คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
อนาจาร

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 355 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4683/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา vs อนาจารโดยล่วงล้ำ ผลกระทบจากกฎหมายใหม่ และหลักการใช้กฎหมายที่เอื้อประโยชน์แก่จำเลย
แม้ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 ออกใช้บังคับ โดยมาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (18) ของมาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา "(18) "กระทำชำเรา" หมายความว่า กระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น" มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 276 แห่งประมวลกฎหมายอาญาและให้ใช้ความใหม่แทน แต่ความใหม่มิได้บัญญัติให้การใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น เป็นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา และมาตรา 8 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ของมาตรา 278 แห่งประมวลกฎหมายอาญา โดยวรรคสองบัญญัติว่า "ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำโดยใช้วัตถุหรืออวัยวะอื่นซึ่งมิใช่อวัยวะเพศล่วงล้ำอวัยวะเพศหรือทวารหนักของบุคคลนั้น ผู้กระทำต้องระวางโทษ..." ดังนั้น จากบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ดังกล่าว ยังคงบัญญัติว่า การกระทำโดยใช้วัตถุหรืออวัยวะอื่นซึ่งมิใช่อวัยวะเพศล่วงล้ำอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่นยังเป็นความผิดอยู่ มิได้เป็นเรื่องที่กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังบัญญัติให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง เพียงแต่เปลี่ยนฐานความผิดจากข่มขืนกระทำชำเราเป็นความผิดฐานอนาจารโดยล่วงล้ำเท่านั้น ซึ่งตามสภาพทางธรรมชาติในการกระทำความผิดของจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 278 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคหนึ่ง (เดิม) การปรับบทลงโทษจำเลยตามมาตรา 278 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) จึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า แต่โทษตามมาตรา 276 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งใช้บังคับในขณะที่จำเลยกระทำความผิดมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 8,000 บาท ถึง 40,000 บาท ส่วนโทษตามมาตรา 278 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 80,000 บาท ถึง 400,000 บาท เห็นได้ว่ากฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกเท่ากัน แต่โทษปรับตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษปรับที่สูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิม ต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยในส่วนนี้ จึงต้องลงโทษจำเลยตามกฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย อันเป็นการใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4018/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษหลายกรรมต่างวาระในความผิดอนาจารและกระทำชำเรา โจทก์มีสิทธิขอให้ลงโทษทุกกรรม
โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1.3 ว่า ต่อมาภายหลังเกิดเหตุตามฟ้องข้อ 1.2 ซึ่งฟ้องข้อ 1.2 เกิดเหตุเมื่อประมาณกลางเดือนพฤษภาคม 2559 จนกระทั่งถึงประมาณเดือนเมษายน 2560 ต่อเนื่องกันตลอดมา วันที่เท่าใดไม่ปรากฏชัด เวลากลางวัน จำเลยกระทำอนาจารและกระทำชำเราผู้เสียหาย ซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลย โดยจำเลยใช้อวัยวะเพศของจำเลยกระทำกับอวัยวะเพศของผู้เสียหาย ด้วยการสอดใส่อวัยวะเพศของจำเลยเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหาย เพื่อสนองความใคร่ของจำเลย ทั้งนี้ไม่ว่าผู้เสียหายจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม โดยเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกันอีกรวมจำนวนยี่สิบครั้ง การที่ระบุตอนท้ายฟ้องข้อ 1.3 ว่าเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกันอีก รวมจำนวนยี่สิบครั้ง เป็นการบรรยายรายละเอียดให้เห็นแล้วว่า จำเลยกระทำผิดลักษณะเดียวกันตามฟ้องข้อ 1.3 รวม 20 ครั้ง ต่างกรรมต่างวาระกัน และโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยทุกกรรม โดยโจทก์อ้าง ป.อ. มาตรา 91 มาในคำขอท้ายฟ้องด้วย การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องข้อ 1.3 เพียงกรรมเดียว จึงไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2269/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานพรากเด็กเพื่อการอนาจาร และกระทำชำเราเด็ก การกระทำความผิดต่อเด็กหญิงอายุ 7 ปี
ผู้เสียหายที่ 1 อายุ 7 ปีเศษ เป็นบุตรผู้เสียหายที่ 2 พักอาศัยอยู่กับ บ. ซึ่งเป็นย่า วันเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 ออกจากบ้านไปเล่นกับเด็กหญิง ส. ที่บ้านเกิดเหตุ และขณะที่เด็กหญิง ส. ไปขี่รถจักรยานเล่นข้างนอก ปล่อยให้ผู้เสียหายที่ 1 นั่งดูโทรทัศน์อยู่ในบ้านเกิดเหตุเพียงคนเดียว จำเลยเข้ามาในบ้านเกิดเหตุปิดประตูใส่กลอนไม่ให้ผู้เสียหายที่ 1 ออกจากบ้าน แล้วกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ถือได้ว่าจำเลยได้รบกวนสิทธิหรือแยกผู้เสียหายที่ 1 ออกไปจากอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 และทำให้อำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 ถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนโดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่รู้เห็นยินยอมด้วย อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 ไปเสียจากอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 ผู้เป็นมารดา จำเลยจึงมีความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร และฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี โดยเด็กนั้นไม่ยินยอม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1586/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดทางอาญาฐานกระทำชำเรา อนาจาร และพรากเด็ก โดยผู้เสียหายยินยอม แต่ยังอยู่ในความปกครองของมารดา
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเด็กหญิง ยินยอมให้จำเลยพยายามกระทำชำเราและกระทำอนาจาร การกระทำของจำเลยก็ยังเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เสียหายที่ 2 แม้จะมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้แล้ว และยังคงมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยแทนผู้เสียหายที่ 2 ได้อีก
การที่ผู้เสียหายที่ 2 ไปที่ร้านของจำเลยเอง แล้วจำเลยล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้เสียหายที่ 2 ที่ร้านโดยจำเลยมิได้พาผู้เสียหายที่ 2 ไปแต่อย่างใด จำเลยย่อมไม่มีความผิดฐานพาผู้เสียหายที่ 2 ไปเพื่อการอนาจาร แต่การที่จำเลยพยายามกระทำชำเรา และกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 2 ย่อมเป็นการกระทบต่ออำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 ที่มีต่อผู้เสียหายที่ 2 มิให้ผู้ใดพรากไปเสียจากความปกครอง แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้เสียหายที่ 2 ยินยอมก็ตาม แต่ผู้เสียหายที่ 2 ยังไม่พ้นจากความปกครองของผู้เสียหายที่ 1 ผู้เป็นมารดา ถือว่าเป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจาร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8767/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดฐานพาและพรากเด็กเพื่อการอนาจาร: การพิจารณาองค์ประกอบความผิดและความรับผิดทางอาญา
คำว่า "พา" หมายความว่า นำไปหรือพาไป ส่วนคำว่า "พราก" หมายความว่า การพาไปหรือแยกเด็กออกไปจากอำนาจปกครองดูแล ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดาเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนโดยบิดามารดาเด็กไม่รู้เห็นยินยอม อันเป็นการมุ่งหมายเพื่อคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลที่มีต่อเด็ก มิให้ผู้ใดล่วงละเมิดด้วยการพาไปหรือแยกเด็กออกจากความปกครองดูแล โดยไม่จำกัดว่าจะกระทำด้วยวิธีการใด และไม่คำนึงระยะทางใกล้ไกล ดังนั้น การที่จำเลยใช้กลวิธีด้วยการตะโกนเรียกผู้เสียหายที่ 2 ขณะนั่งเล่นกับเพื่อนให้เข้าไปหาจำเลย แม้ที่เกิดเหตุอยู่ห่างจากบริเวณที่ผู้เสียหายที่ 2 เล่นอยู่กับเพื่อนเพียง 7 เมตร และอยู่ในบริเวณอู่ซ่อมรถด้วยกัน แล้วจำเลยกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 2 ถือได้ว่าจำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ไปและพรากผู้เสียหายที่ 2 ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 1 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพาเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารและฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8422/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พรากเด็กเพื่ออนาจาร – การกระทำละเมิดอำนาจปกครอง – ค่าสินไหมทดแทน
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ร้องที่ 1 อยู่ในอำนาจปกครองดูแลของผู้ร้องที่ 2 ซึ่งเป็นมารดา แม้ผู้ร้องที่ 2 บอกให้ผู้ร้องที่ 1 เดินทางกลับบ้านพักด้วยตนเองตามลำพัง ผู้ร้องที่ 1 ก็ยังอยู่ในความปกครองของผู้ร้องที่ 2 ตลอดเวลา การที่จำเลยดึงแขนผู้ร้องที่ 1 แล้วพาเข้าไปป่าละเมาะเพื่อล่วงเกินทางเพศผู้ร้องที่ 1 ผู้ร้องที่ 2 ไม่ได้รู้เห็นเป็นใจหรือยินยอมให้จำเลยพาผู้ร้องที่ 1 เข้าไปที่ป่าละเมาะแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงเป็นการพาผู้ร้องที่ 1 ออกไปหรือแยกไปจากผู้ปกครองดูแลของผู้ร้องที่ 1 โดยปราศจากเหตุอันสมควร อันทำให้อำนาจปกครองดูแลของผู้ร้องที่ 2 ที่มีต่อผู้ร้องที่ 1 ถูกรบกวนหรือกระทบกระเทือน ผู้ร้องที่ 2 ย่อมได้รับความเสียหาย จำเลยจึงมีความผิดพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจาก บิดา มารดา ผู้ปกครอง ผู้ดูแล โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร ผู้ร้องที่ 2 จึงมีสิทธิขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำร้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 504-506/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานพรากเด็ก, กระทำชำเรา, และอนาจาร: ศาลฎีกาแก้ไขโทษและชี้ข้อไม่ชอบในการส่งตัวจำเลยเข้ารับการฝึกอบรม
ความผิดฐานกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม จำคุก 6 ปี เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปฝึกอบรมขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 5 ปี ขั้นสูงไม่เกินกว่า 7 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปฝึกอบรมกำหนดขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 1 ปี ขั้นสูงไม่เกิน 2 ปี อันเป็นการพิพากษาแก้ไขเฉพาะระยะเวลาการฝึกอบรม ซึ่งไม่ใช่โทษตาม ป.อ. มาตรา 18 จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและต้องถือว่าศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกา ตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ความผิดฐานกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 3 และที่ 5 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 6 ปี เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นฝึกอบรมขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 5 ปี ขั้นสูงไม่เกินกว่า 7 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 279 รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 1 ปี เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปฝึกอบรมขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 1 ปี ขั้นสูงไม่เกิน 2 ปี จึงเป็นการพิพากษาแก้ทั้งบทลงโทษและแก้ไขระยะเวลาฝึกอบรมอันเป็นการแก้ไขมาก แต่เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ที่โจทก์ฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้ว่า อวัยวะเพศของจำเลยได้ผ่านอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 3 และที่ 5 เข้าไปแล้วจึงเป็นความผิดสำเร็จฐานกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 3 และที่ 5 เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 มาตรา 4 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 317 วรรคสาม ให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน ปรากฏว่าโทษจำคุกตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกเท่ากัน ส่วนโทษปรับตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จะมีระวางโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิมต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยจึงต้องใช้กฎหมายเดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย
คดีนี้ จำเลยถูกควบคุมตัวในระหว่างอุทธรณ์ โดยสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครศรีธรรมราช รับตัวจำเลยไว้ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2559 หากผู้อำนวยการสถานพินิจเห็นสมควรย้ายเด็กหรือเยาวชนไปควบคุมในสถานพินิจอื่นหรือสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมวด 4 ของ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน เว้นแต่ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินจะย้ายเด็กหรือเยาวชนไปก่อนก็ได้ แต่ต้องรายงานให้ศาลทราบโดยเร็ว ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 41 (7) แต่คดีนี้ไม่ปรากฏว่าสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับอนุญาตจากศาลให้ย้ายเด็กหรือเยาวชนไปเข้ารับการฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านบึงก่อน หรือหากจะถือว่ามีเหตุฉุกเฉินที่จะย้ายเด็กหรือเยาวชนไปก่อนก็ไม่ปรากฏว่ามีการรายงานให้ศาลทราบ การส่งตัวจำเลยไปเข้ารับการฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านบึงจึงเป็นการไม่ชอบ และการที่ศาลชั้นต้นพิจารณาปล่อยจำเลยไปเมื่อครบกำหนดฝึกอบรมขั้นต่ำทั้งที่คดียังไม่ถึงที่สุดก็เป็นการไม่ชอบเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อจำเลยถูกควบคุมในระหว่างพิจารณาคดีจึงให้หักจำนวนวันที่จำเลยอยู่ในความควบคุมตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 83 วรรคหนึ่งด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 489/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพรากเด็กเพื่ออนาจาร ไม่จำเป็นต้องมีการหน่วงเหนี่ยว การกระทำจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
การกระทำโดยปราศจากเหตุอันสมควร พรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม ไม่ต้องถึงขนาดเป็นการหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้เด็กปราศจากอิสระในการเคลื่อนไหว เพราะการกระทำเช่นนั้นจะเป็นความผิดต่อเสรีภาพอีกต่างหาก "พราก" ตามพจนานุกรมมีความหมายว่า จากไป หรือแยกออกจากกัน ดังนั้น สาระสำคัญจึงอยู่ที่ว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเด็กยังอยู่ในอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 การที่จำเลยนัดแนะ หรือแยกผู้เสียหายที่ 2 ไปยังที่ต่างๆในโรงเรียน จำเลยได้รับความยินยอมจากผู้เสียหายที่ 1 หรือไม่ และมีเหตุผลอันสมควรหรือไม่ โดยบทกฎหมายดังกล่าวประสงค์ที่จะลงโทษผู้ที่ละเมิดอำนาจปกครองดูแลเด็กของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล อันเป็นการคุ้มครองเด็กมิให้ถูกล่อลวงไปในทางเสียหาย ดังนั้น แม้หลังถูกกระทำชำเรา ผู้เสียหายที่ 2 มิได้ถูกจำเลยหน่วงเหนี่ยวหรือกักขัง มีอิสระในการเคลื่อนไหว และสามารถกลับไปเรียนตามปกติได้ ก็เป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 โดยปราศจากเหตุอันสมควร เพื่อการอนาจารแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 94/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพรากเด็กเพื่อการอนาจาร ต้องพิจารณาผลกระทบต่ออำนาจปกครอง และเจตนาการกระทำ
การกระทำที่เป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลนั้นต้องมีลักษณะเป็นการพาไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลที่มีผลกระทบกระเทือนหรือรบกวนต่ออำนาจปกครองหรือสิทธิในลักษณะเดียวกับสิทธิของผู้ใช้อำนาจปกครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1567 ได้แก่ กำหนดที่อยู่ของเด็ก ทำโทษเด็กตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน ให้เด็กทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถ เรียกเด็กคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักเด็กไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือกระทบกระเทือนหรือรบกวนต่อหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่เด็กตามมาตรา 1567 เป็นต้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้เสียหายที่ 1 ไปที่บ้านของจำเลย เป็นเพราะ ม. ชักชวนไป โดยจำเลยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย แม้เหตุคดีนี้จะเกิดขึ้นภายในบ้านของจำเลย ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำการอันเป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 หรือมีการกระทำอันเป็นการกระทบกระเทือนหรือรบกวนต่ออำนาจปกครองหรือสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายของผู้เสียหายที่ 2 ดังกล่าว ที่โจทก์อ้างว่า จำเลยกระทำความผิดก็ด้วยเรื่องที่ชวนผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปในห้องนอนของตนเพื่อการอนาจารนั้น ก็ต้องแยกเจตนาและการกระทำออกเป็นสองส่วน ได้แก่ จำเลยชวนผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปในห้องนอนส่วนหนึ่ง และจำเลยกระทำไปเพื่อการอนาจารอีกส่วนหนึ่ง โดยต้องพิจารณาเสียก่อนว่าจะชวนเข้าไปในห้องนอนดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 317 วรรคแรกหรือไม่ แล้วจึงจะพิจารณาต่อไปได้ว่าจำเลยกระทำไปเพื่อการอนาจารที่มีผลให้ต้องรับโทษหนักขึ้นตามมาตรา 317 วรรคสามหรือไม่ ความผิดตามมาตรา 317 วรรคแรกเพียงเป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปโดยปราศจากเหตุอันสมควรหรือความยินยอมของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ย่อมเป็นความผิดสำเร็จได้ในตัวเอง หาจำต้องเป็นการกระทำเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจารอันเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งของความผิดตามมาตรา 317 วรรคสามประกอบด้วยไม่ กล่าวคือ แม้ไม่มีการกระทำอันเป็นความผิดตามมาตรา 317 วรรคสาม ก็มีความผิดตามมาตรา 317 วรรคแรกได้โดยสมบูรณ์ จึงจะนำเรื่องเป็นการกระทำเพื่อการอนาจารตามมาตรา 317 วรรคสาม ย้อนกลับมาถือเป็นเหตุให้การกระทำนั้นปราศจากเหตุอันสมควรหรือต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตามมาตรา 317 วรรคแรกหาได้ไม่ กรณีเห็นได้ชัดแจ้งอยู่แล้วว่าเพียงการชวนให้บุคคลใดเข้าไปในห้องนอนของตนเท่านั้น เมื่อไม่เอาองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 317 วรรคสาม ที่ว่าเป็นไปเพื่อการอนาจารมาพิจารณาประกอบด้วย ก็ย่อมถือไม่ได้อยู่เองว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นไปโดยปราศจากเหตุอันสมควร กลับกันเป็นว่าผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปโดยไม่ถือว่าปราศจากเหตุอันสมควรอีกต่างหาก ในกรณีผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งมีอายุ 14 ปีแล้วจะเข้าไปหรือไม่ ย่อมมีอิสระตัดสินใจได้เองตามสมควร มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่าไม่ว่าผู้ใดชวนผู้เสียหายที่ 1 ไปที่ใดหรือเข้าไปภายในหรือบริเวณใดของบ้านหรือสถานที่ธรรมดาทั่วไป ก็ต้องขอหรือกลับไปขอความยินยอมจากผู้เสียหายที่ 2 ทุกครั้งไป ซึ่งขัดต่อสภาพความเป็นจริงอย่างเห็นได้ชัด ข้อเท็จจริงข้างต้นจึงรับฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 317 วรรคแรก เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามมาตรา 317 วรรคแรกเสียแล้ว ย่อมไม่ต้องพิจารณาว่าเป็นการกระทำเพื่อการอนาจารอันจะเป็นความผิดตามมาตรา 317 วรรคสามหรือไม่อีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4798/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพรากเด็กเพื่ออนาจาร: ความผิดแม้เด็กออกจากบ้านเอง และการพิจารณาอำนาจปกครองของบิดามารดา
โจทก์ฟ้องจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานมาสืบประกอบคำรับสารภาพเพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร และศาลต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยกระทำความผิดจริง จึงจะลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบและพิพากษาลงโทษจำเลย และจำเลยอุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามฟ้อง เพราะจำเลยไม่ได้เป็นผู้ติดต่อผู้เสียหายที่ 1 หรือแยกผู้เสียหายที่ 1 จากผู้เสียหายที่ 2 แต่ น. เป็นผู้ติดต่อมาหาจำเลยเพื่อเสนอให้ผู้เสียหายที่ 1 ขายบริการทางเพศให้แก่จำเลย และพาผู้เสียหายที่ 1 มาส่งที่บ้านของจำเลย ในทำนองว่าโจทก์สืบไม่สมฟ้อง จำเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์ว่าพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมายังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิด และอุทธรณ์ของจำเลยมิใช่เป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ที่ขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลย จึงมิใช่เป็นการอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น
of 36