พบผลลัพธ์ทั้งหมด 408 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3009/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ผู้ขายยาเสพติดมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการกระทำผิดของผู้ซื้อ แม้ไม่มีส่วนร่วมโดยตรงในการครอบครองหรือจำหน่าย
เมทแอมเฟตามีนของกลาง 565 เม็ด เป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนที่ ส. ซื้อมาจากจำเลย หลังจากที่จำเลยขายเมทแอมเฟตามีนให้แก่ ส. โดยจำเลยได้รับเงินค่าเมทแอมเฟตามีนไปแล้ว การครอบครองเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่ายและการจำหน่ายล้วนเป็นการกระทำของ ส. กับพวกโดยจำเลยไม่มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้อง อีกทั้งในวันเกิดเหตุในคดีนี้จำเลยไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุหรือมีส่วนร่วมในการครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางเพื่อจำหน่ายหรือจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับ จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยร่วมกับ ส. กับพวกมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย แต่การที่จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่ ส. ย่อมถือได้ว่าเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ ส. ในการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยจึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 86 แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นตัวการ แต่ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาฟังได้ว่า จำเลยเป็นเพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ถือว่าข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่เป็นข้อสาระสำคัญ เมื่อจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 กับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 280/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สนับสนุนการจำหน่ายยาเสพติด: ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 แม้ข้อกล่าวหาในฟ้องไม่ตรงกับพฤติการณ์
โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานยืนยันว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับ บ. และจำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแก่สายลับ จึงมิอาจถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 และ บ. ในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ แต่การติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีนคดีนี้ บ. เป็นตัวการสำคัญมีอำนาจตัดสินใจในการขายเมทแอมเฟตามีน ในขณะเจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุมจำเลยที่ 1 บ. ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ติดต่อมายังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 โอนเงินเข้าบัญชีของ ส. ตามที่เคยทำมาก่อน แต่จำเลยที่ 1 ปฏิเสธเนื่องจากเครื่องไม่รับ บ. จึงบอกว่าจะมอบให้จำเลยที่ 2 มารับเงินแทน บ. ที่บริเวณปากซอยเชื่อมสัมพันธ์ 24 อันถือได้ว่าเป็นการกระทำเกี่ยวเนื่องกับการชำระค่าเมทแอมเฟตามีนให้แก่ บ. นั่นเอง การจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนยังไม่ขาดตอน เมื่อจำเลยที่ 2 มาจอดรถกระบะรอรับเงินและถูกจับได้ถือว่าเป็นการกระทำด้วยประการใด ๆ หรือเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิดอันเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนผู้อื่นในการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตาม ป.อ. มาตรา 86 ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ แม้ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างจากข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง เพราะข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและจำเลยที่ 2 มิได้หลงต่อสู้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 กับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7639/2562
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การนำสิ่งของต้องห้ามเข้าเรือนจำ: ความผิดฐานสนับสนุนและตัวการร่วม
การที่จำเลยซึ่งเป็นนักโทษได้นัดหมายให้บุคคลภายนอกที่เข้ามาเยี่ยมนักโทษให้นำเอา โทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมอุปกรณ์มาส่งมอบแก่จำเลยในเรือนจำ เมื่อจำเลยได้รับโทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมอุปกรณ์แล้วก็ลักลอบนำเข้าแดนตนเองจนถูกจับกุมดำเนินคดีนั้น เมื่อ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 มาตรา 45 (เดิม) ที่ใช้อยู่ในขณะจำเลยกระทำความผิด มิได้บัญญัติให้การครอบครองหรือการเก็บรักษาไว้ซึ่งสิ่งของต้องห้ามในเรือนจำเป็นความผิด การที่จำเลยครอบครองและเก็บรักษาไว้ซึ่งสิ่งของต้องห้าม คือโทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมอุปกรณ์ของกลางที่บุคคลภายนอกนำมาส่งให้ การกระทำของจำเลยเป็นเพียงการผิดระเบียบของเรือนจำ และเป็นเรื่องที่จำเลยอาจต้องรับผิดทางวินัยของผู้ต้องขัง แต่ยังถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ส่วนการที่บุคคลภายนอกลักลอบนำโทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมอุปกรณ์อันเป็นสิ่งของต้องห้ามเข้ามาให้จำเลยในเรือนจำ การกระทำของบุคคลภายนอกย่อมเป็นความผิดฐานนำสิ่งของต้องห้ามเข้ามาในเรือนจำ แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยกับบุคคลภายนอกเป็นพวกเดียวกันมาก่อน จำเลยเพิ่งรู้จักเมื่อบุคคลภายนอกมาเยี่ยมผู้ต้องขัง และไม่ได้ความว่ามีการวางแผนแบ่งหน้าที่กันกระทำผิด ทั้งจำเลยต้องขังอยู่มิได้ออกไปนอกเรือนจำ การกระทำของจำเลยจึงไม่อาจเป็นตัวการร่วมกับบุคคลภายนอกได้ แต่ถือว่าจำเลยเป็นผู้ก่อให้บุคคลภายนอกกระทำการอันเป็นความผิด จำเลยจึงเป็นผู้ใช้ตาม ป.อ. มาตรา 84 ซึ่งเป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในชั้นพิจารณาแตกต่างจากคำฟ้องในข้อสาระสำคัญ ย่อมลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดไม่ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง การกระทำของจำเลยยังคงถือได้ว่าเป็นการสนับสนุนการกระทำความผิดนั้น ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนได้แม้โจทก์มิได้กล่าวในฟ้อง เนื่องจากความผิดฐานเป็นตัวการหรือผู้ใช้ย่อมรวมความผิดฐานผู้สนับสนุนด้วยในตัวเอง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยและปรับบทให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6653/2562
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เจ้าพนักงานใช้อำนาจหน้าที่มิชอบ สั่งย้ายข้าราชการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิด
แม้จำเลยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการที่สังกัดในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่อำนาจหน้าที่ในการบรรจุแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการระดับ 8 ให้อธิบดีผู้บังคับบัญชาเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ดังกล่าวเมื่อได้รับความเห็นชอบจากปลัดกระทรวง ไม่ใช่เป็นอำนาจหน้าที่ของปลัดกระทรวงโดยตรง จำเลยในฐานะปลัดกระทรวง จึงไม่มีอำนาจสั่งย้ายโจทก์ไปดำรงตำแหน่งป่าไม้จังหวัดอำนาจเจริญด้วยตนเอง จึงขาดคุณสมบัติเฉพาะตัวตามที่กฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะ ไม่อาจลงโทษจำเลยในฐานะเป็นตัวการเพราะใช้ให้กระทำความผิดได้ แต่การที่จำเลยให้ ด. ออกคำสั่งย้ายโจทก์ ถือได้ว่าเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ตาม ป.อ. มาตรา 86 ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนในความผิดส่วนนี้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5922/2562
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การสอบปากคำผู้มีความบกพร่องทางสติปัญญาในคดีอาญา และการสนับสนุนการข่มขืน
ในการสอบปากคำผู้เสียหายซึ่งมีความบกพร่องทางสติปัญญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มิได้บัญญัติการสอบไว้เฉพาะเหมือนดังเช่นการสอบปากคำผู้เสียหายที่เป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบแปดปีในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศตามมาตรา 133 ทวิ ว่า จะต้องมีสหวิชาชีพร่วมอยู่ด้วยในการสอบปากคำเด็กนั้น ด้วยเหตุนี้พนักงานสอบสวนจึงชอบที่จะใช้วิธีการสอบปากคำผู้เสียหายคดีนี้ซึ่งมีความบกพร่องทางสติปัญญาเช่นเดียวกับการสอบปากคำบุคคลปกติ เมื่อไม่ปรากฏว่าการสอบปากคำผู้เสียหายของพนักงานสอบสวนได้ให้คำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง ทรมาน ใช้กำลังบังคับหรือกระทำโดยมิชอบด้วยประการใดๆ เพื่อจูงใจให้ผู้เสียหายให้การ ก็ถือเป็นการสอบสวนโดยชอบเพื่อนำไปสู่กระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาจำเลยที่ 2 ได้แล้ว ส่วนข้อเท็จจริงตามคำให้การของผู้เสียหายซึ่งไม่มีแพทย์ด้านจิตเวชศาสตร์และนักจิตวิทยาคลินิกและชุมชนเข้าร่วมฟังการสอบสวนจะมีความน่าเชื่อถือและรับฟังได้มากน้อยเพียงใด ถือเป็นดุลพินิจของศาลในขั้นตอนการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5337/2562
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดพนักงานรัฐ – การอนุมัติสินเชื่อโดยมิชอบ – ความผิดฐานสนับสนุน – อายุความ
คดีของโจทก์มิใช่เป็นกรณีที่อัยการสูงสุดเป็นผู้ฟ้องคดีหรือประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้ฟ้องคดีในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นอัยการสูงสุด จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 97 วรรคหนึ่ง ที่ศาลจะมีคำสั่งให้ประทับฟ้องโดยไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้อง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 มาศาลในวันที่ศาลประทับฟ้องครั้งแรกซึ่งอยู่ในกำหนดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 แม้การประทับฟ้องครั้งดังกล่าวจะเป็นการผิดพลาดและศาลชั้นต้นต้องนัดไต่สวนมูลฟ้องใหม่ และวันที่ศาลชั้นต้นสั่งคดีมีมูลจะพ้นกำหนดอายุความไปแล้ว แต่เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้ามาแสดงตนในวันที่ศาลสั่งประทับฟ้องครั้งแรก และออกหมายขังจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไว้ จึงถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 อยู่ในอำนาจศาลแล้ว ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 มาศาลในวันที่ศาลประทับฟ้องครั้งแรกซึ่งอยู่ในกำหนดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 แม้การประทับฟ้องครั้งดังกล่าวจะเป็นการผิดพลาดและศาลชั้นต้นต้องนัดไต่สวนมูลฟ้องใหม่ และวันที่ศาลชั้นต้นสั่งคดีมีมูลจะพ้นกำหนดอายุความไปแล้ว แต่เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้ามาแสดงตนในวันที่ศาลสั่งประทับฟ้องครั้งแรก และออกหมายขังจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไว้ จึงถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 อยู่ในอำนาจศาลแล้ว ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4976/2562
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สนับสนุนการกระทำผิดค้ายาเสพติด: ศาลแก้โทษจากสมคบกันเป็นสนับสนุนการกระทำผิด
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับ ห. และพวกฝ่ายหนึ่ง กับ ณ. และพวกอีกฝ่ายหนึ่งสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โดยจำเลยเป็นฝ่ายร่วมดำเนินการจัดหา สั่งการ และให้เงินทุนในการลำเลียงยาเสพติดแก่ ณ. และพวก แต่ในชั้นพิจารณาไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์ว่า จำเลยได้เข้าร่วมตกลงคบคิดเพื่อค้ายาเสพติดของกลางกับ ห. และพวก คงได้ความเพียงว่า หลังจากกลุ่มคนดังกล่าวสมคบกันลำเลียงยาเสพติดของกลางแล้ว จำเลยได้รับการติดต่อจากหญิงชาวลาวที่ชื่อ ม. เครือข่ายยาเสพติดของ ห. ให้โอนเงินค่าจ้างลำเลียงยาเสพติดเข้าบัญชีเงินฝากของ ณ. เพียงบางส่วนเท่านั้น ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจาก ห. และพวกสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดแล้วเช่นนี้ ยังไม่พอฟังว่าจำเลยได้สมคบกับ ห. และพวกเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่ได้สมคบกับ ห. และพวกเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดแล้ว แม้ในเวลาต่อมา ณ. และพวกร่วมกันมียาเสพติดของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน จำเลยย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา 8 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่การที่จำเลยโอนเงินค่าจ้างลำเลียงยาเสพติดของกลางแก่ ณ. บางส่วน ย่อมถือได้ว่าจำเลยสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด ซึ่งต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (1) แม้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยสมคบกับพวกเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 แต่เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าการกระทำของจำเลยเป็นเพียงความผิดฐานสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิดตามมาตรา 6 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และได้ความว่ามีการขออนุมัติจับกุมจำเลยในข้อหาเป็นผู้สนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 ไว้ด้วย ทั้งได้รับอนุมัติการจับกุมโดยชอบตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว และโจทก์มีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 6 ดังกล่าวมาด้วย ดังนี้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (1) ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2696-2697/2562
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดฐานสนับสนุนการออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออก และการใช้ผู้อื่นออกเอกสาร
ป.รัษฎากร มาตรา 86 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับมาตรา 86/1 มาตรา 86/2 และมาตรา 86/8 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำใบกำกับภาษีและสำเนาใบกำกับภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการทุกครั้ง และต้องจัดทำในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น พร้อมทั้งให้ส่งมอบใบกำกับภาษีนั้นแก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ..." และมาตรา 86/13 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ห้ามมิให้บุคคลซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือมิใช่ผู้มีสิทธิออกใบกำกับภาษีได้ตามหมวดนี้ออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้" เห็นว่า ผู้ที่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีได้นั้นนอกจากจะต้องเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ต้องห้ามมิให้ออกใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/1 และมาตรา 86/2 แล้วจะต้องเป็นการออกใบกำกับภาษีที่ได้มีการขายสินค้าหรือให้บริการจริง โดยเป็นการออกให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการที่เป็นคู่สัญญาเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเท่านั้น ดังนั้น คำว่า "มิใช่ผู้มีสิทธิออกใบกำกับภาษีได้ตามหมวดนี้" ตามมาตรา 86/13 จึงไม่ได้หมายความเฉพาะผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 86/1 ซึ่งถูกห้ามมิให้ออกใบกำกับภาษีเท่านั้น หากหมายความรวมถึงผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษีที่ไม่มีการขายสินค้ากันจริงด้วย ทั้งตามมาตรา 88/2 วรรคสอง ก็บัญญัติด้วยว่า "ในการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานประเมินเมื่อมีกรณีตามมาตรา 88 (6) ให้ถือว่าผู้ประกอบการซึ่งยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85/1 แต่มิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีความรับผิดในการเสียภาษีเสมือนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน" ใบกำกับภาษีที่จำเลยที่ 1 ขายให้แก่สายลับจึงเป็นใบกำกับภาษีที่ออกโดยผู้ไม่มีสิทธิออกตามมาตรา 86/13 ซึ่งมีบทลงโทษตามมาตรา 90/4 (3)
เมื่อข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 1 ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออก มิใช่เป็นตัวการดังที่โจทก์ฟ้อง ก็มิใช่เป็นการแตกต่างในสาระสำคัญ ย่อมลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดไม่ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง เมื่อฟังว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าเป็นความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดฐานออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออก ตาม ป.อ. มาตรา 86 ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้สนับสนุนได้โดยมิใช่เป็นการแตกต่างในสาระสำคัญ ไม่จำต้องยกฟ้อง
กรณีของจำเลยที่ 5 เป็นการใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออกตามมาตรา 86/13 โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 5 เป็นตัวการ เมื่อทางพิจารณาข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 5 เป็นผู้ใช้จึงแตกต่างในสาระสำคัญ ย่อมลงโทษจำเลยที่ 5 ฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดไม่ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง แต่การกระทำของจำเลยที่ 5 ถือได้ว่าเป็นความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดฐานออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออกเอกสารดังกล่าวด้วย จำเลยที่ 5 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออก
เมื่อข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 1 ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออก มิใช่เป็นตัวการดังที่โจทก์ฟ้อง ก็มิใช่เป็นการแตกต่างในสาระสำคัญ ย่อมลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดไม่ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง เมื่อฟังว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าเป็นความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดฐานออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออก ตาม ป.อ. มาตรา 86 ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้สนับสนุนได้โดยมิใช่เป็นการแตกต่างในสาระสำคัญ ไม่จำต้องยกฟ้อง
กรณีของจำเลยที่ 5 เป็นการใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออกตามมาตรา 86/13 โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 5 เป็นตัวการ เมื่อทางพิจารณาข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 5 เป็นผู้ใช้จึงแตกต่างในสาระสำคัญ ย่อมลงโทษจำเลยที่ 5 ฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดไม่ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง แต่การกระทำของจำเลยที่ 5 ถือได้ว่าเป็นความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดฐานออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออกเอกสารดังกล่าวด้วย จำเลยที่ 5 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2445/2562
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ – ต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหาย – การสนับสนุนความผิด
การกระทำที่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 นอกจากเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่โดยตรงในการปฏิบัติหน้าที่นั้นแล้ว ต้องมีเจตนาในการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด พยานหลักฐานของโจทก์ฟังได้แต่เพียงว่า จำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ผู้เป็นรองนายกเทศมนตรีเทศบาลจำเลยที่ 1 ร่วมกันอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างและปรับปรุงถนนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์โดยไม่ได้ตรวจสอบ เพราะเชื่อคำรับรองของ ป. ผู้ใหญ่บ้านว่าถนนดังกล่าวเป็นทางสาธารณะแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 รู้อยู่แล้วว่าถนนที่จะก่อสร้างปรับปรุงนั้นรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบว่าแนวถนนที่จะก่อสร้างปรับปรุงรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ใดหรือไม่ อันเป็นการกระทำโดยมิชอบตามกฎหมาย เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิด ซึ่งจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดต่อโจทก์ในทางแพ่งเท่านั้น ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 มีเจตนาพิเศษ ขาดองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 จึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม ป.อ. มาตรา 157 เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ไม่เป็นความผิดตาม มาตรา 157 ดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 8 และที่ 9 ซึ่งมิใช่เจ้าพนักงานที่ร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ย่อมไม่เป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนผู้เป็นเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม ป.อ. มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7947/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สนับสนุนการค้ายาเสพติด: รู้เห็นใช้บัญชีรับเงินค้ายา ถือผิดฐานสนับสนุน
ณ. ให้ ท. เก็บรักษาเมทแอมเฟตามีนไว้เพื่อรอคำสั่งให้นำไปส่งต่อ จำเลยเป็นคนรักของ ณ. และนั่งรถมากับ ณ. เวลามาส่งเมทแอมเฟตามีนให้ ท. บ่อยครั้ง ว. และ ช. ไปรับเมทแอมเฟตามีนจาก ท. ไปส่งให้ลูกค้าตามคำสั่งของ ณ. ผู้ว่าจ้าง และรับเมทแอมเฟตามีนบางส่วนไปจำหน่ายเอง ณ. สั่งให้ ช. โอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนเข้าบัญชีเงินฝากทั้งสองบัญชีของจำเลย ในแต่ละวันมีการนำเงินเข้าฝากหลายจำนวนแล้วถอนเงินออกจากบัญชีโดยตลอด จำเลยมอบบัตรเอทีเอ็มให้ ณ. นำไปใช้เบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากดังกล่าว พฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่า จำเลยรู้เห็นเป็นใจให้การสนับสนุนหรือช่วยเหลือ ณ. ในการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนของ ว. และ ช. โดยใช้บัญชีเงินฝากดังกล่าวชำระเงินค่าเมทแอมเฟตามีนให้แก่ ณ. อันเป็นการสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดก่อนหรือขณะกระทำความผิด