คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ความตาย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 347 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10497/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การป้องกันตัวที่พอสมควรแก่เหตุ แม้การตอบโต้จะทำให้ผู้ถูกทำร้ายถึงแก่ความตาย ศาลฎีกาเห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์ว่าเป็นการป้องกันตัวตามกฎหมาย
ผู้ตายเมาสุราก่อเหตุขึ้นก่อน โดยพูดจาทำนองหาเรื่องจำเลยเมื่อจำเลยเดินหนีไม่ตอบโต้ ผู้ตายยังเดินตามและใช้ไม้ตีจำเลยที่หลัง 1 ครั้ง แล้วผู้ตายจะใช้ไม่ตีจำเลยอีก นับเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ การที่จำเลยหันกลับมาชกผู้ตายซึ่งอยู่ในระยะประชิดเพื่อป้องกันตัวแม้จะเป็นการชกโดยแรงแต่ก็เป็นการชกเพียงครั้งเดียว และเมื่อจำเลยชกผู้ตายล้มลงจำเลยก็ไม่ได้ชกผู้ตายซ้ำอีก การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุและไม่เกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 68

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 743/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีผู้ค้ำประกันหนี้ภาษี หลังผู้ค้างชำระถึงแก่ความตาย
กรมสรรพากรโจทก์รู้ถึงความตายของ อ. แล้ว การที่โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันให้ชำระหนี้ภาษีอากร พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงความตายของ อ. สิทธิเรียกร้องของโจทก์ต่อกองมรดกของ อ. จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันย่อมยกข้อต่อสู้ดังกล่าวได้ตามมาตรา 694

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5513/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเป็นคนสาบสูญตามคำสั่งศาลมีผลเช่นเดียวกับการตาย ทำให้สิทธิในเงินฌาปนกิจสงเคราะห์เกิดขึ้น
ล. ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญมีผลเท่ากับ ล.ถึงแก่ความตาย และเมื่อ ล.เป็นสมาชิกของจำเลย ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับเงินฌาปนกิจสงเคราะห์เพื่อจัดการศพและสงเคราะห์ครอบครัว โดยโจทก์ซึ่งเป็นภริยา ล. เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ดังกล่าว ข้ออ้างของจำเลยว่า หากไร้ซึ่งศพที่จะต้องจัดการแล้วจำเลยไม่อาจจ่ายเงินค่าจัดการศพได้นั้น รับฟังไม่ได้ ดังนั้น การเป็นคนสาบสูญตามคำสั่งศาลเป็นเหตุให้จำเลยต้องจ่ายเงินฌาปนกิจสงเคราะห์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 314/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำรับสารภาพประกอบพยานแวดล้อมเพียงพอลงโทษจำเลยในคดีชิงทรัพย์จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายได้ แม้ไม่มีประจักษ์พยาน
ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง มีความหมายว่า ในคดีที่มีอัตราโทษขั้นต่ำตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษที่หนักกว่านั้น แม้จำเลยให้การรับสารภาพต่อศาลว่ากระทำความผิดตามฟ้อง ศาลก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยตามคำรับนั้นได้ แต่ต้องฟังพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบประกอบคำรับสารภาพให้เป็นที่พอใจก่อนว่าจำเลยกระทำความผิดจริงจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้ ส่วนปัญหาว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบประกอบคำรับเช่นว่านี้ต้องมีน้ำหนักมั่นคงเพียงใดนั้น เห็นได้ว่า ในกรณีเช่นนี้โจทก์ไม่จำต้องนำสืบให้ได้ความชัดแจ้งปราศจากข้อสงสัยดังเช่นคดีที่จำเลยให้การปฏิเสธ เพียงแต่มีพยานมาสืบให้เป็นที่พอใจศาลว่าจำเลยกระทำความผิดจริงตามคำรับก็เป็นการเพียงพอที่จะลงโทษจำเลยโดยอาศัยพยานหลักฐานนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4903/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำหน่ายคดีอาญาจำเลยที่ 3 ที่ถึงแก่ความตายระหว่างพิจารณา และสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของผู้เสียหาย
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 4 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อปรากฏว่าในคดีส่วนอาญา จำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ 3 ย่อมระงับไปโดยความตายของผู้กระทำความผิด ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1) แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่ได้จำหน่ายคดีของจำเลยที่ 3 ออกเสียจากสารบบความ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องโดยให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 ออกเสียจากสารบบความ ส่วนที่โจทก์ขอให้มีคำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งโดยพิพากษาให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น เมื่อสิทธิในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวเป็นสิทธิของผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายในมูลหนี้ละเมิดซึ่งเกิดจากการกระทำความผิดอาญาให้สามารถยื่นคำร้องขอค่าสินไหมทดแทนเข้ามาในคดีอาญาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 โดยไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแทนผู้เสียหายหรือโจทก์ร่วมได้ จึงเป็นสิทธิเฉพาะตัวของโจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เสียหายเท่านั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาในส่วนแพ่งว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้ร่วมในการกระทำความผิด ให้ยกฟ้องและยกคำร้องขอค่าสินไหมทดแทนในส่วนของจำเลยที่ 3 และที่ 4 โจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ดังกล่าว ย่อมถือว่าโจทก์ร่วมที่ 1 พอใจในคำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งดังกล่าวแล้ว โจทก์จะฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในคดีส่วนแพ่งแทนโจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2529/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข่มขืนกระทำชำเราจนถึงแก่ความตาย ศาลฎีกาแก้เป็นประหารชีวิต ลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต
ความผิดฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงและเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย ตาม ป.อ. มาตรา 277 ตรี (2) เป็นความผิดที่เป็นผลมาจากการกระทำความผิดฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง ตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคสาม (เดิม) ทำให้ผู้กระทำความผิดต้องรับโทษหนักขึ้น ไม่ว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นหรือไม่ก็ตาม ผลของการกระทำความผิดนั้นซึ่งได้แก่ความตายของผู้ถูกกระทำจึงต้องเป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้ ตาม ป.อ. มาตรา 63
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันให้ผู้ตายเสพ 3,4 เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน (ยาอี) คีตามีน (ยาเค) และไนเมตาซีแพม (ยาไฟว์) เข้าสู่ร่างกายเพื่อให้ผู้ตายมึนเมาเคลิบเคลิ้มหรือประสาทหลอน จนอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนต่อการกระทำใด ๆ ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ได้ ย่อมเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายผู้ตายตาม ป.อ. มาตรา 1 (6) และเป็นการกระทำที่รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในการร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้ตาย ไม่อาจแยกออกจากกันเป็นคนละส่วนได้ และการที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายผู้ตายด้วยการนำสารเสพติดเข้าสู่ร่างกายของผู้ตายจนเกินขนาด แล้วผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายในขณะที่สภาพร่างกายของผู้ตายอ่อนแออย่างมากจากพิษของสารเสพติดย่อมเรียกได้ว่าเป็นการกระทำต่อผู้ตายทั้งการใช้กำลังประทุษร้ายและการข่มขืนกระทำชำเราด้วยความรุนแรงเกินกว่าที่ร่างกายของผู้ตายจะทนทานได้ จึงต้องถือว่าความตายของผู้ตายเป็นผลโดยตรงและเป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้จากการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2101/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการดำเนินคดีแทนโจทก์ร่วมที่ถึงแก่ความตาย และการกำหนดโทษจำเลยในคดีอาญา
จ. เป็นบุพการีของ น. ผู้ตาย จ. จึงอยู่ในฐานะผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเช่นเดียวกับ ร. โจทก์ร่วม ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) เมื่อโจทก์ร่วมถึงแก่ความตาย การที่ จ. ยื่นคำร้องขอเข้าแทนที่โจทก์ร่วมเดิม ถือได้ว่า จ. ประสงค์ขอใช้สิทธิของตนที่มีอยู่เดิมตั้งแต่แรกในฐานะผู้มีอำนาจจัดการแทนด้วยอีกคนหนึ่งเช่นเดียวกับโจทก์ร่วมเพื่อสืบสิทธิดำเนินคดีแทนโจทก์ร่วม ย่อมถือว่า จ. เข้าสืบสิทธิดำเนินคดีแทน ร. โจทก์ร่วม เมื่อ ร. ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ จ. เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการและรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมไว้พิจารณาต่อไป จึงชอบด้วยกฎหมาย จ. จึงมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ได้
of 35