คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ผู้รับโอน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 363 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2408/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้อง: ผู้รับโอนมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากผู้โอนหากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้
จำเลยที่ 1 โอนสิทธิเรียกร้องที่จำเลยที่ 1 มีต่อลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ และโจทก์ตกลงชำระค่าตอบแทนจากการรับโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นการโอนสิทธิเรียกร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 และ 306 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องบังคับชำระหนี้เอาจากลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้ในนามของโจทก์ แต่เมื่อตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องที่จำเลยที่ 1 ทำไว้แก่โจทก์มีข้อตกลงในข้อ 6 ว่า "หากลูกค้าปฏิเสธไม่ยอมชำระหนี้หรือไม่สามารถชำระหนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือลูกค้าไม่ต้องชำระหนี้ไม่ว่าด้วยกรณีใดๆ ให้แก่ผู้รับโอน ผู้โอนตกลงยอมชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการรับโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้รับโอนเป็นเงินเท่ากับจำนวนเงินที่ลูกค้าไม่ชำระหนี้ตามมูลหนี้พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดชำระหนี้เป็นต้นไปจนกว่าผู้รับโอนจะได้ชำระหนี้คืนครบถ้วน และผู้รับโอนจะมีสิทธินำเงินที่หักไว้ตามสัญญาข้อ 4 หรือค่าตอบแทนที่ผู้โอนจะได้รับจากการโอนสิทธิเรียกร้องนั้นมาหักชำระหนี้ได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ผู้โอนทราบ..." ดังนี้ จำเลยทั้งสองจึงยังต้องรับผิดชำระหนี้ในสิทธิเรียกร้องที่โอนให้แก่โจทก์ไปแล้วตามข้อตกลงดังกล่าวด้วย
โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดในสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อลูกหนี้ที่จำเลยที่ 1 นำมาโอนให้แก่โจทก์แล้วโจทก์ไม่ได้รับชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจากลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามสัญญา จึงเป็นการฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามสัญญาโอนสิทธเรียกร้องซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ ไม่ใช่กรณีที่โจทก์ฟ้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องที่รับโอนจากจำเลยที่ 1 เรียกให้ลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ในมูลหนี้อันเกิดจากสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับลูกหนี้อันมีอายุความ 2 ปี ฟ้องของโจทก์จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1535/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำนองติดไป-อายุความดอกเบี้ย: ผลกระทบต่อผู้กู้และผู้รับโอนทรัพย์สิน
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้ในฐานะผู้กู้เบิกเงินเกินบัญชีและบังคับจำนอง และขอให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 รับผิดในฐานะผู้รับโอนทรัพย์สินโดยจำนองติดไปซึ่งผู้รับจำนองยังมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองโดยการบังคับจำนองเอาแก่ผู้รับโอนทรัพย์สินที่จำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 735 มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันไม่ได้ ต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 (1) เมื่อจำเลยที่ 2 ยกอายุความเรื่องสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยค้างชำระเกินห้าปีขึ้นต่อสู้ จึงมีผลถึงจำเลยที่ 1 ด้วย
ป.พ.พ. มาตรา 745 บัญญัติว่า "ผู้รับจำนองจะบังคับจำนอง แม้เมื่อหนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีไม่ได้" ซึ่งหมายความว่า ผู้รับจำนองสามารถบังคับจำนองได้ไม่ว่าหนี้ที่ประกันจะขาดอายุความแล้วหรือไม่ แต่ห้ามมิให้บังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีเท่านั้น ดังนั้น แม้หนี้ประธานยังไม่ขาดอายุความ โจทก์ก็คงมีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ที่ค้างชำระได้ไม่เกินห้าปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6334/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องหนี้ แม้หลังผิดนัดชำระ และผู้รับโอนไม่มีส่วนได้เสียโดยตรง ย่อมทำได้ตามกฎหมาย
ป.พ.พ. มาตรา 303 วรรคหนึ่ง และมาตรา 306 วรรคหนึ่ง มิได้บัญญัติว่าหนี้ที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระแล้วจะโอนให้แก่กันไม่ได้ และผู้รับโอนจะต้องมีส่วนได้เสียในมูลหนี้ที่รับโอน แม้การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างเจ้าหนี้กับโจทก์จะกระทำภายหลังจำเลยผิดนัดชำระหนี้แล้วและโจทก์มิได้มีส่วนได้เสียในมูลหนี้ดังกล่าว ก็มิใช่เรื่องการซื้อขายความและไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อการโอนสิทธิเรียกร้องได้ทำเป็นหนังสือและโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ตามมาตรา 306 วรรคหนึ่งแล้ว ย่อมมีผลสมบูรณ์และใช้ยันจำเลยได้ โจทก์ผู้รับโอนซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหนี้แทนเจ้าหนี้เดิมย่อมมีสิทธิเรียกร้องตามมูลหนี้ที่มีอยู่จากจำเลยได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยให้ชำระหนี้ดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5477/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เขตอำนาจศาล: สถานที่ธนาคารปฏิเสธเช็คเป็นสถานที่เกิดมูลคดี ผู้รับโอนเช็คมีสิทธิฟ้อง
ความรับผิดของจำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คเกิดขึ้นเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ดังนั้น สถานที่ที่เช็คพิพาทถูกปฏิเสธการจ่ายเงินย่อมเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดด้วย เมื่อธนาคารตามเช็คที่ถูกปฏิเสธการจ่ายเงินตั้งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นย่อมถือได้ว่ามูลคดีนี้เกิดขึ้นในเขตศาลชั้นต้น โจทก์จึงเสนอคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2894/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องตามใบสั่งจ่ายสินค้าปุ๋ย ผู้รับโอนมีสิทธิรับปุ๋ยได้ แม้ผู้ขายจะอ้างเหตุส่วนตัวกับผู้ขายเดิม
จำเลยที่ 1 ขายปุ๋ยโดยออกใบสั่งจ่ายสินค้าแก่ลูกค้าเพื่อให้ความสะดวกแก่ลูกค้าในการมารับปุ๋ย ใบสั่งจ่ายสินค้าดังกล่าวเป็นเอกสารที่อาศัยความไว้วางใจกันในประเพณีในการค้าขายปุ๋ยว่า จำเลยที่ 1 สัญญาจะส่งมอบปุ๋ยแก่ผู้นำใบสั่งจ่ายสินค้ามารับปุ๋ยจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และลูกค้าที่มาซื้อปุ๋ยมีข้อตกลงโดยปริยายแต่ต้นว่า ผู้ซื้อสามารถโอนขายใบสั่งจ่ายสินค้าให้แก่บุคคลใดก็ได้และจำเลยที่ 1 จะมอบปุ๋ยแก่ผู้นำใบสั่งจ่ายสินค้ามาแสดงในการส่งมอบใบสั่งจ่ายสินค้าให้แก่ลูกค้าไม่ต้องสลักหลังและลงลายมือชื่อในใบสั่งจ่ายสินค้าเพียงแต่ส่งมอบให้เท่านั้น แสดงว่าผู้ซื้อที่ได้รับใบสั่งจ่ายสินค้าจากจำเลยที่ 1 สามารถโอนใบสั่งจ่ายสินค้านั้นให้แก่บุคคลอื่นต่อไปได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 และผู้โอนไม่จำต้องสลักหลังการโอนใบสั่งจ่ายสินค้า การโอนสิทธิในการรับปุ๋ยระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นการโอนหนี้อันพึงจะต้องชำระแก่ผู้ถือตาม ป.พ.พ. มาตรา 312 ประกอบมาตรา 313 โจทก์ผู้ครอบครองใบสั่งจ่ายสินค้าดังกล่าว สามารถนำไปรับหรือเบิกปุ๋ยจากจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 1 จะยกเหตุส่วนตัวระหว่างลูกค้าที่รับใบสั่งจ่ายสินค้าจากจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 มาปฏิเสธไม่ส่งมอบปุ๋ยแก่โจทก์ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8659-8660/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟอกเงิน: ผู้รับโอนทรัพย์สินจากผู้กระทำผิด มีความเกี่ยวข้อง และไม่สามารถพิสูจน์ความสุจริต ศาลพิพากษาว่าทรัพย์สินนั้นเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด
ผู้คัดค้านที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทมาจากผู้คัดค้านที่ 1 ในระหว่างที่ผู้คัดค้านที่ 1 ถูกแจ้งความดำเนินคดีโดยเหตุจากพฤติการณ์อันมีลักษณะที่เป็นการกระทำความผิดมูลฐานฉ้อโกงฐานเดียวกับที่กระทำมาหลายครั้งตั้งแต่ปี 2542 ทั้งผู้คัดค้านที่ 3 ก็เป็นผู้ไปดำเนินการขอปล่อยชั่วคราวผู้คัดค้านที่ 1 หลายครั้ง โดยเดินทางมาจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีเพื่อขอประกันตัวผู้คัดค้านที่ 1 ที่กรุงเทพมหานคร พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าผู้คัดค้านที่ 3 มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้คัดค้านที่ 1 เป็นอย่างมาก ซึ่งต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่ารับโอนที่ดินมาโดยไม่สุจริตตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4320/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดิน: กรรมสิทธิ์ร่วม, ผู้รับโอนไม่มีสิทธิเกินผู้โอน, การคืนค่าขึ้นศาลเกิน
โจทก์ฟ้องขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมและมีคำขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองหรือใช้ราคาแทนเป็นเงิน 7,925,895.90 บาท เมื่อที่ดินที่พิพาทเป็นที่ดินแปลงเดียวกันและผลของการเพิกถอนก็เพื่อให้ที่ดินพิพาทกลับมาเป็นของโจทก์ จึงเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองเป็นคู่ความร่วมในคดีที่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แต่ในชั้นยื่นอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองกลับยื่นอุทธรณ์แยกกัน โดยโต้แย้งว่าโจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท ขอให้ยกฟ้อง เมื่อที่ดินพิพาทมีราคาประเมินคิดเป็นทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์เป็นเงิน 6,793,625 บาท แต่จำเลยทั้งสองต่างเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาตามทุนทรัพย์คนละ 7,925,895.90 บาท ดังนั้น ค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ที่จำเลยทั้งสองเสียมาเมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนสูงกว่าที่จำเลยทั้งสองต้องชำระในกรณีที่ยื่นอุทธรณ์ร่วมกัน จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกินแก่จำเลยทั้งสองตามส่วนของค่าขึ้นศาลที่จำเลยแต่ละคนได้ชำระไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 150 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5508/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิจำนองยังคงมีผล แม้มีการแบ่งแยกที่ดินและจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองโดยไม่ชอบ ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน
สิทธิจำนองเป็นทรัพยสิทธิ และย่อมระงับสิ้นไปเพียง 6 กรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 744 เท่านั้น เมื่อการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ผู้รับจำนองชอบที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมไถ่ถอนจำนองดังกล่าวได้ การจำนองที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 188713 พร้อมสิ่งปลูกสร้างจึงยังคงครอบติดอยู่ตามสัญญาจำนอง ไม่ระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 744 และเมื่อมีการแบ่งแยกที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 188713 ออกไปเป็นที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 204439 อีกแปลงหนึ่ง ต้องถือว่าที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 204439 ที่แบ่งแยกออกไปพร้อมสิ่งปลูกสร้างยังคงมีการจำนองครอบติดอยู่ด้วยตามสัญญาจำนองที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 188713 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 717 วรรคหนึ่ง แม้ไม่มีการจดแจ้งไว้ในสารบัญจดทะเบียนโฉนดที่ดินพิพาทเลขที่ 204439 ว่ามีการจำนองครอบติดอยู่ และแม้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับซื้อฝากเสียค่าตอบแทนและได้มาโดยสุจริตย่อมได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 204439 แต่ก็หาทำให้สิทธิจำนองซึ่งเป็นทรัพยสิทธิที่ติดไปกับตัวทรัพย์จำนองเสื่อมเสียไปไม่ ตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน
ฟ้องโจทก์เพียงขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองซึ่งจำเลยที่ 1 ดำเนินการโดยไม่ชอบให้คงปรากฏภาระจำนองเป็นหลักประกันแก่หนี้กู้ยืมของโจทก์และจำเลยที่ 1 เช่นเดิม และตามคำขอบังคับโจทก์ก็ยังไม่ได้ทรัพย์สินใดมา เพราะโจทก์มิได้ฟ้องบังคับจำนองเพื่อเอาชำระหนี้ที่มีอยู่เป็นคุณแก่โจทก์ซึ่งเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามตาราง 1 ข้อ 1 (ค) หรือฟ้องบังคับชำระหนี้กู้ยืมซึ่งเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามตาราง 1 ข้อ 1 (ก) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ทั้งโจทก์ไม่ได้เรียกร้องเอาที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาเป็นของตน คดีโจทก์จึงหาใช่คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5120-5122/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทรัพย์สินฟอกเงิน: ผู้เสียหายมีสิทธิเรียกคืนจากผู้รับโอนสุจริตได้ โดยให้ขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้
เงินของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ อ. ขออนุมัติถอนมาจากบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านที่ 1 เป็นแคชเชียร์เช็คระบุชื่อผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้รับเงิน เพื่อนำไปฝากยังธนาคารผู้คัดค้านที่ 2 สาขาสุวินทวงศ์ ไม่ได้มีการนำเข้าฝากที่สาขาดังกล่าว แต่กลับนำไปฝากที่ธนาคารผู้คัดค้านที่ 2 ในบัญชีชื่อของ พ. ที่สาขาดิอเวนิว โดยไม่ปรากฏเหตุที่จะอ้างโดยชอบ จากนั้นมีการโอนเงินไปยังบุคคลต่าง ๆ แม้เงินที่ฝากจะสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้รับฝากคือธนาคารผู้คัดค้านที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 แต่เมื่อเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินจำนวนเดียวกับที่เป็นของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ถูกถอนออกมาและนำไปฝากโดยผิดวัตถุประสงค์ บุคคลอื่นผู้มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากตามจำนวนที่เบิกถอนมาจากบัญชีของผู้คัดค้านที่ 1 โดยไม่ชอบดังกล่าวย่อมไม่อาจอ้างสิทธิใดได้ เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้เสียหายในคดีอาญามีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งเงินของตนจาก อ. กับพวกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 แม้ต่อมาจะมีการถ่ายโอนเงินของผู้คัดค้านที่ 1 หรือนำไปดำเนินการอย่างอื่นไม่ว่าจะเป็นการนำไปซื้อทรัพย์สินต่าง ๆ หรือโอนไปให้แก่บุคคลอื่น ทรัพย์สินต่าง ๆ เหล่านั้นก็ไม่ตกเป็นของแผ่นดินและต้องถูกดำเนินการเพื่อให้ได้เงินมาคืนแก่ผู้คัดค้านที่ 1 ผู้มีสิทธิที่แท้จริงจนครบจำนวน
ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ทรัพย์สินรายการที่ 42 เป็น "ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด" ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 โดยผู้คัดค้านที่ 7 นำเงินที่ได้จากการที่ผู้คัดค้านที่ 7 และ อ. กับพวกได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐาน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (5) (18) โอนเข้าบัญชีผู้คัดค้านที่ 7 แล้วผู้คัดค้านที่ 7 นำเงินที่รับโอนมาดังกล่าวซื้อทรัพย์สินรายการที่ 42 แล้วขายฝากทรัพย์สินนั้นไว้แก่ผู้คัดค้านที่ 9 และไม่ไถ่คืนในกำหนด เมื่อผู้คัดค้านที่ 9 ซื้อฝากทรัพย์สินรายการที่ 42 นี้โดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ในระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านที่ 9 ศาลย่อมสั่งคืนทรัพย์สินรายการนี้ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 9 ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51/1 ทรัพย์สินรายการนี้จึงไม่ตกเป็นของแผ่นดินตามคำร้องของผู้ร้อง แต่ปรากฏว่าผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้เสียหายจากการกระทำของผู้คัดค้านที่ 7 กับพวก ผู้คัดค้านที่ 1 จึงมีสิทธิติดตามและเอาทรัพย์คืนจากผู้คัดค้านที่ 7 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 เมื่อผู้คัดค้านที่ 7 นำเงินของผู้คัดค้านที่ 1 ไปซื้อทรัพย์สินรายการที่ 42 ผู้คัดค้านที่ 7 จึงไม่มีสิทธิยึดถือทรัพย์สินรายการนี้ไว้ แต่ต้องคืนแก่ผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อต่อมาผู้คัดค้านที่ 7 นำทรัพย์สินรายการนี้ไปขายฝากไว้แก่ผู้คัดค้านที่ 9 แม้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินรายการนี้จะตกเป็นของผู้คัดค้านที่ 9 แต่เมื่อผู้ขายฝากอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 491 และการที่ผู้คัดค้านที่ 1 มีสิทธิติดตามและเอาทรัพย์คืนดังกล่าว ผู้คัดค้านที่ 1 ย่อมอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ของผู้คัดค้านที่ 7 จึงอาจใช้สิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านที่ 7 ซึ่งเป็นลูกหนี้ในทรัพย์สินรายการนี้แทนผู้คัดค้านที่ 7 กรณีนี้เพื่อคุ้มครองผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เสียหายจึงควรให้ดำเนินการเสมือนมีการใช้สิทธิไถ่ถอนทรัพย์ที่ขายฝากจากผู้คัดค้านที่ 9 เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 9 จึงไม่อาจให้ทรัพย์สินรายการนี้ตกเป็นของผู้คัดค้านที่ 9 ผู้รับซื้อฝากได้ แต่ควรให้ผู้คัดค้านที่ 9 ได้รับเงินค่าสินไถ่ตามที่กำหนดไว้ในหนังสือสัญญาขายฝากโดยนำทรัพย์สินนี้ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระสินไถ่แก่ผู้คัดค้านที่ 9 และคืนส่วนที่เหลือ (หากมี) ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1
เมื่อการขายทอดตลาดทรัพย์สินรายการที่ 42 เป็นส่วนของวิธีการที่จะให้ทรัพย์สินนั้นถูกนำไปคืนแก่ผู้เสียหาย ขณะเดียวกันก็คุ้มครองผู้รับโอนทรัพย์สินโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน สินไถ่ดังกล่าวจึงไม่ใช่หนี้เงินที่แท้จริงซึ่งหากลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดก็ให้คิดดอกเบี้ยตามนัย ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรไม่กำหนดดอกเบี้ยในสินไถ่ให้ผู้คัดค้านที่ 9

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7386/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เพิกถอนใบแทนโฉนดและนิติกรรมซื้อขายที่ดิน กรณีเจ้าของทรัพย์ติดตามเอาทรัพย์คืนจากผู้รับโอน
ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ซึ่งเมื่อข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาที่ถึงที่สุดแม้จะไม่ได้ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมเนื่องจากฟังได้ว่าลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจในหนังสือมอบอำนาจเป็นลายมือชื่อที่แท้จริงของโจทก์ แต่ทางพิจารณากลับได้ความว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันนำหนังสือมอบอำนาจที่มีลายมือชื่อโจทก์และข้อความซึ่งไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ไปใช้อ้างแสดงซึ่งอาจเป็นการกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารโดยการปลอมข้อความตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคสอง ได้ แต่เหตุที่ไม่ได้ลงโทษในความผิดฐานนี้เพราะข้อเท็จจริงที่ได้ในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงในคำฟ้อง ศาลจึงไม่อาจลงโทษในความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง มิใช่ว่าข้อเท็จจริงฟังไม่ได้เสียทีเดียวว่าไม่มีการปลอมเอกสาร ทั้งยังได้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ โดยการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จของจำเลยที่ 1 ทำให้เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อว่าโฉนดได้สูญหายไปจริง จึงออกใบแทนโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับ และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ใช้ใบแทนโฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นหลักฐานในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 2 แปลงจากของโจทก์เป็นของจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 ได้โอนขายที่ดินทั้ง 2 แปลงให้แก่บุคคลอื่นไปอีกทอดหนึ่ง ดังนี้ การออกใบแทนโฉนดที่ดินของเจ้าพนักงานที่ดินจึงเป็นไปโดยผิดหลงเนื่องจากหลงเชื่อการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จของจำเลยที่ 1 และเมื่อข้อเท็จจริงแห่งคดีรับฟังได้ว่า โฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลง ดังกล่าว อยู่ในความยึดถือครอบครองของโจทก์มาโดยตลอดและไม่ได้สูญหายไป ใบแทนโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับที่จำเลยที่ 1 นำไปใช้จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์จึงเป็นใบแทนโฉนดที่ดินที่ออกมาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และมีเหตุให้ต้องเพิกถอนใบแทนโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับ
of 37