คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ไม่สุจริต

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 369 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 137/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสมคบเพื่อขอเฉลี่ยทรัพย์โดยไม่สุจริต ถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่ชอบ ศาลยกคำร้อง
ผู้ร้องฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งและทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเพื่อจะให้ผู้ร้องเข้ามาขอเฉลี่ยทรัพย์ เป็นการสมคบกับจำเลยเพื่อจะมิให้มีการนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยไปชำระหนี้ให้โจทก์ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ศาลยกคำร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10633/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนนิติกรรมขายฝากสินสมรสโดยไม่สุจริต และประเภทคดีที่ต้องเสียค่าขึ้นศาล
โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ซึ่งเป็นคู่สมรส นิติกรรมการขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) และเมื่อจำเลยที่ 2 รับซื้อฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยไม่สุจริต โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้ทั้งหมดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นสินสมรสคืนให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นการฟ้องเรียกเอาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาเป็นของโจทก์ด้วย หากโจทก์ชนะคดีย่อมได้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างคืน จึงเป็นคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนของโจทก์ หากโจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิกถอนทั้งหมด และศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้เพิกถอนนิติกรรมทั้งหมด โจทก์ย่อมได้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดคืนมา จึงเป็นคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 588/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อที่ดินจากการบังคับคดีโดยไม่สุจริต และการครอบครองปรปักษ์ ผู้ซื้อไม่มีอำนาจขับไล่ผู้ครอบครองเดิม
คดีนี้พฤติการณ์ของผู้ร้องและโจทก์มีพิรุธน่าสงสัย เชื่อว่าผู้ร้องมีส่วนรู้เห็นในการตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1440/2548 ของศาลจังหวัดจันทบุรี และบังคับคดียึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ข.) เลขที่ 611 ของจำเลยออกขายทอดตลาดโดยให้ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อและบังคับขับไล่ผู้คัดค้านออกจากที่ดิน ทั้งที่โจทก์ทราบดีว่าผู้คัดค้านปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัยบนที่ดินพิพาทและมีรั้วกำแพงล้อมรอบมานาน 20 ปีเศษแล้ว ผู้ร้องอ้างว่า ผู้ร้องทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ข.) เลขที่ 611 จากจำเลยเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2545 ในราคา 800,000 บาท ได้ชำระราคาที่ดินให้แก่จำเลยครบถ้วนแล้ว โดยจำเลยได้มอบต้นฉบับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่ผู้ร้องแล้วตั้งแต่ปี 2546 หากจำเลยไม่จดทะเบียนโอนสิทธิการครอบครองที่ดินให้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าว ผู้ร้องย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาได้ แต่ผู้ร้องมิได้ใช้สิทธิฟ้อง กลับมาประมูลซื้อที่ดินของจำเลยจากการขายทอดตลาดซึ่งต้องใช้เงินเพิ่มอีก 3,100,000 บาท อันมิใช่วิสัยของบุคคลทั่วไป ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ผู้ร้องซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดโดยไม่สุจริต ผู้ร้องจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องเพื่อให้ออกคำบังคับผู้คัดค้านและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ตรี (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5686/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนการซื้อขายที่ดินจากเจตนาลวง และอายุความฟ้องเพิกถอนเมื่อผู้ซื้อไม่สุจริต
การฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 อันจะต้องตกอยู่ในบังคับแห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 กรณีต้องเป็นเรื่องที่ลูกหนี้เป็นเจ้าของทรัพย์มีอำนาจทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์นั้น อันเป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นที่ยุติว่า นิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่าง ส. ผู้ขาย กับจำเลยที่ 1 ผู้ซื้อ เกิดจากเจตนาลวงตกเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาทและไม่มีอำนาจขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 กรณีจึงไม่ใช่เป็นการฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 ไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องฟ้องภายในอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 แม้ขณะที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินแก่จำเลยที่ 2 ในคดีแพ่ง หมายเลขแดงที่ 1061/2556 ศาลฎีกายังไม่ได้พิพากษาเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่าง ส. กับจำเลยก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 2 รับโอนโดยไม่สุจริต จึงไม่ได้รับการคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงยังไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4009/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลาออกที่ไม่สุจริตเพื่อหลีกเลี่ยงผลจากการทุจริตทางการเงิน ทำให้ขาดอำนาจฟ้องร้องเรียกประโยชน์จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
แม้การที่โจทก์แสดงความประสงค์ลาออกจากงานต่อจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2557 โดยให้มีผลวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 เป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งการเลิกสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลานั้นลูกจ้างมีสิทธิแสดงเจตนาได้แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่จำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งยินยอมตกลงหรืออนุมัติก็ตาม แต่ในระหว่างระยะเวลาที่สัญญาจ้างแรงงานยังมีผลบังคับอยู่นั้น นายจ้างและลูกจ้างยังคงมีนิติสัมพันธ์ต่อกันจนกว่าสัญญาจ้างแรงงานจะสิ้นผล คดีนี้ในระหว่างระยะเวลาที่สัญญาจ้างแรงงานยังมีผลบังคับอยู่นั้น จำเลยที่ 1 ตรวจพบการกระทำความผิดของโจทก์และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ในที่สุดจำเลยที่ 1 มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชยหรือผลประโยชน์อื่นใดเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2557 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2557 ซึ่งตรงกับข้อเท็จจริงดังที่ศาลแรงงานกลางฟังยุติมาว่าโจทก์ได้รับเงินจากผู้เอาประกันภัยแล้วไม่นำเงินเข้าฝากบัญชีของจำเลยที่ 1 และไม่ได้นำเงินมามอบให้แก่จำเลยที่ 1 ตามระเบียบคู่มือการปฏิบัติงานของฝ่ายการเงินของจำเลยที่ 1 ทำให้เงินของจำเลยที่ 1 ขาดหายไป เป็นการประพฤติผิดอย่างร้ายแรงขัดต่อระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 1 การที่โจทก์ลาออกโดยให้มีผลเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 แสดงให้เห็นได้ว่าโจทก์คาดหมายได้ว่าจำเลยที่ 1 อาจตรวจพบการกระทำความผิดของโจทก์และหากคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้สอบสวนเสร็จจำเลยที่ 1 อาจมีคำสั่งลงโทษโจทก์ด้วยการไล่ออกหรือเลิกจ้างได้ แต่โจทก์ยังคงชิงลาออกเสียก่อนตามที่ได้แจ้งความประสงค์ไว้ ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 มีหนังสือลงวันที่ 30 มกราคม 2558 ขอให้โจทก์ชำระค่าเสียหาย หลังจากนั้นโจทก์จึงได้นำคดีมาฟ้องอ้างว่าตนได้ลาออกจากการทำงานกับจำเลยที่ 1 ทั้งนี้เท่ากับอ้างเพื่อให้ศาลแรงงานกลางเห็นว่าการเลิกจ้างของจำเลยที่ 1 ไม่ชอบเพื่อมาเรียกร้องสิทธิในเงินสมทบพร้อมผลประโยชน์จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พฤติการณ์ทั้งหลายของโจทก์ส่อให้เห็นถึงความไม่สุจริตในการลาออกเพื่อที่จะแสวงหาประโยชน์จากการลาออกเนื่องจากหากโจทก์ถูกเลิกจ้างหรือไล่ออกเพราะเหตุทุจริตย่อมทำให้โจทก์เสียสิทธิที่จะได้รับเงินสมทบจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือสิทธิประโยชน์อื่นที่อาจจะได้รับตามกฎหมาย จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายและขัดต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมาย แม้จำเลยที่ 1 จะมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์หลังจากโจทก์ลาออก แต่โจทก์อาศัยเหตุลาออกดังกล่าวมาเป็นมูลฟ้องร้องคดีนี้เพื่อให้ตนได้รับสิทธิประโยชน์ตามฟ้องอันเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตเช่นนี้ ย่อมเป็นการไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์จึงไม่อาจอ้างเหตุจากการลาออกโดยไม่สุจริตเพื่อให้ตนได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากการลาออกและให้จำเลยที่ 2 ใช้เงินตามฟ้องแก่โจทก์ได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเกี่ยวกับการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2524/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท การบังคับจำนองโดยไม่สุจริต และผลกระทบต่อการขายทอดตลาด
ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องว่า การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างมารดาของผู้ร้องทั้งสองกับจำเลยที่ 2 ไม่อาจใช้ยันผู้ร้องทั้งสองในฐานะผู้มีสิทธิครอบครองได้ โจทก์รับจำนองที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริตเพราะรู้อยู่ว่าผู้ร้องทั้งสองเป็นเจ้าของในที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้าง โจทก์จึงไม่อาจอ้างสิทธิบังคับจำนองขายทอดตลาดและซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจากการขายทอดตลาดได้ ดังนี้ ตามคำร้องของผู้ร้องทั้งสองเป็นการกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 2 หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ ทรัพย์สินหรือที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องทั้งสอง และการที่ผู้ร้องทั้งสองขอให้ศาลมีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องทั้งสองนั้น ก็มีความมุ่งหมายเพื่อได้รับผลที่จะให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปล่อยทรัพย์สินที่ยึดคืนให้แก่ผู้ร้องทั้งสองนั่นเอง จึงเป็นกรณีต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 288 ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในเรื่องขัดทรัพย์ ซึ่งกำหนดให้ผู้ร้องทั้งสองต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนเอาทรัพย์ที่ยึดออกขายทอดตลาด กรณีตามคำร้องของผู้ร้องทั้งสองมิใช่เป็นการยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 309 ตรี ประกอบมาตรา 296 จัตวา ที่จะทำให้ผู้ร้องทั้งสองมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลภายหลังจากที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดไว้ได้แต่อย่างไร เมื่อปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทที่ยึดไว้ไปก่อนแล้ว ผู้ร้องทั้งสองจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องเข้ามาในคดีนี้ และปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3857/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนการขายฝากที่ดินเนื่องจากผู้ซื้อรู้ถึงข้อพิพาทและกระทำการโดยไม่สุจริต
โจทก์ซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ 2 เป็นผู้ซื้อที่ดินและอาคารพาณิชย์พิพาท โดยให้จำเลยที่ 2 ลงชื่อถือกรรมสิทธิ์แทน แม้โจทก์เป็นคนต่างด้าว แต่ ป.ที่ดิน มิได้ห้ามคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยเด็ดขาด เป็นแต่เพียงต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและวิธีการซึ่งกำหนดโดยกฎกระทรวงและต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตาม ป.ที่ดิน มาตรา 86 วรรคสอง เท่านั้น และในกรณีที่คนต่างด้าวได้ที่ดินมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายให้คนต่างด้าวนั้นจัดการจำหน่ายภายในเวลาที่อธิบดีกำหนดให้ ถ้าไม่จำหน่ายที่ดินภายในเวลาที่กำหนด ให้อธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้นตามมาตรา 94 ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นคนต่างด้าวสามารถมีสิทธิในที่ดินได้ การที่จำเลยที่ 2 นำที่ดินและอาคารพาณิชย์ของโจทก์ไปขายฝากให้แก่จำเลยที่ 1 โดยพลการ ถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 และแม้ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์มิได้ขอให้โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารพาณิชย์พิพาทกับเรียกให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินและอาคารพาณิชย์พิพาทคืนแก่โจทก์ ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายอันจะมีสิทธิเรียกร้องให้กระทำได้ แต่ตามคำฟ้องของโจทก์แปลความได้ว่า โจทก์ฟ้องเรียกเอาทรัพย์สินคืน ซึ่งศาลมีอำนาจพิพากษาว่าที่ดินและอาคารพาณิชย์พิพาทเป็นของโจทก์ และบังคับให้โจทก์จำหน่ายที่ดินพิพาทให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยให้จำเลยที่ 2 ซึ่งมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ไปจดทะเบียนโอนจำหน่ายให้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 418/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หมิ่นประมาททางออนไลน์: การตั้งคำถามโดยไม่สุจริตถือเป็นการยืนยันข้อเท็จจริง
จำเลยโพสต์ในเพจองค์กรพลังชาวพุทธว่า "#ข่าวนี้จริงหรือไม่? มีมูลหรือเปล่า? สาเหตุแท้จริงเรื่องนี้มาจากอะไร? ทำไมท่านวันนอร์?? ถึงได้ทำแบบนี้? ท่านวันนอร์? จะชี้แจงสังคมอย่างไร? #สังคมไทยกำลังเคลือบแคลง?? และจำเลยตัดต่อข้อความลงบนรูปโจทก์มีข้อความว่า "จริงหรือไม่? วันนอร์นำทีมกลุ่มวาดะห์รับบริจาคเงินช่วยเหลือโจรใต้..." จำเลยโพสต์ในเพจองค์กรพลังชาวพุทธว่า "#มันแปลกดีนะ?? เป็นไปได้อย่างไร? ท่านวันนอร์!! มีบ้านใหญ่โตสุดหรู?? แต่อยู่อย่างปลอดภัย!! อยู่อย่างเป็นสุข!! โจรชั่วมุสลิม BRN!! ไม่เคยไปรบกวน?? เป็นเพราะอะไร? เป็นเพราะอะไร?" "#มันแปลกดีนะ!! เป็นเพราะอะไร? นายวันนอร์ปลอดภัย!! ตลอด 20 ปี?? ทหาร, พระ, ผู้บริสุทธิ์ตาย! เกือบหมื่นศพ? นายวันนอร์มีวิธีอย่างไร? ถึงปลอดภัย? #ไม่เคยมีข่าวถูกคุกคามสักครั้ง "#แปลกไหมครับ? เป็นไปได้อย่างไร? ใครอธิบายได้บ้าง? โจรชั่วกบฏมุสลิม Brn!! ก่อเหตุฆ่าพระ ทหารและผู้บริสุทธิ์ ฯลฯ เกือบหมื่นศพ!!.. มาเกือบ 20 ปี!! แต่ไม่เคยเกิดเหตุร้ายใดใดกับนายวันนอร์ ครอบครัวและบริวาร รวมทั้งทรัพย์สินเลยสักครั้ง?????...." เห็นว่า การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตาม ป.อ. มาตรา 328 นั้น ผู้กระทำความผิดต้องมีเจตนาใส่ความผู้อื่นในลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ด้วยการเผยแพร่ข้อความไปยังสาธารณชนหรือประชาชนทั่วไป และข้อความนั้นตามความรู้สึกของวิญญูชนโดยทั่วไปถึงขั้นทำให้ผู้อื่นนั้นน่าจะเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังได้ ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อความที่จำเลยโพสต์และข้อความที่จำเลยนำมาใส่บนรูปโจทก์ในเพจเฟซบุ๊กของจำเลยและองค์กรพลังชาวพุทธแล้ว ทำให้วิญญูชนโดยทั่วไปที่พบเห็นและอ่านแล้ว มีความรู้สึกหรือเข้าใจได้ว่า โจทก์เป็นคนไม่ดี เกี่ยวข้องกับขบวนการ BRN ซึ่งเป็นขบวนการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันส่งผลให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังได้ ลักษณะการใส่ความของจำเลยก็เป็นการโพสต์ข้อความซ้ำแล้วซ้ำอีก บ่งชี้ถึงเจตนาของจำเลยว่าเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงตามที่โพสต์ไป ที่จำเลยอ้างว่า การโพสต์ของจำเลยมีลักษณะเป็นการตั้งคำถามต่อโจทก์ ไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริง และเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม เห็นว่า แม้จำเลยจะเพิ่มข้อความว่า จริงหรือไม่ ในลักษณะเป็นคำถามก็ตาม พฤติการณ์เช่นนี้บ่งชี้ได้ว่า จำเลยตั้งคำถามโดยไม่สุจริตใจและมีเจตนาเพื่อจะหลีกเลี่ยงความผิดตาม ป.อ. มาตรา 328 จึงมิใช่กรณีไม่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงตามที่จำเลยต่อสู้ ส่วนเรื่องการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมนั้น เมื่อจำเลยได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับตัวโจทก์และต้องการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามที่จำเลยนำสืบ แต่จำเลยไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แน่นอนก่อนที่จะโพสต์ข้อความ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เคยสอบถามปัญหาดังกล่าวต่อโจทก์โดยตรงมาก่อน จำเลยก็ยังมีวิธีการที่จำเลยจะดำเนินการหรือร้องเรียนต่อหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบได้อีกหลากหลายวิธี โดยไม่มีเหตุที่จะต้องตั้งคำถามในลักษณะกล่าวหาใส่ร้ายโจทก์เช่นนี้ การกระทำของจำเลยเห็นได้ว่ามีเจตนาที่ต้องการประจานโจทก์ให้ได้รับความอับอายขายหน้า จึงเป็นการใส่ความโจทก์ในประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 328 หาใช่มีเจตนาเพียงต้องการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม อันจะทำให้จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) ไม่
อนึ่ง คดีนี้จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน แต่ศาลชั้นต้นรวมโทษทุกกระทงแล้วจึงลดโทษให้จำเลย แทนที่จะลดโทษแต่ละกระทงก่อนแล้วจึงรวมโทษ ย่อมเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากกว่าการลดโทษแต่ละกระทงเสียก่อนแล้วจึงรวมโทษเข้าด้วยกันตาม ป.อ. มาตรา 21 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1165/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายที่ดินจัดสรรที่เป็นที่ดินสาธารณูปโภคเป็นโมฆะ ผู้ซื้อไม่สุจริตต้องคืนที่ดิน
จำเลยร่วมที่ 1 ได้โฆษณาหรือให้คำรับรองแก่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรในโครงการว่าจะจัดให้มีสาธารณูปโภคหรือบริการสาธารณะบนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงในแผ่นพับโฆษณาและแผนผังโครงการ แม้จะมิได้มีการจดแจ้งให้ปรากฏในโฉนดที่ดินพิพาททั้งสองแปลงก็ไม่ทำให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงไม่เป็นที่ดินสำหรับสาธารณูปโภคหรือที่ดินที่ใช้เพื่อบริการสาธารณะโดยเปลี่ยนเป็นที่ดินสำหรับจัดสรรเพื่อขายไปได้ โดยถือว่าข้อความในแผ่นพับโฆษณาและแผนผังโครงการเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยร่วมที่ 1 กับผู้ซื้อที่ดินจัดสรรทุกรายตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 11 และถือว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงรวมทั้งสระว่ายน้ำและสวนหย่อมที่ได้จัดทำขึ้นแล้วบนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 65722 เป็นสาธารณูปโภคและตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 43 วรรคหนึ่ง
การที่ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 33 วรรคหนึ่ง ห้ามมิให้ผู้จัดสรรที่ดินทำนิติกรรมกับบุคคลใดอันก่อให้เกิดภาระผูกพันแก่ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคและที่ดินที่ใช้เพื่อบริการสาธารณะโดยพลการก็โดยวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันมิให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยมีเงื่อนไข ข้อจำกัดทำให้ไม่ได้รับความสะดวกในการใช้ สำหรับการโอนที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคหรือที่ดินที่ใช้เพื่อบริการสาธารณะไปยังบุคคลอื่นก็อาจทำให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรได้รับความเดือดร้อนเสียหายลักษณะเดียวกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรขึ้นแล้ว ผู้จัดสรรที่ดินก็ต้องดำเนินการโอนที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคให้แก่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 44 (1) (เดิม) หรือหากไม่มีการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ผู้จัดสรรที่ดินต้องเป็นผู้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อการบำรุงรักษาสาธารณูปโภคโดยได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดิน หรือผู้จัดสรรที่ดินต้องจดทะเบียนโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้เป็นสาธารณประโยชน์ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 44 (2) หรือ (3) (เดิม) ประการหนึ่งประการใด ดังนี้ การที่ผู้จัดสรรที่ดินโอนที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคหรือที่ดินที่ใช้เพื่อสาธารณะไปยังบุคคลอื่นจึงเป็นนิติกรรมที่ไม่อาจกระทำได้ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 33
การซื้อขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 65722 ระหว่างจำเลยร่วมที่ 1 กับจำเลยร่วมที่ 2 การขายฝากที่ดินแปลงดังกล่าวระหว่างจำเลยร่วมที่ 2 กับโจทก์ และการซื้อขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 65657 ระหว่างจำเลยร่วมที่ 1 กับโจทก์ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัดเพชรบุรี จึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150
จำเลยได้จดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรโดยชอบด้วย พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 แล้วจำเลยร่วมที่ 1 ในฐานะผู้จัดสรรที่ดินจึงต้องดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงอันเป็นสาธารณูปโภคให้แก่จำเลยไปจัดการและดูแลบำรุงรักษาตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 44 (1) (เดิม) โดยโจทก์ไม่มีสิทธิเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาททั้งสองแปลง
of 37