คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
อุทธรณ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3,483 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6816/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดวันทราบคำสั่งศาลจากแบบพิมพ์คำร้อง และผลต่อการยื่นอุทธรณ์ตามกำหนดเวลา
แบบพิมพ์คำร้องขอให้รับรองอุทธรณ์และแบบพิมพ์ท้ายอุทธรณ์ของโจทก์มีข้อความว่า "ข้าพเจ้ารอฟังคำสั่งอยู่ ถ้าไม่รอให้ถือว่าทราบ" ซึ่งคำร้องและอุทธรณ์ดังกล่าวศาลมีคำสั่งในวันที่โจทก์ยื่น คือ วันที่ 1 เมษายน 2559 จึงต้องถือว่าโจทก์ทราบคำสั่งศาลในวันที่ยื่นแล้ว ส่วนที่ในคำร้องและอุทธรณ์มีข้อความเพิ่มเติมว่า "ให้มาทราบคำสั่งทุก 7 วัน ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งโดยชอบแล้ว" นั้น มีความหมายว่า หากศาลมิได้มีคำสั่งในวันยื่นนั้นเลย ให้เป็นหน้าที่ของผู้ยื่นต้องมาทราบคำสั่งทุก 7 วัน กรณีของโจทก์จึงต้องถือว่าได้ทราบคำสั่งศาลในวันยื่นคำร้องและอุทธรณ์แล้ว ดังนั้น เมื่อโจทก์มายื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นในวันที่ 20 เมษายน 2559 จึงเป็นการยื่นเมื่อพ้นกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันทราบคำสั่ง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 588/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องแทนขององค์กรที่ไม่เป็นนิติบุคคล และผลของการอุทธรณ์ที่ไม่ชอบตามกฎหมาย
ชั้นพิจารณาในศาลชั้นต้นจำเลยต่อสู้คดีด้วยตนเอง ในชั้นอุทธรณ์และฎีกาจำเลยมิได้แต่งตั้งทนายให้เข้าว่าความ แต่ได้มอบอำนาจให้องค์การตรวจสอบอำนาจรัฐแห่งราชอาณาจักรไทย โดย ส. ประธานองค์การฯ เป็นผู้อุทธรณ์และผู้ฎีกา แต่องค์การตรวจสอบอำนาจรัฐแห่งราชอาณาจักรไทยไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่อาจใช้สิทธิอุทธรณ์และฎีกาแทนจำเลยได้ การที่องค์การฯ ดังกล่าวยื่นอุทธรณ์แทนจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 รับวินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบ จำเลยไม่มีสิทธิฎีกาต่อมาเพราะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 9 ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ซึ่งใช้บังคับในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้อง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5417/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำพิพากษาอนุญาโตตุลาการ: การดำเนินการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 และข้อจำกัดในการอุทธรณ์
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการสมาคมประกันวินาศภัยไทยและให้อนุญาโตตุลาการจำหน่ายคดีออกจากสารบบความหรือยกคำเสนอข้อพิพาท จึงเป็นคำร้องขอให้บังคับตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วเป็นกรณีอยู่ในบังคับต้องอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกาตามที่ มาตรา 45 วรรคสอง บัญญัติไว้ การที่ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์ฉบับแรกต่อศาลอุทธรณ์จึงเป็นการไม่ชอบ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้รับอุทธรณ์ฉบับแรกและส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาจึงไม่ชอบ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับอุทธรณ์ดังกล่าวไว้วินิจฉัยแล้วจำหน่ายอุทธรณ์ฉบับแรกของผู้ร้องนั้นชอบแล้ว แต่ที่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นส่งอุทธรณ์ฉบับแรกให้ศาลฎีกาวินิจฉัยนั้นยังไม่ถูกต้อง เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วการที่ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นใหม่เป็นฉบับที่สองและศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ ฉบับที่สองของผู้ร้องที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์นับแต่อ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นก็ไม่ชอบเช่นกัน กรณีจึงต้องยกอุทธรณ์ฉบับที่สองของผู้ร้อง เมื่อสำนวนคดีนี้มาสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยอุทธรณ์ฉบับแรกของผู้ร้องไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งอุทธรณ์ดังกล่าวของผู้ร้องมายังศาลฎีกาอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 413/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คดีเยาวชนในปัญหาข้อเท็จจริงและการรอการลงโทษโดยคำนึงถึงพฤติการณ์แห่งคดี
จำเลยยื่นฎีกาว่า จำเลยยื่นอุทธรณ์โดยได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ผู้พิพากษาลงลายมือชื่อรับรองตามกฎหมายแล้ว แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยให้นั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า จำเลยอุทธรณ์ว่าไม่ได้กระทำความผิด แต่ไม่ได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกและอบรมมีกำหนดโทษขั้นต่ำ 3 เดือน อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 180 บัญญัติว่า "คดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งแล้ว ให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความเหมือนคดีธรรมดา เว้นแต่ในกรณีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนอย่างหนึ่งอย่างใด..." ดังนั้น การพิจารณาว่าจำเลยจะอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงว่าไม่ได้กระทำความผิดได้หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอย่างคดีธรรมดา คือ พิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ซึ่งห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดี ซึ่งอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295 ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 75 กึ่งหนึ่ง จำคุก 6 เดือน อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปรับการฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 5 จังหวัดอุบลราชธานี มีกำหนดขั้นต่ำ 3 เดือน นับแต่วันพิพากษา อันเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษทางอาญาแก่จำเลย ไม่เป็นการลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 18 อันจะเข้ากรณียกเว้นที่จะมีสิทธิอุทธรณ์ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ จึงต้องห้ามอุทธรณ์ ในปัญหาข้อเท็จจริง ดังนั้น การที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดอุบลราชธานีอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงโดยมิได้ให้ผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นผู้อนุญาต จึงเป็นการไม่ชอบ ขัดต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 193 ตรี
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 17/2559)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3530-3531/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่ชัดแจ้ง: ผู้ร้องไม่โต้แย้งเหตุผลที่ไม่รับอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ข้อความในฎีกาฉบับแรกตั้งแต่หน้าที่ 3 ย่อหน้าที่ 2 จนถึงหน้าสุดท้าย กับข้อความในฎีกาฉบับที่สองตั้งแต่หน้าที่ 3 ย่อหน้าที่ 2 จนถึงหน้าสุดท้าย ล้วนแต่เป็นข้อความเดียวกันทั้งสิ้น โดยฎีกาของผู้ร้องคัดค้านทั้งสองฉบับไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ด้วยเหตุที่ไม่รับอุทธรณ์ทั้งสองฉบับของผู้ร้องคัดค้านไว้วินิจฉัยนั้นว่าไม่ถูกต้องอย่างไร ที่ถูกควรเป็นอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2643/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่อุทธรณ์ประเมินอากรตามกำหนด ทำให้จำนวนอากรยุติตามการประเมินของเจ้าพนักงาน
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 ฉ บัญญัติให้ผู้นำของเข้ามีสิทธิอุทธรณ์การประเมินอากรต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน การที่จำเลยเพียงแต่มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงต่อโจทก์และมีหนังสือขอความเป็นธรรมจากโจทก์ ก็หาใช่คำอุทธรณ์ตามมาตรา 112 ฉ แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่อุทธรณ์การประเมิน จำนวนค่าอากรจึงยุติตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินแล้ว จำเลยไม่สามารถต่อสู้คดีนี้ว่า จำเลยไม่ต้องเสียอากรตามการประเมินเพราะเหตุการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขของประกาศกรมศุลกากรฯ และจำเลยสามารถใช้สิทธิยกเว้นให้ถูกต้อง แม้ใช้สิทธิภายหลังการตรวจปล่อยสินค้าหรือเสียอากรไปแล้วได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2255/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนคำสั่งไม่รับอุทธรณ์: ศาลฎีกาให้รับอุทธรณ์ในคดีแจ้งความเท็จ เนื่องจากโจทก์ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามกฎหมาย
คดีนี้โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ในความผิดฐานร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่พนักงานสอบสวนเพื่อจะแกล้งให้โจทก์ทั้งสี่ต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้น ตาม ป.อ. มาตรา 83, 173 และ 174 ซึ่งความผิดดังกล่าวตามมาตรา 174 วรรคสอง มีระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีและปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท โจทก์ทั้งสี่จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ จึงเป็นการสั่งที่ไม่ชอบด้วยบทกฎหมายมาตราดังกล่าว ถือได้ว่าการมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ซึ่งไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ เป็นการที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่ได้รับความเสียหาย เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลฎีกาเห็นสมควรเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่และมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 27

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1517/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ต้องมีพฤติการณ์พิเศษ ศาลมีดุลพินิจในการพิจารณา
การยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 23 จะกระทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ และศาลจะขยายระยะเวลาให้ตามคำร้องหรือไม่ เป็นดุลพินิจที่จะพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไป เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลา แม้จะน้อยกว่าระยะเวลาที่โจทก์ขอ ก็ไม่เป็นเหตุที่โจทก์จะอุทธรณ์ให้ขยายระยะเวลาต่อไปได้อีก หากระยะเวลาที่ศาลอนุญาตให้ขยายนั้นไม่เพียงพอ และมีพฤติการณ์พิเศษ ก็ชอบที่โจทก์จะขอขยายระยะเวลาได้ใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1221/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องแย้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการอุทธรณ์ข้อเท็จจริงในคดีมีทุนทรัพย์น้อยกว่า 50,000 บาท
ฟ้องแย้งของจำเลยขอห้ามมิให้โจทก์กระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการถือครองที่ดินของจำเลย และให้โจทก์ใช้ค่าเสียหาย 300,000 บาท แก่จำเลย ซึ่งหากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ย่อมมีผลทำให้สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้รับการบังคับตามกฎหมาย คำฟ้องแย้งของจำเลยจึงมีสภาพเป็นเพียงคำให้การ ส่วนเรื่องค่าเสียหาย จำเลยอ้างเหตุมูลละเมิดเนื่องจากถูกโจทก์ฟ้อง เป็นคนละเรื่องกับคดีนี้ที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท ฟ้องแย้งในส่วนนี้เป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน คู่ความย่อมมีสิทธิที่จะยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท จำเลยให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย จึงเป็นคดีเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท เป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามราคาที่ดินพิพาท เมื่อที่ดินพิพาทมีราคาประเมินตารางวาละ 300 บาท คิดเป็นทุนทรัพย์พิพาท 21,000 บาท ทุนทรัพย์พิพาทในชั้นอุทธรณ์จึงไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยและศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับวินิจฉัยให้จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 812/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีภาษีอากร: ต้องรอจนกว่าสิทธิอุทธรณ์ของผู้เสียภาษีสิ้นสุดก่อน จึงจะฟ้องได้
ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 ฉ และมาตรา 112 อัฏฐารส หากผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกไม่พอใจการประเมิน กฎหมายกำหนดให้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ตรวจคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินว่าชอบด้วยกฎหมายประการใด โดยคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีอำนาจเปลี่ยนแปลง แก้ไข คำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินได้ตามที่เห็นสมควร และหากผู้อุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์สามารถอุทธรณ์โดยฟ้องคดีต่อศาลได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ คดีนี้ในส่วนอากรขาเข้าจำเลยอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดตามมาตรา 112 ฉ และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว โจทก์ทั้งสองนำคดีมาฟ้องให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรโดยไม่รอให้พ้นกำหนดเวลา 30 วัน ที่จำเลยสามารถจะใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาลตามมาตรา 112 อัฏฐารส การที่จำเลยจะต้องเสียภาษีตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หรือไม่จึงยังไม่เด็ดขาด เพราะยังอยู่ในเวลาที่จำเลยยังมีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้และต่อมาจำเลยได้ฟ้องโจทก์ที่ 1 ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งรวมถึงใบขนสินค้าพิพาททั้ง 4 ฉบับในคดีนี้เป็นคดีหมายเลขดำที่ ภ.216/6560 ของศาลภาษีอากรกลาง ภายในระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว โจทก์ที่ 1 จึงยังไม่มีอำนาจฟ้อง ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 79/2 เมื่อการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มส่วนหนึ่งต้องอาศัยมูลค่าของฐานภาษี คือ ราคาสินค้าบวกด้วยอากรขาเข้าเพื่อใช้เป็นฐานภาษี เมื่อจำเลยใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินอากรขาเข้าต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 โต้แย้งเกี่ยวกับอากรขาเข้าซึ่งมีผลต่อฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีมูลค่าเพิ่มตามการประเมินจึงยังไม่เด็ดขาด โจทก์ที่ 2 จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องเช่นเดียวกัน
of 349