คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ผู้รับโอน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 363 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3188/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิหน้าที่ค่าส่วนกลางหมู่บ้าน: ผู้รับโอนไม่ผูกพันหนี้เดิมของเจ้าของเดิม
พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบในชำระค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคและลงโทษผู้มีหนี้ที่ชำระแต่ชำระเงินดังกล่าวล่าช้าเฉพาะสมาชิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรในขณะที่เกิดค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากสาธารณูปโภคดังกล่าวอย่างแท้จริงเท่านั้น โดยไม่ได้บัญญัติให้รวมไปถึงผู้รับโอนที่ดินต่อมาจากเจ้าของเดิมที่เป็นสมาชิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรให้รับผิดในค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคอันเกิดก่อนที่จะได้รับโอนหรือเข้าครอบครองที่ดิน และไม่มีบทบัญญัติใดบังคับให้พนักงานเจ้าหน้าที่จะจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมได้เมื่อที่ดินดังกล่าวปลอดจากหนี้อันเกิดจากค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคโดยต้องมีหนังสือรับรองการปลอดหนี้จากนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรมาแสดง เมื่อเงินค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคเกิดขึ้นก่อนโจทก์เข้าเป็นสมาชิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร โจทก์ไม่มีหน้าที่ที่ต้องชำระเงินค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคที่เกิดขึ้นก่อนที่โจทก์รับโอนที่ดินมา จำเลยที่ 1 ผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภค ย่อมเรียกเอาจากเจ้าของที่ดินคนเดิมในขณะเกิดหนี้ได้โดยตรง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5226/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับจำนองต้องแจ้งลูกหนี้ก่อน และศาลไม่อาจบังคับให้ผู้รับโอนไถ่ถอนจำนอง
โจทก์มิได้ฟ้องบริษัท อ. ลูกหนี้ผู้กู้ยืมเงินเป็นจำเลย และแม้โจทก์จะฟ้อง ช. เป็นจำเลยที่ 1 แต่โจทก์ก็ฟ้องในฐานะที่ ช. เป็นทายาทโดยธรรมของ ส. ผู้ค้ำประกันและผู้จำนองอีกคนหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้ฟ้อง ช. เป็นจำเลยในฐานะผู้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 82147 เมื่อผู้รับจำนองประสงค์จะบังคับจำนองเอาแก่ทรัพย์สินซึ่งจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 735 ผู้รับจำนองต้องบอกกล่าวให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนด้วยตามเงื่อนไขใน ป.พ.พ. มาตรา 728 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์มิได้บอกกล่าวไปยังบริษัท อ. ลูกหนี้ก่อนด้วยว่าให้ชำระหนี้ โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2 เพื่อบังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 82147 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1665/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนการให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเนื่องจากผู้รับโอนมีพฤติกรรมลักทรัพย์และหมิ่นประมาทผู้ให้
แม้โจทก์มีโจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเพียงปากเดียวที่เบิกความว่า จำเลยด่าทอโจทก์และไล่โจทก์ออกจากบ้าน ไม่มีพยานโจทก์ปากอื่นเบิกความสนับสนุนก็ตาม ซึ่งจำเลยก็นำสืบปฏิเสธว่าไม่ได้ด่าทอโจทก์ตามที่โจทก์กล่าวอ้างและไม่ได้ไล่โจทก์ออกจากบ้าน ทำให้ต้องวินิจฉัยว่าคำเบิกความฝ่ายใดจะมีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากกว่ากัน เมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์เริ่มแรก ก่อนที่จำเลยจะเข้ามาเป็นบุตรบุญธรรมของโจทก์ โจทก์เบิกความว่าก่อนที่โจทก์จะจดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรม โจทก์และ พ. เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ม. เป็นเวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์ มี ส. และ ท. พ่อตาแม่ยายของจำเลยมาเฝ้าดูแล และพาไปโรงพยาบาล จนเกิดความสนิทสนมคุ้นเคยกันจนกระทั่งโจทก์จดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรม ทำให้เห็นว่าจำเลยและครอบครัวทางภริยาพยายามเข้ามาช่วยเหลือเกื้อกูลโจทก์และ พ. น้องสาวโจทก์เป็นพิเศษ ทั้งที่ไม่ได้เป็นเครือญาติกัน จึงเป็นเรื่องผิดวิสัยที่บุคคลภายนอกจะเข้ามาดูแลเอาใจใส่พาโจทก์และ พ. ไปโรงพยาบาล ให้ที่พักอาศัยพาไปทำบุญและท่องเที่ยวตามที่ต่าง ๆ แต่ตามข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยนำสืบรับกันว่า ทั้งโจทก์และ พ. น้องสาวโจทก์ต่างเป็นหญิงชรา โจทก์มีโรคประจำตัวหลายโรคทั้งเบาหวาน และความดัน ส่วน พ. ป่วยด้วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ติดเชื้อในกระแสเลือด และเป็นผู้ป่วยติดเตียงต้องการผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด เมื่อโจทก์และ พ. มีทรัพย์สินและเงินฝากในบัญชีธนาคารมูลค่าไม่ใช่น้อยจึงเป็นเรื่องที่น่าสงสัยในการกระทำของจำเลยและครอบครัวว่ากระทำด้วยความสุจริตหรือไม่ ซึ่งต่อมาโจทก์จดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรม และทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินที่เป็นที่ดินและเงินสดให้แก่จำเลย แต่โจทก์ก็ยังเป็นห่วงจำเลยว่าเครือญาติของโจทก์จะมีเรื่องทรัพย์สินพิพาทกับจำเลย จึงจดทะเบียนยกที่ดินทั้งสามแปลงพิพาทให้แก่จำเลย แสดงว่าโจทก์ย่อมรักไว้ใจและผูกพันจำเลยเสมือนบุตรและหวังฝากผีฝากไข้ไว้กับจำเลย ต่อมาเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2560 โจทก์ได้รับเงินประกันชีวิต 4,770,000 บาท และนำไปฝากไว้ที่ธนาคาร ก. ปรากฏว่าในวันเดียวกันมีการถอนเงินออกไป 2,700,000 บาท และเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2560 มีการถอนเงินออกจากบัญชีดังกล่าวอีก 2,010,000 บาท โจทก์เบิกความว่าไม่ได้เป็นผู้เบิกถอน ซึ่งจำเลยนำสืบรับว่า เงินที่ถอน 2,700,000 บาท โจทก์ยกให้จำเลยนำไปชำระหนี้ส่วนตัวของจำเลยและภริยา ส่วนเงินที่ถอน 2,010,000 บาท โจทก์ให้นำไปใช้ในครอบครัวและดูแลความเป็นอยู่ของโจทก์ แม้ให้การไม่สอดคล้องกัน แต่ก็ทำให้เห็นว่าจำเลยได้รับประโยชน์จากการที่ดูแลโจทก์เพียงไม่กี่เดือน นับแต่ที่โจทก์รับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมและจำเลยพาโจทก์มาพักอาศัยอยู่ด้วยกัน หลังจากที่โจทก์ย้ายออกมาจากบ้านพ่อตาแม่ยายของจำเลยแล้ว ปรากฏว่าโจทก์ตรวจสอบบัญชีเงินฝากจึงทราบว่าเหลือยอดเงินฝากเพียง 68.03 บาท โจทก์จึงไปแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาลักทรัพย์ และพนักงานอัยการจังหวัดมหาสารคามยื่นฟ้องจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ และความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้อง แสดงว่าจำเลยมีพฤติการณ์ที่ลักเงินฝากในบัญชีธนาคารของโจทก์ไปโดยใช้บัตรกดเงินสด (บัตรเอทีเอ็ม) รวม 37 ครั้ง และลักเงินสด รวมยอดเงินที่จำเลยลักไปในคดีดังกล่าว 560,504 บาท ในระหว่างวันที่ 2 ตุลาคม 2560 ถึงวันที่ 27 ตุลาคม 2561 ช่วงที่โจทก์พักอาศัยอยู่กับจำเลย ทำให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้มีเจตนาสุจริตที่รับเลี้ยงดูแลโจทก์ดังที่จำเลยนำสืบ แต่การกระทำของจำเลยแฝงไว้ด้วยเล่ห์เพทุบายในการหลอกล่อเอาทรัพย์สินของโจทก์ไปโดยทุจริต จนเงินฝากในบัญชีธนาคารของโจทก์เหลือเพียง 68.03 บาท และโจทก์ยกที่ดินทั้งสามแปลงพิพาทให้เป็นของจำเลยแล้วจนโจทก์แทบไม่มีทรัพย์สินเหลืออยู่ พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยด่าทอโจทก์ด้วยถ้อยคำตามที่โจทก์กล่าวอ้างจริง และไล่โจทก์ออกจากบ้าน เมื่อพิเคราะห์ถ้อยคำที่จำเลยด่าทอโจทก์ที่ว่า "ไม่มีศีลธรรม ไม่ยุติธรรม ไม่รักลูก เงินแค่นี้ก็ทวง จะไปตายที่ไหนก็ไป หน้าด้านหน้ามึนอยู่ทำไม" กับการที่โจทก์จดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมโจทก์ก็เปรียบเสมือนเป็นมารดาของจำเลยคนหนึ่ง จำเลยย่อมต้องให้ความเคารพและยกย่องเชิดชูโจทก์ คำว่า "ไม่มีศีลธรรม ไม่ยุติธรรม" เป็นการกล่าวหาโจทก์ว่า ไม่รู้จักชอบชั่วดี ไม่ให้ความเป็นธรรมแก่จำเลย ทำให้ถูกคนอื่นเกลียดชัง เสียชื่อเสียง ส่วนคำว่า "หน้าด้านหน้ามึนอยู่ทำไม" แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่มีความละอายแก่ใจที่มาอาศัยอยู่กับจำเลยและครอบครัว อันเป็นถ้อยคำที่ไร้ความเคารพนับถือ เป็นการลบหลู่เหยียดหยาม อกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ถือได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง จึงเป็นเหตุให้โจทก์เรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2)
of 37