คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สละสิทธิ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 386 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3740-3751/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสละสิทธิเรียกร้องหลังการเลิกจ้าง: สัญญาประนีประนอมยอมเป็นผลผูกพัน
การที่โจทก์ทั้งสิบสองลงลายมือชื่อในหนังสือการยกเลิกการจ้างซึ่งระบุว่า จำเลยขอยกเลิกสัญญาจ้างและตกลงจ่ายเงินค่าบอกกล่าว 1 งวดการจ้างกับค่าชดเชย และโจทก์บางคนยังได้รับเงินช่วยเหลือพิเศษกรณีอายุงานครบ 20 ปี ในตอนท้ายของหนังสือดังกล่าวระบุข้อความว่า โจทก์ทั้งสิบสองขอสละสิทธิเรียกร้องใด ๆ อันอาจมีอีกต่อไปทั้งสิ้น ดังนี้ แม้โจทก์ทั้งสิบสองลงลายมือชื่อสละสิทธิเรียกร้องในขณะที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบสอง แต่โจทก์ทั้งสิบสองมีอิสระในการตัดสินใจว่าจะรับเงินตามสัญญา และสละสิทธิเรียกร้องอื่นใดอันอาจมีต่อไปหรือไม่รับเงินดังกล่าวแล้วไปฟ้องเรียกร้องเงินต่าง ๆ ตามที่โจทก์ทั้งสิบสองมีสิทธิตามกฎหมายในภายหลังได้ เมื่อกฎหมายแรงงานก็ไม่ได้บัญญัติบังคับให้นายจ้างจ่ายเงินโบนัสให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมไม่ใช่เงินที่นายจ้างต้องจ่ายแก่ลูกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อตกลงที่โจทก์ทั้งสิบสองกับจำเลยทำดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมจึงไม่ขัดต่อกฎหมายและความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมมีผลบังคับและผูกพันโจทก์ทั้งสิบสอง ดังนั้น โจทก์ทั้งสิบสองจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินโบนัสและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5211/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสละสิทธิทำกินในที่ดิน ส.ป.ก. และผลกระทบต่ออำนาจฟ้อง
ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินและเป็นที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือ ส.ป.ก. ซึ่งเป็นทบวงการเมือง มีฐานะเทียบเท่ากรม ที่ดินพิพาทจึงเป็นที่ดินของรัฐ โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพียงจัดสรรให้แก่เกษตรกรที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดให้เข้าทำกินได้เท่านั้น สิทธิการครอบครองและกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทยังคงเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โจทก์มีเพียงสิทธิทำกินหรือทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแทนหรืออาศัยสิทธิจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเท่านั้น ส่วนจำเลยซึ่งมิได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทย่อมไม่อาจยกอายุความการครอบครองขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับโจทก์ซึ่งเป็นผู้ครอบครองแทนและอาศัยสิทธิสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518
หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) มีข้อควรทราบและพึงปฏิบัติระบุไว้โดยชัดแจ้งว่า ผู้ได้รับสิทธิในที่ดินจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังบุคคลอื่นมิได้ และเมื่อผู้ได้รับอนุญาตสละสิทธิในที่ดินแล้ว ย่อมสิ้นสิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน การที่ ส. มารดาจำเลยและจำเลยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทระหว่างปี 2533 ถึง 2535 และโจทก์มอบ ส.ป.ก. 4-01 ให้แก่ ส. และจำเลยยึดถือไว้ตลอดมา พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โจทก์ได้สละสิทธิทำกินในที่ดินพิพาทให้แก่ ส. และจำเลยแล้ว ซึ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ มาตรา 39 การที่โจทก์กลับมาอ้างสิทธิตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ฟ้องขอให้ขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิจาก ส. ถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 590/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาสละสิทธิบังคับคดีร่วมกันของผู้ค้ำประกันและลูกหนี้ชั้นต้นมีผลผูกพันรวมกัน ย่อมระงับหนี้ทั้งหมด
หนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้เกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ข้อตกลงในคดีอาญาของศาลจังหวัดนครนายกมีความว่า จำเลยที่ 1 จะชดใช้เงินให้แก่โจทก์ 100,000 บาท ภายในวันที่ 3 มกราคม 2561 หากจำเลยที่ 1 ชดใช้เงินดังกล่าวแล้วจะถอนฟ้องไม่ติดใจบังคับคดีในคดีนี้ ต่อมาโจทก์ถอนฟ้องคดีอาญาดังกล่าวด้วยเหตุที่จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ครบถ้วนแล้วในเวลาที่กำหนด เมื่อพิจารณาถึงจำนวนหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมดอกเบี้ยและคำนึงถึงมูลเหตุแห่งการฟ้องคดีอาญาที่สืบเนื่องมาจากข้อพิพาทในการบังคับคดีแพ่งเรื่องนี้ ชี้ให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทซึ่งมีอยู่นั้นให้เสร็จสิ้นไปด้วยการยอมผ่อนผันให้แก่กันโดยการปฏิบัติตามเงื่อนไขซึ่งกันและกัน ข้อตกลงนี้จึงมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 มีผลทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไปและทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในสัญญานั้นว่าเป็นของตนตามมาตรา 852 แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมตกลงด้วยแต่ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ตามผลแห่งคำพิพากษาเป็นความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันที่จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นได้ตกลงกับโจทก์เช่นนี้ชี้ให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายประสงค์ให้หนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ระงับสิ้นไปเพราะหากจำเลยที่ 2 ยังต้องรับผิดและได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาส่วนที่เหลือแก่โจทก์แล้วย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นได้อีกตามมาตรา 693 ซึ่งโดยเหตุผลแล้วไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2810/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงแปลงหนี้เป็นทุน-เจตนาสละสิทธิ-การบังคับคดีไม่ชอบ
การทำหนังสือสัญญาธุรกิจระหว่างจำเลยที่ 1 กับ อ. และการทำคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์และคำร้องขอถอนอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 มีความเกี่ยวพันและเป็นลำดับสืบเนื่องกันมา ถือได้ว่า อ. เป็นตัวแทนของโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 797 จึงมีผลผูกพันโจทก์ในฐานะตัวการ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 820 โจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้กล่าวถึงหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ไว้ในหนังสือสัญญาธุรกิจ และโจทก์ยื่นคำร้องโดยระบุข้อความว่า ขอถอนฟ้อง ประกอบกับโจทก์ร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกเงินลงทุนทั้งหมด ส่วนโจทก์เป็นผู้บริหารกิจการโดยมิได้ออกเงินลงทุนเพิ่มเติม แสดงให้เห็นว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ประสงค์จะให้คดียุติลงอย่างแท้จริง โดยนำหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้แปลงเป็นทุนในการทำธุรกิจร่วมกัน และโจทก์ยอมสละสิทธิในหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1
การที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญาธุรกิจและยื่นคำร้องขอถอนฟ้องและคำร้องขอถอนอุทธรณ์ จึงเป็นข้อตกลงในชั้นบังคับคดีที่โจทก์ยอมรับในศาลแล้ว เมื่อโจทก์ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาโดยแปลงเป็นทุนในการทำธุรกิจร่วมกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงในหนังสือสัญญาธุรกิจครบถ้วนแล้ว หนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ย่อมระงับสิ้นไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีโดยยึดและอายัดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาต่อไปได้ หมายบังคับคดีและการบังคับคดีที่ศาลชั้นต้นดำเนินการจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3336/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอายัดทรัพย์เพื่อบังคับคดีแล้วสละสิทธิ โจทก์ต้องรับผิดชอบค่าธรรมเนียม
โจทก์เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นและเป็นผู้ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ที่จะได้รับจากการบังคับชำระหนี้เอาจากบริษัท ก. และหลักประกันในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ พ.517/2557 ของศาลจังหวัดนนทบุรี เพื่อนำมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้ให้แก่โจทก์ และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการอายัดสิทธิเรียกร้องดังกล่าวของจำเลยที่ 1 แล้ว การอายัดสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงเกิดจากการกระทำของโจทก์เอง เมื่อต่อมาจำเลยที่ 1 และบริษัท ก. ตกลงกันได้ จำเลยที่ 1 ขอถอนการยึดทรัพย์และถอนการบังคับคดีในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ พ.517/2557 ของศาลจังหวัดนนทบุรี โดยจำเลยที่ 1 เสนอชำระหนี้ตามคำพิพากษาส่วนที่เหลือแก่โจทก์จนครบถ้วนและโจทก์ตกลงตามข้อเสนอจำเลยที่ 1 หลังจากนั้นโจทก์ได้รับชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความจากจำเลยที่ 1 ครบถ้วนแล้ว จึงขอยุติการบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 และขอให้มีคำสั่งยกเลิกเพิกถอนหมายบังคับคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตและแจ้งคำสั่งยกเลิกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบ ย่อมมีผลให้การบังคับคดีตามคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ดำเนินไปแล้วถูกเพิกถอนไปด้วยเหตุเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแจ้งเป็นหนังสือไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าตนสละสิทธิในการบังคับคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 292 (6) อันเป็นการถอนการบังคับคดีนอกจากกรณีตามมาตรา 292 (1) และ (5) ซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 169/2 วรรคสี่ บัญญัติให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ขออายัดเป็นผู้รับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีกรณีอายัดแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3805/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแรงงานมีผลผูกพัน แม้คำนวณค่าชดเชยผิด ก็ไม่อาจเรียกร้องเพิ่มเติมได้
ขณะที่โจทก์สมัครใจลงลายมือชื่อท้ายหนังสือเลิกจ้าง โจทก์ทราบอยู่แล้วว่าถูกจำเลยเลิกจ้างอย่างแน่นอน โจทก์มีอำนาจในการตัดสินใจโดยไม่อยู่ในภาวะที่ต้องเกรงกลัวจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างอีกต่อไป โจทก์ทราบถึงจำนวนค่าจ้างซึ่งนำเพียงฐานเงินเดือนเท่านั้นที่นำมาเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ และพอใจในจำนวนเงิน 1,098,236.95 บาท ที่จำเลยเสนอให้เป็นอย่างดี โจทก์จึงขอรับเงินตามที่จำเลยจะจ่ายให้แก่โจทก์ โดยโจทก์จะไม่ดำเนินการเรียกร้องเงินหรือค่าเสียหายใด ๆ เกี่ยวกับการทำงานเพิ่มเติมจากจำเลยอีก และขอสละสิทธิทั้งหลายที่โจทก์พึงมีต่อจำเลยในเรื่องดังกล่าวทั้งสิ้น ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาซึ่งโจทก์และจำเลยตกลงระงับข้อพิพาทตามสัญญาจ้างแรงงานที่มีแก่กันให้เสร็จสิ้นไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันตามที่ตกลงกันดังกล่าว จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ มีผลใช้บังคับระหว่างโจทก์และจำเลย โจทก์ย่อมผูกพันตามข้อตกลงดังกล่าว จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลยเพิ่มเติมอีก
ในขณะที่จำเลยทำข้อตกลงกับโจทก์ จำเลยย่อมมีสิทธิเสนอข้อตกลงที่นำเพียงฐานเงินเดือนที่จำเลยเข้าใจว่าเป็นค่าจ้างมาคิดคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์พิจารณาได้ การเสนอข้อตกลงจ่ายเงินดังกล่าวของจำเลยจึงหาใช่เป็นการกระทำโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อเสนอที่มุ่งเอาเปรียบโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าต่ำกว่าที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดไม่ ข้อตกลงอันเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงมีผลสมบูรณ์ หาได้ขัดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อันจะส่งผลให้เป็นโมฆะแต่อย่างใดไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องในส่วนค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกล่วงหน้า จำเลยไม่จำต้องจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์
of 39