คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สละสิทธิ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 386 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9667/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความไม่กระทบสิทธิฟ้องอาญา หากไม่มีข้อตกลงสละสิทธิชัดเจน
ข้อความตามบันทึกระบุได้ความว่า จำเลยนำเหรียญหลวงพ่อคูณมาขายให้โจทก์ร่วมหลายครั้ง เป็นเงิน 1,030,000 บาท ซึ่งปรากฏว่าเป็นเหรียญปลอม ทำเลียนแบบ จำเลยยอมรับที่จะนำเงินมาคืนโจทก์ร่วมเป็นเงิน 1,030,000 บาท โดยจะผ่อนชำระให้เดือนละ 50,000 บาท ทุกเดือน เริ่มงวดแรกวันที่ 2 ธันวาคม 2552 เป็นต้นไป จนกว่าจะผ่อนหมด หากจำเลยผิดเงื่อนไขไม่ว่างวดใดงวดหนึ่ง ยินยอมให้โจทก์ร่วมดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาได้ทันที เมื่อไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่า โจทก์ร่วมตกลงระงับข้อพิพาทหรือสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทั้งสอง จึงมิใช่การยอมความ แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่า จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คฉบับละ 50,000 บาท อีก 14 ฉบับ รวมเป็นเงิน 700,000 บาท ให้โจทก์ร่วม เพื่อชำระเงินตามบันทึก ส่วนที่เหลืออีก 280,000 บาท จะชำระเป็นเงินสด เมื่อเช็คถึงกำหนด โจทก์ร่วมนำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ร่วมแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในเช็ค 2 ฉบับ ต่อมาพนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยต่อศาลแขวงพระนครใต้ โดยโจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์ และศาลแขวงพระนครใต้มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 แล้ว ส่วนเช็คฉบับอื่น เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแล้ว โจทก์ร่วมจึงไปแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คทั้ง 14 ฉบับให้โจทก์ร่วมนั้น เป็นการสั่งจ่ายเช็คเพื่อผ่อนชำระหนี้ตามที่ตกลงในบันทึกเท่านั้น ทั้งเช็ค 14 ฉบับก็ไม่ได้ชำระหนี้ทั้งหมด ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมสละสิทธิหรือไม่ยึดถือสิทธิใดๆ รวมทั้งสิทธิที่จะดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงด้วย พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 และโจทก์ร่วมดังกล่าวเป็นเพียงการชำระหนี้ในทางแพ่งตามข้อตกลงในบันทึกเท่านั้น ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความกันอันทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4075/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สละสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน: ผลของการทำบันทึกตกลงและสัญญาประนีประนอมยอมความ
โจทก์ที่ 1 ลงลายมือในเอกสารโดยรู้อยู่แล้วว่าข้อความในเอกสารมีความหมายเช่นไร เมื่อข้อความในเอกสารมีข้อความชัดแจ้งว่าโจทก์ที่ 1 ขอสละสิทธิในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 1 จึงหาอาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในค่าสินไหมทดแทนได้ไม่ จำเลยที่ 2 แม้จะเป็นผู้รับประกันภัยในรถจักรยานยนต์ที่บุตรของโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ขับ ซึ่งจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 ตามกรมธรรม์ประกันภัย แต่เนื่องจากโจทก์ที่ 1 ได้ทำบันทึกขอสละสิทธิในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 1 และทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับ จ. ผู้ละเมิด เป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 ในการใช้สิทธิไล่เบี้ยเอากับจำเลยที่ 1 หรือ จ. โจทก์ที่ 1 จึงหามีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในค่าสินไหมทดแทนได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2330/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อ: การสละสิทธิ การเลิกสัญญากันโดยปริยาย และผลของการยึดทรัพย์
สัญญาเช่าซื้อข้อ 12 กำหนดว่า หากผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่งก็ดี ผู้เช่าซื้อยินยอมให้ผู้ให้เช่าซื้อได้กลับเข้าครอบครองทรัพย์ที่เช่าซื้อและ/หรือบอกเลิกสัญญาได้ทันที ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อในงวดที่ 2 โจทก์จึงมีสิทธิดำเนินการตามข้อสัญญาดังกล่าว แต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์รับชำระค่าเช่าซื้อในงวดที่ 3 และงวดที่ 4 แสดงว่าโจทก์สละสิทธิตามข้อสัญญานี้ หนังสือแจ้งให้ชำระหนี้ไม่ถือเป็นหนังสือบอกเลิกสัญญา และยังไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้บอกเลิกสัญญา ดังนั้น สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังมีผลผูกพันอยู่ การที่ ช. ผู้รับจ้างในการติดตามรถที่เช่าซื้อรถของโจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโดยจำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้ง พฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยายในวันที่ยึดรถที่เช่าซื้อคืน คู่สัญญาจึงไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาอีกต่อไป โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อจะฟ้องเรียกค่าขาดราคาส่วนที่ขายทรัพย์ที่เช่าซื้อไป หรือราคาทรัพย์ที่เช่าซื้อส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาข้อ 15 ซึ่งระงับไปแล้วไม่ได้ แม้จำเลยทั้งสี่จะมิได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
อนึ่ง คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 50,987.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยทั้งสี่ชำระเงิน 260,987.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้อง จำเลยทั้งสี่ฎีกาขอให้พิพากษาตามศาลชั้นต้น ทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาจึงต้องหักต้นเงิน 50,987.20 บาท ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ชำระแก่โจทก์ออก ที่จำเลยทั้งสี่ชำระค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาในทุนทรัพย์ 260,987.20 บาท เป็นการชำระค่าขึ้นศาลเกินมา ให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินมาแก่จำเลยทั้งสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1774/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสละอายุความมรดก: การกระทำของผู้จัดการมรดกแสดงเจตนาสละสิทธิในการเรียกร้องอายุความ
ภายหลังจาก ห. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ส. สามีโดยชอบด้วยกฎหมายของ ห. พูดคุยกับ จ. ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ห. ว่า เกี่ยวกับทรัพย์มรดกของ ห. ให้จัดการทำบุญให้เรียบร้อยเสียก่อน หลังจากนั้น จ. ไปหา ส. ปีละ 3 ถึง 4 ครั้ง แต่ละครั้ง ส. ได้มอบข้าวสารแก่ จ. และก่อน ส. ถึงแก่ความตาย ส. บอกแก่ จ. ว่า หาก ส. ถึงแก่ความตายแล้ว ให้ จ. จัดการเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของ ห. ได้ ข้อเท็จจริงยังได้ความต่อไปว่า จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ดำเนินการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 11467 ให้จำเลยเฉพาะส่วนของ ส. ในส่วนที่ดินพิพาทยังเป็นชื่อของ ห. เช่นเดิม แสดงว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ยอมรับสิทธิในการรับมรดกที่ดินพิพาทของทายาทของ ห. นอกจากนี้ หลังจากฟ้องคดีนี้ ทายาทบางส่วนของ ส. ทำหนังสือมอบอำนาจมีเนื้อความทำนองให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทแก่ทายาทของ ห. ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า ส. และจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกซึ่งเป็นตัวแทนทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ส. สละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 แล้ว จำเลยไม่อาจยกอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ห. ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10008/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากอุบัติเหตุทางรถยนต์: สัญญาประนีประนอมยอมความเป็นผลระงับหนี้
จำเลยที่ 1 ผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขับรถจักรยานยนต์ โดยประมาทเฉี่ยวชนรถยนต์ที่มี อ. เป็นคนขับและเอาประกันภัยไว้กับโจทก์เป็นเหตุให้รถยนต์ได้รับความเสียหาย หลังเกิดเหตุ อ. และจำเลยที่ 1 ไปพบพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจและทำบันทึกเกี่ยวกับรถเฉี่ยวกันมีข้อความส่วนที่เป็นสาระสำคัญว่า "อ. ไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายจาก ป. (ป. คือจำเลยที่ 1) แต่อย่างใด" ซึ่งข้อความดังกล่าวมีความหมายชัดเจนในตัว เมื่อพิจารณาประกอบพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น ปรากฏว่า อ. ทราบก่อนทำเอกสารแล้วว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายขับรถประมาทและเป็นฝ่ายกระทำละเมิดซึ่งต้องรับผิดในเรื่องค่าเสียหาย แต่ อ.ยังคงตกลงยินยอมที่จะไม่เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนใด ๆ จากจำเลยที่ 1 และลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน เช่นนี้เป็นการสละสิทธิเรียกร้องเพื่อระงับข้อพิพาทให้เสร็จไปโดยยอมผ่อนผันให้แก่กัน เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 ซึ่งเป็นผลให้มูลหนี้ละเมิดจากการที่รถเฉี่ยวชนกันระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 โจทก์ไม่อาจรับช่วงสิทธิของ อ. ผู้เอาประกันภัยที่จะเรียกร้องค่าเสียหายรถเฉี่ยวชนกันจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10008/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ถือเป็นการระงับหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
จำเลยที่ 1 ผู้เยาว์บุตรจำเลยที่ 2 ที่ 3 ขับรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนรถยนต์ที่ อ. ขับซึ่งเอาประกันภัยไว้กับโจทก์ เป็นเหตุให้รถยนต์ได้รับความเสียหาย พนักงานสอบสวนทำบันทึกตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีว่า อ. ไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด โดยคู่กรณีลงลายมือชื่อเป็นหลักฐาน จึงเป็นการระงับข้อพิพาทให้เสร็จไป มีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 เป็นผลให้ อ. ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ได้อีก ที่โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายให้ อ. เป็นการปฏิบัติตามข้อสัญญาในกรมธรรม์ประกันภัย ข้อสัญญาในกรมธรรม์ประกันภัยไม่ได้จำกัดสิทธิ์ อ. หรือผู้เสียหายที่จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยเนื่องจากมูลหนี้ละเมิดระงับไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10347/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีประกันภัยและการสละสิทธิในการเสนอข้อพิพาทเข้าอนุญาโตตุลาการ
กรมธรรม์ข้อ 9 ที่ระบุว่า "ถ้ามีการขัดแย้งเกิดขึ้นภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยนี้ คู่กรณีจะเสนอให้นำข้อขัดแย้งดังกล่าวให้อนุญาโตตุลาการคนหนึ่ง ซึ่งคู่กรณีแต่งตั้งขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นผู้วินิจฉัย หรือถ้าคู่กรณีไม่สามารถตกลงเลือกบุคคลเดียวกันภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ถูกคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดร้องขอเป็นลายลักษณ์อักษร อาจจะเสนอให้แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการสองคน ฝ่ายละ 1 คน เป็นผู้วินิจฉัย ในกรณีที่อนุญาโตตุลาการสองคนตกลงกันไม่ได้ ให้อนุญาโตตุลาการตั้งผู้ชี้ขาดเป็นลายลักษณ์อักษรทำการชี้ขาด" หาใช่เป็นการบังคับให้คู่กรณีจำต้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อนเสมอไปไม่ แต่มีความหมายไปในทางให้โอกาสคู่กรณีฝ่ายหนึ่งเสนอต่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งให้นำข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด หากจำเลยที่ 1 มีความจริงใจให้มีการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อน จำเลยที่ 1 น่าจะให้การต่อสู้ในเรื่องนี้ไว้หรือยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้โจทก์และจำเลยทั้งสามไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก่อนเสียตั้งแต่เนิ่น ๆ หาใช่เพิ่งยื่นคำร้องกล่าวอ้างเรื่องนี้ขึ้น หลังจากจำเลยทั้งสามยื่นคำให้การนานถึง 6 ปีเศษ พฤติกรรมของจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 สละสิทธิที่จะหยิบยกข้อ 9 แห่งเงื่อนไขทั่วไปดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างแล้ว
ม. ผู้เอาประกันภัยชกต่อยกับ ธ. ยุติไปก่อนที่ ธ. นำอาวุธปืนมายิง ม. ฟังไม่ได้ว่า ม. เสียชีวิตขณะเข้าร่วมทะเลาะวิวาทหรือมีส่วนยั่วยุให้เกิดการทะเลาะวิวาท จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามกรมธรรม์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4791/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสละสิทธิค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรขัดต่อกฎหมาย และการแก้ไขจำนวนค่าอุปการะเลี้ยงดูตามฐานะทางการเงินที่เปลี่ยนแปลง
การที่โจทก์กับจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันไว้ตามบันทึกข้อตกลงในสำเนารายงานประจำวัน ระบุว่า โจทก์จะไม่เรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยอีกนั้น ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นการสละสิทธิที่จะเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ซึ่งขัดต่อบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1598/41 ข้อตกลงในส่วนนี้จึงใช้บังคับมิได้ จำเลยยังคงมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์ จึงต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2165/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาสิ้นสุด-ค่าแห่งการงาน: สละสิทธิเรียกร้องได้จากการตกลงในสัญญา
แม้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม บัญญัติรับรองสิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องค่าแห่งการงานที่โจทก์ทำให้จำเลย แต่ตามสัญญาตัวแทนประกันชีวิตระหว่างโจทก์กับจำเลยมีข้อความว่า เมื่อสัญญาตัวแทนประกันชีวิตสิ้นสุดลงจำเลยมีสิทธิงดจ่ายค่าจ้างหรือประโยชน์อื่นใดแก่โจทก์ แสดงให้เห็นว่าโจทก์ยอมสละสิทธิเรียกร้องค่าแห่งการงานที่โจทก์มีต่อจำเลย โจทก์จึงไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องค่าแห่งการงานที่โจทก์ทำให้แก่จำเลยก่อนสัญญาตัวแทนประกันชีวิตสิ้นสุดลงได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1368/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความกับการสละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
โจทก์สมัครใจลงลายมือชื่อในช่องผู้รับเงินในใบรับเงินที่มีข้อความว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์และได้จ่ายเงินเดือน ค่าเสียหายแทนการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า กับค่าชดเชย ซึ่งโจทก์ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวเรียบร้อยแล้วและไม่ติดใจเรียกร้องสิทธิประโยชน์ใดจากจำเลยอีก ใบรับเงินฉบับนี้มีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ มีผลผูกพันโจทก์ว่าหลังจากโจทก์ได้รับเงินทั้งสามจำนวนอันเป็นเงินตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานแล้ว โจทก์สละสิทธิที่จะเรียกเงินอื่นใดตามกฎหมายซึ่งมีความหมายรวมทั้งค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมอันไม่ใช่เงินตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานที่เป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจากจำเลย
of 39