คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
การกระทำผิด

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 354 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5616/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาทุจริตสำคัญกว่าการปฏิบัติผิดระเบียบ การลักทรัพย์ต้องมีเจตนาเอาไปโดยทุจริต
องค์ประกอบเบื้องต้นในความผิดฐานลักทรัพย์ต้องได้ความว่า จำเลยเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบแต่เพียงว่า จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ร่วม นำบัตรโทรศัพท์ของโจทก์ร่วมไปให้ ร. นำไปจำหน่ายตั้งแต่เดือนมกราคม 2542 ถึงมีนาคม 2543 เป็นเงิน 1,240,000 บาท แล้วไม่นำเงินส่งคืนให้แก่โจทก์ร่วม โดยไม่ปรากฏว่าขณะที่จำเลยนำบัตรโทรศัพท์ของโจทก์ร่วมไปให้ ร. จำหน่ายนั้นจำเลยมีเจตนาทุจริตหรือสมคบกับ ร. กระทำการโดยทุจริตอย่างใด ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับผลประโยชน์อื่นใดจากการกระทำดังกล่าว จำเลยนำบัตรโทรศัพท์ของโจทก์ร่วมไปให้ใครจำหน่ายก็ได้โดยไม่จำต้องขออนุญาตโจทก์ร่วมก่อน เว้นแต่บัตรโทรศัพท์ที่นำไปจำหน่ายมีจำนวนมาก แต่ก็ไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่าจำนวนเท่าใดจึงต้องขออนุญาตโจทก์ร่วมก่อน อย่างไรก็ดี แม้จะฟังว่าการที่จำเลยนำบัตรโทรศัพท์ไปให้ ร. จำหน่ายโดยไม่ได้ขออนุญาตโจทก์ร่วม จำเลยก็เพียงแต่ปฏิบัติหน้าที่ผิดระเบียบที่โจทก์ร่วมวางไว้เท่านั้น ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาทุจริต หากโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายเพราะเหตุที่จำเลยปฏิบัติงานไม่ถูกต้องหรือ ร. นำบัตรโทรศัพท์ไปจำหน่ายแล้วไม่ส่งเงินคืนโจทก์ร่วมก็เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมจะต้องว่ากล่าวในทางอื่นกับบุคคลทั้งสองต่อไป ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดฐานลักทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4707/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งระงับเลี้ยงกุ้งฯ ชอบด้วยกฎหมาย แม้ไม่มีนิยามความเค็มชัดเจน การกระทำผิดต้องพิสูจน์ได้
คำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นคำสั่งที่ออกตามคำสั่งที่ได้รับมอบอำนาจจากนายรัฐมนตรีตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 2/2541 ทั้งสองคำสั่งมีใจความสำคัญสอดคล้องต้องกันว่า การเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบความเค็มต่ำในพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเกษตรกรรม เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศ เป็นเหตุให้เกิดภาวะมลพิษทั้งทางน้ำและในดิน...ฯลฯ เกิดภาวะขาดความสมดุลตามธรรมชาติผลตอบแทนที่ได้รับจากการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบความเค็มต่ำในพื้นที่น้ำจืดไม่คุ้มกับความเสียหายต่อทรัพยากร จึงให้ระงับการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบความเค็มต่ำในพื้นที่น้ำจืด และผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งให้ระงับการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบความเค็มต่ำในพื้นที่น้ำจืดในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี ตามคำสั่งดังกล่าวแม้ไม่ได้ให้คำนิยามหรือให้ความหมายว่าการเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบความเค็มต่ำ คือ ความเค็มอัตราส่วนเท่าใด แต่ตามข้อเท็จจริงย่อมเป็นที่เข้าใจอยู่แล้วว่า คือ การเลี้ยงกุ้งกุลาดำในน้ำซึ่งนำน้ำทะเลพอประมาณมาเติมผสมลงในน้ำจืดโดยกุ้งกุลาดำมีชีวิตและเจริญเติบโตได้ ซึ่งจำเลยก็เข้าใจความหมายดังกล่าวดี จึงนำสืบต่อสู้ไว้ตรงประเด็นว่า ช่วงวันเวลาเกิดเหตุตามคำฟ้องจำเลยไม่ได้นำน้ำทะเลมาเติมผสมลงในน้ำในบ่อที่ใช้เลี้ยงกุ้งกุลาดำของจำเลยแต่อย่างใด คำสั่งของนายกรัฐมนตรีและคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5264/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการขอคืนของกลาง: เจ้าของกรรมสิทธิ์ต้องเป็นผู้ครอบครองในขณะกระทำผิด
โจทก์เคยฟ้องผู้ร้องเป็นจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.1126/2560 ของศาลชั้นต้น ฐานร่วมกันลักทรัพย์หรือรับของโจร ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องผู้ร้องและจำเลยที่ 2 ซึ่งให้การปฏิเสธเป็นคดีใหม่ โดยให้จำหน่ายคดีชั่วคราวเฉพาะผู้ร้องและจำเลยที่ 2 และให้จำหน่ายคดีไปโดยเด็ดขาดเมื่อโจทก์ฟ้องหรือไม่ฟ้องภายในเวลาที่ศาลกำหนด กับพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 ที่ให้การรับสารภาพตาม ป.อ. มาตรา 335 ประกอบมาตรา 83, 336 ทวิ และให้ริบรถกระบะหมายเลขทะเบียน ฒถ 6368 กรุงเทพมหานคร และรถกระบะหมายเลขทะเบียน ตษ 7136 กรุงเทพมหานคร ของกลาง ต่อมาโจทก์ได้ฟ้องผู้ร้องและจำเลยที่ 2 เป็นจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1407/2560 ของศาลชั้นต้น ภายในกำหนด จึงมีผลให้ต้องจำหน่ายคดีผู้ร้องและจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.1126/2560 ของศาลชั้นต้น โดยเด็ดขาด ถือได้ว่าผู้ร้องมิได้เป็นจำเลยในคดีดังกล่าวอีกต่อไป เมื่อในคดีที่ฟ้องใหม่โจทก์มิได้มีคำขอให้ริบรถกระบะของกลางอีก ประกอบกับในคดีก่อน ผู้ร้องไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบในชั้นพิจารณาเพื่อแสดงว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถกระบะ หมายเลขทะเบียน ตษ 7136 กรุงเทพมหานคร ของกลางที่แท้จริงและมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด และไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาคำพิพากษาของศาลในคดีดังกล่าวที่สั่งริบทรัพย์สินของกลาง อันจะทำให้ผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนรถกระบะของกลาง แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริงที่มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนของกลางได้ตาม ป.อ. มาตรา 36 จะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินในขณะที่มีการกระทำความผิด มิใช่เจ้าของทรัพย์สินภายหลังจากการกระทำความผิด เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามรายการจดทะเบียนรถกระบะ หมายเลขทะเบียน ตษ 7136 กรุงเทพมหานคร ของกลางว่า ผู้ร้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รถกระบะของกลาง ภายหลังจากวันที่จำเลยที่ 3 กระทำความผิดและศาลมีคำพิพากษาให้ริบรถกระบะของกลางและคดีถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องจึงไม่ใช่เจ้าของรถกระบะของกลางในขณะที่จำเลยที่ 3 กระทำความผิด และไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนรถกระบะ หมายเลขทะเบียน ตษ 7136 กรุงเทพมหานคร ของกลางได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4499/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคืนทรัพย์สินที่ถูกริบ ผู้ให้เช่าซื้อต้องไม่รู้เห็นเป็นใจกับการกระทำผิดของผู้เช่าซื้อ
ตามที่ ป.อ. มาตรา 36 บัญญัติหลักเกณฑ์ให้ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สินที่ศาลสั่งริบให้แก่ผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริงที่มิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยนั้น หมายถึง นอกจากจะให้พิจารณาสั่งคืนทรัพย์สินให้แก่ผู้เป็นเจ้าของแท้จริงแล้ว ต้องพิจารณาว่าผู้ร้องผู้เป็นเจ้าของแท้จริงนั้นจะต้องมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยประกอบด้วย คดีนี้แม้ศาลชั้นต้นฟังว่า พยานหลักฐานที่ผู้ร้องไต่สวนมายังไม่พอฟังว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถบรรทุกพ่วงและตัวรถพ่วงของกลาง แล้วพิพากษายกคำร้อง โดยที่ยังไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่ ก็ด้วยเหตุว่าเมื่อผู้ร้องไม่ใช่เจ้าของแท้จริงแล้ว ก็ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.อ. มาตรา 36 ที่จะให้ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สินที่สั่งริบได้ ศาลชั้นต้นจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป และแม้ผู้ร้องจะอุทธรณ์เพียงประเด็นเดียวว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถบรรทุกพ่วงและตัวรถพ่วงของกลางก็ตาม แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถบรรทุกพ่วงและตัวรถพ่วงของกลาง ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ย่อมต้องวินิจฉัยในประเด็นต่อไปว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่ แล้วพิพากษาให้ยกคำร้องหรือสั่งคืนของกลางให้เจ้าของตามสิทธิที่เป็นเจ้าของได้ ซึ่งปัญหาที่ว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่นั้น แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นอ้างสู่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 โดยตรงก็ตาม แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7624/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฉีกบัตรเลือกตั้งและโพสต์เผยแพร่ ถือเป็นความวุ่นวาย ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 59 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ผู้ใดทำลายบัตรที่มีไว้สำหรับการออกเสียงโดยไม่มีอำนาจกระทำได้ หรือจงใจกระทำการด้วยประการใด ๆ ให้บัตรออกเสียงชำรุดหรือเสียหาย หรือกระทำการด้วยประการใด ๆ แก่บัตรเสียให้เป็นบัตรที่ใช้ได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท" ตามบทบัญญัติดังกล่าวเพียงแค่ทำลายบัตรที่มีไว้สำหรับการออกเสียงก็เป็นความผิดแล้ว ไม่ว่าบัตรออกเสียงนั้นจะทำเครื่องหมายกากบาทแล้วหรือไม่ จำเลยที่ 1 ฉีกบัตรออกเสียงถือว่าเป็นการทำลายบัตรที่มีไว้สำหรับการออกเสียง จึงเป็นความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าว
จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิออกเสียง รับบัตรออกเสียงจากเจ้าหน้าที่แล้วไม่ทำเครื่องหมายกากบาทในช่องที่กำหนดภายในคูหาลงคะแนนออกเสียง แต่กลับไปยืนหน้าหีบบัตรออกเสียงพร้อมทั้งชูบัตรออกเสียงขึ้นเหนือศีรษะพร้อมพูดว่า "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" พร้อมฉีกบัตรออกเสียง โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ใช้โทรศัพท์มือถือบันทึกวิดีโอเหตุการณ์ดังกล่าวจนเจ้าพนักงานตำรวจต้องเข้าระงับเหตุ ห้ามปรามและนำตัวออกไป ถือได้ว่าเป็นการก่อความวุ่นวายขึ้นในที่ออกเสียง จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 60 (9) ขณะเกิดเหตุรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ใช้บังคับ ตามรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมาตรา 4 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข... ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 27 บัญญัติว่า สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้ง...ย่อมได้รับความคุ้มครอง... และมาตรา 28 บัญญัติว่า บุคคลย่อม...ใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งถือได้ว่าเป็นประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และจำเลยทั้งสามย่อมมีสิทธิเสรีภาพตามบทบัญญัติดังกล่าว แต่ต้องใช้สิทธิและเสรีภาพนั้นไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ขัดต่อกฎหมาย การที่จำเลยที่ 1 ฉีกบัตรออกเสียง และจำเลยทั้งสามก่อความวุ่นวายขึ้นในที่ออกเสียงซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมาย จำเลยทั้งสามจะอ้างว่าเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2817/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรสและการคืนทรัพย์สินที่ถูกริบจากการกระทำผิด
เมื่อรถบรรทุกของกลางเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องซื้อมาด้วยเงินที่ได้มาระหว่างสมรส ผู้ร้องกับจำเลยจึงมีส่วนเป็นเจ้าของรวมกันคนละครึ่ง เมื่อจำเลยนำรถบรรทุกของกลางไปใช้ในการกระทำความผิดจนถูกศาลพิพากษาให้ริบไปแล้ว ผู้ร้องซึ่งมิได้มีส่วนรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยด้วย ย่อมมีสิทธิขอคืนได้กึ่งหนึ่ง ส่วนอีกกึ่งหนึ่งตกเป็นของอันพึงต้องริบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8480/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบเรือประมง: การกระทำความผิดตามกฎหมายเดินเรือและคำสั่ง คสช. มิได้ทำให้เรือกลายเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 33
มูลเหตุการกระทำความผิดในคดีนี้เกิดจากการนำเรือกลประมงทะเลชั้น 1 ขนาด 43.14 ตันกรอส ออกจากท่า โดยไม่มีคนใช้เครื่องจักรยนต์ชั้นหนึ่งตามที่แจ้งต่อเจ้าพนักงานก่อนนำเรือออกจากท่า ซึ่งเป็นการใช้เรือผิดเงื่อนไขหรือข้อกำหนดในใบอนุญาตใช้เรือและเป็นเรือประมงซึ่งปฏิบัติไม่ครบตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย และการที่จำเลยยินยอมให้ผู้ควบคุมเรือกระทำการดังกล่าว ไม่ปรากฏว่าเรือของจำเลยเป็นเรือที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ได้รับใบอนุญาตแต่อย่างใด เรือประมงของกลางจึงมิใช่ทรัพย์ที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่ริบเรือประมงของกลางจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 752/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าเสียหายจากการเลือกตั้งใหม่ จำเป็นต้องพิสูจน์การกระทำผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง แม้มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
แม้คำสั่งของโจทก์ที่ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยจะเป็นอำนาจเด็ดขาดของโจทก์ แต่ก็มีผลผูกพันจำเลยเฉพาะผลคำวินิจฉัยที่ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลย เนื่องมาจากโจทก์เห็นว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อว่าจำเลยกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 และมีผลเฉพาะหน้าในขณะนั้น ซึ่งเป็นการปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่ของโจทก์เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ส่วนการฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งให้ต้องรับผิดในค่าเสียหายทางแพ่ง อันเกิดจากการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามมาตรา 99 วรรคหนึ่ง ที่มีเหตุมาจากการที่จำเลยฝ่าฝืนมาตรา 57 จนเป็นเหตุให้โจทก์มีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามมาตรา 96 เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธความรับผิดและต่อสู้ว่าจำเลยไม่ได้ก่อ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลอื่นให้เงินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้จำเลยตามฟ้อง คดีจึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 57 จนเป็นเหตุให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่หรือไม่ มาตรา 99 วรรคหนึ่ง จึงมิใช่บทบัญญัติให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งต้องรับผิดโดยเด็ดขาด
การฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ไม่จำเป็นต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญา แม้ศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ที่ให้ยกฟ้องในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 57 ดังที่จำเลยอ้าง การวินิจฉัยคดีนี้ก็ไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาในคดีอาญา อย่างไรก็ตาม พยานที่โจทก์นำมาสืบไม่มีผู้ใดรู้เห็นว่าจำเลยกระทำการอย่างไรอันจะเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 57 จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำการเช่นนั้น เมื่อการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ไม่ได้เกิดจากการที่จำเลยกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 57 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 679/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและการรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการเลือกตั้งใหม่ จำเลยต้องพิสูจน์การกระทำผิด
แม้คำสั่งของโจทก์ที่ 1 ที่ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยภายหลังประกาศผลการเลือกตั้งจะเป็นอำนาจเด็ดขาดของโจทก์ที่ 1 แต่ก็มีผลผูกพันจำเลยเฉพาะผลคำวินิจฉัยที่ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยอันเนื่องมาจากโจทก์ที่ 1 เห็นว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าจำเลยกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 57แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 และมีผลเฉพาะหน้าในขณะนั้น อันเป็นการปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 52/2546 ที่โจทก์ทั้งสองอ้างมิได้วินิจฉัยถึงความเป็นที่สุดแห่งคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้ง รูปเรื่องย่อมต่างจากคดีนี้ จึงไม่มีผลผูกพันศาลในการวินิจฉัยเกี่ยวกับคำสั่งของโจทก์ที่ 1 ที่ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลย
การฟ้องผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งให้ต้องรับผิดในค่าเสียหายอันเกิดจากการให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามมาตรา 99 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 เป็นการฟ้องร้องให้รับผิดในทางแพ่งที่มีเหตุมาจากการที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งฝ่าฝืนมาตรา 57 จนเป็นเหตุให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและให้มีการเลือกตั้งตามมาตรา 97 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธความรับผิดและต่อสู้ว่าจำเลยไม่ได้สนับสนุนให้ตัวแทน (หัวคะแนน) หาเสียงให้จำเลยโดยการแจกเงินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง คดีจึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 57 จนเป็นเหตุให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่หรือไม่ ซึ่งคู่ความต้องนำสืบพยานหลักฐานตามข้ออ้างและข้อเถียงของตนเพื่อให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดต่อไป มาตรา 99 วรรคหนึ่ง จึงมิใช่บทบัญญัติให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งต้องรับผิดโดยเด็ดขาด เมื่อโจทก์ทั้งสองและจำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน ก็ย่อมไม่มีพยานหลักฐานที่จะรับฟังว่า จำเลยกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 57 จนเป็นเหตุให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายในการให้มีการเลือกตั้งใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2077/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องอาญา: ผู้ก่อให้การกระทำผิดไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย
โจทก์มอบเงิน 300,000 บาท ให้แก่จำเลย เพราะจำเลยอ้างว่าจะนำไปให้เจ้าพนักงานตำรวจยศระดับพลตำรวจตรี 2 คน เพื่อช่วยเหลือให้บุตรสาวโจทก์สามารถสอบเข้ารับราชการตำรวจได้ ซึ่งโจทก์ย่อมจะต้องทราบดีว่าบุตรสาวโจทก์จะเข้ารับราชการตำรวจได้ต้องผ่านการสอบคัดเลือก โดยการสอบคัดเลือกเป็นระเบียบแบบแผนของทางราชการ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีคุณสมบัติสามารถสมัครสอบได้โดยเสรีและที่สำคัญการจัดการสอบจะต้องยุติธรรมเพื่อที่ทางราชการจะได้คนมีความสามารถ อันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน หากมีการช่วยเหลือบุคคลใดบุคคลหนึ่งให้สามารถสอบผ่านแสดงว่ามีการกระทำอันเป็นการทุจริต เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำความผิด โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
of 36