้อแรกที่ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากจำเลยไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ใดๆ และไม่เคยกู้เงินและรับเงินใดๆ จากโจทก์ที่ฟ้องในคดีนี้ เป็นเรื่องที่จำเลยทราบดีอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนที่จำเลยจะทำคำให้การต่อสู้คดี จึงนับว่าไม่มีเหตุอันควรที่จะอนุญาตให้จำเลยแก้ไข ทั้งมิใช่การขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน กรณีไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จำเลยจะขอแก้ไขภายหลังวันสืบพยานไปแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 ได้
ส่วนข้อความที่จำเลยขอเพิ่มเติมต่อมาที่ว่าโจทก์จดทะเบียนใหม่โดยยังไม่มีประกาศลงโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา ทำให้กรรมการโจทก์ไม่มีอำนาจกระทำนิติกรรม มีผลให้หนังสือมอบอำนาจและหนังสือมอบอำนาจช่วงสิ้นผลไป ผู้รับมอบอำนาจช่วงจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ถือได้ว่าเป็นการขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การเกี่ยวกับอำนาจฟ้องและเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ชอบที่ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมข้อความในส่วนนี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 แต่เมื่อศาลชั้นต้นได้สืบพยานของคู่ความทั้งสองฝ่ายเสร็จสิ้นแล้วโดยคู่ความต่างก็ได้นำสืบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจนสิ้นกระแสความแล้ว และศาลชั้นต้นได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัยอยู่ในประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ ซึ่งจำเลยก็ยกขึ้นอ้างเป็นข้ออุทธรณ์ฎีกาคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองไว้แล้ว แม้ศาลชั้นต้นจะได้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมที่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การแล้วมีคำสั่งใหม่เป็นยกคำร้องในส่วนนี้ จึงมิได้ทำให้จำเลยเสียหาย คดีย่อมไม่มีเหตุอันสมควรที่จะต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7568/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขยายระยะเวลาอุทธรณ์: ศาลมีอำนาจพิจารณาตามพฤติการณ์พิเศษ แม้ไม่ครบตามที่ขอ
การสั่งขยายหรือย่นระยะเวลาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 เป็นอำนาจของศาลที่จะกำหนดเพียงใดก็ได้ตามที่ศาลจะเห็นสมควร ทั้งกฎหมายมิได้บังคับว่า ศาลต้องอนุญาตเท่ากับจำนวนวันที่คู่ความร้องขอเสมอไปและไม่จำต้องให้เหตุผลของการอนุญาตหรือไม่อนุญาตอีกด้วย เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2545 โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งแรกเป็นเวลา 30 วัน นับแต่วันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ ซึ่งครบวันที่ 29 ธันวาคม 2545 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายได้ถึงวันที่ 12 มกราคม 2546 เป็นเวลาเพียง 14 วัน นับแต่วันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ แม้ไม่ครบ 30 วัน ตามที่โจทก์ขอและศาลชั้นต้นไม่ได้ให้เหตุผลที่อนุญาตไม่ครบจำนวนตามที่โจทก์ขอไว้ก็ตามแต่ก็เป็นการสั่งภายในขอบเขตและหลักเกณฑ์ของบทบัญญัติมาตรา 23 ดังกล่าว หาเป็นการขัดหรือฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอย่างใดไม่ แต่เจ้าพนักงานศาลกลับแจ้งแก่โจทก์ว่า ศาลอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ตามที่โจทก์ขอและนัดโจทก์มารับเอกสารที่ขอคัดถ่ายในวันที่ 14 มกราคม 2546 โจทก์จึงทำอุทธรณ์มายื่นในวันที่ 28 มกราคม 2546 กรณีจึงมีพฤติการณ์พิเศษและมีเหตุผลสมควรที่ศาลจะอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์แก่โจทก์อีก 16 วัน ตามที่โจทก์มีคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ในครั้งหลัง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7294/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงคำให้การของจำเลยในคดีอาญา ศาลต้องเปิดโอกาสให้คู่ความสืบพยานใหม่ หากจำเลยกลับคำให้การ
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับพวกให้ที่พักอาศัยและซ่อนเร้นคนต่างด้าวรวม 43 คน เพื่อให้พ้นจากการจับกุม และรับคนต่างด้าวดังกล่าวเข้าทำงานโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ในวันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยยื่นคำให้การว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับคนต่างด้าวเพียง 6 คน ศาลชั้นต้นสอบจำเลยแล้วยืนยันให้การตามนี้ แต่ในวันเวลาเดียวกัน ศาลชั้นต้นออกนั่งพิจารณาและบันทึกในรายงานกระบวนพิจารณาว่า จำเลยขอถอนคำให้การเดิมปฏิเสธเป็นให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการ ย่อมทำให้โจทก์ซึ่งอยู่ด้วยในขณะที่ศาลชั้นต้นพิจารณาเข้าใจได้ว่าศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยอีกครั้งหลังจากจำเลยยื่นคำให้การและจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการ การที่โจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยานจึงมิใช่เป็นกรณีที่โจทก์ทราบแล้วว่าจำเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์บางส่วน แต่โจทก์ไม่สืบพยานดังที่จำเลยฎีกา แม้ต่อมาจำเลยจะยื่นคำแถลงประกอบคำรับสารภาพก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ระบุว่าจำเลยรับว่ามีคนงานเพียง 6 คน แต่ศาลชั้นต้นไม่ได้มีคำสั่งให้ส่งสำเนาแก่โจทก์ จึงไม่ถือว่าโจทก์ทราบว่าจำเลยให้การปฏิเสธตามคำแถลงประกอบคำรับสารภาพของจำเลยดังกล่าว กรณีจึงเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดีไปโดยเห็นว่าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโดยผิดหลง จึงมิได้เปิดโอกาสให้โจทก์สืบพยาน ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีเฉพาะที่เกี่ยวกับคนต่างด้าวเพียง 6 คน จึงเป็นการที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายวิธีพิจารณาความว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ชอบที่ศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาตั้งแต่ชั้นสอบคำให้การจำเลยเป็นต้นไป แล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6798/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การดำเนินคดีอาญาตามฟ้องเดิม ศาลไม่อาจลงโทษฐานความผิดอื่นนอกเหนือจากที่ระบุในฟ้อง แม้มีพยานหลักฐานสนับสนุน
แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามที่โจทก์ร่วมทั้งสองฎีกาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันตระเตรียมอาวุธมาทำร้ายผู้ตาย แต่เมื่อโจทก์ร่วมทั้งสองเข้ามาดำเนินคดีนี้โดยอาศัยสิทธิตามฟ้องของพนักงานอัยการโจทก์ เมื่อคำฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน อันเป็นองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคสอง จึงไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสองตามมาตรา 290 วรรคสองได้ เพราะเป็นเรื่องที่โจทก์มิได้กล่าวมาในฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 650/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์และการไม่อุทธรณ์เนื่องจากทุนทรัพย์ต่ำกว่าเกณฑ์
จำเลยฎีกาว่า ตามคำร้องของจำเลยเป็นกรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษ จำเลยพยายามหาเงินค่าฤชาธรรมเนียมมาวางศาลในชั้นอุทธรณ์ แต่ยังไม่สามารถจะหาเงินดังกล่าวได้ซึ่งหากศาลไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์จะทำให้จำเลยเสียสิทธิในการดำเนินคดี เป็นฎีกาที่โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังข้อเท็จจริงของศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่าพฤติการณ์ดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง แม้เป็นปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น แต่เมื่อทุนทรัพย์พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6407/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าฤชาธรรมเนียมผู้บริโภค: ศาลมีอำนาจสั่งให้คู่ความแพ้คดีชำระแทนได้ แม้กฎหมายยกเว้นให้โจทก์
แม้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 39 วรรคสอง เพียงแต่บัญญัติยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงให้แก่เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคในการดำเนินคดีในศาล แต่มิได้มีบทบัญญัติใดกล่าวถึงอำนาจศาลในการที่จะพิจารณาสั่งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งรับผิดชำระค่าฤชาธรรมเนียมที่ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมต่อศาลในนามของผู้ที่ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมศาลเหมือนเช่นกรณีการได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมศาลเพราะได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 158 (เดิม) ก็ตาม แต่กรณีก็ต้องนำบทบัญญัติใน ป.วิ.พ. มาตรา 158 (เดิม) ดังกล่าวมาใช้บังคับแก่กรณีการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมแก่เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคในการดำเนินคดีในศาลในฐานะที่เป็นกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง ดังนั้น แม้กฎหมายจะยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงให้แก่เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคหรือโจทก์ก็ตาม แต่อานิสงส์เช่นว่านี้ก็ไม่ควรเป็นประโยชน์ที่ตกได้แก่ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งเป็นคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งที่ฟ้องหรือสู้ความโดยไม่สุจริต โดยเหตุนี้หากในการพิพากษาคดีศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่า จำเลยที่ 2 ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายที่แพ้คดีจะต้องเป็นผู้รับผิดในชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็มีอำนาจสั่งให้จำเลยที่ 2 นั้นชำระค่าฤชาธรรมเนียมอื่น นอกจากค่าทนายความต่อศาลในนามของโจทก์ผู้ฟ้องคดีแทนผู้บริโภคที่ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมนั้นได้
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องซึ่งเป็นวันที่โจทก์ขอ แต่กลับพิพากษาให้ชำระดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้อง อันเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนโดยมิได้แก้ไข ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6274/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประกันตัวชั่วคราวเพื่อชำระค่าปรับ: ศาลมีอำนาจลดค่าปรับได้เมื่อจำเลยมาศาล
ป.อ. มาตรา 29 บัญญัติว่า "ผู้ใดต้องโทษปรับและไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ หรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ แต่ถ้าศาลเห็นเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ ศาลจะสั่งเรียกประกันหรือจะสั่งให้กักขังผู้นั้นแทนค่าปรับไปพลางก่อนก็ได้" บทบัญญัติดังกล่าวบังคับให้ผู้ต้องโทษปรับชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา หากไม่ชำระค่าปรับภายในกำหนดดังกล่าว ก็ให้อำนาจศาลที่จะสั่งให้ยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ หรือจะสั่งให้ใช้วิธีกักขังแทนค่าปรับก็ได้ แต่ก่อนที่จะครบสามสิบวันถ้าศาลเห็นเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ต้องโทษปรับจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ ศาลจะสั่งเรียกประกันโดยให้ทำสัญญาประกันว่าจะชำระเงินค่าปรับภายในเวลาที่กำหนด หรือจะสั่งกักขังผู้ต้องโทษปรับไปพลางก่อนก็ได้ และแม้จะครบกำหนดสามสิบวันแล้ว ถ้าศาลยังมีเหตุสมควร เช่น การกักขังไปพลางก่อนยังไม่เหมาะกับสภาพการบังคับโทษแก่ผู้ต้องโทษรายใด หรือการด่วนยึดทรัพย์สินเพื่อบังคับโทษปรับยังไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ ศาลก็อาจจะให้ผู้ต้องโทษปรับขอผัดเวลาชำระค่าปรับต่อไปก่อนได้ โดยยังไม่ยึดทรัพย์สินหรือกักขังในทันทีที่ครบสามสิบวัน ดังนั้น การที่ศาลจะสั่งเรียกประกันไปก่อนโดยยังไม่บังคับโทษปรับไปเสียทีเดียว จึงทำได้เพื่อการปล่อยตัวผู้ต้องโทษปรับชั่วคราวให้ไปหาเงินนำมาชำระค่าปรับ หากในชั้นที่สุดหลบหนีไปหรือมาศาลแต่ไม่สามารถนำเงินมาชำระค่าปรับได้ ศาลก็ต้องใช้วิธีการยึดทรัพย์สินหรือจัดการเพื่อให้มีการกักขังแทนค่าปรับ
จากความเป็นมาของเรื่อง รูปแบบ และเนื้อความแห่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางใช้ รวมทั้งเนื้อความแห่งกรมธรรม์ประกันภัยอิสรภาพ สัญญาประกันในคดีนี้จึงมีลักษณะเป็นสัญญาประกันตัวชั่วคราวไม่ให้ศาลกักขังจำเลยแทนค่าปรับไปพลางก่อน โดยเป็นการสัญญาว่าจะมาศาลเพื่อชำระค่าปรับภายในกำหนด ไม่ใช่สัญญาประกันเพื่อในชั้นที่สุดจะให้บังคับเป็นส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดของค่าปรับตามคำพิพากษา จึงจะนำเงินที่ผู้ร้องนำมาชำระค่าปรับตามสัญญามาเป็นส่วนหนึ่งแห่งค่าปรับไม่ได้ และเมื่อสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาประกันตัวชั่วคราว ดังนั้น ในชั้นที่สุดเมื่อมีการนำตัวจำเลยมาศาลได้ ศาลจึงมีอำนาจลดค่าปรับสำหรับผู้ร้องลงได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5135/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลำดับขั้นตอนพิจารณาคดีอาญา: ศาลต้องพิจารณาแก้ฟ้องก่อนตัดสินว่าฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ในคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งประทับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาแล้ว เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องโดยอาศัย ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคแรก ศาลชั้นต้นจะต้องพิจารณาคำร้องขอแก้ฟ้องของโจทก์ก่อนว่ามีเหตุอันควรอนุญาตหรือไม่ แล้วจึงดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แต่ศาลชั้นต้นกลับวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์มิได้บรรยายถึงวันเวลาที่จำเลยกระทำความผิด จำเลยไม่อาจต่อสู้คดีได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) โดยมิได้มีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอแก้ฟ้องของโจทก์เสียก่อน จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่เป็นไปตามลำดับขั้นตอนของกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยในคดีนี้ได้โดยไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)
(วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาครั้งที่ 2/2554)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3664/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าขึ้นศาลคดีมโนสาเร่: คดีผิดสัญญาหมั้นทุนทรัพย์ไม่เกิน 3 แสนบาท เสียค่าขึ้นศาล 200 บาท
ป.วิ.พ. มาตรา 189 บัญญัติว่า คดีมโนสาเร่ คือ (ง) คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ไม่เกินสามแสนบาท และมาตรา 190 จัตวา วรรคหนึ่ง (เดิม) บัญญัติว่า ในคดีมโนสาเร่ ให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นเท่ากับจำนวนค่าขึ้นศาลที่เรียกเก็บในคดีที่มาคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ซึ่งตาราง 1 (2) (ก) ต่อท้าย ป.วิ.พ. (เดิม) กำหนดว่า "คดีทั่วไปรวมทั้งคดีไม่มีข้อพิพาทให้เรียกเรื่องละสองร้อยบาท" ตามฟ้องโจทก์อ้างว่า จำเลยทั้งสามผิดสัญญาหมั้น ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันคืนสินสอดและชดใช้ค่าเสียหาย รวมเป็นเงินจำนวน 150,000 บาท ดังนี้ เป็นคำฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ไม่เกินสามแสนบาท ย่อมเป็นคดีมโนสาเร่และเสียค่าขึ้นศาลเพียงสองร้อยบาท ตามบทกฎหมายและตารางต่อท้ายบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น เมื่อโจทก์ชำระค่าขึ้นศาล 200 บาท จึงถูกต้องตามบทกฎหมายและตารางต่อท้ายบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว แม้ศาลชั้นต้นจะเป็นศาลเยาวชนและครอบครัว แต่ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มิได้บัญญัติเรื่องค่าขึ้นศาลไว้ก็ต้องนำ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลม
of 364