คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ค่าปรับ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 401 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3729/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักกลบลบหนี้หลังมีคำสั่งอายัด: สิทธิของผู้ร้องในการนำเงินค่าปรับไปชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1
เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสืออายัดเงินค่าปรับและเงินชดเชยงานก่อสร้างตามสัญญาแบบปรับราคาได้ (ค่า K) เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2542 โดยห้ามมิให้ผู้ร้องจำหน่ายจ่ายโอนเงินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 หรือบุคคลอื่นใด แต่ให้จัดส่งเงินดังกล่าวไปให้เจ้าพนักงานบังคับคดีภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือดังกล่าวหลังจากผู้ร้องได้รับหนังสือของเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ได้มีหนังสือหารือไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2543 และสำนักงานอัยการสูงสุดได้ตอบข้อหาลือลงวันที่ 26 มกราคม 2544 ว่า ผู้ร้องมีสิทธินำเงินค่าปรับที่จะต้องคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ไปชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระแก่ผู้ร้องได้โดยผู้ร้องต้องมีหนังสือแจ้งขอใช้สิทธิหักลบลบหนี้ไปยังจำเลยที่ 1 หากผู้ร้องไม่แจ้งการใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ก็จะต้องส่งเงินจำนวนดังกล่าวไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่ได้แจ้งอายัด ผู้ร้องจึงมีหนังสือลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2544 แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบถึงผลการหารือกับสำนักงานอัยการสูงสุด และแจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าปรับส่วนที่เหลือ ซึ่งถือได้ว่าผู้ร้องได้แสดงเจตนาหักกลบลบหนี้กับจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 และ 342 แล้ว แต่เนื่องจากผู้ร้องเพิ่งจะแสดงเจตนาหักกลบลบหนี้กับจำเลยที่ 1 หลังจากวันที่ผู้ร้องได้รับทราบคำสั่งอายัดจากเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะหักกลบลบหนี้ได้ เพราะเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามในคำสั่งอายัดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 311 วรรคสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1645/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ บอกเลิกสัญญา, การชำระเงินค้าง, ค่าปรับ, การกลับคืนสู่ฐานะเดิม, สิทธิการหักเงิน
เมื่อจำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้วจึงถือได้ว่าสัญญาว่าจ้างเป็นอันเลิกกันตั้งแต่วันที่บอกเลิกสัญญา เมื่อสัญญาเลิกกันแล้ว คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391
เมื่อจำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแทนการบังคับให้โจทก์ปฏิบัติตามสัญญากรณีไม่อาจบังคับให้โจทก์ชำระค่าปรับได้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิหักเงินค่าปรับในการทำงานเกินกำหนดจากจำนวนเงินที่จำเลยยังค้างชำระต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4899/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระค่าปรับทางอาญา: ศาลมีอำนาจบังคับชำระได้แม้คดีไม่ถึงที่สุดตามกฎหมาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับจำเลย จำเลยจะต้องชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นพิพากษาตาม ป.อ. มาตรา 29 จำเลยจะขอชำระค่าปรับเมื่อคดีถึงที่สุดแล้วตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคหนึ่ง หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4897/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีค่าปรับ: ศาลมีอำนาจกักขังแทนค่าปรับได้ทันทีหลังพิพากษา แม้คดียังไม่ถึงที่สุด
แม้ ป.วิ.อ.มาตรา 245 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อคดีถึงที่สุดแล้วให้บังคับคดีโดยไม่ชักช้าก็ตาม แต่ตาม ป.อ.มาตรา 29 วรรคแรก ได้บัญญัติถึงวิธีการบังคับชำระค่าปรับไว้โดยเฉพาะแล้ว โดยบัญญัติว่า ผู้ใดต้องโทษปรับ และไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ หรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ แต่ถ้าศาลเห็นเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ ศาลจะสั่งเรียกประกันหรือจะสั่งกักขังผู้นั้นแทนค่าปรับไปพลางก่อนก็ได้ และตาม ป.วิ.อ.มาตรา 188 บัญญัติว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ได้อ่านในศาลโดยเปิดเผยเป็นต้นไป ดังนั้น หากการบังคับชำระค่าปรับจะกระทำได้ต่อเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว กฎหมายย่อมบัญญัติไว้เช่นนั้นโดยตรง นอกจากนี้ ป.อ.มาตรา 29 วรรคแรก ได้บัญญัติถึงมาตรการชั่วคราวก่อนการบังคับชำระค่าปรับ ถ้าศาลเห็นเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ ศาลจะสั่งเรียกประกันหรือจะสั่งกักขังผู้นั้นแทนค่าปรับไปพลางก่อนก็ได้ จึงมีผลว่าศาลอาจมีคำสั่งให้กักขังแทนค่าปรับได้ทันทีตั้งแต่มีคำพิพากษา แต่การกักขังแทนค่าปรับไปพลางก่อนนั้นกฎหมายยังให้เวลาผู้ต้องโทษปรับจัดการให้ได้เงินมาชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา เมื่อครบกำหนดสามสิบวันแล้ว แม้จะมีอุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษานั้นก็ไม่เป็นเหตุขัดขวางการที่ศาลจะบังคับคดีไปตาม ป.อ.มาตรา 29

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4895/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าปรับบังคับคดีได้แม้คดีไม่ถึงที่สุด ตามป.อ. มาตรา 29
แม้ ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ให้บังคับคดีโดยไม่ชักช้าก็ตาม แต่ตาม ป.อ. มาตรา 29 วรรคแรก ได้บัญญัติถึงวิธีการบังคับชำระค่าปรับไว้โดยเฉพาะแล้ว โดยบัญญัติว่าผู้ใดต้องโทษปรับและไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ หรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ แต่ถ้าศาลเห็นเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ ศาลจะสั่งเรียกประกันหรือสั่งกักขังผู้นั้นแทนค่าปรับไปพลางก่อนก็ได้ และตาม ป.วิ.อ. มาตรา 188 บัญญัติว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ได้อ่านในศาลโดยเปิดเผยเป็นต้นไป จึงมีผลว่าศาลอาจมีคำสั่งให้กักขังแทนค่าปรับได้ทันทีตั้งแต่มีคำพิพากษา และกฎหมายให้เวลาผู้ต้องโทษปรับจัดการให้ได้เงินมาชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา เมื่อครบกำหนดสามสิบวันแล้วแม้จะมีการอุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษานั้นก็ไม่เป็นเหตุขัดขวางการที่ศาลจะบังคับคดี เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่าศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟังเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2546 จำเลยจะต้องชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นพิพากษา จำเลยจะขอชำระค่าปรับเมื่อคดีถึงที่สุดแล้วหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2561/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าปรับในสัญญาซื้อขาย: ศาลใช้ดุลพินิจลดค่าปรับหากสูงเกินส่วน และต้องพิสูจน์ความเสียหายจริง
โจทก์ทำสัญญาซื้อยางแอสฟัลต์ซีเมนต์จากจำเลยที่ 1 มีข้อตกลงว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบสินค้าดังกล่าวให้ถูกต้องตามสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาริบหลักประกันและในระหว่างที่ยังไม่บอกเลิกสัญญาจำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์ปรับเป็นรายวันอัตราร้อยละ 0.2 ของราคาสินค้าที่ยังไม่ส่งมอบนับแต่วันครบกำหนดส่งมอบถึงวันบอกเลิกสัญญา เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์ตามกำหนดในสัญญา โจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาในทันที แต่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 ส่งสินค้าและแจ้งสงวนสิทธิการเรียกค่าปรับ จำเลยที่ 1 มีหนังสือตอบรับยินยอมชำระค่าปรับตามสัญญา พฤติการณ์ถือได้ว่าความเสียหายพิเศษของโจทก์ในส่วนนี้ จำเลยที่ 1 ได้คาดเห็นแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 จำเลยที่ 1 จึงมีความผูกพันต้องชำระค่าปรับตามสัญญาเป็นรายวัน
โจทก์เป็นส่วนราชการจะได้รับความเสียหายจากงานของราชการไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการซึ่งเป็นค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษนั้น จะต้องเป็นเรื่องที่คู่ความได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 วรรคสอง และคู่กรณีจะต้องรับข้อเท็จจริงกันหรือนำพยานหลักฐานมาสืบให้ปรากฏ แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบให้ศาลเห็นว่าโจทก์เสียหายเป็นพิเศษอย่างไร จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องในส่วนนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4315/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคำนวณค่าปรับจากขนาดเรือประมงตามคำสั่ง คสช. แม้คำสั่งนั้นถูกยกเลิกไปแล้ว คดีอยู่ในระหว่างพิจารณา ศาลยังคงพิจารณาได้
คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 22/2560 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เพิ่มเติมครั้งที่ 4 สั่ง ณ วันที่ 4 เมษายน 2560 ได้กำหนดบทลงโทษปรับไว้ในข้อ 5 วรรคเก้า ในความผิดฐานเจ้าของเรือไม่นำเรือที่ใช้ทำการประมงมาให้คณะทำงานตรวจสอบและทำเครื่องหมายที่แสดงอัตลักษณ์เรือภายในกำหนดเวลาและสถานที่ที่กรมเจ้าท่าประกาศกำหนดไว้ โดยกำหนดโทษปรับหนึ่งหมื่นบาทสำหรับเรือที่มีขนาดไม่เกินสิบตันกรอส และปรับเพิ่มตามขนาดของเรือตันกรอสละสองพันบาท การลงโทษปรับตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นการปรับโดยคำนวณไปตามขนาดของเรือ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เรือที่ใช้ทำการประมงของจำเลยมีขนาดของเรือ 74.79 ตันกรอส ดังนั้น ขนาดของเรือ 0.79 ตันกรอส ในส่วนที่เกิน 74 ตันกรอส เป็นส่วนหนึ่งของขนาดเรือ จึงต้องนำมาคิดคำนวณค่าปรับดัวย มิใช่กรณีที่จะไม่นำมาคิดคำนวณเพราะขนาดของเรือในส่วน 0.79 ตันกรอส มีขนาดไม่ถึง 1 ตันกรอส ตามที่จำเลยอ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4189/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้ประกอบการหลอกลวงผู้บริโภค ศาลสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายและเรียกค่าปรับตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค
การที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องขอคืนเงินที่ผู้บริโภคเสียไปจากการถูกจำเลยทั้งสองหลอกลวงนั้น ถือได้ว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนอย่างหนึ่ง เพราะ ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคสอง บัญญัติว่า ค่าสินไหมทดแทนนั้น ได้แก่การคืนทรัพย์สินของผู้เสียหายที่ต้องเสียไปเพราะละเมิดหรือราคาทรัพย์นั้น ... ซึ่งพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองหลอกลวงผู้บริโภคให้หลงเชื่อจนได้เงินไปจากผู้บริโภค นอกจากเป็นการผิดสัญญาแล้ว ยังถือได้ว่าเป็นการทำละเมิดต่อผู้บริโภคด้วย ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ผู้บริโภคแต่ละคนได้รับ โดยถือว่าจำนวนเงินที่ผู้บริโภคแต่ละคนเสียไปจากการที่ถูกจำเลยทั้งสองหลอกลวง คือจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ผู้บริโภคแต่ละคนได้รับ เมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์ต่าง ๆ ในคดีแล้ว เห็นสมควรให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษให้แก่ผู้บริโภคอีกเท่าหนึ่งของจำนวนเงินที่ศาลชั้นต้นกำหนด โดยไม่กำหนดดอกเบี้ยในส่วนค่าเสียหายเพื่อการลงโทษให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1475/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการรับเงินค่าปรับของเทศบาล: เงินค่าปรับที่ศาลจัดเก็บต้องส่งคลัง ไม่ใช่รายได้ของเทศบาล
พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 34 วรรคหนึ่ง กำหนดให้บรรดาเงินที่หน่วยงานของรัฐจัดเก็บหรือได้รับไว้เป็นกรรมสิทธิ์... ให้นำส่งคลังตามระเบียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนด เว้นแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น การดำเนินการเกี่ยวกับเงินตามบทบัญญัตินี้ จึงมีข้อต้องพิจารณาว่าเป็นเงินที่หน่วยงานของรัฐนั้น ๆ จัดเก็บหรือได้รับไว้เป็นกรรมสิทธิ์หรือไม่ แม้ พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 มาตรา 66 (2) กำหนดให้เทศบาลอาจมีรายได้จากค่าปรับตามแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้ และ พ.ร.บ.รายได้เทศบาล พ.ศ.2497 มาตรา 6 กำหนดให้บรรดาค่าปรับเนื่องในกิจการซึ่งเทศบาลได้รับมอบให้เป็นเจ้าหน้าที่อนุวัตการตามกฎหมายใด ให้เป็นรายได้ของเทศบาลนั้นก็ตาม แต่เงินค่าปรับดังกล่าวต้องเป็นกรณีที่ผู้ร้องจัดเก็บหรือได้รับไว้เองอันเนื่องมาจากการปฏิบัติตามกฎหมายที่มอบให้เป็นหน้าที่ของผู้ร้องโดยตรงด้วย ทั้งตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มีเพียงมาตรา 74 วรรคหกเท่านั้นที่กำหนดให้เฉพาะค่าปรับที่เปรียบเทียบโดยคณะกรรมการเปรียบเทียบคดีตกเป็นของราชการส่วนท้องถิ่นโดยไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน โดยเป็นการบัญญัติโยงกับความผิดฐานต่าง ๆ ตามที่คณะกรรมการเปรียบเทียบคดีมีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้ตามมาตรา 74 วรรคสอง เมื่อค่าปรับที่จำเลยชำระต่อศาลชั้นต้นในคดีเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาอันเป็นการบังคับโทษในทางอาญาตาม ป.อ. มาตรา 28 มิใช่เงินที่ผู้ร้องจัดเก็บหรือได้รับไว้เป็นกรรมสิทธิ์อันเนื่องมาจากการเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายที่มอบให้เป็นหน้าที่ของผู้ร้องโดยตรง หรือเป็นค่าปรับที่เกิดจากการเปรียบเทียบของคณะกรรมการเปรียบเทียบคดีตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิรับเงินค่าปรับที่จำเลยชำระตามคำพิพากษาดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4535/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีค่าปรับ: ยึดทรัพย์/อายัดสิทธิ แม้มีการกักขังแทนค่าปรับ
ตาม ป.อ. มาตรา 29 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ผู้ใดต้องโทษปรับและไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินเพื่อใช้ค่าปรับหรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ แต่ถ้าศาลเห็นเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ ศาลจะสั่งเรียกประกันหรือจะสั่งให้กักขังผู้นั้นแทนค่าปรับไปพลางก่อนก็ได้" ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจบังคับเอาค่าปรับจากจำเลยที่ 2 โดยวิธียึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ได้อยู่แล้ว ส่วนกรณีที่ศาลชั้นต้นกักขังจำเลยที่ 2 แทนค่าปรับด้วยนั้นก็เป็นกรณีที่ศาลเห็นเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยที่ 2 จะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ จึงให้กักขังแทนค่าปรับไปพลางก่อนซึ่งย่อมมีอำนาจกระทำได้อีกเช่นกัน ทั้งนี้ โดยการยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของผู้ต้องโทษปรับดังเช่นจำเลยที่ 2 นี้ ป.อ. มาตรา 29/1 บัญญัติถึงวิธีการในการบังคับคดีดังกล่าวรวมทั้งการตรวจสอบหาทรัพย์สินของผู้ต้องโทษปรับไว้ในวรรคหนึ่งถึงวรรคสามและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรา 29/1 วรรคสี่ ก็บัญญัติไว้ชัดเจนว่า "บทบัญญัติมาตรานี้ไม่กระทบต่อการที่ศาลจะมีคำสั่งตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง" จึงเห็นได้ว่าศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจบังคับชำระค่าปรับทั้งโดยวิธีการยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 และอาจใช้วิธีสั่งกักขังจำเลยที่ 2 แทนค่าปรับไปพลางก่อน ตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นไปด้วยกันได้ มิได้ถูกจำกัดว่าจะต้องใช้เพียงวิธีใดวิธีหนึ่งเพียงวิธีเดียวเท่านั้นแต่อย่างใด ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งให้กักขังจำเลยที่ 2 แทนค่าปรับไว้แล้วก็ตาม ศาลชั้นต้นก็ยังมีอำนาจออกหมายบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 เพื่อใช้ค่าปรับได้ตาม ป.อ. มาตรา 29 และ มาตรา 29/1 ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นำเงินที่จำเลยที่ 2 วางประกันการปล่อยชั่วคราวจำนวน 200,000 บาท ชำระค่าปรับตามคำพิพากษากับออกหมายบังคับคดียึดห้องชุดของจำเลยที่ 2 แม้อยู่ในระหว่างจำเลยที่ 2 ถูกกักขังแทนค่าปรับ ก็เป็นการดำเนินการในการบังคับชำระค่าปรับโดยชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิขอให้คืนเงินหรือปล่อยทรัพย์แต่อย่างใด
of 41