คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ความผิดสัญญา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 34 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 289/2472

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจะขายที่ดินและค่าเสียหายจากความผิดสัญญา โดยผู้ร่วมรับมรดกไม่ต้องรับผิดหากไม่รู้เห็น
เจ้าของร่วมกันคนหนึ่งไปทำสัญญาจะขายแต่ไม่สามารถจะปฏิบัติตามสัญญาได้ ต้องใช้ค่าเสียหายทดแทนการกำหนดค่าเสียหายต้องถือเกณฑ์ที่คู่สัญญาจะต้องเสียหายอันเกิดจากความผิดของอีกฝ่ายหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19385/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าเสียหายจากความผิดสัญญาซื้อขายรถยนต์ และการคาดหมายความเสียหายจากการถูกปรับทางธุรกิจ
โจทก์ทำใบสั่งซื้อรถรวม 26 คัน จากจำเลยที่ 2 ต่อมาโจทก์ทำสัญญาซื้อขายรถ 26 คัน แก่สำนักงานศาลยุติธรรม กำหนดส่งมอบรถภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถให้โจทก์ 2 งวด งวดแรก 16 คัน งวดที่ 2 อีก 5 คัน และโจทก์ได้ส่งมอบให้แก่สำนักงานศาลยุติธรรมแล้ว จากนั้นจำเลยที่ 2 ผิดสัญญาไม่ส่งมอบรถอีก 5 คัน ให้แก่โจทก์อันเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ โจทก์ชอบที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 215 แต่การเรียกเอาค่าเสียหายนั้น ป.พ.พ. มาตรา 222 แบ่งความเสียหายออกเป็น 2 กรณี กรณีแรกตามวรรคหนึ่ง เป็นความเสียหายเช่นที่ปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ กรณีที่สองตามวรรคสองเป็นความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ หากว่าคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าโจทก์ซื้อรถจากจำเลยที่ 2 เพื่อนำไปขายให้แก่สำนักงานศาลยุติธรรม และก่อนหน้านั้นจำเลยที่ 2 ได้ส่งมอบรถให้แก่โจทก์ไปแล้วจำนวน 16 คัน โดยตามข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่ปรากฏว่ามีการระบุวันเวลาส่งมอบรถที่แน่นอนวันใด คงปรากฏตามใบสั่งซื้อว่า "เครดิตการชำระเงิน 30 วัน นับแต่วันส่งมอบรถยนต์" จึงเป็นกรณีที่เวลาอันจะพึงส่งมอบรถไม่ได้กำหนดกันไว้ โจทก์ย่อมเรียกให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถที่เหลือได้โดยพลัน และจำเลยที่ 2 ก็ชอบที่จะส่งมอบรถที่เหลือได้โดยพลันเช่นกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 โจทก์มีหนังสือให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถที่ค้าง 10 คัน โดยมีใจความสำคัญว่า โจทก์ได้แจ้งด้วยวาจาผ่าน ม. ขอรับรถภายในวันที่ 20 พฤษภาคม 2549 แต่โจทก์ได้รับแจ้งกลับว่าจำเลยที่ 2 หารถส่งมอบให้ได้เพียง 5 คัน ที่เหลือต้องไปรับเดือนหน้าเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงหากไม่สามารถส่งมอบรถได้ทันเวลาภายในวันที่ 29 พฤษภาคม 2549 จึงขอให้ดำเนินการช่วยเหลือโจทก์โดยด่วน เท่ากับโจทก์กำหนดเวลาแน่นอนให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 29 พฤษภาคม 2549 ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 2 ทราบแล้วว่าโจทก์ซื้อรถจากจำเลยที่ 2 โดยโจทก์มีความผูกพันที่จะต้องส่งมอบรถให้แก่สำนักงานศาลยุติธรรม จำเลยที่ 2 ย่อมเข้าใจความหมายตามหนังสือฉบับดังกล่าวได้ว่า หากจำเลยที่ 2 ไม่ส่งมอบรถอีก 5 คัน ให้แก่โจทก์ภายในกำหนด โจทก์จะได้รับความเสียหายจากการที่โจทก์จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่สำนักงานศาลยุติธรรมตามสัญญา แม้ต่อมาวันที่ 25 พฤษภาคม 2549 จำเลยที่ 2 จะมีหนังสือถึงโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 ไม่สามารถส่งมอบรถอีก 5 คัน ให้โจทก์ได้เนื่องจากจำเลยที่ 2 ประมาณการสั่งซื้อผิดพลาด ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการส่งมอบรถให้โจทก์ได้ภายในวันที่ 29 พฤษภาคม 2549 และการที่โจทก์มีหนังสือฉบับลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2549 ถึงจำเลยที่ 2 อีกครั้งโดยสำทับว่าโจทก์จะได้รับความเสียหายจากค่าปรับของสำนักงานศาลยุติธรรม ขอให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถที่เหลืออีก 5 คัน แก่โจทก์ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 และกำชับว่าให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการส่งมอบรถโดยด่วนเพื่อมิให้เกิดความเสียหายตามมาภายหลังในความผิดพลาดของจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 คงเพิกเฉย จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ผิดสัญญาเมื่อโจทก์เรียกให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถครั้งสุดท้าย มิใช่ผิดสัญญาตั้งแต่ครั้งที่จำเลยที่ 2 แจ้งเหตุขัดข้องว่าไม่สามารถส่งมอบรถได้ ตามพฤติการณ์จึงเป็นการชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 2 รู้อยู่ว่าโจทก์มีหนี้ที่จะต้องชำระโดยส่งมอบรถให้แก่สำนักงานศาลยุติธรรม และหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่จำเลยที่ 2 ย่อมคาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นก่อนที่จำเลยที่ 2 ผิดสัญญาว่า โจทก์จะได้รับความเสียหายจากการถูกสำนักงานศาลยุติธรรมปรับตามสัญญาอันเนื่องจากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระหนี้ส่งมอบรถให้แก่โจทก์ภายในกำหนด จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความเสียหายของโจทก์ที่ถูกสำนักงานศาลยุติธรรมปรับจำนวน 1,800,000 บาท เมื่อค่าปรับดังกล่าวเป็นหนี้เงิน โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 2 ในระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 301/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ มัดจำสูงเกินส่วน-สิทธิริบ-ความผิดสัญญา-ดุลพินิจศาล-ลดหย่อนมัดจำ
บทบัญญัติมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 เป็นกฎหมายที่ประสงค์จะให้ความเป็นธรรมแก่ผู้วางมัดจำ ศาลจึงสามารถนำบทบัญญัติมาตรานี้มาปรับใช้กับสัญญาทั่ว ๆ ไปที่มีการให้สิ่งใดเป็นมัดจำได้ หาจำกัดเฉพาะสัญญาที่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 เท่านั้นไม่ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อบทบัญญัติมาตรา 7 ส่วนท้าย บัญญัติไว้ว่า "...ถ้ามัดจำนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงให้ริบได้เพียงเท่าความเสียหายที่แท้จริงก็ได้" จึงเป็นดุลพินิจของศาลที่จะปรับลดมัดจำที่สูงเกินส่วนลงหรือไม่ก็ได้ มิได้บังคับศาลให้ต้องลดมัดจำเสมอไป ประกอบกับใน ป.พ.พ. มาตรา 377 ซึ่งเป็นบทกฎหมายทั่วไป ได้บัญญัติในเรื่องมัดจำไว้ว่า "เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว อนึ่ง มัดจำนี้ย่อมเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย" และมาตรา 378 บัญญัติไว้ว่า "มัดจำนั้น ถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ท่านให้เป็นไปดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ (1) ให้ส่งคืน หรือจัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วนในเมื่อชำระหนี้ (2) ให้ริบ ถ้าฝ่ายที่วางมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนั้นต้องรับผิดชอบ หรือถ้ามีการเลิกสัญญาเพราะความผิดของฝ่ายนั้น (3)..." การปรับลดมัดจำจึงต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของมาตรา 377 ที่ต้องการให้มัดจำเป็นหลักประกันในการปฏิบัติตามสัญญา รวมทั้งต้องคำนึงถึงว่าฝ่ายที่วางมัดจำมีส่วนผิดหรือไม่ด้วย ซึ่งก็ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงในแต่ละคดีเป็นเรื่อง ๆ ไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8131/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือค้ำประกัน: การชำระเงินตามสัญญาโดยไม่ต้องตรวจสอบความผิดสัญญาของลูกหนี้ และสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย
จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับจ้างกับ A โดยมีข้อสัญญาระบุว่าจำเลยที่ 1 จะต้องจัดหาหลักทรัพย์ประกันการปฏิบัติงานโดยหนังสือค้ำประกันต้องเป็นแบบไม่มีเงื่อนไขและแก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้ โดยมีรูปแบบและเนื้อหาตามที่กำหนดและต้องจัดทำโดยธนาคารหรือสถาบันการเงินที่ได้รับความเห็นชอบเป็นลายลักษณ์อักษรจาก A หนังสือค้ำประกันที่ A กำหนดให้จำเลยที่ 1 จัดหามาให้นั้นต้องมีข้อความสำคัญระบุว่า เมื่อธนาคารที่ออกหนังสือค้ำประกันได้รับหนังสือเรียกร้องจาก A ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญา ธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันต้องชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันทันที อันเป็นการที่ต้องชำระเงินเพียงเพราะได้รับหนังสือเรียกร้องดังกล่าวเท่านั้น โดยไม่จำต้องตรวจสอบว่า จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญาจริงหรือไม่ เพราะไม่ว่าจะมีข้อโต้แย้งหรือไม่ ธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันก็ไม่อาจปฏิเสธการจ่ายเงินดังกล่าวได้เนื่องจากมีข้อความตอนต้นว่า ธนาคารตกลงรับรองและรับประกันต่อ A อย่างไม่มีเงื่อนไขและปราศจากสิทธิในการแก้ต่างหรือฟ้องแย้งใด ไม่ว่าในนามของธนาคารหรือจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นข้อความแสดงถึงการสละสิทธิในการต่อสู้คัดค้านหรือโต้แย้ง และการที่ A กำหนดรายละเอียดของหนังสือค้ำประกันที่จำเลยที่ 1 ต้องจัดหามาให้ A โดยธนาคาร ส. สาขาโดฮา สามารถออกหนังสือค้ำประกันที่มีรายละเอียดดังกล่าวได้และจำเลยที่ 1 ทำคำขอให้โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันโดยมีข้อความที่รับกับข้อความตามหนังสือค้ำประกันที่ A ต้องการดังกล่าว รวมทั้งการที่หนังสือค้ำประกันการปฏิบัติงานที่โจทก์ออกไปตามข้อความที่ A ต้องการ แสดงว่าการที่ผู้ว่าจ้างต้องการหนังสือค้ำประกันที่มีข้อความเช่นนี้และการที่ธนาคาร ส. สาขาโดฮา สามารถออกหนังสือค้ำประกันเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ปฏิบัติกันเป็นปกติของสถาบันการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศ เพื่อให้เจ้าของงานหรือผู้ว่าจ้างได้รับหลักประกันของสถาบันการเงินที่มั่นคง และเรียกร้องให้ชำระเงินได้รวดเร็วเพื่อแก้ปัญหาผู้รับจ้างปฏิบัติผิดสัญญาได้โดยเร็ว โดยไม่จำต้องเรียกร้องหรือฟ้องร้องเอาแก่ผู้รับจ้างและธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกัน ส่วนปัญหาข้อพิพาทระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้างก็สามารถว่ากล่าวกันต่างหากได้ ข้อตกลงนี้แม้จะมีลักษณะที่ธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันถูกเรียกร้องให้ชำระเงินได้ง่ายซึ่งแตกต่างจากบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องค้ำประกัน แต่ก็ไม่มีบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ห้ามทำข้อตกลงเกี่ยวกับหนังสือค้ำประกันของธนาคารในลักษณะดังกล่าวและไม่เป็นการพ้นวิสัย เมื่อโจทก์จะต้องออกหนังสือค้ำประกันตามคำขอของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีข้อความว่าโจทก์ต้องชำระตามหนังสือค้ำประกันเมื่อได้รับหนังสือเรียกร้องให้ชำระเงินจากธนาคาร ส. ในประเทศไทยโดยไม่มีสิทธิคัดค้านไม่ว่าด้วยประการใด โจทก์จึงกำหนดข้อสัญญาในคำขอของจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันที่ระบุถึงการยอมให้โจทก์ชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันได้ทันทีโดยไม่ต้องแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบก่อน และจำเลยที่ 1 สละสิทธิที่จะทักท้วงการจ่ายเงินของโจทก์ ทั้งจะต้องชดใช้เงินที่โจทก์ชำระไปดังกล่าวแก่โจทก์ด้วยเงื่อนไขในการที่โจทก์ต้องชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันนั้นพิจารณาเฉพาะการได้รับหนังสือเรียกร้องเท่านั้น ไม่ต้องพิจารณาว่าจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดเพราะปฏิบัติผิดสัญญาต่อผู้ว่าจ้างตามสัญญาจ้างหรือไม่ จึงไม่ใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 แก่โจทก์โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และจำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 และของจำเลยที่ 2 ด้วย โจทก์จึงเป็นทั้งเจ้าหนี้สามัญผู้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินทั่วไปของลูกหนี้และเป็นเจ้าหนี้จำนองผู้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญโดยมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นที่ไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำนองด้วย เมื่อโจทก์ฟ้องโดยใช้สิทธิทั้งสองประการดังกล่าวและมีคำขอท้ายฟ้องว่า หากจำเลยทั้งห้าไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบถ้วนให้บังคับจำนองที่ดินรวมตลอดถึงทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน อันเป็นการฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องเต็มตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า หากจำเลยทั้งห้าไม่ชำระหนี้ให้ยึดที่ดินจำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ในวงเงินจำนองพร้อมดอกเบี้ย และให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าบังคับชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน จึงชอบแล้ว
of 4