คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ศาล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3,640 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2819/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาทำร้ายร่างกายบุพการี ไม่ถึงเจตนาฆ่า ศาลลดโทษ
เหตุที่จำเลยถือขวานวิ่งไล่ฟันผู้เสียหาย เพราะโกรธที่ถูกกล่าวหาว่าลักพระจตุคามรามเทพ ผู้เสียหายวิ่งเข้าห้องนอนปิดประตู จำเลยฟันผู้เสียหายเพียงครั้งเดียวถูกประตูห้องนอนโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยเลือกที่จะฟันอวัยวะสำคัญที่จะทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย และไม่ได้ฟันผู้เสียหายซ้ำอีกทั้งที่จำเลยสามารถทำได้ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยใช้ขวานฟันผู้เสียหายโดยเจตนาฆ่าผู้เสียหาย คงฟังได้แต่เพียงว่าจำเลยมีเจตนาทำร้ายร่างกายผู้เสียหายเท่านั้น จำเลยกระทำความผิดไปโดยตลอดแล้วแต่การกระทำไม่บรรลุผล จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามทำร้ายร่างกายผู้เสียหายซึ่งเป็นบุพการี และเป็นความผิดที่รวมอยู่กับความผิดฐานพยายามฆ่าบุพการีตามฟ้องของโจทก์ ศาลฎีกาจึงมีอำนาจที่จะพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2504/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องแย้งไม่เกี่ยวเนื่องกับคำฟ้องเดิม ศาลไม่รับฟ้องแย้งตามหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและกฎหมายศาลเยาวชนและครอบครัว
ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 โดยอ้างว่า จำเลยที่ 1 เป็นชู้กับจำเลยที่ 2 พร้อมเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการสิ้นสุดแห่งการสมรส ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ที่อ้างว่า โจทก์เอาความเท็จมาฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 โดยไม่สุจริต การที่โจทก์ไปร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 ทำให้จำเลยที่ 2 ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย หากคณะกรรมการหลงเชื่อจะทำให้จำเลยที่ 2 ถูกออกจากงานและเสื่อมเสียชื่อเสียง ขอให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายนั้น เป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดซึ่งไม่ได้อาศัยเหตุแห่งการหย่าและเรียกค่าทดแทนตามฟ้องเดิมเป็นมูลหนี้ เป็นคนละเรื่องคนละประเด็นแตกต่างกันกับคำฟ้องเดิม ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 จึงไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2472/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีมโนสาเร่: ศาลมีอำนาจสั่งแก้ไขคำฟ้องได้หากไม่ชัดเจน แม้ไม่จำเป็นแต่ไม่ทำให้เสียหายต่อสิทธิ
คดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ไม่เกิน 300,000 บาท เป็นคดีมโนสาเร่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 189 (1) ซึ่งกรณีโจทก์ยื่นคำฟ้องเป็นหนังสือ หากศาลเห็นว่าคำฟ้องดังกล่าวไม่ถูกต้องหรือขาดสาระสำคัญบางเรื่อง ศาลอาจมีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องในส่วนนั้นให้ชัดเจนขึ้นก็ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 191 วรรคสอง ซึ่งเป็นวิธีพิจารณาความที่กำหนดไว้สำหรับการพิจารณาคดีมโนสาเร่ บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการให้ดุลพินิจศาลที่จะสั่งหรือไม่สั่งให้โจทก์แก้ไขคำฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2031/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สเปรย์พริกไทยไม่ใช่ 'อาวุธ' ตามความหมายในกฎหมาย ไม่ถือเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในศาล
สเปรย์พริกไทย ผลิตขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการใช้ฉีดพ่นเพื่อยับยั้งบุคคลหรือสัตว์ร้ายมิให้เข้าใกล้หรือทำอันตรายผู้อื่น ผู้ที่ถูกฉีดพ่นสารในกระป๋องสเปรย์ใส่จะมีอาการสำลัก จาม ระคายเคืองหรือแสบตา หลังจากนั้นไม่นานก็สามารถหายเป็นปกติได้ เห็นได้ว่า การผลิตสเปรย์พริกไทยดังกล่าว มิได้ผลิตขึ้นเพื่อทำร้ายผู้ใด จึงไม่เป็นอาวุธโดยสภาพ ทั้งไม่อาจใช้ประทุษร้ายร่างกายถึงอันตรายสาหัสอย่างอาวุธ สเปรย์พริกไทยจึงไม่เป็นอาวุธตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 1 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2030/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สเปรย์พริกไทยไม่ใช่ 'อาวุธ' ตามกฎหมาย และการนำเข้าศาลเพื่อปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นความผิด
ตาม ป.อ. มาตรา 1 (5) อาวุธ หมายความรวมถึงสิ่งซึ่งไม่เป็นอาวุธโดยสภาพแต่ซึ่งได้ใช้หรือเจตนาจะใช้ประทุษร้ายร่างกายถึงอันตรายสาหัสอย่างอาวุธ ผู้ถูกกล่าวหานำกระป๋องสเปรย์พริกไทยเข้าไปในบริเวณศาลชั้นต้น สำหรับสเปรย์พริกไทยได้ความว่า ผลิตขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการใช้ฉีดพ่นเพื่อยับยั้งบุคคลหรือสัตว์ร้ายมิให้เข้าใกล้หรือทำอันตรายผู้อื่น ผู้ที่ถูกฉีดพ่นสารในกระป๋องสเปรย์ใส่จะมีอาการสำลักจาม ระคายเคืองหรือแสบตา หลังจากนั้นไม่นานก็สามารถหายเป็นปกติได้ เห็นได้ว่าการผลิตสเปรย์พริกไทยดังกล่าว มิได้ผลิตขึ้นเพื่อทำร้ายผู้ใด จึงไม่เป็นอาวุธโดยสภาพทั้งไม่อาจใช้ประทุษร้ายร่างกายถึงอันตรายสาหัสอย่างอาวุธ สเปรย์พริกไทยจึงไม่เป็นอาวุธตามความหมายของบทกฎหมายข้างต้นด้วยเช่นกัน การที่ผู้ถูกกล่าวหาเข้าไปในบริเวณศาลชั้นต้นเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ผู้อำนวยการสำนักงานประจำศาลชั้นต้นขอความร่วมมือไปยังผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองกาญจนบุรี การที่ผู้ถูกกล่าวหานำกระป๋องสเปรย์พริกไทยเข้าไปในบริเวณศาลชั้นต้น จึงไม่เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1898/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอนุญาตใช้คำให้การเดิมในชั้นพิจารณาที่ไม่เป็นไปตามหลักวิธีพิจารณาความอาญา
ปัญหาว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้คู่ความถือเอาคำให้การของโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาเป็นส่วนหนึ่งของคำเบิกความในชั้นพิจารณาแล้วให้ทนายจำเลยที่ 1 ถามค้าน เป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง เพราะไม่ได้กระทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลยหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์จะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ ก็สามารถยกขึ้นเป็นเหตุฎีกาได้ และคู่ความฝ่ายที่เสียหายจากการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบอาจยกปัญหานั้นขึ้นว่ากล่าวได้ในเวลาใดๆ ก่อนศาลมีคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
ก่อนเบิกความโจทก์เป็นฝ่ายเสนอโดยแถลงว่าจะขอถือคำให้การพยานโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นคำให้การของพยานในชั้นพิจารณาเพราะทนายโจทก์จะถามพยานเช่นเดียวกับในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ทนายจำเลยทั้งสามยอมรับ และศาลชั้นต้นอนุญาตให้คู่ความปฏิบัติตามที่ตกลงกัน โดยทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านและทนายโจทก์ถามติงแล้วต่างฝ่ายต่างสืบพยานมาจนเสร็จสิ้น โจทก์ไม่เคยโต้แย้งคัดค้านก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าวเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งการดำเนินกระบวนพิจารณาในการสืบพยานปากนั้นเป็นการกระทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลยเพียงแต่โจทก์ขอให้ถือเอาคำเบิกความของโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นคำเบิกความในชั้นพิจารณา ก็เป็นวิธีการของโจทก์เองที่เลือกเสนอพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยด้วยวิธีนี้ ศาลไม่มีหน้าที่ต้องทักท้วงเสนอแนะว่าพยานหลักฐานเช่นนี้ใช้ลงโทษจำเลยได้หรือไม่ ฎีกาของโจทก์จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1816/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ทั้งโจทก์และจำเลย การไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ถือเป็นข้อผิดพลาดทางกระบวนพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่ลดโทษให้จำเลย ส่วนจำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยส่งให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษา ดังนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่ามีเหตุที่จะลดโทษให้จำเลยหรือไม่ด้วย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์คงวินิจฉัยเฉพาะอุทธรณ์ของจำเลย ถือว่าศาลอุทธรณ์ภาค 9 มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. ว่าด้วยการพิจารณาและพิพากษา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง, 186 (6) (8) ศาลฎีกามีอำนาจให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1424/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แจ้งความเท็จและฟ้องเท็จ กรณีปลอมแปลงเอกสารและเบิกความเท็จต่อศาล
จำเลยทราบว่าลายมือชื่อที่จำเลยอ้างว่าปลอม ความจริงเป็นลายมือชื่อของจำเลยซึ่งลงชื่อไว้ มิใช่ลายมือชื่อปลอม การที่จำเลยแจ้งว่ามีการปลอมลายมือชื่อจึงเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดทางอาญาแก่พนักงานสอบสวนโดยรู้อยู่แล้วว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 173 และเมื่อจำเลยเอาความเป็นเท็จฟ้องโจทก์ต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญา การกระทำของจำเลยจึงเป็นการฟ้องเท็จอันเป็นความผิดตามมาตรา 175 อีกกระทงหนึ่ง ส่วนความผิดตามมาตรา 174 วรรคสอง ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่าจำเลยแจ้งความเท็จเพื่อจะแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษ จำเลยมิได้ยืนยันว่าผู้ที่ปลอมเอกสารคือโจทก์ โดยจำเลยแจ้งความเพียงว่าจำเลยสงสัยโจทก์ ยังไม่พอฟังว่าจำเลยมีเจตนาแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษ ไม่อาจเป็นความผิดตามมาตรานี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11903/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำสั่งศาลที่ไม่รับฎีกา: อำนาจศาลในการส่งเรื่องไปยังศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา
โจทก์ยื่นคำร้องว่าเดิมโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีรวม 7 คน รับรองให้โจทก์ฎีกา แต่ผู้พิพากษา 2 คน ไม่รับรองให้ฎีกา จึงเหลือผู้พิพากษาอีก 5 คน ที่ยังไม่ได้พิจารณารับรอง การที่ศาลชั้นต้นรับฟังว่าผู้พิพากษาที่มีสิทธิรับรองฎีกาไม่อนุญาตให้ฎีกา และมีคำสั่งไม่รับฎีกาของโจทก์ จึงเป็นคำสั่งที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และมีคำสั่งให้ส่งคำร้องให้ผู้พิพากษาอีก 5 คน พิจารณารับรองแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของโจทก์ โจทก์ต้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคหนึ่ง กรณีไม่ใช่เป็นการอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งไม่รับฎีกาของโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่ต้องส่งคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ไปยังศาลฎีกา การที่ศาลชั้นต้นส่งคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ไปยังศาลอุทธรณ์จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10878/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขยายเวลาการยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ: การใช้ดุลพินิจของศาลเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการครั้งแรกต่อศาลแพ่งภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำชี้ขาดตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสอง และเป็นการยื่นคำร้องภายในกำหนดเวลา 3 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับตามคำชี้ขาดได้ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แล้ว ศาลแพ่งมีคำสั่งจำหน่ายคดี ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดอีกครั้งต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ซึ่งยังไม่ล่วงเลยระยะเวลา 3 ปี ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แต่ล่วงเลยระยะเวลา 90 วัน ตามมาตรา 40 วรรคสอง ดังกล่าวแล้ว ซึ่งเป็นกรณีที่ต้องยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขออีกครั้งเพราะเหตุที่การยื่นครั้งแรกมีข้อบกพร่องในเรื่องอำนาจศาลถือว่าข้อบกพร่องในการยื่นคำร้องขอแต่แรกต่อศาลหนึ่งแต่ในที่สุดศาลนั้นไม่รับคำร้องขอ เพราะคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลนั้นจนต้องยื่นคำร้องขออีกครั้งหนึ่งต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ไม่เป็นเหตุให้ผู้ร้องขอต้องเสื่อมเสียสิทธิ นอกจากนี้กำหนดระยะเวลาเช่นนี้ก็เป็นกำหนดระยะเวลาที่ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้ขยายได้ตามหลักเกณฑ์ ป.วิ.พ. มาตรา 23 หรือ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 37 ด้วย เมื่อปรากฏว่าผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ภายหลังศาลแพ่งมีคำสั่งจำหน่ายคดีที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอฉบับแรกเพียง 60 วัน แสดงให้เห็นว่า ผู้ร้องยังประสงค์จะขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาตามคำร้องขอของผู้ร้องอยู่ และจำเป็นต้องทำคำร้องขอยื่นใหม่ต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาภายในเวลาพอสมควร อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามความจำเป็นโดยสุจริต จึงมีเหตุสมควรอย่างยิ่งที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จะใช้อำนาจตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 37 ประกอบมาตรา 26 และ ป.วิ.พ. มาตรา 23 สั่งให้ขยายกำหนดระยะเวลาการยื่นคำร้องขอ
of 364