คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
การกระทำผิด

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 354 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 609/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เขตอำนาจศาลคดีฉ้อโกง: การพิจารณาจากสถานที่รับเงินและความต่อเนื่องของการกระทำผิด
ปัญหาว่าความผิดเกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นซึ่งศาลชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีหรือไม่ เป็นเรื่องอำนาจฟ้องอันเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้และยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองก็มีสิทธิฎีกาในปัญหาข้อนี้ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 ไม่มีบทบัญญัติเรื่องอำนาจศาล จึงต้องนำ ป.วิ.อ. มาตรา 22 มาใช้บังคับแก่คดีนี้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 โดย ป.วิ.อ. มาตรา 22 บัญญัติว่า "เมื่อความผิดเกิดขึ้น อ้างหรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลใด ให้ชำระที่ศาลนั้น..." และ ป.อ. มาตรา 341 บัญญัติว่า "ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม...ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง..." แสดงว่า การกระทำความผิดฐานฉ้อโกงจะสำเร็จลงเมื่อผู้กระทำความผิดได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ดังนั้น ท้องที่ที่มีการมอบเงินให้แก่ผู้กระทำความผิดย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิด และถือว่าผู้กระทำความผิดได้กระทำความผิดฐานฉ้อโกงลงในท้องที่ดังกล่าวต่อเนื่องกับการกระทำความผิดในท้องที่ที่มีการหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง การที่ น. ภริยา พ. โอนเงิน 11,475,520 บาท ที่ธนาคาร ก. เชียงของ จังหวัดเชียงราย เข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ที่ธนาคาร ส. สวนหลวง จำเลยที่ 1 ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวแล้วออกใบเสร็จรับเงินที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเงินมอบให้แก่โจทก์ ถือได้ว่า สถานที่ น. ภริยา พ. ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์โอนเงินที่ธนาคาร ก. เชียงของ ที่ทำให้จำเลยที่ 1 ได้ทรัพย์เป็นเงินจากโจทก์ เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดต่อเนื่องกับการหลอกลวงโจทก์ด้วย ดังนั้น ศาลชั้นต้นซึ่งมีเขตอำนาจครอบคลุมอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 22

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3677/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบทรัพย์สินจากการกระทำผิด พ.ร.บ.แร่ แม้ไม่มีคำพิพากษาลงโทษผู้กระทำผิด
พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 154 วรรคหนึ่ง ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุ บัญญัติว่า "บรรดาแร่ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ หรือเครื่องจักรกลใด ๆ ที่บุคคลได้มาหรือได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือมีไว้เนื่องในการกระทำความผิด หรือได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดตามมาตรา 132 ทวิ... มาตรา 148... ให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่" ซึ่งเจตนารมณ์ของบทบัญญัติดังกล่าวประสงค์ให้ศาลมีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยมิต้องคำนึงว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ จึงไม่จำต้องฟ้องหรือขอให้ลงโทษผู้ใดเป็นผู้กระทำความผิดมาด้วย และมีความหมายรวมตลอดไปถึงกรณีที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาอันเนื่องมาจากคดีขาดอายุความซึ่งมีผลในทำนองเดียวกันคือไม่มีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาของศาลด้วย ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีการกระทำความผิดฐานขนแร่โดยไม่ได้รับใบอนุญาตเกิดขึ้นแล้ว รถพ่วงของกลางซึ่งเป็นยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำความผิดจึงต้องริบเสียทั้งสิ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 756/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบรถยนต์ในความผิดคนเข้าเมือง: ต้องใช้เพื่อการกระทำผิดโดยตรง ไม่ใช่แค่เป็นยานพาหนะ
ทรัพย์สินที่ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) ได้นั้น จะต้องเป็นทรัพย์สินซึ่งจำเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดในข้อหาความผิดที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยนั้นโดยตรง กรณีที่จำเลยใช้รถยนต์ของกลางโดยสารพาคนต่างด้าวทั้งสิบห้าคนซึ่งหลบหนีเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้วไปส่งยังจุดหมายปลายทาง จึงเป็นการใช้รถยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะให้คนต่างด้าวนั่งโดยสารมาในรถด้วยเท่านั้น มิได้เป็นการใช้รถยนต์ของกลางเพื่อพาคนต่างด้าวหลบหนีให้พ้นจากการจับกุมหรือเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจับกุมของเจ้าพนักงานตำรวจโดยตรง ดังนี้ รถยนต์ของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์สินรวมที่จำเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่า รถยนต์ของกลางที่คนต่างด้าวนั่งโดยสารมาด้วยนั้นจะเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลซึ่งบรรทุกผู้โดยสารได้ไม่เกิน 7 คน แต่จำเลยกลับนำรถยนต์ของกลางดังกล่าวมาใช้บรรทุกคนต่างด้าว 15 คน ซึ่งมีจำนวนผู้โดยสารเกินกว่าที่ได้จดทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบก และคนต่างด้าวนั่งโดยสารมาในห้องโดยสารในลักษณะแออัดยัดเยียด ซึ่งผิดวิสัยของการนั่งโดยสารมาในรถตามปกติทั่วไปก็ตาม ก็เป็นแต่เพียงการใช้รถยนต์ผิดประเภทและลักษณะการใช้งานของตัวทรัพย์เท่านั้น มิใช่พฤติการณ์ที่ถึงกับบ่งชี้ชัดว่าจำเลยมุ่งหมายที่จะใช้รถยนต์ของกลางดังกล่าวในการกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์โดยตรงดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น รถยนต์ของกลางจึงเป็นทรัพย์สินที่ไม่อาจริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 340/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำผิดหลายกรรมต่างกันในคดีเล่นการพนันและฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ศาลฎีกาปรับบทลงโทษตามกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งห้าคนละ 1 เดือน 15 วัน ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 คนละ 1 เดือน 15 วัน ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่าให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 5 อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ให้จำเลยที่ 5 จ่ายสินบนนำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับแก่ผู้นำจับ เท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้โทษจำเลยที่ 5 ต่างไปจากศาลชั้นต้นเท่านั้น มิใช่เป็นการพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ตรี ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฎีกาขอให้รอการลงโทษ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ซึ่งในกรณีนี้ ป.วิ.อ. มาตรา 221 ไม่ได้บัญญัติให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาได้ การอนุญาตให้ฎีกาของผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย อย่างไรก็ตามเมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว และศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์แยกฟ้องว่าจำเลยทั้งห้าร่วมกันเล่นการพนันไพ่ผสมสิบและจำเลยทั้งห้าร่วมกันชุมนุมทำกิจกรรมและมั่วสุมกันเล่นการพนันภายในสวนไม่มีเลขที่ ซึ่งเป็นสถานที่แออัดในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินด้วยกัน ทั้งตามคำบรรยายฟ้องระบุการกระทำผิดของจำเลยทั้งห้าเป็นกรณีที่จำเลยทั้งห้าร่วมกันชุมนุมทำกิจกรรมและมั่วสุมล้อมวงเล่นการพนันไพ่ผสมสิบในคราวเดียวกัน การกระทำของจำเลยทั้งห้าตามฟ้องจึงเป็นความผิดกรรมเดียวกันผิดต่อกฎหมายหลายบท มิใช่เป็นการกระทำหลายกรรมต่างกัน จึงต้องลงโทษจำเลยทั้งห้าฐานร่วมกันชุมนุมทำกิจกรรม หรือมั่วสุม ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2), 18 ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นการกระทำหลายกรรมต่างกัน ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา แต่เนื่องจากปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวเป็นเหตุในลักษณะคดีเกี่ยวกับการปรับบทลงโทษ แม้จำเลยที่ 1 และที่ 5 ไม่อุทธรณ์และฎีกาขึ้นมาให้วินิจฉัยก็ตาม ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 และที่ 5 ด้วย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 และ 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ลงโทษปรับจำเลยที่ 5 ตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4 วรรคสอง, 12 (2) เป็นเงิน 750 บาท และให้จำเลยที่ 5 จ่ายสินบนนำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับแก่ผู้นำจับตามกฎหมายนั้น ปรากฏว่าตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 นั้น ไม่มีบทบัญญัติให้จ่ายสินบนนำจับแก่ผู้นำจับ ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ลงโทษปรับจำเลยที่ 5 และสั่งให้จ่ายสินบนนำจับจึงไม่ถูกต้อง ปัญหาข้อนี้แม้ไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวอ้างในชั้นฎีกา แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง, 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4
of 36