คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ผิดนัด

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 402 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7633/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คผิดนัดชำระหนี้: การคิดดอกเบี้ยเป็นค่าเสียหายโดยความสมัครใจ ไม่ใช่การฉ้อโกง
แม้สัญญาซื้อขายวัสดุก่อสร้างระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยมิได้มีการตกลงไว้ว่าหากผิดสัญญาสามารถกำหนดเบี้ยปรับหรือค่าเสียหายกันได้ แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ร่วมจะคิดค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน แก่ลูกหนี้ทุกรายที่ผิดนัด รวมทั้งจำเลยด้วย เมื่อจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ค่าสินค้าแก่โจทก์ร่วม จำเลยย่อมทราบแล้วว่าโจทก์ร่วมคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน การที่เช็คพิพาทเป็นเช็คค่าสินค้าที่คิดรวมดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวไว้ด้วยจึงเป็นการกำหนดค่าเสียหายโดยสมัครใจของทั้งสองฝ่าย หาใช่เป็นการคิดค่าเสียหายเอาตามอำเภอใจของโจทก์ร่วมแต่อย่างใดไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าหนี้ตามเช็คพิพาทไม่ใช่หนี้กู้ยืม ย่อมไม่ตกอยู่ในบังคับ ป.พ.พ. มาตรา 7 และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง จึงเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6109/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอม เริ่มนับจากวันที่จำเลยผิดนัดตามสัญญาประนีประนอม
สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 4 กำหนดไว้ว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดหรือเดือนหนึ่งเดือนใด ให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดยอมให้โจทก์บังคับได้ทันที เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมกับค่าทนายความแก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2 ภายในกำหนดวันที่ 15 มิถุนายน 2538 ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ให้แก่โจทก์ให้เป็นไปตามคำพิพากษาตามยอมนั้นแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 ได้ทันทีตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 4 ดังนั้น สิทธิเรียกร้องในการบังคับชำระหนี้ของโจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวซึ่งมีกำหนดอายุความ 10 ปี จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2538 มิใช่เริ่มนับในวันที่ 16 กรกฎาคม 2538 อันเป็นวันถัดจากวันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์งวดแรกตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 โจทก์นำหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวมาฟ้องคดีเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2548 พ้นกำหนด 10 ปีแล้ว จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4865/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องสัญญาเช่าซื้อ: โจทก์ไม่ใช่ธุรกิจเงินทุน, สัญญาเลิกได้ทันทีเมื่อผิดนัด
โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์ข้อ (41) ให้เช่า ให้เช่าซื้อ ซึ่งทรัพย์สินใด ๆ ตามหนังสือรับรองของกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ ดังนั้น การที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์คันพิพาทโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจึงอยู่ในขอบวัตถุประสงค์ของโจทก์ ธุรกิจของโจทก์มิใช่การจัดหามาซึ่งเงินทุนและใช้เงินนั้นในการประกอบกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งตามความหมายของ "ธุรกิจเงินทุน" ตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 มาตรา 4(1) ถึง (5) ทั้งการประกอบธุรกิจเงินทุนจะกระทำได้ต่อเมื่อได้จัดตั้งในรูปบริษัทมหาชนจำกัดตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด และได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี ตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจเงินทุน ฯ เท่านั้น ดังนั้นการดำเนินธุรกิจของโจทก์จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับของประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการให้เช่าซื้อสังหาริมทรัพย์บางประเภทของบริษัทเงินทุนในการประกอบกิจการเงินทุนเพื่อการจำหน่ายและการบริโภคที่ออกตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 ข้อ 3 (7) ก. ที่จะต้องมีหนังสือบอกกล่าวผู้เช่าซื้อที่ผิดนัดไม่ใช้เงินรายงวดสองงวดติด ๆ กันให้ใช้เงินรายงวดที่ค้างชำระภายในเวลาอย่างน้อย 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือก่อน เมื่อไม่ปฏิบัติตามจึงจะริบเงินที่ชำระแล้วและกลับเข้าครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อได้ดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 13 เป็นต้นมา สัญญาเช่าซื้อจึงเลิกกันทันทีตามข้อตกลงในสัญญาข้อ 10 โจทก์ไม่จำต้องบอกเลิกสัญญาอีก โจทก์มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4129/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายผิดนัด: จำเลยต้องรับผิดชำระค่าเสียหายจากสินค้าที่โจทก์ต้องขายราคาต่ำกว่า
โจทก์บรรยายฟ้องสรุปได้ว่า เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2543 จำเลยที่ 2 ทำสัญญาซื้อขายขดม้วนโลหะรีดร้อนกับโจทก์แทนจำเลยที่ 1 ปริมาณ 10,000 เมตริกตัน ในราคา 2,400,000 ดอลลาร์สหรัฐ กำหนดส่งสินค้าทางเรือในเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม 2543 เป็นอย่างช้า ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2543 โจทก์ขนสินค้าเข้ามาในประเทศไทยพร้อมที่จะส่งมอบ วันที่ 7 กันยายน 2543 จำเลยทั้งสองแจ้งแก่โจทก์ว่า จำเลยทั้งสองประสบปัญหาทางการเงิน ขอเลื่อนการชำระเงินรวมทั้งบอกปัดในทำนองที่จะไม่ปฏิบัติตามสัญญาด้วยการแจ้งให้โจทก์นำสินค้าไปขายให้แก่บุคคลอื่นก่อน โจทก์จึงขายสินค้าให้แก่บุคคลอื่นไปเพื่อบรรเทาความเสียหายได้เงินทั้งสิ้น 1,886,880 ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้โจทก์ขาดทุน 413,120 ดอลลาร์สหรัฐ ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย คำบรรยายฟ้องดังกล่าวแสดงให้พอเข้าใจได้ถึงสภาพแห่งข้อหาข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับ จึงเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ ข้อ 6 วรรคหนึ่ง ซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 30 แล้ว ไม่ได้เคลือบคลุมดังที่จำเลยที่ 1 อ้าง
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อสินค้าจากโจทก์แล้วจำเลยที่ 1 ประสบปัญหาทางการเงินไม่สามารถจัดทำเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อสั่งซื้อสินค้าได้ กรณีจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการผิดสัญญาซื้อขาย หาใช่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ไม่ การฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการผิดสัญญาไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาซื้อขายพิพาทกันไว้ สัญญาซื้อขายพิพาทจึงผูกพันคู่สัญญาและมีผลใช้บังคับได้นับแต่วันทำสัญญา การเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเป็นเพียงวิธีการชำระเงินค่าสินค้าตามสัญญาซื้อขายพิพาทเท่านั้น หาทำให้สัญญาซื้อขายพิพาทมีผลใช้บังคับได้นับแต่วันเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตจำเลยที่ 1 ไม่ จำเลยที่ 1 ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขการชำระเงินค่าสินค้าตามสัญญาซื้อขายพิพาทด้วยการทำตั๋วแลกเงินและเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตให้แก่โจทก์ได้ จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาซื้อขายพิพาท
จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาซื้อขายพิพาทโดยไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขการชำระเงินค่าสินค้าให้แก่โจทก์ ทำให้โจทก์ต้องขายสินค้าพิพาทให้แก่ผู้อื่นในราคาต่ำกว่าราคาที่ตกลงไว้กับจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้โจทก์ขาดเงินที่โจทก์ควรจะได้จากจำเลยที่ 1 ซึ่งถือเป็นความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการผิดสัญญาดังกล่าว
ตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของ ส. ได้ความว่า พยานดังกล่าวทำงานเป็นลูกจ้างโจทก์ในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขาย มีหน้าที่ติดต่อขายสินค้าของโจทก์ให้แก่ลูกค้าในประเทศไทย พยานดังกล่าวให้การตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นในเรื่องการซื้อขายสินค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสอง การผิดสัญญาซื้อขายพิพาทของจำเลยทั้งสอง และความเสียหายของโจทก์อันเกิดแต่การผิดสัญญาซื้อขายพิพาท พยานดังกล่าวเป็นผู้ที่ได้เห็นหรือทราบข้อความเกี่ยวกับเรื่องที่จะให้การเป็นพยานโดยตรงจึงหาต้องห้ามมิให้รับฟังตามกฎหมายแต่อย่างใดไม่
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า เอกสารที่โจทก์อ้างส่งต่อศาลเป็นเพียงสำเนาเอกสารจึงต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93 เห็นว่า เอกสารที่โจทก์อ้างส่งส่วนใหญ่เป็นต้นฉบับเอกสาร ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้คัดค้านสำเนาเอกสารฉบับใดของโจทก์ไม่ถูกต้องอย่างใด คงมีเพียงทนายจำเลยที่ 1 แถลงต่อศาลว่าเอกสารหมาย จ. 20 ที่โจทก์นำส่งเป็นเพียงสำเนาเอกสารเท่านั้น เมื่อเอกสารหมาย จ. 20
ซึ่งมีถึง 63 แผ่นมีทั้งที่เป็นต้นฉบับและสำเนา ทั้งเป็นเอกสารเกี่ยวกับค่าขนส่ง ค่าตรวจสอบสินค้า ค่านายหน้าและค่าระวางเรือ ซึ่งศาลมิได้นำเอกสารดังมากล่าวพิจารณาในการกำหนดค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระให้แก่โจทก์ อุทธรณ์ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3830-3831/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อ: การยอมรับชำระหนี้โดยจำเลยหลังผิดนัด ทำให้สัญญาไม่เลิก และการยินยอมให้ยึดรถถือเป็นการเลิกสัญญาสมัครใจ
แม้ตามสัญญาเช่าซื้อจะระบุว่า ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใดถือว่าสัญญาเลิกกันทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน ผู้เช่าซื้อยอมให้เจ้าของริบบรรดาเงินค่าเช่าซื้อที่ได้ชำระทั้งหมดเป็นของเจ้าของ และยอมส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนแก่เจ้าของโดยพลัน แต่เมื่อโจทก์ที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามกำหนดเวลาที่ระบุในสัญญา จำเลยยอมรับค่าเช่าซื้อไว้ไม่ทักท้วง แสดงว่าคู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ ต่อมาโจทก์ที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 35 เป็นเวลา 9 งวด จำเลยมีหนังสือขอให้ชำระหนี้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ทั้งสองแจ้งให้มาติดต่อชำระหนี้ภายใน 15 วัน หากพ้นกำหนดขอถือเอาหนังสือดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญา การที่โจทก์ที่ 1 ได้ติดต่อกับจำเลยภายในกำหนดระยะเวลาตามหนังสือดังกล่าว และชำระหนี้ให้แก่จำเลยเป็นเช็ค 5 ฉบับ แล้วจำเลยยอมรับเช็คดังกล่าวไว้นำไปเรียกเก็บเงินได้ 3 ฉบับ แสดงว่าจำเลยยอมรับชำระหนี้จากโจทก์ที่ 1 ตามเงื่อนไขในหนังสือขอให้ชำระหนี้บอกเลิกสัญญาและยินยอมให้โจทก์ที่ 1 ครอบครองใช้รถยนต์ได้ ถือว่าจำเลยประสงค์จะให้สัญญาเช่าซื้อมีผลบังคับกันต่อไป ครั้นเมื่อเช็คฉบับที่สี่และที่ห้าเรียกเก็บเงินไม่ได้ โจทก์ที่ 1 จึงผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อในงวดดังกล่าวอีก หากจำเลยประสงค์จะบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ที่ 1 จะต้องบอกกล่าวให้โจทก์ที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระภายในเวลาอันสมควรเสียก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 เมื่อจำเลยยังไม่บอกเลิกสัญญา สัญญาเช่าซื้อจึงยังไม่เลิกกัน โจทก์ที่ 1 จึงยังไม่เป็นฝ่ายผิดสัญญา
หลังจากโจทก์ที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามเช็คฉบับที่สี่และที่ห้าแล้วจำเลยได้ยึดรถยนต์คันที่เช่าซื้อจากโจทก์ที่ 1 โจทก์ทั้งสองทราบว่า จำเลยมายึดรถยนต์คืน โจทก์ทั้งสองก็ไม่เคยโต้แย้งคัดค้านการยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อจากจำเลยอย่างใด โจทก์ที่ 1 เพิ่งจะมอบให้ทนายความมีหนังสือขอให้จำเลยส่งมอบรถยนต์คืนหลังเวลาล่วงเลยมาถึง 5 เดือน ตามพฤติการณ์ฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 ยินยอมให้จำเลยยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโดยไม่คัดค้าน ถือว่าโจทก์ที่ 1 กับจำเลยสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยาย คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง เมื่อสัญญาเลิกกันด้วยเหตุอื่นมิใช่การเลิกสัญญาที่มีผลมาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อ คู่สัญญาจึงไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาอีกต่อไป การที่จำเลยยึดรถยนต์คืนจึงไม่ทำให้โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อ โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกรถยนต์คืนหรือให้ใช้ราคาแทนและเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จากจำเลยได้ ส่วนจำเลยก็ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าติดตามรถ ค่าขาดราคาจากค่าเช่าซื้อที่ต้องชำระโดยอาศัยข้อสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อที่ระงับไปแล้วได้ แต่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันนับแต่วันที่จำเลยได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจากโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 จะต้องใช้เงินเป็นค่าเสียหายแก่จำเลยในการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อในระหว่างที่ยังไม่ได้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนตามค่าแห่งการนั้น ๆ ด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกับโจทก์ที่ 1 ต้องรับผิดค่าเสียหายดังกล่าวร่วมกับโจทก์ที่ 1 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3213/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อ: สิทธิเรียกร้องค่าเช่าซื้อค้างชำระ, ค่าขาดประโยชน์, และราคาซื้อขายรถยนต์เมื่อผิดนัด
ป.พ.พ. มาตรา 574 บัญญัติไว้เพียงว่า เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเพราะผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิริบเงินที่ผู้ให้เช่าซื้อรับไว้และกลับเข้าครอบครองทรัพย์ที่ให้เช่าซื้อเท่านั้น ถ้าโจทก์ยังมีสิทธิเรียกเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระด้วยก็ไม่มีเหตุที่กฎหมายจะบัญญัติไว้เพียงให้ริบเงินที่ส่งใช้ก่อนเลิกสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างก่อนเลิกสัญญาได้คงเรียกได้แต่เฉพาะค่าใช้ทรัพย์ตลอดเวลาที่จำเลยที่ 1 ครอบครองทรัพย์อยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2316/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้จากการผ่อนชำระ: สิทธิเรียกร้องแต่ละงวด vs. ทั้งหมด
หนังสือรับสภาพหนี้ของจำเลยที่ 1 เป็นหนังสือรับรองว่าจำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้โจทก์อยู่โดยตกลงผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือนมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงกำหนดวีธีชำระหนี้โดยผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/33 (2) เมื่อจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตั้งแต่งวดแรก โจทก์จึงอาจบังคับสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองต้องชำระหนี้แต่ละงวดได้ตั้งแต่เมื่อครบกำหนดที่จำเลยทั้งสองต้องชำระหนี้เป็นงวดนั้นๆ สิทธิเรียกร้องในหนี้งวดใดที่พ้นกำหนดอายุความ 5 ปี นับย้อนหลังตั้งแต่วันฟ้องขึ้นไปจึงเป็นอันขาดอายุความ
หนังสือรับสภาพหนี้ไม่ได้มีข้อตกลงว่า หากจำเลยทั้งสองผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดถือว่าผิดนัดทั้งหมดหรือหนี้ทั้งหมดนั้นถึงกำหนดชำระอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ทั้งหมดคืนได้ทันที ข้อความที่ระบุไว้ในหนังสือรับสภาพหนี้ว่า หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งยินยอมให้ฟ้องร้องบังคับคดีได้ทันที หมายถึงสิทธิเรียกร้องของโจทก์จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อจำเลยทั้งสองผิดนัดในงวดนั้นๆ แล้วเท่านั้น ส่วนงวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระโจทก์ก็ยังไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาแก่จำเลยทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1932/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงอัตราดอกเบี้ยในสัญญากู้, การปรับดอกเบี้ยหลังผิดนัด, และเบี้ยปรับที่ชอบด้วยกฎหมาย
เบี้ยปรับคือสัญญาที่ลูกหนี้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้ว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร แต่ตามหนังสือสัญญากู้เงินมีใจความว่า ผู้กู้ยืมยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้เป็นรายเดือน ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยมีระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันทำสัญญากู้ ส่วนระยะเวลาที่เหลือจำเลยทั้งสองยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราใหม่ตามประกาศธนาคารโจทก์ ซึ่งโจทก์อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ข้างต้น โดยโจทก์ไม่จำต้องแจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบล่วงหน้า นอกจากนั้นจำเลยทั้งสองยังได้ทำบันทึกต่อท้ายสัญญากู้เงินมีใจความว่า จำเลยทั้งสองทำสัญญากู้เงินอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี โดยให้ถือบันทึกดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญากู้เงินด้วย จากข้อสัญญาดังกล่าวแสดงว่าในระยะเวลา 3 ปีแรก นับแต่วันที่ทำสัญญากู้ โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราคงที่ได้เพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี เท่านั้น จะปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นกว่านั้นไม่ได้จนกว่าจะล่วงพ้น 3 ปี นับแต่วันที่ทำสัญญากู้เงินและเมื่อล่วงพ้นกำหนดเวลา 3 ปี โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ตามประกาศธนาคารโจทก์ซึ่งโจทก์อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ข้างต้น โดยโจทก์ไม่จำต้องแจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบล่วงหน้า ซึ่งเมื่อพิจารณาบัญชีเงินกู้ จะเห็นว่า เมื่อล่วงพ้นกำหนดระยะเวลา 3 ปี โจทก์ทำการปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นอัตราร้อยละ 6.5 ต่อปี และ 6 ต่อปี ตามลำดับ โดยมิได้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ถือเป็นข้อปฏิบัติในลักษณะที่โจทก์ให้ประโยชน์แก่จำเลยทั้งสอง ดังนั้นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในระยะเริ่มแรกก็ดี และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 6.5 ต่อปี และ 6 ต่อปี หลังจากล่วงพ้น 3 ปี นับแต่วันทำสัญญากู้เงินก็ดี ล้วนเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามข้อสัญญาทั้งสิ้น โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยทั้งสองตกเป็นผู้ผิดนัดหรือไม่ และเป็นดอกผลนิตินัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 148 วรรคสาม ต่อมาจำเลยทั้งสองได้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเวลา โจทก์จึงทำการปรับอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 6 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2547 เป็นต้นมา และแม้ตามหนังสือสัญญากู้เงินระบุว่า หากผู้กู้ผิดนัดยินยอมให้ผู้ให้กู้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นกว่าที่กำหนดได้ก็ตาม แต่ดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2547 เป็นต้นมาดังกล่าว โจทก์เรียกจากจำเลยทั้งสองในอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ซึ่งน้อยกว่าอัตราร้อยละ 19 ต่อปี อันเป็นอัตราตามข้อตกลงในสัญญากู้เงินและบันทึกต่อท้ายสัญญากู้เงิน ถือได้ว่าโจทก์มิได้คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามสัญญากู้เงินแต่อย่างใด อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 13.5 ต่อปี ดังกล่าวจึงมิใช่เบี้ยปรับ ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลจะมีอำนาจลดลงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองตามบัญชีเงินกู้ จึงเป็นการถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1884/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อัตราดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงิน: เบี้ยปรับเมื่อผิดนัดชำระหนี้ ศาลยืนตามสัญญากู้
หนังสือสัญญากู้เงิน ข้อ 2 และข้อ 4 และบันทึกต่อท้ายสัญญากู้เงินมีใจความโดยสรุปว่า ในระยะ 3 ปีแรก นับแต่วันทำสัญญากู้เงิน โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองได้ในอัตราคงที่ตามบันทึกต่อท้ายสัญญากู้เงิน โดยในปีแรกอัตราร้อยละ 3.5 ต่อปี ปีที่ 2 อัตราร้อยละ 4.5 ต่อปี และปีที่ 3 อัตราร้อยละ 5.5 ต่อปี ต่อจาก 3 ปีนั้นแล้วจึงมีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้ แต่ต้องไม่เกินอัตราขั้นสูงตามกฎหมาย แต่ถ้าจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้เมื่อใด ไม่ว่าจะอยู่ในช่วง 3 ปี นับแต่วันที่ทำสัญญากู้เงินหรือหลังจากนั้นก็ตาม โจทก์ย่อมมีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้เสมอ ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยคงที่ในระยะ 3 ปีแรกก็ดี ดอกเบี้ยหลังจากล่วงพ้น 3 ปี นับแต่วันทำสัญญากู้เงินก็ดี ล้วนเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามข้อสัญญาทั้งสิ้น ทั้งนี้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดหรือไม่ และเป็นดอกผลนิตินัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 148 วรรคสาม แต่ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปีที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลยทั้งสองหลังจากที่จำเลยทั้งสองตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ เห็นได้ว่าเป็นการใช้สิทธิตามสัญญากู้เงินข้อ 4 ที่ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นได้ในกรณีที่จำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ดอกเบี้ยจำนวนนี้จึงเป็นค่าเสียหายที่คู่สัญญากำหนดไว้ล่วงหน้าเมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ ซึ่งถือเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ซึ่งหากสูงเกินส่วน ศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ โดยคำนึงถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 373 วรรคหนึ่ง
โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายเฉพาะเรื่องดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง โดยขอให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ของต้นเงินตามฟ้อง นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท และค่าขึ้นศาลสำหรับดอกเบี้ยในอนาคตอีก 100 บาท ตามตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ. ข้อ (2) และข้อ (4) แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาจากจำนวนทุนทรัพย์ตามฟ้อง จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาสำหรับส่วนที่เกิน 300 บาท แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10288/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายเลิกกันเนื่องจากผู้ซื้อผิดนัด ไม่ไปรับโอนที่ดิน ผู้ขายมีสิทธิริบมัดจำและเรียกค่าเสียหาย
ป.วิ.พ. มาตรา 148 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า คดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว ห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ได้ความว่าคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 229/2536 ของศาลชั้นต้น ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว และคู่ความในคดีแพ่งดังกล่าวกับคู่ความคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกัน แต่ในเรื่องประเด็นข้อพิพาทนั้น ประเด็นวินิจฉัยในคดีเรื่องก่อนมีอยู่ว่า จำเลยทั้งหกผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเพราะจัดหาทางภาระจำยอมไม่ได้ภายในกำหนดตามสัญญาและโจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ก่อนหรือไม่ ต่างกับประเด็นวินิจฉัยในคดีเรื่องนี้ที่มีอยู่ว่า จำเลยทั้งหกผิดสัญญาจะซื้อขายที่ดินเพราะโอนขายที่ดินที่ตกลงจะขายตามสัญญาให้บุคคลภายนอกไปเสียก่อนหรือไม่ ดังนั้น แม้ประเด็นทั้งสองคดีจะเป็นเรื่องจำเลยทั้งหกผิดสัญญาจะซื้อขายหรือไม่คล้ายๆ กัน แต่ในเมื่อคดีนี้จะต้องวินิจฉัยเรื่องการผิดสัญญาโดยอาศัยเหตุที่ว่าจำเลยทั้งหกโอนขายที่ดินที่ตกลงจะขายให้บุคคลภายนอกไปมิได้อาศัยเหตุเรื่องจำเลยจัดหาทางภาระจำยอมไม่ไดอย่างในคดีก่อน ซึ่งเป็นเหตุใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุเดิม จึงมิใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 229/2536 ของศาลชั้นต้น
of 41